Skip to main content
sharethis

ทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ”  จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อสตรี พร้อมส่งสารแสดงเจตนารมณ์ว่า "การยุติความรุนแรงต่อสตรีต้องแก้ทั้งในระดับโครงสร้าง ระดับวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมประชาธิปไตย"


27 ตุลาคม 2561 ทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ”  นำโดย นางวรรณะ ระเด่นอาหมัด ว่าที่กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ พร้อมด้วยนางรอซีดะห์ ปูซู เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรง และนางแยนะ สะแลแม ญาติผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ รวมคณะ 20 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี  ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานที่จัดโดยมูลนิธิเพื่อนหญิง สหภาพยุโรป และอีกหลายองค์กรเครือข่าย

นางวรรณะ ระเด่นอาหมัด กล่าวว่า เนื่องจากทางมูลนิธิเพื่อนหญิงมีกิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ทาง “ประชาชาติ” เห็นว่า สตรีเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคม จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และเนื่องในโอกาสสำคัญนี้ ทางทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” ได้มีสารแสดงเจตนารมณ์ต่อการยุติความรุนแรงต่อสตรีด้วย ดังนี้

สารจาก “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” ต่อการยุติความรุนแรงต่อสตรี

เนื่องในโอกาสที่เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ประเทศไทย โดยมติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี"  สอดรับกับที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" ประกอบกับการที่ในวันนี้ “กลุ่มสตรีแห่งประชาชาติ” ได้มาร่วมกิจกรรม Men for Change to End  Violence against Women ทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” จึงขอแสดงเจตนารมณ์ต่อการยุติความรุนแรงต่อสตรีดังนี้ 

1) “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” เห็นว่า การกระทำความรุนแรงต่อสตรีไม่เพียงแต่จะมีความรุนแรงด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และความรุนแรงทางเพศ ซึ่งมักกระทำโดยผู้ชายที่เป็นคนใกล้ชิดในบริบทความสัมพันธ์ ครอบครัว และการแต่งงานเท่านั้น แต่ยังมีการกระทำความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ที่หมายถึง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ที่ทำให้ความเป็นหญิงมีสถานะ บทบาท และอำนาจด้อยกว่าความเป็นชาย เปิดช่องต่อการถูกทำร้ายหรือถูกกระทำความรุนแรง 

2) “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” มองว่า การที่การกระทำความรุนแรงต่อสตรียังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ก็เนื่องมาจากการยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นความปกติธรมดา ไม่ใช่เรื่องผิด จนกลายเป็น “วัฒนธรรมการกระทำความรุนแรงต่อสตรี” ที่ถูกผลิตซ้ำผ่านสถาบันหลักๆ ของสังคม เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน วัฒนธรรมนี้ทำให้แม้แต่ผู้หญิงก็ยอมรับสถานะที่ด้อยกว่าและยอมรับความรุนแรงที่มีต่อตนเอง  

3) “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” เห็นว่า สภาพสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะเอื้อให้การยุติความรุนแรงต่อสตรีเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ ภายใต้รัฐบาล คสช. การละเมิดสิทธิและคุกคามสตรีโดยรัฐมีเพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ คุกคาม การฟ้องร้อง และดำเนินคดีสตรีชาวบ้านในชุมชนที่ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมเรื่องที่ดินและฐานทรัพยากร ตลอดจนการดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับสตรีจำนวนมากที่ออกมารณรงค์เรียกร้องการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยังไม่รวมที่เพิ่งเกิดการรัฐประหาร ที่มีการกวาดล้างเครือข่ายฝ่ายตรงข้ามของ คสช. ที่นำมาสู่การควบคุมตัวสตรีหลายคนไปสอบปากคำในค่ายทหารโดยปราศจากทนาย อันเปิดช่องต่อการกระทำความรุนแรงต่อสตรีเหล่านี้

อนึ่ง “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” เป็นกลุ่มสตรีจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนที่ผู้หญิงต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ และสตรีจำนวนไม่น้อยถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจจากการสูญเสียคนที่รักจากสถานการณ์ฯ นอกจากนั้นก็มีบางส่วนที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคนใกล้ตัว อันเป็นการทำร้ายที่ขัดต่อหลักการทางศาสนาที่ให้เกียรติและกำหนดให้มีการดูแลสตรีเป็นดีอย่างยิ่ง ทั้งนี้ การยุติความรุนแรงต่อสตรีทั้งในภาพรวมของประเทศและพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องกระทำทั้งในระดับโครงสร้างและระดับวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” จะร่วมผลักดันนโยบายผ่านกลไกของพรรคประชาชาติ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่ทุกคนมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

ด้วยความเชื่อมั่นในความเสมอภาคและเท่าเทียมของมนุษย์
พลังสตรีแห่งประชาชาติ
27 ตุลาคม 2561
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net