Skip to main content
sharethis

ผู้เขียนหนังสือ 'จุดจบของประวัติศาสตร์' (The End of History and the Last Man) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและถูกมองว่าเป็นการบรรยายถึงชัยชนะของ 'เสรีนิยมประชาธิปไตย' ในยุคสงครามเย็น กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสารเดอะนิวสเตทส์แมนของอังกฤษว่าประชาธิปไตยโลกกำลังประสบปัญหาในเรื่องความไม่เสรีซึ่งเป็นไปตามที่เขาระบุไว้ในบทหนึ่งของหนังสือ และเขายอมรับว่าสิ่งที่คาร์ล มาร์กซ์ พูดไว้เกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียมในการกระจายผลผลิตเป็นการคาดการณ์ได้ถูกต้อง

ฟรานซิส ฟุกุยามะ นักทฤษฎีทางการเมืองผู้ที่เคยเขียนถึงเรื่อง 'จุดจบของประวัติศาสตร์' (The End of History and the Last Man) ที่มาภาพ: Fronteiras do Pensamento (CC BY-SA 2.0)

สื่อนิวสเตทส์แมนระบุว่าประวัติศาสตร์กำลัง 'ตามชำระ' ฟรานซิส ฟุกุยามะ นักทฤษฎีทางการเมืองผู้ที่เคยเขียนถึงเรื่อง 'จุดจบของประวัติศาสตร์' ในช่วงหลังสงครามเย็นใหม่ๆ ระบุว่า จุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการทางการเมืองอาจจะเป็นการปลดแอกทางเสรีนิยมประชาธิปไตยจากโลกตะวันตก แต่ผ่านมา 26 ปี หลังจากที่เขาระบุถึงเรื่องนี้ไว้ ก็เกิดปรากฏการณ์ที่โลกกำลังประสบกับการเมืองในแบบที่ไร้เสรีภาพแพร่กระจายไปในหลายแห่งของโลก ซึ่งเขาจะเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อ "Identity: The Demand for Dignity and the Politics of Resentment" (อัตลักษณ์ : ความต้องการศักดิ์ศรีและการเมืองแห่งความไม่พอใจ)

อย่างไรก็ตาม ฟุกุยามะให้สัมภาษณ์โต้ตอบนักวิจารณ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้เขาเคยพูดถึงไว้ในหนังสือเช่นกันโดยเฉพาะในบทสุดท้ายที่ชื่อ 'มนุษย์คนสุดท้าย' (The Last Man) ที่เกี่ยวกับภัยที่จะเกิดกับประชาธิปไตย "สิ่งที่ผมพูดไว้เมื่อตอนนั้น (ปี 2535) คือว่าปัญหาของประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้ให้สันติภาพและความมั่งคั่งแก่ผู้คนก็จริง แต่ผู้คนต้องการมากกว่านั้น... เสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ได้แม้แต่จะให้นิยามไว้เลยว่าชีวิตที่ดีคืออะไร มันปล่อยให้เป็นเรื่องของปัจเจก คนที่รู้สึกแปลกแยก ไร้เป้าหมายในชีวิต และนั่นทำให้ทำไมการเข้าร่วมกับกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ ทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงความมีชุมชนในระดับหนึ่ง" ฟุกุยามะกล่าว

ถึงแม้ว่าฟุกุยามะจะมีเชื้อสายญี่ปุ่นแต่เขาก็เกิดในสหรัฐฯ และนิยามตัวเองว่าเป็นคนอเมริกันเต็มตัว เขาเคยศึกษาด้านปรัชญาการเมืองกับอลัน บลูม ผู้ที่ในยุคนั้นเป็นกลุ่มขบวนการอนุรักษ์นิยมใหม่ และยังเป็นศิษย์ของพอล วูล์ฟโฟวิตซ์ ขณะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลในสมัยโรนัลด์ เรแกน และจอร์จ ดับเบิลยู บุช อย่างไรก็ตามมีหลายเรื่องที่ฟุกุยามะไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำสงครามอิรัก การลดการกำกับดูแลเรื่องการเงิน และนโยบายที่ไร้ประสิทธิภาพของผู้นำยุโรป เขาบอกว่านโยบายที่เน้นชนชั้นนำผลออกมาแล้วคือหายนะมันจึงเข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงไม่พอใจ

หนังสือ 'จุดจบของประวัติศาสตร์' แสดงความคิดเห็นคัดค้านแนวคิดของมาร์กซิสต์ จากเรื่องที่คาร์ล มาร์กซ์ ระบุว่าคอมมิวนิสม์จะเป็นอุดมการณ์สุดท้ายของมนุษยชาติ และเมื่อนิวสเตทส์แมนถามฟุกุยามะว่าเขารู้สึกอย่างไรกับการผุดขึ้นอีกครั้งของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ฟุกุยามะก็ระบุว่ามันขึ้นอยู่กับว่าผู้ถามนิยามสังคมนิยมว่าอย่างไร ถ้าหากเป็นสังคมนิยมในแง่ของความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตฟุกุมายะมอองว่ามันจะไม่เป็นผล  แต่ถ้าเป็นสังคมนิยมในแง่ของโครงการกระจายทรัพยากร การกระจายรายได้และความมั่งคั่งให้มีความเสมอภาคมากขึ้น มันควรจะกลับมาแน่ๆ 

ฟุกุมายะชี้ว่าการปล่อยให้ตลาดขาดการกำกับดูแลจะส่งผลหายนะมากมายหลายทาง เช่นเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน ลดอำนาจการต่อรองของคนทำงานทั่วไป ทำให้เกิดชนชั้นคณาธิปไตยไม่กี่คนที่ใช้อำนาจทางการเมืองอย่างล้นเหลือ และในแง่ของการเงินก็ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเงิน ในสหภาพยุโรปก็เกิดการใช้นโยบายรัดเข็มขัดปรับลดงบประมาณรัฐจากแนวทางของเยอรมนีที่ส่งผลเสียอย่างหนักต่อยุโรปใต้ และในแง่นี้เองที่ฟุกุยามะบอกว่าสิ่งที่มาร์กซ์เคยพูดไว้เป็นเรื่องจริง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการผลิตแบบล้นเกินความต้องการ การทำให้คนงานยากจนและเกิดภาวะขาดแคลน

แต่ฟุกุยามะก็มองว่าสิ่งที่จะมาเป็นปฏิปักษ์กับเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่สังคมนิยม แต่เป็นโมเดลทุนนิยมโดยรัฐของรัฐบาลจีนโดยอ้างว่าจีนจะเหนือกว่าถ้าหากทำให้เกิดเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ สิ่งที่ท้าทายคือรัฐบาลจะจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ฟุกุยามะกล่าวอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นได้สูงว่าจะเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งต่อพื้นที่ไต้หวัน หรือเรื่องของเกาหลีเหนือ หรืออาจจะมาจากการเผชิญหน้ากันถ้าหากเกิดการยกระดับข้อพิพาทพื้นที่ทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตามฟุกุยามะก็บอกกับผู้รักเสรีนิยมประชาธิปไตยทั้งหลายว่าขอให้ใจเย็นลงก่อนและอย่าเพิ่งคิดไปเองว่า 'ประชาธิปไตยในแบบที่ไม่เสรี' จะถึงขั้นกลายเป็น 'จุดจบทางประวัติศาสตร์ใหม่'


เรียบเรียงจาก

Francis Fukuyama interview: “Socialism ought to come back”, New States Man, 17-10-2018
https://www.newstatesman.com/culture/observations/2018/10/francis-fukuyama-interview-socialism-ought-come-back

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/The_End_of_History_and_the_Last_Man

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net