Skip to main content
sharethis

ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ให้สัมภาษณ์สื่อ ห่วง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ตรวจค้น จับกุมโดยไม่มีหมาย พร้อมทั้งยึดคอมพิวเตอร์-บังคับบอกรหัส ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน  เตือนนักลงทุนหนีเพราะให้เข้าไปล่วงข้อมูลทางธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลขององค์กรภาคเอกชน 

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่าที่ศาลอุทธรณ์ ถ.รัชดาภิเษก นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ให้สัมภาษณ์ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่า ในต่างประเทศตื่นตัวที่จะป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ จึงทำกฎหมายเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ขึ้น หลักการเดิมถ้าบุคคลใดหรือองค์กรใดกระทำผิด รัฐมีหน้าที่เข้าตรวจสอบหาเส้นทาง แต่วิธีการยังมีหลักการที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าจะขอเข้าค้นต้องผ่านการกลั่นกรองของศาล เหมือนกับการจับกุมตรวจค้นต้องขอหมายศาล เพื่อกลั่นกรองว่าเจ้าหน้าที่มีเหตุสมควรที่ต้องกระทำหรือไม่ ส่วนใหญ่ต้องอ้างว่ามีความผิดเกิดขึ้น เมื่อผิดก็สามารถตรวจค้นมีคดีขึ้นมา

แต่หลักการตามร่างกฎหมายใหม่ คือ ไม่ต้องมีคดี คณะกรรมการเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจเยอะ โดยจะมีการตรวจค้น จับกุม ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ หน่วยบันทึกความจำ บังคับบอกรหัสเพื่อเปิดข้อมูลได้หมด โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองของศาล ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ ปัญหาคืออำนาจอย่างนี้ ต่างประเทศซึ่งมีการกระทำผิดรุนแรงทางไซเบอร์ เขายังไม่กล้าออกกฎหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น จับกุม ยึดโดยไม่มีหมายจับหมายค้น คดียังไม่เกิดแค่สงสัยก็สามารถเข้าไปได้หมดทั้งหน่วยงานเอกชน บริษัท ประชาชนทั่วไป เข้าไปยึดเพื่อตรวจสอบแจ้งข้อหาทีหลังโดยไม่ต้องมีหมาย ยึดแล้วเอาข้อมูลไป ระบบนี้ไม่ใช่ระบบสากล ปกติแล้วนิติรัฐจะต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล เพราะตัวบุคคลถ้ามีอำนาจมากไปจะทุจริตใช้อำนาจในทางมิชอบได้ ถ้ามองก้าวหน้าไปในทางการเมืองอาจใช้กฎหมายเข้ามาล่วงละเมิดแย่งชิงความได้เปรียบ ซึ่งถือว่าอันตรายมากต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

รู้จัก ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ เมื่อความปลอดภัยกับละเมิดสิทธิห่างแค่เส้นเบลอๆ
คนการเมือง 4 พรรคสะท้อน พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ อาจอันตรายต่อ ปชช. กว่าที่คิด
กลุ่มโทรคมนาคม-ไอที พบ สนช. ให้ทบทวนกฎหมายไซเบอร์-คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว

“อีกอย่างหนึ่งที่ผมเป็นห่วงมาก ก็คือ ถ้าเรามีกฎหมายประเภทนี้ มันจะมีลักษณะให้อำนาจเบ็ดเสร็จของพนักงานเจ้าหน้าที่ Cyber Security ซึ่งมีอำนาจกว้างขวางกว่าตำรวจซึ่งจะต้องขอออกหมายค้นหมายจับ แล้วไม่มีการกลั่นกรองหรือตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายตุลาการ จะเกิดปัญหาว่าบุคคลที่เข้ามาทำในตำแหน่งพนักงานรักษาความสงบในไซเบอร์ หรือเจ้าหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ก็มีโอกาสที่จะกระทำผิด หรือใช้อำนาจที่ล่วงเกินสิทธิเสรีภาพ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังสามารถที่จะหาผลประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าข้อมูลทางราชการหน่วยใดก็ตาม ธนาคารชาติ ธนาคารทุกแห่ง บริษัทใหญ่ๆ บริษัทข้ามชาติซึ่งเข้ามาลงทุน เขาก็กังวลในเรื่องนี้อยู่ ถ้ากฎหมายนี้ผ่านออกไปโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ ปัญหาของชาติจะเกิดขึ้นโดยการลงทุนจากต่างประเทศจะชะงักงันทันที เพราะเขาจะไม่เชื่อในระบบงานยุติธรรมขั้นต้นของไทย ความลับทางการค้ามีมูลค่าเป็นหลายแสนล้าน เขาจะมาเสี่ยงกับประเทศไทยหรือ” นายศรีอัมพร กล่าว

นายศรีอัมพร กล่าวอีกว่า ในขณะที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศเข้ามา กฎหมายตัวนี้สร้างอำนาจให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารมากเหลือเกิน ครอบคลุมความเป็นส่วนตัวของประชาชนทุกคน จะกลายเป็นการปกครองแบบรัฐตำรวจ ในขณะที่เราเป็นนิติรัฐ เรื่องนี้อันตราย การยึดอายัดได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องมีคดี คล้ายกับรัสเซียสมัยก่อนล่มสลายที่มีโปลิตบูโร ลักษณะองค์กรคล้ายกัน ตนในฐานะที่เป็นนักกฎหมายที่เคยศึกษา ไม่มีประเทศไหนออกกฎหมายให้คนกลุ่มเดียวมีอำนาจล้นฟ้าไม่มีการตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงสหรัฐอเมริกา มี ซีไอเอ หรือ เอฟบีไอ ใช้การตรวจสอบอย่างไร นายศรีอัมพร กล่าวว่า การใช้อำนาจลับผิดกฎหมาย แต่เขาไม่บอก เท่าที่ทราบก็มีการใช้อำนาจลับอยู่ เช่น การดักฟัง ซึ่งตามกฎหมายการดักฟังต้องขออำนาจจากอธิบดีศาลอาญาคนเดียว แต่ร่างกฎหมายไซเบอร์หนักเลย ข้อมูลความเป็นส่วนตัวที่สหรัฐอเมริกาถือมาก ใครจะล่วงละเมิดไม่ได้ แต่องค์กรลับของเขาทำแบบเงียบๆ ที่สหรัฐอเมริกาผ่อนคลายความเข้มงวดนี้หลังเหตุการณ์ 9/11 แต่กฎหมายในอเมริกาหรือประเทศไหนไม่ปรากฏว่าจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารเข้าไปจัดการกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เมื่อตราเป็นกฎหมายแล้วเข้าไปล่วงละเมิดในสิทธิส่วนตัว เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะอ้างว่าทำตามกฎหมาย ประชาชนเอกชนก็ไม่มีโอกาสได้รับการเยียวยาโดยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้เลย

ส่วนจะคล้ายกับเกาหลีเหนือหรือไม่ นายศรีอัมพร กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเกาหลีเหนือสามารถสอดแนมประชาชนทุกคนได้ แต่ดูภาพใหญ่คล้ายกับว่ารัฐสามารถที่จะสอดแนมเข้าไปในประชาชนทุกคนได้ ลักษณะกฎหมายอย่างนี้ตนเป็นห่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิดโดยชอบด้วยกฎหมาย และห่วงเรื่องการค้าซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ประเทศจะเจริญเติบโตได้ ต่างประเทศต้องเข้ามาลงทุน ถ้าหยุดเมื่อไหร่เราตาย และเป็นหน้าตาของประเทศไทย เพราะต่างประเทศจะดูว่าประเทศไหนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก จากรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค่อนข้างมองประเทศไทยในแง่ลบอยู่แล้ว ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจะเป็นการซ้ำเติม กลายเป็นว่าประเทศไทยไม่น่าลงทุน

สำหรับขั้นตอนของร่างกฎหมายในขณะนี้ นายศรีอัมพร กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วก็ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เป็นห่วงในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลของเจ้าพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่จะมาเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วย ตนก็เห็นว่า น่าดีใจที่นายกฯ ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้ สำหรับหน่วยงานที่ริเริ่มเสนอกฎหมายฉบับนี้ คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งก่อนที่หน่วยงานรัฐจะออกกฎหมายใด ก็อยากให้ดูกฎหมายของอารยประเทศด้วย เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็อาจจะถอยหลังเข้าคลองได้

“ถ้าผู้ปกครองหรือรัฐบาลของเราเป็นรัฐบาลที่ดีไม่มีปัญหา เขาก็อาจจะไม่ยอมให้ใช้อำนาจรัฐ แต่ถ้าเราได้ผู้ปกครองหรือรัฐบาลที่มีปัญหาขึ้นมา ประชาชนจะเดือดร้อนมาก ในฐานะผมเป็นประชาชน ผมก็เดือดร้อนด้วยว่า อยู่ดีๆ เขามายึดโทรศัพท์มือถือของท่านไป แล้วก็ไปหาว่าท่านกระทำผิดอย่างไร” นายศรีอัมพร กล่าว

นายศรีอัมพร กล่าวว่า ไม่ควรเร่งรีบออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการแก้ไขความมั่นคงของประเทศ แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ระดับนานาชาติ ที่ประเทศต่างๆ เขาจะมาคบกับประเทศเราหรือเปล่า ถ้าเรามีกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างรุนแรง สหรัฐอเมริกาเขาเพ่งเล็งในเรื่องนี้มาก อย่างเช่น ที่สหรัฐอเมริกา ตั้งกำแพงภาษีสูงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สาเหตุหนึ่งเพราะเขาอ้างว่ามีการล่วงรู้หรือเอาข้อมูลในลักษณะนี้ ขณะที่เราก็กำลังที่จะเปิดโอกาสให้มีการโจมตีข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้

เมื่อถามว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เจ้าหน้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือ นายศรีอัมพร กล่าวว่า ข้อเสนอของกระทรวงดิจิทัลฯ คือ ไม่เพียงพอ ไม่สามารถปราบปรามการกระทำผิดได้ทัน แต่ปัญหาการปราบปรามไม่ทัน ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาออกกฎหมายใหม่ แต่เป็นเรื่องความสามารถของเจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่เพียงพอ ควรเลิกจ้างไปเลย เพราะคนที่ไม่มีฝีมือไม่ควรมาอยู่ บริษัทต่างๆ เขามีมืออาชีพทั้งนั้นในการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ไซเบอร์ไทย มีมืออาชีพคนไทยซึ่งเก่งเยอะแยะ แต่ไม่มีโอกาสเข้ารับราชการ จะต้องใช้ระบบกึ่งราชการจ้างบุคคลที่เก่งเข้ามา

“การสืบแทรกกิ้งทางไซเบอร์ว่าใครทำผิดอะไร มันมีร่องรอยอยู่แล้ว และร่องรอยนั้นเป็นร่องรอยที่ประจักษ์ด้วย แม้ว่ามันจะมีการส่งไปยังต่างประเทศหลายแห่ง แล้วถึงกลับเข้ามาไทยก็ตามได้” นายศรีอัมพร กล่าวและว่า ควรแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมากกว่า ไม่ใช่ปัญหาของประชาชนหรือประเทศชาติเลย อันไหนที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนก็ต้องมีกลไก อย่างน้อยที่สุดต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล

นายศรีอัมพร กล่าวด้วยว่า ถ้าหากพูดถึงหน่วยงานของรัฐก็พยายามสร้างงานขึ้นมา แล้วสร้างอัตรากำลังขึ้นมา เพื่อมีงบประมาณและภารกิจ แต่การเพิ่มหน่วยธุรการขึ้นมาก็ไม่ได้ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของการทำงานด้านเทคโนโลยีระดับสูงได้ มันควรต้องจ้างมืออาชีพ แล้วค่าตอบแทนก็ไม่ควรใช้ตามระบบราชการ ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีฝีมือ หรือเราจ้าง Outsource ที่เก่งเข้ามาได้ไม่มีปัญหา ต่างประเทศทำได้ ของเราส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ไม่มีแนวนโยบายตั้งมืออาชีพ จริงๆ แล้วผู้ปฏิบัติมีความสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net