Skip to main content
sharethis

มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯ มาเลเซียคนปัจจุบันบรรยายพิเศษที่จุฬาฯ ย้ำ แก้ปัญหา 3 จ.ใต้ ก็เป็นภารกิจของมาเลเซีย หวังร่วมไทยพัฒนาเศรษฐกิจ เปลี่ยนบทบาทอาเซียนจากผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตแต่ไม่ก้าวก่ายการเมือง ใครไม่พร้อมกับประชาธิปไตยก็ว่ากันไป ไม่ยอมรับเรื่อง LGBT เพราะยึดถือ 'คุณค่าของเอเชีย' บทเรียนนโยบายจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ แต่อย่าบังคับให้ใครทำตาม

มหาธีร์ ขณะบรรยายที่จุฬาฯ (ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

25 ต.ค. 2561 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซียได้ทำการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ความสัมพันธ์มาเลเซียและไทย ในบริบทของอาเซียน” โดยมีผู้ให้ความสนใจร่วมฟังบรรยายคับคั่ง

มหาธีร์บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียที่มีมายาวนานตั้งแต่ก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราช และหลังประกาศเอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่มาเลเซียมีเหตุการณ์จลาจลกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ทางไทยก็ช่วยเหลือไว้มาก ในทางเดียวกันนั้น ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สาม จ.ชายแดนภาคใต้ของไทยนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมาเลเซียที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้วย

มหาธีร์ยังกล่าวว่า มาเลเซียและไทยสามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมาเลเซียนั้นมุ่งมีจุดยืนเป็นกลางในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งยังพูดองค์การระดับภูมิภาคอย่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ว่าเป็นองค์การที่เริ่มต้นจากการที่ชาติสมาชิกแรกเริ่มได้แก่อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยระบุว่าเป็นการรวมกลุ่มที่มุ่งจัดการความแตกต่างระหว่างแต่ละประเทศในภูมิภาคโดยสันติวิธี อาเซียนมุ่งแสดงให้โลกเห็นว่าสามารถจัดการกับความแตกต่างได้โดยไม่ต้องรบพุ่งกัน และทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สงบสุข

นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียพูดเน้นย้ำในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียที่มีการจัดการกับปัญหาอย่างสันติ เขายกตัวอย่างเหตุการณ์กรณีพิพาทพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและมาเลเซียในอ่าวไทยที่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันอยู่ ซึ่งในที่สุดทั้งสองฝ่ายตัดสินใจแบ่งผลผลิตน้ำมันในพื้นที่พิพาทคนละครึ่ง ซึ่งถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

ในช่วงตอบคำถามจากผู้ฟังการบรรยาย มหาธีร์ให้ความเห็นว่าประชาธิปไตยคือการตอบสนองต่อความคิด ความต้องการของประชาชน แม้ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้ายังทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ประชาชนก็จะสนับสนุน อย่างน้อยก็ขอให้เข้าถึงประชาชน ไปพูดคุยทักทาย จับไม้จับมือพวกเขา ในส่วนมาเลเซียนั้น เขาอยากจะจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของนายกฯ ให้เป็นได้แค่สองวาระเท่านั้น และกฎหมายใดๆ ที่ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่กดขี่ก็จะทบทวน แก้ไข หรือไม่ก็เลิกเสีย

มาเลย์จ่อเลิกโทษประหาร ‘แอมเนสตี้ฯ’ ขยายปมสภาพรอความตายก็ทารุณพอกัน

รัฐบาลใหม่มาเลเซียยกเลิกกฎหมาย 'ต้านข่าวปลอม' ที่คนกังวลว่าจะถูกใช้ลิดรอนเสรีภาพ

มหาธีร์ให้ความเห็นเรื่องปัญหาสาม จ.ชายแดนใต้ของไทยว่าแต่เดิมปัญหาดังกล่าวไม่มี เมื่อ 70 ปีที่แล้วในพื้นที่มีเพียงความแตกต่างทางศาสนา ส่วนตัวเขาไม่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของกลุ่มที่มาแสดงออกถึงความโกรธเกรี้ยวเพราะอยากได้ดินแดนของพวกเขาคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ณ ขณะนี้

บีบีซีรายงานว่า มหาธีร์ได้เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกก่อนที่จะมาเยือนไทยในวันที่ 24-25 ต.ค. โดยเปลี่ยนเป็นตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย มีประสบการณ์สูงเรื่องความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเขาได้เดินทางร่วมคณะมาในครั้งนี้ และได้เข้าพบกับคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยคณะใหม่ ที่นำโดย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ในวันนี้ (25 ต.ค. 2561)

ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่วันก่อน ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ประกาศให้รัฐบาลไทยเจรจาตรงกับพวกเขาซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักของรัฐบาลไทย แทนการเจรจากับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ซึ่งมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา

BRN ย้ำตัวบุคคลไม่สำคัญเท่าหลักการเจรจา หลัง รบ.ไทยเปลี่ยนหัวหน้าทีมคุย

ต่อคำถามเกี่ยวกับความคาดหวังต่อไทยในฐานะประธานอาเซียนปีหน้า นายกฯ มาเลเซียคนปัจจุบันตอบว่า อาเซียนควรเปลี่ยนสถานะตัวเองจากผู้บริโภคของจากนอกภูมิภาคเป็นผู้ผลิต ประชากรอาเซียนที่มีราว 600 ล้านคนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก หากสามารถผลิตสินค้าได้เองก็จะทำให้เงินไหลมา ไม่ใช่ไหลออกอย่างที่เป็น ถ้าจัดการกันดีๆ อาเซียนจะไปได้ไกลกว่านี้ และยังยกตัวอย่างว่า ที่ญี่ปุ่นมีรถยนต์ที่มีคุณภาพดีอย่างที่เห็น ก็เพราะเริ่มต้นจากความต้องการที่จะผลิตรถยนต์ให้ใช้เองได้

ส่วนบทเรียนจากสหภาพยุโรปที่เป็นองค์การภูมิภาคที่เป็นเอกลักษณ์นั้น มหาธีร์ระบุว่าตอนนี้อียูไม่ใช่การรวมตัวที่ดี สหราชอาณาจักรตัดสินใจออกไป และยังมีความขัดแย้งภายใน ในบริบทอาเซียนนั้นควรร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ แต่ทางการเมืองควรปล่อยให้แต่ละประเทศมีเส้นทางของตัวเอง ถ้าประเทศใดไม่พร้อมกับประชาธิปไตยก็ว่ากันไป ถ้ายิ่งเข้าไปแก้ไขระบบการเมือง ระบบกฎหมายในประเทศอื่นก็ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ทั้งนี้ ประชาธิปไตยในปัจจุบันก็มีหลายแบบ อาเซียนต้องเรียนรู้จากพื้นที่อื่นด้วย เพียงแต่อย่ามีการบังคับให้ยอมรับระบบทั้งหลาย

ต่อคำถามเกี่ยวกับความเห็นของเขาในเรื่องความหลากหลายทางเพศในมาเลเซียนั้น มหาธีร์ตอบว่า เราไม่สามารถแยกตัวเองออกจากโลกทั้งใบที่ปัจจุบันพูดถึงความเท่าเทียมมากขึ้น ส่วนตัวเขาเป็นคนที่ยึดถือกับคุณค่าแบบเอเชีย (Asian Values) คุณค่าของมาเลเซียยังคงยืนบนฐานของศาสนา วัฒนธรรมของพวกเราเอง บางครั้งชาวเอเชียก็ยอมรับคุณค่าของตะวันตกโดยไม่ตั้งคำถาม สมมติว่าถ้าเขาแก้ผ้าเดินไปเดินมาจะต้องทำตามหรือไม่ พวกเรามีคุณค่าของพวกเราเอง ถ้าใครจะยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศก็เป็นเรื่องของพวกเขา แต่อย่าบังคับคนอื่น

มหาธีร์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันในตะวันตกมีการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และครอบครัวก็ไม่ได้ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก แต่กลับเป็นผู้ชายสองคนที่รับลูกบุญธรรมมาชุบเลี้ยงแล้วเรียกว่าครอบครัว สถาบันของการสมรสและความเป็นครอบครัวถูกมองข้ามไปในตะวันตก แล้วทำไมเราจึงต้องเดินตาม เราต้องการที่จะคงไว้ซึ่งระบบคุณค่าของเรา เราควรมีอิสระในการไม่เปลี่ยนความคิดตามที่ใครอยากให้เปลี่ยน

ต่อคำถามเรื่องความเห็นต่อนโยบายภูมิบุตรในมาเลเซีย ที่ให้ชาวมลายูพื้นเมืองมีเอกสิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสในการทำงานนั้นว่าจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าวหรือไม่ มหาธีร์ตอบว่า ภูมิบุตรเป็นนโยบายสร้างโอกาสให้ชาวพื้นเมืองที่แต่เดิมไม่ยอมปรับตัวกับวิถีชีวิตแบบใหม่และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมีนโยบายที่ลดช่องว่างดังกล่าวลง เป็นการยืนยันสิทธิประโยชน์ (Affirmative Action) ที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือชนพื้นถิ่นดั้งเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net