Skip to main content
sharethis

พนักงาน-ผู้ประกอบการ 'เกาะสิมิลัน' นัดยื่นหนังสือ เห็นผลกระทบอาจถูกเลิกจ้าง/รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุแรงงานผิดกฎหมาย 36% เป็นคนไทย/กสทช.ห่วง 'เน็ต 5G' ทำคนตกงาน กระทบกลุ่มผลิต-การเงิน-การแพทย์/ก.แรงงานตั้งศูนย์ช่วยเหลือ "ผีน้อย" ในเกาหลีใต้กลับไทย จ่อเพิ่มโควตาไปทำงานถูก กม. รวม 1.5 หมื่นอัตรา/ก.ล.ต.ปั้น "บริษัทเกษียณสุข" สร้างนายจ้างส่งเสริมลูกจ้างให้มีเงินเกษียณเพียงพอ/เครือข่ายพยาบาลเรียกร้องดำเนินคดีตำรวจเมาขับให้ถึงที่สุด/‘การบินไทย’ ออกคำสั่งห้าม 4 นักบินให้สัมภาษณ์ หลังกรณีดังดีเลย์กว่า 2 ช.ม.

‘การบินไทย’ ออกคำสั่งห้าม 4 นักบินให้สัมภาษณ์ หลังกรณีดังดีเลย์กว่า 2 ช.ม.

กรณีคณะนักบินการบินไทย เที่ยวบิน TG 971 ซูริก-กรุงเทพฯ วันที่ 11 ต.ค.2561 ดีเลย์กว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ต้นเหตุเกิดจากนักบินไม่ยอมนำเครื่องขึ้น เพราะที่นั่งของคณะนักบินที่จะโดยสารกลับ (Deadhead pilot) ไม่ได้นั่งในชั้นธุรกิจหรือเฟิร์สต์คลาสตามสิทธิ ปล่อยผู้โดยสารกว่า 300 คนนั่งรอ จนสุดท้ายผู้โดยสารสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งได้จองที่นั่งชั้นบิซิเนสคลาสและได้รับการอัพเกรดเป็นชั้นเฟิร์สต์คลาส ต้องยอมสละที่นั่งให้ ทั้งนี้เที่ยวบิน TG 971 ตามตารางการบินจะต้องบินกลับด้วยเครื่องบินโบอิ้ง B777-300ER แต่ด้วยเครื่องบิน B777-300ER เสียที่ซูริก ขากลับจึงต้องใช้เครื่องบิน B747-400 ไปรับผู้โดยสารจากซูริกกลับกรุงเทพฯ พร้อมพานักบินชุดที่ขับเครื่องบินที่จอดเสียที่ซูริกกลับมาด้วย เพราะตามหลัก นักบินไม่สามารถขับข้ามแบบได้ ซึ่งเครื่องบิน B747 มีชั้นเฟิร์สต์คลาส ขณะที่ B777 ไม่มีชั้นเฟิร์สต์คลาส และนายสถานีการบินที่ซูริกได้อัพเกรดผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วในชั้นบิซิเนสคลาสเป็นชั้นธุรกิจ จากนั้นเกิดเหตุการณ์ตามที่เป็นข่าว โดยล่าสุดการบินไทยออกแถลงการณ์ชี้แจง โดยขอโทษผู้โดยสารเที่ยวบินที่ ทีจี 971 ซูริก-กรุงเทพฯ และตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้น

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าขณะนี้มีคำสั่งภายในไปยังพนักงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ห้ามให้สัมภาษณ์ และห้ามเปิดเผยข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์แบบโต้กันไปมา โดยนักบินที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 4 คนในเรื่องดังกล่าวไม่ขอให้ข้อมูลใดๆกับสื่อมวลชน เนื่องจากนายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเสมือนเป็นตัวแทนนักบินไปแล้ว และนาวาอากาศตรีจักรี จงศิริ ครูการบินและนักบินการบินไทย มีการโพสต์เฟซบุ๊กจักรี ดารารัตน์ จงศิริ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทนนักบินไปแล้วเช่นกัน

แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย กล่าวต่อว่า เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นความผิดพลาดในการสื่อสารภายใน เพราะเมื่อเปิดขายตั๋วสำหรับเที่ยวบินที่ไม่มีชั้นหนึ่ง(เฟิร์สต์คลาส) แล้วนำเครื่องบินที่มีชั้นเฟิร์สต์คลาสมาทำการบินแทน ในการอัพเกรดที่นั่งให้กับผู้โดยสารที่ซื้อชั้นธุรกิจ(บิสซิเนส) มาเป็นชั้นเฟิร์สต์คลาสไม่ได้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนว่าต้องดำเนินการอย่างไร และควรต้องบล็อคที่นั่งดังกล่าวคือไม่ต้องเปิดให้บริการไว้หรือไม่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในเที่ยวบินดังกล่าวคือมีการเปิดที่นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสให้กับผู้โดยสารชั้นบิสซิเนสขึ้นมานั่ง แต่การบริการยังได้รับแบบชั้นธุรกิจ อย่างไรก็ตามในส่วนของนักบินที่ต้องการนั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสกลับนั้น เป็นนักบินที่เรียกว่า นักบิน passive หรือนักบินโดยสารกลับ ไม่ใช่นักบิน Active หรือนักบินที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบินดังกล่าว ปกติบนเครื่องบินมีห้องนอนของลูกเรือและนักบิน ถ้าไม่มีห้องนอน ให้ต้องสำรองที่นั่งไว้ให้ ถ้าเป็นนักบินกำหนดเป็นชั้นเฟิร์สต์คลาส แต่ถ้าเครื่องบินไม่มีที่นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสต้องเป็นชั้นธุรกิจ ซึ่งในส่วนนักบินที่ไม่ได้ปฏิบัติงานบนเครื่องไม่ได้มีระเบียบที่ระบุว่าต้องสำรองที่นั่งในชั้นเฟิร์สต์คลาส

“ในเรื่องนี้คงต้องรอดูผลการสอบข้อเท็จจริง แต่ละคนคงมีเหตุผลของตัวเอง เมื่อมีการปล่อยที่นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสไปให้กับผู้โดยสารไปหมดแล้ว นักบินเองน่าจะนั่งชั้นบิซิเนสกลับมาได้ ซึ่งการที่นักบินและนายสถานีต่อรองเรื่องที่นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสโดยนำผู้โดยสารมาเป็นตัวประกันทำให้การบินล่าช้าจึงเป็นเรื่องไม่สมควร การทำธุรกิจการบินนั้นเรื่องนี้สำคัญมาก”แหล่งข่าวกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/10/2561

เครือข่ายพยาบาลเรียกร้องดำเนินคดีตำรวจเมาขับให้ถึงที่สุด

เพจพยาบาลลูกจ้างวิชาชีพชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความเรียกร้องให้ กระทรวงสาธารณสุขออกมาดำเนินการแก้ปัญหา กรณีร้อยตำรวจเอกขับรถชนรถพยาบาลที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้พยาบาลเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บสาหัส 1 คน ด้วยการเอาผิดตามกฎหมายผู้กระทำผิดเมาแล้วขับ และกรณีนี้ต้องได้รับการลงโทษอย่างถึงที่สุด พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขออกกฎหมาย คุ้มครองและดูแลให้เกิดสิทธิ และประโยชน์ของผู้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ขณะปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับข้าราชการหน่วยอื่นเช่นตำรวจหรือทหาร หากภายใน 15 วันไม่มีความคืบหน้า เครือข่ายพยาบาลทั้งหลายจะเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง

ทั้งนี้ส่วนความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ ร้อยตำรวจเอกเดชา เปรียบสม รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ที่แม้ว่าจะยังปฏิเสธข้อหาเมาแล้วขับ และไม่ยอมให้ตรวจแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุ เพราะอ้างว่ามีอาการบาดเจ็บบริเวณหน้าอกนั้น ขณะนี้ได้ตั้งพนักงานสอบสวนคดีนี้ใหม่รวม 6 คน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

ขณะที่อาการของ นางสาวจรวยพร ปาประโคน พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลประโคนชัย ที่บาดเจ็บสาหัสต้องผ่าตัดสมอง ล่าสุดตอบสนองและรับรู้การสื่อสารได้ แต่ยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่นั่งมาในรถพยาบาลที่เกิดอุบัติเหตุนั้น แพทย์ได้ทำคลอดตั้งแต่วันที่เกิดเหตุปลอดภัยทั้งแม่และลูก

ด้านมูลนิธิเมาไม่ขับ มองว่า การที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่แจ้งข้อหาเมาแล้วขับ กับผู้กองที่ขับรถยนต์ชนรถพยาบาลจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตตั้งแต่วันเกิดเหตุ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะกฎหมายฉบับใหม่ ระบุว่าชัดเจนว่า ตำรวจสามารถสันนิษฐานว่าคนขับรถดื่มสุราใส่ในสำนวนส่งฟ้องศาลได้ทันที ถ้าถูกปฏิเสธตรวจแอลกอฮอล์

สำหรับเหตุการณ์นี้ นายสุรสิทธิ์ ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ อยากให้เป็นกรณีตัวอย่างในการทำหน้าที่ของตำรวจประจำอยู่ด่านตรวจว่า ควรจะตรวจแอลกอฮอลล์ตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเลือกปฏิบัติจนทำให้เกิดการร้องขอความเป็นธรรม

ที่มา: PPTV36, 20/10/2561

ก.ล.ต.ปั้น "บริษัทเกษียณสุข" สร้างนายจ้างส่งเสริมลูกจ้างให้มีเงินเกษียณเพียงพอ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับพันธมิตร จัดโครงการ "บริษัทเกษียณสุข" เป็นหัวใจหลักส่งเสริมลูกจ้างให้มีเงินใช้อย่างเพียงพอหลังเกษียณ โดยใช้ประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเต็มที่ เน้นให้ลูกจ้าง "ออมเต็มพิกัด จัดแผนเป็น เห็นเงินเพียงพอ" เปิดรับสมัครบริษัทเข้าร่วมโครงการจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต.เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะเป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดทุนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน จากนายจ้างเกือบ 18,000 บริษัท จากผลสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกที่เกษียณอายุได้รับเงินก้อนวันเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท สวนทางกับงานวิจัยที่บอกว่า หากต้องการมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณ ต้องมีเงินขั้นต่ำสุดอย่างน้อย 3 ล้านบาท ดูแล้วน่าเป็นห่วง

โดยสาเหตุที่ทำให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเงินไม่ถึงเป้าหมาย เป็นเพราะสมาชิกยังไม่เห็นความสำคัญและไม่รู้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินที่จะต้องสะสมเพื่อให้มีพอไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ ทำให้สมาชิกหักเงินสะสมต่อเดือนน้อย บางรายลาออกจากกองทุนระหว่างทาง ที่สำคัญสมาชิกยังเลือกนโยบายลงทุนที่ให้ผลตอบแทนไม่มากพอที่จะทำให้เงินออมเติบโตจนถึงระดับเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ

"หัวใจสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้สมาชิกมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเองว่าเงินก้อนนี้เป็นของเรา เป็นเงินออมที่ต้องสะสมในทุก ๆ เดือน ถ้าสมาชิกรู้สึกเป็นเจ้าของจะเห็นความสำคัญ ก็จะหาความรู้เรื่องวิธีบริหารให้เงินก้อนนี้งอกเงย จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากนายจ้างที่จะต้องสนับสนุน หาโอกาสให้ความรู้ มีนโยบายการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เลือกหลากหลาย ดังนั้น เพื่อให้สัมฤทธิ์ผล ก.ล.ต. และพันธมิตรจึงได้ร่วมกันจัดโครงการบริษัทเกษียณสุขขึ้นมา เพื่อให้ความรู้และเครื่องมือการสื่อสารแก่นายจ้าง สำหรับนำไปดูแลลูกจ้างของตัวเอง ให้ออมเต็มพิกัด จัดแผนเป็น เห็นเงินเพียงพอ เพราะเชื่อมั่นว่าผู้ที่เข้าใจและใกล้ชิดกับลูกจ้างที่สุดคือตัวนายจ้างเอง" นายรพี กล่าว

โครงการบริษัทเกษียณสุข เป็นความร่วมมือของ ก.ล.ต.ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ให้บริการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะนี้เปิดรับสมัครบริษัทที่มีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากกว่า 100 คนขึ้นไปเข้าร่วมโครงการ ซึ่งในปีแรกตั้งเป้าหมายว่าจะมีนายจ้างเข้าร่วมโครงการ 100 บริษัท บริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.happyPVD.com/company  ภายใน 15 พฤศจิกายน 2561

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/10/2561

เสียงพยาบาลส่งถึง สธ. เรียกร้องสิทธิเยียวยาอุบัติเหตุรถส่งต่อผู้ป่วย

จากกรณีรถพยาบาลฉุกเฉินประสบอุบัติเหตุระหว่างส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลประโคนชัยไปยังโรงพยาบาลบุรีรัมภ์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเป็นพยาบาล โดยเพจพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการโพสต์เชิญชวน ให้พ่อแม่พี่น้องชาวประโคนชัยญาติสนิทมิตรสหานชาวประโคนชัย ไปยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องสิทธิสวัสดิการ ที่พึงจะต้องได้รับ และ ความยุติธรรม เพราะเมื่อได้ดูบทสัมภาษณ์ของท่านปลัด แล้ว คงไม่ต้องไปกระทรวง เพราะในเรื่องมาตรการและการเยียวยา นั้น มีการดำเนินการมา 5-6 ปีแล้วแต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรเลย

ล่าสุดเพจพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการโพสต์เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งใจความตอนหนึ่ง คือขอเรียกร้องสิทธิ์ให้มีการเยียวยา และเพิ่มสวัสดิการแก่พยาบาลที่เสียชีวิต 3 ข้อ คือ 1.เนื่องจากตายในหน้าที่ ขอให้มีการปูนบำเหน็จเป็นชำนาญการพิเศษเลยได้หรือไม่ 2.เงินทดแทน เป็นสวัสดิการ คือ เงินเดือนสุดท้ายที่ได้รับ × อายุราชการที่จะเกษียณ มอบให้เป็นก้อนไปเลยค่ะ และ 3.ธงชาติคลุม เป็นเกียรติประวัติแก่ตระกูล เชิดชูคุณงามความดี เหรียญกล้าหาญขอได้ไหม

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่  19 ต.ค. 2561  นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในเรื่องข้อเสนอต่างๆนั้น ขณะนี้เรามีการดูแลเต็มที่ เรื่องความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงแต่พยาบาลแต่ความปลอดภัยของทุกวิชาชีพถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในการเสนอระเบียบต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอทั้ง 3 ข้อเข้ามาเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการดูแลนั้นเป็นเรื่องที่ดี ก็ยินดีรับทุกข้อเสนอมาไว้พิจารณา ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561 ได้มีโอกาสพบกับ นายกสภาการพยาบาลและตัวแทนพยาบาล นายกสภากายภาพบำบัด และนายกสภาเทคนิคการแพทย์ ก็ได้มีการพูดคุยในเรื่องความปลอดภัยดังกล่าว และได้เชิญด้วยวาจาว่าควรมีการเข้ามาพูดคุยกันเพื่อหามาตรการดูแลความปลอดภัยร่วมกันทุกวิชาชีพ ซึ่งตนพร้อมรับทุกข้อเสนอมาปรับปรุง ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยในหลักการ คาดว่าภายใน 1 เดือนนี้ต้องมีการทำหนังสือเชิญและสรุปรายละเอียดข้อเสนอออกมาได้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/10/2561

ก.แรงงานตั้งศูนย์ช่วยเหลือ "ผีน้อย" ในเกาหลีใต้กลับไทย จ่อเพิ่มโควตาไปทำงานถูก กม. รวม 1.5 หมื่นอัตรา

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อรับทราบความคิดเห็น แนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะ เพื่อบูรณาการและสร้างความร่วมมือเตรียมพร้อมเรื่องการรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี และเตรียมการขยายตลาดแรงงานใน 3 ประเด็น คือ 1. มาตรการรองรับแรงงานที่สมัครใจกลับประเทศ การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่แรงงานไทยที่จะสมัครใจรายงานตัวกลับประเทศ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ 3. การสร้างความร่วมมือในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีแผนการดำเนินการ ดังนี้ 1. การรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลแรงงานในสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลีเข้าร่วมโครงการ ตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี ณ ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และด่านตรวจคนหางานดอนเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือตามความประสงค์ของแรงงานไทยแต่ละราย และตั้งศูนย์จัดหางานเพื่อเตรียมตำแหน่งงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะด้านภาษาเกาหลีให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกด้วย

"ขณะนี้มีตำแหน่งงานรองรับในประเทศจำนวน 62,174 อัตรา มี 10 อันดับงานได้แก่ งานธุรการ งานอื่นๆ บัญชี การขาย จัดซื้อ บุคคล/ฝึกอบรม ท่องเที่ยว และคอมพิวเตอร์/ไอ ที ตำแหน่งงานต่างประเทศ 45,000 อัตรา แบ่งเป็นแถบเอเชีย 30,000 อัตรา ได้แก่ ไต้หวัน 15,000 อัตรา สาธารณรัฐเกาหลี 6,000 อัตรา ญี่ปุ่น 5,000 อัตรา และประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง/มาเก๊า 4,000 อัตรา แถบตะวันออกกลาง 5,500 อัตรา ได้แก่ อิสราเอล 5,000 อัตรา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และคูเวต 500 อัตรา แถบยุโรป 7,000 อัตรา ได้แก่ สวีเดน 3,000 อัตรา ฟินแลนด์ 2,000 อัตรา ประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ โปรตุเกส รัสเซีย 2,000 อัตรา นอกจากนั้นยังมีแถบอื่นๆ เช่น แอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลียและโอเชียเนีย เป็นต้น อีก 2,500 อัตรา ได้แก่ แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ 2,500 อัตรา" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า 2. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยขอเพิ่มโควตาในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้โครงการ EPS จากเดิม 5,000 อัตรา เพิ่มเป็น 15,000 อัตรา ขอขยายอายุของแรงงานไทยจากเดิมไม่เกิน 39 ปี เป็นไม่เกิน 45 ปี ขอให้ทางการสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มสัดส่วนการคัดเลือกแรงงานหญิงไทยเข้าไปทำงานมากขึ้น ขอขยายระยะเวลาการทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ที่เดิม 9 ปี 8 เดือน เป็น 14 ปี (ทำงานได้ครั้งละ 4 ปี 8 เดือน สามารถเดินทางไป-กลับ ได้ 3 รอบ) และขอลดขั้นตอนระยะเวลาการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม (CID) และ 3. การป้องกันการลักลอบไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี โดยจัดตั้งทีมเฝ้าระวังและตอบโต้ เฟซบุ๊ก/ไลน์/เว็บไซต์ และใช้สายตรวจออนไลน์คอยตรวจสอบผู้ที่มีพฤติกรรมหลอกลวง หรือลักลอบส่งคนหางานไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี และจัดตั้งชุดเฝ้าระวังที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานไทยลักลอบเดินทางไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเข้มงวดและจริงจัง เพราะเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับค่าจ้างสูงประมาณ 55,844 บาทต่อเดือน และนายจ้างเกาหลีมีความต้องการจ้างแรงงานไทย เนื่องจากมีฝีมือและมีวินัย โดยมีนโยบายให้การดูแลแรงงานไทยทั้งหมดไม่ว่าถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย มีการเตรียมการให้แรงงานใหม่ตอบโจทก์ความต้องการของนายจ้างเกาหลี พร้อมทั้งดำเนินมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการลักลอบทำงานหรือถูกหลอกไปทำงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศ หรือแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/10/2561

กสทช.ห่วง 'เน็ต 5G' ทำคนตกงาน กระทบกลุ่มผลิต-การเงิน-การแพทย์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เทคโนโลยี 5G มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไทย ในอนาคต แต่หลังจากการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่า การเข้ามาของ 5G ทั้งการใช้เทคโนโลยี IOT หรือ AI คนจะตกงาน 10-30% ถือเป็นข้อห่วงใยของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ถึงแม้จะไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรม รัฐบาลจะเพิ่มองค์ความรู้ให้คนกลุ่มนี้ได้อย่างไร หลายๆ ประเทศต้องคิดว่าถ้าคนกลุ่มนี้ตกงาน ต้องใช้เงินเท่าไหร่

เมื่อ 5G เข้ามาในไทยจะกระทบภาค การผลิตในไทย 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ภาคการผลิต ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหมวดใช้แรงงานถึง 30-40% ที่ใช้ภาคการผลิต 2.ภาคการเงินการธนาคาร โดยธนาคารจะต้องปิดตัวลงเรื่อยๆ และ 3.ภาคการแพทย์ สาธารณสุข ที่จะต้องปิดตัวลงเช่นกัน นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวก็กระทบเช่นกัน

ทั้งนี้สิ่งที่จะผลักดันให้เกิด 5G คือรัฐบาลไม่ใช่ผู้ให้บริการหรือโอเปอเรเตอร์เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วย เกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างอาชีพ 5G จะมาหนุนภาคอุตสาหกรรม เกิดการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในภาครวมประเทศ

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาฯ กสทช. กล่าวว่า กสทช.จะช่วยสนับสนุนคลื่นความถี่ โดยมีราคาเริ่มต้นที่ถูกลง และเปิดประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่ำพร้อมกับคลื่นความถี่สูง ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมนี เกาหลี อิตาลี ประมูลคลื่นใหม่ ถูกลง ทั่วโลกใช้วิธีเดียวกันคือ ประเมินราคาจาก ทั่วโลก ในการประมูลคลื่นความถี่รูปแบบการประมูลจะเอาหลายคลื่นมาประมูลพร้อมกัน ซึ่งกสทช.ยังมีเวลาคิดอีก 2 ปีกว่า

ที่มา: แนวหน้า, 18/10/2561

สปส.แจงผู้ประกันตนชราภาพได้รับเงินครบ ไร้กังวล

นายอนันต์ชัยอุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการจัดเก็บเงินสมทบกรณีชราภาพมาตั้งแต่วันที่ 31ธันวาคม 2541 และกฎหมายประกันสังคมกำหนดให้ผู้ประกันตนทุกคนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพหรือบำเหน็จชราภาพตามเงื่อนไขการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนแต่ละคนนั้น  ว่า กรณีผู้ประกันตนที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน และกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตายส่วนกรณีผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพโดยแยกเป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ส่วนกรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน

“การจ่ายเงินสมทบรายเดือนกับกองทุนประกันสังคมนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ระหว่างการทำงานแล้ว เมื่อถึงวัยเกษียณก็ยังคงอุ่นใจได้ว่ามีเงินออมชราภาพไว้เป็นหลักประกันในชีวิต เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคมที่กำหนดให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นบำนาญรายเดือนให้แก่ผู้ประกันตนไปตลอดชีวิต เพื่อให้ผู้ประกันตนมีเงินพอเลี้ยงชีพทุกเดือนไปจนตลอดชีวิต ทั้งนี้หากสำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียวหรือที่เรียกว่าบำเหน็จ ให้แก่ผู้ประกันตนแล้วผู้ประกันตนทยอยใช้เงินดังกล่าวทุกเดือนในอัตราเดียวกับการรับเงินบำนาญเงินบำเหน็จดังกล่าวจะใช้ได้ประมาณ 5 ปีเท่านั้น”เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 16/10/2561

รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุแรงงานผิดกฎหมาย 36% เป็นคนไทย

รัฐบาลเกาหลี เผยจำนวนแรงงานที่ไม่มีเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่เกินอายุวีซ่าประจำเดือน ส.ค. พบแรงงานไทยที่เป็นแรงงานผิดกฎหมายร้อยละ 36 ขณะที่แรงงานจากจีนเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายเพียงแค่ร้อยละ 6 เท่านั้น

กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ แถลงการณ์ตัวเลขแรงงานผิดกฎหมายเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่าปัจจุบันเกาหลีใต้มีแรงงานผิดกฎหมายทั้งหมด 335,433 คน ซึ่งมีแรงงานชาวไทยที่เข้ามาแบบกฎหมายอยู่ถึงร้อยละ 36 ของจำนวนแรงงานที่ผิดกฎหมายทั้งหมด

ในรายงานของกระทรวง ยังระบุว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้มีคนไทยอาศัยอยู่ถึง 188,206 คน และกว่าร้อยละ 65 หรือประมาณ 120,000 เป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้เกินอายุวีซ่า ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2016 ทางเกาหลีใต้ได้ส่งแรงงานไทยที่ไม่มีเอกสารการทำงานกลับแล้วกว่า 20,000 คน

นอกจากนี้แรงงานจากคาซัคสถานทั้งหมด 30,525 คน พบว่าเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่แรงงานจากจีนที่มีกว่า1 ล้านคน พบว่าเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายเพียงร้อยละ 6.7 เท่านั้น

นายชอง จี ฮุน ตัวแทนพรรครัฐบาล กล่าวว่า ชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามายังเกาหลีใต้กับโปรแกรมยกเว้นวีซ่าและเข้ามาตั้งรกรากอย่างผิดกฎหมายเพื่อทำงานหาเงิน นายซองยังเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้เร่งแก้ไขและหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวอย่างเร็วที่สุดด้วย

ปัจจุบันเกาหลีใต้มีแรงงานผิดกฎหมายคิดเป็นร้อยละ 14.5 ของจำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ที่มีอยู่ 2.3 ล้านคน ซึ่งทั้งนี้เกือบร้อยละ 53 ของแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้เข้าประเทศมาในโปรแกรมยกเว้นวีซ่าที่ทางเกาหลีใต้ยกเว้นให้แก่ประเทศต่างๆ

ที่มา: VoiceTV แปลจาก Korea Times, 16/10/2561

พนักงาน-ผู้ประกอบการ 'เกาะสิมิลัน' นัดยื่นหนังสือ เห็นผลกระทบอาจถูกเลิกจ้าง

บริษัทนำเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน นัดหยุดให้บริการลูกค้า นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หลังจากมีมติร่วมกัน ทำให้พนักงาน ลูกจ้าง คนขับรถโดยสาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน นัดรวมตัวกันที่บริเวณ โรงยิมเอนกประสงค์ โรงเรียนพระราชทานทับละมุ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เวลา 14.00 น.วันที่ 15 ต.ค. 2561 นี้ เพื่อยื่นหนังสือความเดือดร้อนให้แก่ทางเจ้าหน้าที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ที่ถูกผลกระทบเนื่องจากอาจต้องถูกเลิกจ้างงานและว่างงานหากมีการปรับตัวของบริษัททัวร์นำเที่ยว

ที่มา: บ้านเมือง, 15/10/2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net