Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 เมื่อ 2-3 ที่ผ่านมามีกระแสดราม่าเกี่ยวกับเรื่องการประกวดดาว-เดือน ดาวเทียม ของ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งหลายคนคงได้เห็นโพสต์เฟสบุ๊คล่ารายชื่อให้มีการแก้ไขรูปแบบกิจกรรมนี้ นำโดย เนติวิทย์ โชติพัฒนไพศาล ในวันที่ 20 ตุลาคม 2561 สิ่งมีหลายสำนักข่าวได้ลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เช่น มติชน https://www.matichon.co.th/education/news_1190287

จากการประกาศให้มีจัดประกวดดาว-เดือน ดาวเทียม ในเพจ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ซึ่งดาวก็คือผู้หญิงที่ทางคณะหรือภาคเล็งเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนในการทำกิจกรรม ทั้ง ‘รูปร่างหน้าตา’ พูดจาดีมีสาระ มีอัธยาศัยดี และมีความสามารถ เดือนก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเดือนก็จะเป็นทางฝั่งของผู้ชาย” (อ้างอิงจาก http://starpluscity.com/question/ดาวเดือนมหาลัย-คืออะไรค/) และดาวเทียม คือ กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นกิจกรรมล้อเลียนกับ ดาว-เดือน ซึ่งเน้นความตลกของผู้เข้าประกวดเป็นหลัก เป้าหมายของการจัดเพื่อเฟ้นหาตัวแทนนิสิตปี 1 เพื่องานสันทนาการในประเพณีสัมพันธ์ สิงห์ดำ-สิงห์แดง และงานอื่นๆในวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ก็ได้มีกลุ่มนิสิตได้ทำการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดประกวด “ดาว-เดือน” และ “ดาวเทียม” ก็มีทั้งหลายเสียงแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่อมามีการโพสต์ข้อความลง Facebook, Twitter ในหลายแง่มุมซึ่งประกอบไปด้วยข้อความที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมไปถึงข้อความที่มีการเสียดสีด่าทอ สบประมาทว่าร้าย รวมทั้งการเบี่ยงประเด็นในข้อถกเถียงต่างๆ เป็นที่น่าตกใจว่า ในข้อความเชิงเสียดสีบางส่วนเป็นคำที่ถูกกล่าวขึ้นด้วยผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในสโมสรนิสิต ในส่วนความเห็นของผมไม่เห็นด้วยกับรูปแบบกิจกรรมการประกวดรูปลักษณ์หน้าตาซึ่งเป็นสิ่งที่เรา “เลือกเกิดไม่ได้” การจัดกิจกรรมประกวดอะไรก็ตามควรเป็นสิ่งที่เลือกได้ ฝึกฝนได้เท่านั้น การจัดประกวดดาว-เดือน ดาวเทียม นิสิตส่วนมากมีส่วนร่วมกับกิจกรรมดังกล่าวน้อยมาก การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการจัดในนามของคณะ นิสิตทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียหมด จึงต้องเป็นกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ มีคำกล่าวอ้างว่าการประกวดดาวเดือนในบริบทของรัฐศาสตร์ จุฬาฯไม่ได้จำกัดเฉพาะหน้าตาเท่านั้น หรือ ดาวเทียมก็ไม่ได้จำกัดเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้นเท่านั้น และคำโต้แย้งอื่นๆผมจึงต้องขอชี้แจงดังนี้

1) ในวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2561 มีการประชาสัมพันธ์การประกวดดาวเดือน และดาวเทียมแก่นิสิตชั้นปี 1 ซึ่งไม่ได้มีการชี้แจงหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนใดๆในการเสนอชื่อผู้เข้าประกวดดาวเดือน หากไม่มีการชี้แจงชัดเจน คำว่า “ดาวเดือน” ในสังคมไทยจะถูกตีความว่าเป็นเวทีการประกวด “ผู้มีความโดดเด่นที่รูปลักษณ์หน้าตา” อย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ไม่ของนำมาตัดสินเลยเพราะแต่ละคนย่อมมีความหลากหลายแตกต่างกัน ไม่ควรตัดสินว่าใครมีสิ่งที่ติดตัวแต่กำเนิดดีกว่ากัน แม้บางคนจะกล่าวว่าการประกวดก็มีหลายหลักเกณฑ์ และบางคนก็ไม่ได้เลือกเพราะหน้าตาหรือเพศสภาพ (อย่างเดียว) แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้คนก็ติด “กับดัก” หน้าตาและเพศสภาพอยู่ดี สามารถดูได้จากคอมเม้นต์ในโพสต์ข่าว มติชน หรือ VoiceTV ที่ได้ลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นดาวเดือนไป สุดท้ายก็มีคอมเม้นต์สบประมาทหน้าตาหลายคอมเม้นต์ เช่น “ก็มึ_หน้าเหี้_ประกวดไม่ได้ เลยคิดจะล้มละสิ” ดังนั้นรูปแบบกิจกรรมแบบนี้ก็ไม่ควรผลิตซ้ำอีก และต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประกวดทั้งโครงสร้าง ไม่สามารถแก้หลักเกณฑ์การประกวดแค่บางข้อเพื่อขจัดปัญหานี้ได้

2) ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่าไม่มีการคุยกันก่อนที่จะโพสต์ลงโซเชี่ยลนั้นไม่เป็นความจริง เนติวิทย์ ได้คุยกับทางทีมจัดงานในวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม ณ ห้องสโมสรนิสิต เวลาประมาณ 18.00 น.เรียบร้อยและมีการชี้แจงอธิบายจุดประสงค์ของการจัดแล้วได้ตกลงกันว่าจะมีการรวบรวมรายชื่อเกิดขึ้นซึ่งผมได้อยู่ในเหตุการณ์และร่วมรับฟังเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง แต่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีการคุยก่อน ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

3) หากกล่าวว่า “ดาวเดือน” เป็นเรื่องภายในของคณะ การเผยแพร่ลงโซเชี่ยลเป็นการกระทำที่ไม่สมควร คงอาจกล่าวเช่นนั้นไม่ได้เพราะ ดาวเดือนเป็นประเด็นของสังคม และการประกวดดาวเดือน ดาวเทียมนั้นโดยทั่วไปเป็นกิจกรรมที่เผยแพร่ลงโซเชี่ยลมีเดียอยู่แล้ว จึงมีข้อสงสัยว่าทำไมกรณีจึงไม่อาจเผยแพร่ลงโซเชี่ยลมีเดียได้ แต่หากกล่าวเช่นนั้นได้ก็คงพูดได้ว่า “โซตัส” ก็เป็นเรื่องภายในของคณะได้เช่นเดียวกัน และก็ไม่สมควรเป็นประเด็นสังคมเช่นเดียวกัน

4) การประกวดดาวเทียม แม้กติกาจะเปิดให้เพศใดหรือแบบใดก็ตาม แต่แน่นอนว่ามันคือการ “ผลิตซ้ำ” มายาคติเดิม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวทีการประกวดดาวเทียมเกิดขึ้นมาแต่แรกเพื่อเป็นพื้นที่ให้ LGBT ซึ่งเน้นความ “ตลก” เป็นหลัก แม้จะมีคำกล่าวอ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บางส่วน แต่โครงสร้างแบบเดิมยังคงอยู่ คำว่า "เทียม" มีความหมายเด่นชัดมากว่า ไม่จริง ไม่แท้ ซึ่งมันมีนัยว่า เวทีเป็นเวทีของผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นดาว-เดือน ซึ่งเป็นเวทีของผู้ที่เรียกว่าสมบูรณ์กว่า ในระหว่างการประชาสัมพันธ์ต่อนิสิตชั้นปี 1 ในวันที่ 18 ตุลาคม ก็มีคำพูดจากผู้เคยเข้าประกวดดาวเทียมว่า “ถึงแม้เราจะเป็นดาวเดือนไม่ได้” แสดงชัดว่า ดาวเดือนต้องเป็นฟังก์ชั่นอะไรบางอย่างที่คนอยู่เวทีดาวเทียมไร้คุณสมบัติเพราะมีคุณค่าที่ด้อยกว่า ความตลกที่ถูกสร้างนั้นมันคือความตลกที่ผู้ประกวดสร้างหรือการทำให้ผู้ประกวดเป็นวัตถุสร้างความตลกกันแน่? อาจมีคำกล่าวอ้างว่า คำศัพท์มันขึ้นอยู่กับการให้/ตัดสิน คุณค่าของแต่ละคน และคนที่มองด้านลบคือเหยียดเอง หากอ้างแบบนั้น อีกหน่อยก็คงตั้งกิจกรรมชื่ออะไรก็ได้ คำว่า ช้างน้ำ อ้วน ขี้เหร่ ก็ได้ แล้วบอกว่า “ก็แล้วแต่คนให้คุณค่า” หรือ “คิดในแง่ร้ายเอง” อย่างนั้นหรือ?

5) หลังจากมีการโพสต์รวบรวมรายชื่อขึ้น ผมคาดหวังว่าจะได้คำชี้แจงที่มีเหตุผลถึงประโยชน์และเหตุผลของการจัดประกวดจากผู้คนที่เห็นด้วยกับการประกวด แต่จนตอนนี้ไม่มีใครออกมาชี้แจงถึงประโยชน์ของการจัดงาน ผมกลับพบแต่ข้อความข่มขู่ ด่าทอ เสียดสี และคำโต้แย้งเบี่ยงประเด็นอื่นๆ เช่น “ถ้ามีการประกวดหน้าเหี้_เมื่อไรจะเข้าร่วม” ผมเข้าใจว่าสโมสรนิสิตต้องการมีนโยบายให้นิสิตในคณะมีส่วนร่วม แต่หากมีใครเสนออะไรแล้วไม่ได้รับการตอบรับด้วยเหตุผล แต่พบแต่คำเสียดสี สบประมาท ในอนาคตก็คงไม่มีใครอยากเสนออะไร และก็คงไม่อยากมีส่วนร่วมอะไรในคณะอีก แบบนี้กระบวนการประชาธิปไตยย่อมเกิดได้ยาก คนทำงานในสโมสรนิสิตควรมีคุณสมบัติ “เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ (service mind)” รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ และตอบกลับอย่างมีเหตุผลและละมุนละมอม ไม่ใช่ด้วยการด่าทอหรือเสียดสี การโพสต์ข้อความลงโซเชี่ยลดังปรากฏให้เห็น เช่น “เล่นเกมส์เหี้_อะไรนักหนา” หรือ “ไปเกิดใหม่ก่อน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีตำแหน่งในสโมสรนิสิตหรือตำแหน่งในองค์กรต่างๆไม่ควรกระทำ หากในอนาคตได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นแล้วมีประชาชนมาเรียกร้องสิทธิหรืออะไรก็ตาม คุณก็ไม่สามารถนำประชาชนไปต่อว่าในลักษณะด่าทอหรือเสียดสีได้

6) ผมยังเชื่อว่าการเสนอนโยบายใดไม่ใช่การสร้างความขัดแย้งหรือแบ่งแยกอะไร ไม่มีใครมีเจตนาที่จะสร้างสิ่งที่ไม่ดีต่อสถาบันของตน มีแต่การเสนอสิ่งใหม่ๆที่คิดว่าสามารถนำไปพัฒนาสถาบันได้ หากมีการรับฟังแล้วตอบกลับด้วยเหตุผล ก็คงไม่ได้สร้างการแบ่งแยกในคณะแต่อย่างใด ประชาธิปไตยไม่ใช่การสร้างความแตกแยกแต่เป็นกระบวนการหารือข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด

7) ในส่วนของคำกล่าวอ้างที่ว่า “ประชาธิปไตยสร้างความไม่เท่าเทียม” หรือ “การรวบรวมรายชื่อไม่เป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย” ถึงแม้ประเด็นนี้จะเป็นการโต้เถียงแบบเบี่ยงประเด็น (false argument) จากกลุ่มผู้สนับสนุนการประกวด แต่ต้องขอกล่าวว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ประชาธิปไตยใช้หลักการ 1 สิทธิ 1 เสียง ซึ่งสร้างความเท่าเทียมอยู่แล้ว และเข้าใจผิดอย่างมากที่คิดว่ากลไกประชาธิปไตยมีแค่การ “เลือกตั้งลงคะแนนเสียง” เท่านั้น ประชาธิปไตยมีระบบกลไกการตรวจสอบ ตั้งคำถาม เสนอ คานอำนาจ เรียกร้อง รวมถึงเปลี่ยนแปลง ในส่วนของการรวบรวมรายชื่อ ถ้าคนไม่เห็นด้วย เขาก็คงไม่มาร่วมลงชื่อหรอกครับ ทุกการเคลื่อนไหวย่อมต้องมี “ตัวแทน/กระบอกเสียง” อยู่แล้วเพื่อความสะดวกในการดำเนินการ แน่นอนว่าการลงชื่อก็คือการถามและแสดงความเห็นแล้วในขั้นต้น ไม่ได้มีการข่มขู่ให้ร่วมลงชื่อ หรือ ไม่มีการด่าทอหรือเสียดสีเพื่อให้คนมาร่วมแต่อย่างใด ดังนั้นกระบวนการรวบรวมรายชื่อจึงเป็นกระบวนการ “ประชาธิปไตย” อย่างชอบธรรมอยู่แล้ว

8) คำว่าเราต้องพิจารณาบริบทของแต่ละสถานที่ด้วย แล้วบริบทนั้นมีประโยชน์ต่อนิสิตโดยรวมหรือไม่? หรือเป็นบริบทที่เอื้อประโยชน์ต่อคนไม่กี่กลุ่ม? เรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่อาจจำกัดได้ด้วยบริบทใดเฉพาะแต่เป็น “คุณค่าสากล” ที่ต้องนำมาปฏิบัติทุกภาคส่วน

9) ไม่มีดาว-เดือน ดาวเทียม แล้วจะมีพื้นที่อะไรให้คนที่อยากแสดงออกได้แสดงออก? เป็นการทำลายพื้นที่การแสดงออก? มีพื้นที่มากมายครับ การประกวดอื่นๆที่ใช้ความสามารถจากการฝึกฝน ในข้อเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงการประกวดดาว-เดือน ดาวเทียม ของ ธรณ์เทพ มณีเจริญ เสนอหลักการไว้ 3 แนวคิด คือ หลักธรรมาภิบาล หลักการบริหารผู้มีความสามารถสูง และ หลักวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เหมาะสมกับโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเปิดโอกาสให้นิสิตทั่วไปได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

สุดท้ายนี้ การประกวดดาวเดือน ดาวเทียม จะจัดขึ้นหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆนั้นขึ้นอยู่กับมติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งผมขอเสนอให้มีการเปิดเวทีอภิปรายขึ้นและมีการลงประชามติต่อไปตามลำดับครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net