Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบเนื่องจากข่าวที่จะมีการปรับหลักสูตรครุศาสตร์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง โดยให้หันกลับไปใช้หลักสูตร 4 ปี โดยจะเริ่มต้นใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไปนั้น ส่งผลให้เกิดวิวาทะอย่างรุนแรงว่าด้วยนโยบายการปฏิรูปหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเดิมก็ได้เคยมีการปรับหลักสูตรจาก 4 ปีเป็น 5 ปี มาแล้วโดยเริ่มใช้หลักสูตรดังกล่าวอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไปนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตร์เพื่อยกระดับการผลิตครูให้มีคุณภาพและเป็นไปตามอัตลักษณ์ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งเคยเป็นสถาบันการผลิตครูมาแต่เดิมโดยปรับให้เป็นหลักสูตร 4 ปี ทางกลุ่มอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตร์ให้เป็นหลักสูตร 4 ปี แต่ก็มีบางส่วนจะยังคงใช้หลักสูตร 5 ปีต่อไป 
 
อนึ่ง บทความฉบับนี้มิได้ให้ข้อเสนอแนะหรือทางเลือกใดๆต่อแนวโน้มและทิศทาง การปฏิรูปหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ว่าควรจะเป็น 4 ปี หรือ 5 ปี เพราะผู้เขียนมองถึงคำตอบของวิวาทะว่าด้วยหลักสูตร 4 หรือ 5 ปี รวมถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการผลิตครูทั้งด้านปริมาณและคุณภาพนั้น เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าวอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบด้านนโยบายการศึกษาได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู พ.ศ. 2558-2572 โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาการศึกษาไปเมื่อ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาในปี 2559 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูสู่การปฏิบัติ โดยมีศาสตราจารย์ ดร. พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ เป็นประธานกรรมการ โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ การจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูสู่การปฏิบัติ พ.ศ. 2560-2564 และการศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร. มนตรี แย้มกสิกร และคณะดำเนินการศึกษาวิจัยจนได้เอกสารชุดความรู้จำนวน 4 ชุด คือ 1) ระบบและรูปแบบการผลิตครูและระบบวิจัยของสถาบันผลิตครูที่เหมาะสมกับสังคมไทยและความเป็นสากล 2) ระบบและรูปแบบการพัฒนาครูที่เหมาะสมกับสังคมไทยและความเป็นสากล 3) ระบบการใช้ครูและการบริหารงานบุคคลของครูที่เหมาะสมกับสังคมไทย และ 4) ข้อเสนอเชิงนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนการผลิตครู การพัฒนาครู และการบริหารงานบุคคลของครู โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการฯ ร่วมกันพิจารณาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และได้มีการปรับปรุงเพื่อให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และได้นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวงกว้างเมื่อปีที่ผ่านมา (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2560) 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอคือ เพราะเหตุใดวิชาชีพครูหรือจะกล่าวโดยเฉพาะว่าศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จึงถูกแทรกแซงในเชิงอำนาจ (authority) และเสรีภาพ (freedom) การปฏิบัติงานทางวิชาชีพอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากอำนาจและเสรีภาพในการปฏิบัติงานเป็นตัวชี้วัดสถานภาพของวิชาชีพที่ดีมากอย่างหนึ่ง เพราะมองเห็นได้ชัดเจนและชี้วัดได้อย่างเที่ยงตรง กล่าวคือ หากวิชาชีพใดที่มีสถานภาพสูง สังคมจะให้อำนาจหรือเสรีภาพในการปฏิบัติงานด้านการให้บริการแก่สังคมสูง ไม่แทรกแซงในเชิงอำนาจและเสรีภาพ แต่ถ้าวิชาชีพใดถูกแทรกแซงในเรื่องนี้มากแสดงว่าวิชาชีพนั้นมีสถานภาพไม่สูงนัก บทความฉบับนี้ผู้เขียนจึงจะนำเสนอประเด็นว่าด้วย การแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยสาธารณะชนและปัญญาชนสาธารณะ (Public intellectuals) ประเด็นที่เสนอนี้มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้นักวิชาการด้านครุศึกษา อาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ครูประจำการ นักศึกษาครู และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้หันกลับมาคิดไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ถึงตำแหน่งแห่งที่ของตนเองผ่านมุมมองเชิงปรัชญาและตรรกะแห่งวิชาชีพครู และในฐานะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิวาทะที่กล่าวถึงข้างต้น 


การแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยสาธารณะชน
การบริการของวิชาชีพครูคือ การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยที่การให้บริการวิชาชีพต้องอาศัยองค์ความรู้หรือความชำนาญพิเศษกับอุดมการณ์วิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ อันเป็นที่มาของมาตรฐานด้านวิชาการ (ความรู้ความสามารถ) และด้านจริยธรรม (ความประพฤติ) ของการให้บริการวิชาชีพ และถ้าองค์ความรู้ของวิชาชีพใดไม่แข็งแกร่ง ประกอบกับการที่รัฐและสังคมไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ปกป้องหวงแหน องค์ความรู้ดังกล่าวไว้กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่มแล้ว การแทรกแซงวิชาชีพนั้นโดยรัฐหรือสาธารณะชนก็จะมีการแทรกแซงทางวิชาการและวิชาชีพด้วย นอกเหนือจากการแทรกแซงทางจริยธรรมซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าอย่างอื่นในทุกวิชาชีพ หากสมาชิกของวิชาชีพนั้นๆ ให้บริการแบบด้อยมาตรฐานด้านจรรยาบรรณ (อัครพงษ์ สัจจวาทิต, 2546)

เมื่อกล่าวถึงภารกิจแกนกลางของวิชาชีพครู หรือเมื่อพูดถึง “ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์” ในฐานะที่เป็นศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาความชำนาญพิเศษของวิชาชีพครู โดยที่ครูต้องใช้องค์ความรู้ (Body of knowledge) ว่าด้วยครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือในการให้บริการเชิงวิชาชีพแก่สาธารณะชนนั้น ปรากฏว่าได้มีการแทรกแซงวิชาชีพครูโดยสาธารณะชนอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ ถ้าองค์ความรู้ด้านหลักสูตร (Curriculum) และศาสตร์การสอน (Pedagogy) เป็นความชำนาญพิเศษของวิชาชีพครู การที่วิชาชีพอื่นๆ ในสังคมมีสถาบันฝึกอบรมของตนเอง เช่น วิชาชีพตำรวจมีโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน วิชาชีพทหารมีโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น คณะเหล่านี้ต่างก็ล้วนแล้วแต่มีการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมในเชิงวิชาชีพทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาในเชิงปรัชญาและตรรกะแห่งวิชาชีพครูต้องถือว่าเป็นการละเมิดหรือแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ด้วยเช่นกัน เพราะผู้ฝึกอบรมในคณะวิชาเหล่านี้ต่างก็เป็น “ครู” หรือ “อาจารย์” ทั้งสิ้น การที่สถาบันหรือคณะวิชาเหล่านี้ดำรงอยู่และยังคงมีภารกิจทั้งด้านการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการฝึกอบรมให้แก่บุคคลในสังคมนั้นสะท้อนให้เห็นว่า 1) ในเชิงการเมืองว่าด้วยองค์ความรู้เฉพาะด้านและการเมืองระหว่างวิชาชีพ องค์ความรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตร ศาสตร์การสอน หรือการจัดการเรียนรู้มิได้ถูกผูกขาดไว้ในกลุ่มของบัณฑิตทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เหมือนอย่างการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพของแพทย์ วิศวกร นักกฎหมาย ตำรวจ ทหาร และพยาบาล ฯลฯ ซึ่งวิชาชีพเหล่านี้เป็นวิชาชีพที่ถูกผูกขาดให้แก่บัณฑิตในสาขาวิชาเฉพาะทางเท่านั้น และอาจกล่าวได้ว่า 2) ในเชิงวิชาการและวิชาชีพ สาธารณะชนจึงสามารถเข้าไปแทรกแซงวิชาชีพครูหรือแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้ตลอดเวลา ซึ่งปรากฏชัดเจนผ่านวิวาทะว่าด้วยนโยบายการปฏิรูปหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ให้กลับไปเป็น 4 ปี โดยกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมือง นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษานั่นเอง 

หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วนั้น การแทรกแซงวิชาชีพครูและศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยสาธารณะชนและปัญญาชนสาธารณะนั้นถือเป็นเรื่องปกติมากและสามารถพบเห็นได้ในวงการวิชาการ ดังกรณีหนังสือเรื่อง รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว ซึ่งแปลโดย ธีระ สุมิตร และพรอนงค์ นิยมค้า (2528) ของ Masaru Ibuka ประธานกิตติมศักดิ์ผู้ก่อตั้งบริษัทโซนี่ โดยหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์และให้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กเล็กในระดับที่ลุ่มลึก หนังสือเรื่อง ทางสายกลางของการศึกษาไทย ของพระราชวรมุนี หรือท่าน ป. ปยุตโต (2530) ได้กล่าวถึงประเด็นทางการศึกษาในแง่มุมต่างๆ ในเชิงลึกและ มีนัยเชิงวิพากษ์ต่อระบบการศึกษา หนังสือเรื่อง การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร ของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (2544) ซึ่งกล่าวถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาทางการศึกษาของไทย คือ การบริหารและการควบคุมระบบราชการ จนทำให้เกิดลักษณะของการผูกขาดทางการศึกษา ประกอบกับการที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในประเทศน้อยจนเกินไป ผู้เขียนหนังสือมีจุดยืนว่าการปล่อยให้ระบบตลาดทำงานหรือการปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศเพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นต่อคุณภาพการศึกษาไทย หนังสือเรื่อง ไชลด์เซ็นเตอร์: สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย ของ พิพัฒน์ พสุธารชาติ (2547) ซึ่งกล่าวถึงคำว่า “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ว่าเป็นคำที่บรรดานักวิชาการด้านครุศึกษาและอาจารย์คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ซึ่งมีหน้าที่ผลิตนักศึกษาครูโดยตรงนั้นยอมรับคำนี้โดยปราศจากการตั้งคำถามใดๆ ทำไมงานเขียนทางวิชาการที่อาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เสนอต่อสาธารณะชน เพื่อมุ่งวิพากษ์วิจารณ์แนวการสอนดังกล่าวอย่างลุ่มลึกและมีเหตุผล(ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม) จึงไม่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอ จนทำให้คำว่า “การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ได้กลายมาเป็นคำยอดนิยมหรือสำนวนที่ใช้ซ้ำซาก (Cliché) ของวงการศึกษาและศาสตร์ด้าน ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในสังคมไทย ซึ่งสำนวนซ้ำซากเหล่านี้ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในปัจจุบันผ่านคำว่า การเรียนการสอนแบบ Active Learning อีกด้วย

ล่าสุด หนังสือเรื่อง วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21 ของ วิจารณ์ พานิช (2555) ซึ่งกล่าวถึง ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 บทบาทของครูในศตวรรษที่ 21 ที่ครูต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิงเพื่อให้เป็น “ครูเพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21” ไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 19 หรือ 20 และเสนอว่า ครูต้องฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการเป็นโค้ช และเป็นคุณอำนวย (Facilitator) ในการเรียนรู้แบบ Project-based Learning โรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ต้องเลิกเน้นสอนหันมาเน้นเรียน ซึ่งต้องเน้นทั้งการเรียนของนักเรียนและของครู ผ่านกระบวนการ Professional Learning Communities (PLC) ซึ่งเป็น การรวมตัวกันของครูประจำการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำหน้าที่ครู ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนถึงการแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงทางวิชาการและองค์ความรู้ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยตรงและอย่างชัดเจน ถึงแม้จะเป็นการไม่ยินยอมหรือยินยอม/เชื้อเชิญโดยตรงจากวงการวิชาชีพครูหรือศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เองก็ตาม 

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่านที่วิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษา รวมถึงนัยต่อวิชาชีพครูและศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เช่น ศาสตราจารย์ นพ. ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์ นพ. จรัส สุวรรณเวลา ศาสตราจารย์ ดร. พจน์ สะเพียรชัย ศาสตราจารย์ ดร. ปรัชญา เวสารัชช์ ศาสตราจารย์ นพ. เกษม วัฒนชัย ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ศาสตราจารย์ ดร. วิทย์ วิศทเวทย์ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์) บุคคลเหล่านี้มิใช่บัณฑิตทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ดังนั้นหากวิเคราะห์ ในเชิงปรัชญาและตรรกะแห่งวิชาชีพครูต้องถือว่าบุคคลเหล่านี้คือ ปัญญาชนสาธารณะ (Public intellectuals) ที่ทำการแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยตรงทั้งทางด้านจริยธรรม วิชาการ และอาชีพ เพราะท่านเหล่านี้มิใช่แต่เพียงวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะเชิงจริยธรรมและวิชาการเท่านั้น หากแต่ยังทำการสอนซึ่งเป็น การแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในฐานะวิชาชีพอีกด้วย 

อย่างไรก็ตามหากมองบทบาทของท่านเหล่านี้ในฐานะที่เป็นปัญญาชนสาธารณะ บุคคลเหล่านี้เป็นปัญญาชนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน (Transformative intellectuals) ซึ่งมีบทบาททั้งในเชิงวิชาการ รวมถึงบทบาททางสังคม และเศรษฐกิจการเมืองอีกด้วย ปัญญาชนสาธารณะเหล่านี้เป็น “ครู” ซึ่งไม่เพียงแต่ทำหน้าที่สอนเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้เรียนตระหนักถึงลัทธิความเชื่อและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่แฝงอยู่ในหลักสูตร การเรียนการสอน และระบบการศึกษา รวมถึงสนับสนุนให้ผู้เรียนร่วมกันเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตนกับประเด็นทางการเมืองวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการเสริมพลังอำนาจให้แก่ผู้เรียนเพื่อเป็นพลเมืองที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ (critical citizen)

จากมุมมองความเป็นปัญญาชนสาธารณะของนักวิชาการและสาธารณะชนที่มิใช่บัณฑิตทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หรือแม้แต่การแทรกแซงประเด็นทางการศึกษาก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่สัมพันธ์กับสังคม และเศรษฐกิจการเมืองมากกว่าที่วิชาชีพครูหรือศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะสามารถกระทำได้ด้วยตนเองโดดๆ สิ่งนี้คือสถานะและสภาพจริงที่เป็นอยู่ของศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่นักวิชาการด้านครุศึกษา อาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ครูประจำการ นักศึกษาครู และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จำต้องคิดวิเคราะห์และไตร่ตรองเชิงวิพากษ์อย่างจริงจัง เพื่อที่จะหาทางแก้ไขและพัฒนาร่วมกันต่อไป

ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นว่าด้วยการแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยรัฐในบทความฉบับต่อไป 

 

แหล่งข่าวสำหรับการอ้างอิง 
https://www.dailynews.co.th/education/671922

https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1699928 


อ้างอิง
พิพัฒน์ พสุธารชาติ. (2547). ไชลด์เซ็นเตอร์: สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ: 
  สำนักพิมพ์ศยาม. 
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต). (2530). ทางสายกลางของการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ: 
    คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. (2544). การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ 
    จำกัด. 
วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-
    สฤษดิ์วงศ์. 
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). ระบบและรูปแบบการผลิต
    ครูและระบบวิจัยของสถาบันผลิตครูที่เหมาะสมกับสังคมไทยและความเป็นสากล.
 
    กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิค จำกัด. 
อัครพงษ์ สัจจวาทิต. (2546). ตรรกะแห่งวิชาชีพ. กรุงเทพฯ: ข้าวฟ่าง
อิบุกะ, มาซารุ เขียน ธีระ สุมิตร และพรอนงค์ นิยมค้า แปล. (2528). รอให้ถึงอนุบาลก็สาย
    เสียแล้ว.
กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ออมสิน จตุพร เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์และพื้นฐานการศึกษา 
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ "วิวาทะว่าด้วยนโยบายปรับหลักสูตรการผลิตครูของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์: เหลียวหลังแลหน้าผ่านมุมมองเชิงปรัชญาและตรรกะแห่งวิชาชีพครู (1)"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net