Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและนักวิชาการจัดแถลงข่าว “แผงลอยกับเมือง จัดการปัญหา หันหน้าคุยกัน” โวย ร้องประยุทธ์ไปเกือบ 60 วันแล้ว ยังไม่เร่งรัดแก้ปัญหาของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอย่างจริงจัง ลั่นอีก 60 วัน จะเดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องทุกข์

 

29 ต.ค. 2561 เมื่อเวลา 13.00-15.00 น. เครือข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคนร่วมกับเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้จัดงานแถลงข่าว “แผงลอยกับเมือง จัดการปัญหา หันหน้าคุยกัน” ณ ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโย่ต์ สถาบันวิจัยสังคม ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน

เรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้อ่านแถลงการณ์มีเนื้อหาว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 เครือข่ายฯ ได้เดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องทุกข์จากการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยของ กทม. แก่นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี จากนั้นเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 นายกฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม ซึ่งมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นประธาน เพื่อหามาตรการและวิธีการแก้ไขปัญหาของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอย่างจริงจัง แต่ผ่านมาเกือบ 60 วัน ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เครือข่ายฯ จึงต้องการจะส่งเสียงไปยังนายกรัฐมนตรี สำนักงานกรุงเทพมหานครฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้จัดประชุมอย่างเร่งด่วน

รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จัดเวทีนี้เพื่อทวงถามว่า รัฐบาลตั้งคณะกรรมการฯ แล้ว ทำไมยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นเพราะรัฐไม่มีปฏิกิริยาต่อความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ ที่ผ่านมาหาบเร่แผงลอยเป็นจำเลยมาตลอด รัฐควรใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นว่าใส่ใจความทุกข์ยากของประชาชน ทำอย่างไรเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ทั้งหาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พนักงานบริษัท ฯลฯ เราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร 4.0 อยู่ไม่ได้ ถ้า 0.4, 1.0, 2.0, 3.0 อยู่ไม่ได้ ความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนต้องเห็นใจกัน

จิรัฏฐ์ ม้าไว ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) แสดงทัศนะว่า แผงลอยกับเมืองเป็นประเด็นร้อนในหลายรัฐบาล นโยบายที่ดีไม่ควรไล่ใครออกไป หาบเร่แผงลอยเป็นปากท้องของคนแต่กลับกลายเป็นจำเลย ตอนนี้เป็นก้าวที่ดีว่าจะจัดการอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา ทางออกจะเกิดจากการพูดคุยกัน

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างรอคอยให้คณะกรรมการฯ จัดการประชุม มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนให้ผู้ค้ารวมกลุ่มเพื่อเตรียมการจัดระเบียบและควบคุมกันเองให้ได้ รวมทั้งได้ประสานงานกับทีมวิชาการเพื่อรวบรวมข้อมูลของผู้ค้า ผู้ซื้อ และชุมชน เพื่อให้การพูดคุยตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นจริงและมีทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพราะการหันหน้ามาคุยกันไม่เพียงจะเป็นการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จะช่วยให้ทุกคนเดินไปด้วยกันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้หากครบกำหนดภายใน 60 วันหลังจากที่เครือข่ายฯ ได้เดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องทุกข์และยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เครือข่ายฯ จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net