Skip to main content
sharethis

สืบพยานโจกท์คดี 165 ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย ฟ้องบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ ทำธุรกิจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขอเรียกค่าเสียหาย และดำเนินการฟื้นฟูเยียวยา ขณะที่ศาลนัดสืบพยานจำเลย 24-26 ต.ค.นี้

19 ต.ค. 2561 เฟสบุ๊กแฟนเพจ เหมืองแร่เมืองเลย V2 รายงานว่า วันนี้ เวลาประมาณ 09.00 น. ประชาชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้เดินทางมาที่ศาลจังหวัดเลย เนื่องจากศาลจังหวัดเลยได้นัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งเป็นคดีที่ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จำนวน 165 คน ฟ้อง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ

โดยศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2561 ซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน จำนวน 6 คน หน่วยงานราชการ และนักวิชาการ ขึ้นเบิกความต่อศาล โดยมีชาวบ้านประมาณ 100 กว่าคน เดินทางมาให้กำลังใจตัวแทนชาวบ้านทั้ง 6 คน และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการสืบพยานฝ่ายโจทก์แล้ว

ตามคำฟ้องระบุว่า โจทก์ทั้ง 165 คน เป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนา มีที่ดิน ที่ทำกิน อยู่อาศัย และดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ บ้านห้วยผุก หมู่ที่ 1 บ้านกกสะทอน หมู่ที่ 2 บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 บ้านแก่งหิน หมู่ที่ 4 บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ที่ 12 และบ้านภูทับฟ้า หมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

โจทก์ทั้ง 165 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในชุมชนข้างต้น ซึ่งอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นมีวิถีสอดคล้องกัน เป็นชุมชนชนบทที่จะต้องพึ่งพาอาศัยความสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมลพิษที่จะเป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วนพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำสลับกับภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์มีลำห้วยไหลผ่านพื้นที่คือ ห้วยน้ำฮวย ซึ่งเป็นลำน้ำที่เกิดจากต้นน้ำธรรมชาติและป่าน้ำซับซึมที่ไหลจากภูป่าฮวก ภูทับฟ้า และ ภูเหล็ก ลงไปสู่ร่องน้ำสาขา คือร่องป่ายาง ร่องกกมะไฟ ร่องห้วยเหล็ก ร่องนาดินดำ ร่องนายาว ไหลลงสู่ห้วยน้ำฮวยและลงสู่แม่น้ำเลย ดังนั้น การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่ใช้ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ด้วยลักษณะของพื้นที่ดังกล่าวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญยิ่งต่อโจทก์ทั้ง 165 คน ในการอยู่อาศัยและการดำรงชีวิต

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2549 บริษัททุ่งคำ จำกัด จำเลย ได้เริ่มเข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ที่ได้รับประทานบัตร พื้นที่ทำเหมืองและโรงแต่งแร่ของจำเลยดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของชุมชน ซึ่งบริเวณรอบประทานบัตรเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่ส่วนมากเป็นพื้นที่ทำนา สวนยางพารา และเลี้ยงสัตว์ 

การดำเนินกิจการของจำเลยเริ่มจากการขุดเจาะและระเบิดภูเขาภูซำป่าบอนและภูทับฟ้า โดยใช้เครื่องจักรขุดเปิดหน้าดิน ระเบิด ลำเลียงการขนย้าย เก็บกอง ได้ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นละออง เกิดการแพร่กระจายมลพิษ ออกสู่ภายนอกเหมือง เกิดเสียงดังและการสั่นสะเทือนจากการระเบิดในเวลากลางวัน เกิดเสียงดังจากการแต่งแร่ที่ต้องผ่านเครื่องจักรในเวลากลางคืน เกิดกลิ่นเหม็นในขณะมีการเดินเครื่องจักรเพื่อแยกแร่ เกิดการรั่วไหลของสารโลหะหนัก เช่นสารไซยาไนด์ที่ถูกกักเก็บไว้ในบ่อกักเก็บกากแร่ เกิดการแพร่กระจายของสารโลหะหนักอื่นๆเช่น สารหนู แมงกานีส เหล็ก ตะกั่ว ปรอท พื้นที่เหมืองและพื้นที่รอบเหมือง อันเป็นสารพิษที่เกิดจากกระบวนการการทำเหมืองแร่และแต่งแร่ของจำเลยโดยตรง และในฤดูฝนก็ยังเกิดการชะล้างสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในกองดินและหินทิ้งไหลลงสู่พื้นที่ราบไปทั่ว 

ซึ่งสารพิษดังกล่าวได้แพร่กระจายเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังมีการแพร่กระจายของสารพิษและโลหะหนัก เช่น โครเมียม นิกเกิล ทองแดง สังกะสี ปรอท ตะกั่ว และสารหนู ได้ปนเปื้อนไปบนพื้นดินและไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ที่โจทก์ทั้ง 165 คน และชาวบ้านที่อาศัยอยู่และใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ในบริเวณรอบเหมือง ซึ่งส่งผลและอาจจะส่งผลให้เกิดการสะสมของสารพิษอยู่ในผลผลิตทางการเกษตร เช่นในเมล็ดข้าว อ้อย หน่อไม้ ผัก ถั่วชนิดต่างๆ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆไม่ว่าจะเป็น ปลา กุ้ง หอย ปู หนู กบ เขียด ที่อาศัยอยู่ในลำห้วยสาธารณะ ในลักษณะของห่วงโซ่อาหาร ส่งผลให้โจทก์ทั้ง 165 คน และชาวบ้านได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต เกิดเหตุความเดือดร้อน รำคาญเกินความสมควร และได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพอนามัย และจิตใจ โดยปรากฏพบว่า มีสารไซยาไนด์ปะปนอยู่ในแหล่งน้ำสาธารณะ มีผลผลิตการเกษตรตกต่ำอย่างผิดปรกติ พบสารพิษในร่างกาย มีมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง อันตรายจากการใช้ทางสาธารณะประโยชน์ร่วมกับรถบรรทุกของจำเลย

จำเลยในฐานะเจ้าของและผู้ครอบครองเหมืองแร่องคำ บ่อกักเก็บกากแร่ โรงประกอบโลหะกรรมหรือโรงแต่งแร่ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ส่งผลทำให้ ภูซำป่าบอนและภูทับฟ้า กลายเป็นขุมเหมืองร้าง น้ำในขุมเหมืองปนเปื้อนสารพิษและมีสภาพเป็นกรด บริเวณโดยรอบมีกองหินทิ้งขนาดมหึมา และมีบ่อน้ำเสียปนเปื้อนไซยาไนด์เก็บไว้บริเวณบ่อเก็บกักกากแร่ และสารพิษจำนวนมากที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และทำให้เกิดมลพิษรั่วไหล และแพร่กระจายออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าว เป็นการกระทำละเมิดอันเป็นการกระทำความผิดต่อกฏหมาย ทำให้โจทก์ทั้ง 165 คน ได้รับความเสียหายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย ขาดประโยชน์ในการใข้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้ง 165 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกในครอบครัวของโจทก์ และดำเนินการเยียวยาแก้ใขฟื้นฟูความเสียหายแก่โจทก์ทั้ง 165 คน และชุมชนพื้นที่ และแก้ใขฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยโจทก์ทั้ง 165 คน ขอเรียกค่าเสียหายและขอให้จำเลยดำเนินการฟื้นฟูเยียวยา ทั้งนี้ศาลได้นัดสืบพยานจำเลย ในวันที่ 24-26 ต.ค. นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net