Skip to main content
sharethis

ผู้พิพากษาศาลแคลิฟอร์เนียตัดสินให้มอนซานโตยังมีความผิดกรณียาฆ่าหญ้า 'ราวน์อัพ' ก่อมะเร็งต่ออดีตคนงานดูแลสนามหญ้า แต่ก็สั่งลดเงินค่าชดเชยและค่าเสียหาย 211 ล้านดอลลาร์ ทนายผู้เสียหายระบุ ถึงการปรับลดเงินค่าเสียหายจะไม่เป็นธรรม แต่ก็ยินดีที่ศาลไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของมอนซานโตให้มีการพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง

ข้อมูลจากสื่อประชาสัมพันธ์ของมอนซานโตระบุว่าเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราวด์อั้พมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 (ที่มา: YouTube/Monsanto Company)

25 ต.ค. 2561 จากกรณีของเดอเวย์น จอห์นสัน อดีตคนดูแลสนามหญ้าผู้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการทำให้บรรษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโตจ่ายค่าเสียหายกรณียาฆ่าหญ้าก่อมะเร็งได้ มอนซานโตพยายามเรียกร้องให้ศาลเปิดการพิจารณาคดีนี้ใหม่อีกครั้งหลังจากที่เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาศาลแคลิฟอร์เนียสั่งปรับพวกเขาทั้งค่าชดเชยและค่าเสียหายรวม 289 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,500 ล้านบาท)

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลในแคลิฟอร์เนียยังคงคำตัดสินเดิมเอาไว้ แต่มีการปรับลดค่าชดเชยและค่าเสียหายลงรวมแล้วเหลือ 78 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,500 ล้านบาท) ก่อนหน้านี้คณะลูกขุนได้ขอให้ผู้พิพากษาศาลสูงจากซานฟรานซิสโก ซูซานน์ โบลานอส เคารพในคำตัดสินเดิมเมื่อเดือน ส.ค. หลังจากที่มอนซานโตขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่

ยื่นฟ้อง 'ราวด์อัพ' ก่อมะเร็ง ศาลแคลิฟอร์เนียตัดสินให้จ่ายค่าเสียหาย-ชดเชย

ทนายความและโฆษกประจำตัวของจอห์นสัน โจทก์ผู้ยื่นฟ้องเปิดเผยว่า ถึงแม้การปรับลดเงินชดเชยและเงินค่าเสียหายลงจะเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่พวกเขาก็ยินดีที่ศาลยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคำตัดสินเดิม โดยที่ทีมของจอห์นสันจะพิจารณาว่าจะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร

ทางด้านนักวิจารณ์มอนซานโตอย่างสมาคมผู้บริโภคออร์แกนิคแสดงความยินดีที่ผู้พิพากษาไม่กลับคำตัดสินเช่นกัน

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ยี่ห้อราวน์อัพ (ที่มา: flickr/David Mulder)

ถึงแม้ว่ามอนซานโตจะเคยแถลงว่ายากำจัดวัชพืชของพวกเขา "ปลอดภัยถ้าหากใช้งานตามที่กำกับไว้" แต่รัฐแคลิฟอร์เนียและองค์กรเพื่อการวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็จัดให้สารไกลโฟเซตซึ่งเป็นวัตถุดิบของราวน์อัพมีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในคน อย่างไรก็ตามฝ่ายกำกับดูแลของประเทศตะวันตกก็ยังคงอนุญาตให้เกษตรกรใช้ยากำจัดวัชพืชตัวนี้

ทีมทนายของจอห์นสันกล่าวว่าพวกเขาคณะลูกขุนในการพิจารณาคดีครั้งนี้ "ทำตามกฎหมายโดยตรงตามตัวอักษร" และพวกเขายินดีที่ผู้พิพากษารับฟังเสียงของคณะลูกขุนถึงแม้ว่าจะถูกปิดกั้นไปบ้าง นอกจากนี้ ทีมทนายยังบอกอีกว่าพวกเขากำลังพิจารณาในเรื่องที่มีการลดเงินค่าชดเชยและค่าเสียหายว่าจะมีการเสนอเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้หรือไม่

ทางด้านเบเยอร์ บริษัทเคมีภัณฑ์จากเยอรมนีที่ควบรวมกิจการของมอนซานโตเมื่อไม่นานนี้แถลงว่าการพิจารณาของศาลเป็นไปทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่พวกเขาก็ยังเชื่อว่าคำตัดสินลงโทษพวกเขา "ได้รับการเกื้อหนุนโดยหลักฐานที่เสนอในที่พิจารณาคดี" หรือเป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้พวกเขายังมีแผนที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แคลิฟอร์เนียต่อไป

สื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่า ไม่ว่าผลในขั้นสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตามแต่คดีของจอห์นสันถือเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ผู้ป่วยมะเร็งเรียกร้องความรับผิดชอบจากบรรษัทเคมีภัณฑ์ได้ ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาผู้พิพากษาจากทางการกลางของสหรัฐฯ ระบุว่าจะมีการพิจารณาคดีที่คล้ายกันอีกจำนวนมาก องค์กรไรท์ทูโนวของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามีกรณีโจทก์ฟ้องร้องในเรื่องที่ผลิตภัณฑ์ทำให้คนป่วยราว 8,000 กรณี

จอห์นสัน เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อก่อนหน้านี้ว่าเขาหวังว่ามอนซานโตจะเข้าใจถึงสิ่งที่จะสื่อถือการที่คนอเมริกันและคนทั่วโลกไม่ได้ขาดความรู้อีกต่อไปแล้ว พวกเราสามารถค้นหาข้อมูลเองได้ และเขาหวังว่าเรื่องนี้จะส่งผลสะเทือนทำให้ผู้คนใส่ใจถึงสิ่งรอบตัวว่ามีอะไรปนเปื้อนอยู่ในสิ่งที่พวกเขากิน รวมถึงสิ่งที่พวกเขาฉีดพ่นในฟาร์ม

เรียบเรียงจาก

Judge Upholds Landmark Monsanto Verdict, But Slashes Punitive Damages by $211 Million, Common Dreams, Oct. 23, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net