Skip to main content
sharethis

กรมวิชาการเกษตร จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับสารเคมี 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต 'สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย' ระบุตรวจสอบข้อมูลพบหลักฐานสำคัญ เตรียมยื่นข้อมูลเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาตัดสินใหม่ให้สามารถใช้สารเคมีดังกล่าวได้ต่อไป

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมานายวราวุธ ชูธรรมธัช รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับสารเคมี 3 ชนิด ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต นำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครองของ 3 สารเคมี 2) การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ. วัตถุอันตรายและที่แก้ไขเพิ่มเติม 3) กำหนดฉลากและภาชนะบรรจุ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นประมาณ 250 คน ทั้งผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนกลุ่มสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ องค์กรอิสระ เกษตรกรและผู้ที่สนใจ โดยกลุ่มเกษตรกรกว่า 50 รายเตรียมนำผลสรุปร่างฯ พร้อมหลักฐานสำคัญ ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือน พ.ย. 2561

รมต.รับตั้งกรรมการร่วมศึกษายกเลิก ‘พาราควอต’ ประชาชนฮึ่มให้เวลา 3 สัปดาห์
เครือข่ายแบนสารพิษโวย ก.เกษตรไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อทะเบียนสารพิษ 3 ชนิด
จับผิดรายงาน คกก.วัตถุอันตราย ไม่แบนพาราควอต ประชาสังคมจ่อฟ้อง ชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สรุปสาระสำคัญของการจัดประชุมฯ ว่า “ร่างประกาศฯ ของกรมวิชาการเกษตรนำเสนอในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติทั้งในแง่เวลาและงบประมาณ รวมถึงจำกัดสิทธิเสรีภาพของเกษตรกร อาทิ กรอบเวลาในการอบรมเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวนกว่า 20 ล้านรายในระยะเวลา 90 วันหลังจากประกาศฯ อนุมัติ เป็นสิ่งที่กรมฯ ดำเนินการจริงได้ยากด้วยระยะเวลาที่น้อยแต่ผู้ที่ต้องอบรมมีจำนวนมาก หากกรมฯ ไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะทำให้มีกลุ่มคนที่ต่อต้านสารเคมีเกษตรออกมาเรียกร้องให้แบนอีก ทั้งนี้การไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบที่ออกมา บทลงโทษจะตกอยู่ที่เกษตรกร การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่มีความเหมาะสม ขาดองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริง ควรเป็นบุคลากรของกรมวิชาการเกษตรเอง

สำหรับแนวทางการดำเนินงานต่อไปของภาคเกษตรกร จะนำข้อมูล ผลวิเคราะห์ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รวบรวมได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สารเคมีเกษตร นำยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยเร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใหม่ให้สามารถ 'ใช้สารเคมีได้อย่างเหมาะสม' เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในกรมวิชาการเกษตรว่า จะนำส่งข้อมูลและความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในครั้งนี้ให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย

ด้าน นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และหนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบพบหลักฐานสำคัญหลายประการเกี่ยวกับการกล่าวอ้างถึงผลกระทบสารเคมี โดยข้อมูลดังกล่าวขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และปราศจากผลวิจัยที่ชัดเจน เช่น ไม่มีหลักฐานการนำส่งตัวอย่างไปตรวจสอบสารตกค้างมาพิสูจน์ รับรองผลการศึกษา จึงได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ เตรียมยื่นเพิ่มเติมเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป”

“ควรมีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นในทิศทางเดียวกันในสารเคมีทุกชนิด โดยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติและใช้สารเคมีของเกษตรกรเป็นหลัก คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับเกษตรปลอดภัยของประเทศไทยให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน” นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป

อนึ่งก่อนหน้านี้ 'มูลนิธิชีววิถี' (BIOTHAI)ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตการเคลื่อนไหวของ 'สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย' ว่าเป็นองค์กรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากการมีข้อเสนอให้มีการแบนพาราควอต โดยผู้ก่อตั้งมักปรากฎตัวและทำกิจกรรมร่วมกับ 'สมาคมอารักขาพืช' ซึ่งเป็นสมาคมการค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส รายใหญ่ในประเทศไทย (คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมในสำนักข่าวอิศรา)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net