กะเหรี่ยง KNU-กองทัพรัฐฉานถอนคุยสันติภาพสะท้อนภาวะย่ำแย่ในวงเจรจา

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หนึ่งในสมาชิกเจรจาสันติภาพพม่าขอถอนตัวชั่วคราว เหตุไม่พอใจที่รัฐบาลพม่าเน้นย้ำเรื่องการไม่แยกตัวจากสหภาพ ต่อจากตัวแทนรัฐฉานที่แสดงความไม่พอใจเรื่องหลักการกองทัพเดียวที่พม่าเสนอ นักวิเคราะห์ระบุ วงสันติภาพย่ำแย่ ความเชื่อใจน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อสองเรื่องสำคัญปิดกั้นการหารือต่อเนื่องในประเด็นอื่นๆ

ภาพงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 65 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เมื่อ 31 ม.ค. 2557 (ที่มา: แฟ้มภาพ)

31 ต.ค. 2561 เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาในประเทศพม่ามีการจัดงานประชุมที่พวกเขาเรียกว่า "งานประชุมสุดยอดสันติภาพ (peace summit)" ในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งมีทั้งตัวแทนจากฝ่ายผู้นำกองทัพพม่า ที่ปรึกษาแห่งรัฐอย่างอองซานซูจี และตัวแทนจากกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม โดยมีเป้าหมายต้องการปลดล็อกกระบวนการสันติภาพของพม่า อย่างไรก็ตามมีกลุ่มหนึ่งคือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU  (KNU) ที่ระงับการเข้าร่วมประชุมสันติภาพชั่วคราว

KNU ได้ถอนตัวออกจากการประชุมสันติภาพชั่วคราวโดยระบุในจดหมายเปิดผนึกเมื่อช่วงวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าเพราะต้องการ "ให้มีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการจัดการกระบวนการสันติภาพ และต้องการเวลามากพอที่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเป็นเอกภาพของทั้งองค์กรได้" หนึ่งในผู้นำของ KNU ให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออิระวดีว่าการถอนตัวเกิดจาก "กระบวนการสันติภาพไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้"

ซอ มูตูเซโพ (Saw Mutu Say Poe) ประธาน KNU เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลมีมุมมองขัดแย้งกันเองในเรื่องการให้ปกครองตนเองและการไม่แบ่งแยกซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาสันติภาพ เขาบอกอีกว่าการจัดตั้งระบบแบบสหพันธรัฐไม่ควรจะถูกทำให้กลายเป็นแค่เรื่องการแบ่งแยกแต่อย่างเดียว ฝ่ายตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์มองว่าการอ้างเรื่อง "การไม่แบ่งแยก" จากรัฐบาลนั้นเป็นคำที่ใช้อ้างให้ใช้อำนาจ "เผด็จการ" ขณะที่ซอว์มูตูเซย์โปเสนอว่าควรจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้เป็นไปตามหลักการแบบสหพันธรัฐ

KNU ยังมีแผนการจะไม่เข้าร่วมประชุมการวางแนวทางอภิปรายร่วมกับรัฐบาลพม่าในวันที่ 1-3 พ.ย. นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม KNU จะยังคงรักษาสัญญาว่าจะอยู่ในกลุ่มลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ตามที่ซอมูตูเซโพให้คำมั่นต่อไป

ในการจัดประชุมดังกล่าว พล.อ.มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าก็แถลงว่าตามหลักการรัฐธรรมนูญของพม่าเขายืนยันจะไม่ให้มี "การแบ่งแยก" ออกจากสหภาพพม่า ขณะที่อองซานซูจีกล่าวในทำนองว่ารัฐบาลให้สัญญาไว้หลายครั้งแล้วว่าจะดำเนินการตามหลักการประชาธิปไตยและรูปแบบสหพันธรัฐในแบบที่ชนกลุ่มน้อยเรียกร้องไว้

ในปีที่แล้วรัฐบาลพม่าเคยยื่นเงื่อนไขต่อรองว่าถ้าหากกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ไม่ให้สัญญาว่าจะไม่แบ่งแยก การพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีเรื่องเกี่ยวกับการปกครองตนเอง หรือสิทธิชนกลุ่มน้อยจะไม่เกิดขึ้น การยื่นเงื่อนไขเช่นนี้ส่งผลให้การเจรจาสันติภาพชะงักงัน

หล้าหม่องส่วย (Hla Maung Shwe) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการสันติภาพในพม่าบอกว่าสภาพการณ์เจรจาสันติตอนนี้ถือว่าแย่ ไม่ได้ถึงขั้นเสียกระบวนการแต่ความเชื่อมั่นระหว่างฝ่ายต่างๆ สูญเสียไป รัฐบาลและกองทัพพม่าควรจะทำอะไรให้ฉลาดกว่านี้

สื่ออิระวดีของพม่ารายงานเรื่องนี้ว่าทาง KNU และกองทัพพม่ามีเรื่องบาดหมางกันเกี่ยวกับการรื้อสร้างถนนใหม่ในเขตพื้นที่ของกองกำลัง KNU ด้วย ฝ่าย KNU มองว่าการรื้อสร้างถนนใหม่โดยที่ถนนเดิมยังใช้งานได้เป็นเจตนาของกองทัพพม่ามากกว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อการพัฒนาโดยรัฐบาลท้องถิ่น หล้าหม่องส่วยยังบอกอีกว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงกว่าเดิมมากถ้ารัฐบาลพม่าเดินหน้ากดดันหนักขึ้น

อิระวดีรายงานอีกว่าการสร้างความเชื่อมั่นในกันและกันคือกุญแจสำคัญของกระบวนการสันติภาพที่ไม่เคยสำเร็จเลยถึงทุกวันนี้ เนื่องด้วยความขัดแย้งระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธของชาติพันธุ์ดำเนินมาแล้วกว่า 7 ทศวรรษ และการปฏิบัติตัวของของกองทัพและรัฐบาลพม่าต่อกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มก็ส่งผลต่อความเชื่อใจ

ในเรื่องของการยืนยัน "ไม่ให้มีการแบ่งแยก" จากสหภาพพม่า เป็นข้อโต้แย้งกันมาตั้งแต่สมัยการประชุมสันติภาพสัญญาปางโหลงฉบับใหม่ในปี 2560 แล้ว เพราะนั่นทำให้กองทัพพม่าจะไม่ยอมรับฟังข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้สิทธิในการตัดสินใจเองในท้องถิ่น และในการประชุมครั้งล่าสุดซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ก็ไม่มีการนำวาระดังกล่าวมาพูดถึงเช่นกัน

ความตึงเครียดเกิดขึ้นหนักมากกับทั้ง KNU และคณะกระบวนการสันติภาพ (PPST) ก่อนหน้าการเปิดประชุมครั้งล่าสุด ทาง KNU โดยเฉพาะปีกหัวแข็งที่อยากขอเลื่อนการเจรจาในครั้งนี้ออกไป โดยอ้างว่าต้องการเวลาเตรียมตัวมากกว่านี้ แต่ก็มีบางส่วนใน KNU ที่อยากเดินหน้าเจรจาสันติภาพต่อและอยากให้มี "การอนุมัติร่วมกัน" กับ PPST

ด้าน PPST เองก็อยากเดินหน้าจัดประชุมต่อไปเพราะอยากปลดล็อกกระบวนการสันติภาพ แต่การจัดประชุมล่าสุดไม่มีผลความคืบหน้าที่เป็นชิ้นเป็นอันอีกทั้งยังกลายเป็นการให้พื้นที่กองทัพพม่าได้ผลักดันข้อตกลงไม่แบ่งแยกด้วย

ทางด้านสภาฟื้นฟูแห่งรัฐฉาน (RCSS) ปีกทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน SSA ก็ประกาศจุดยืนในการประชุมเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะไม่พิจารณาเรื่องการรวมกองกำลังของตนเองร่วมกับกองทัพพม่า และไม่ยอมยกเลิกสิทธิของตัวเองในการแยกตัวออกจากประเทศพม่าโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารือกับชุมชนรัฐฉานก่อน โดยที่ในกระบวนการสันติภาพนั้นมีการกล่าวถึงหลักการทำให้กองกำลังทั้งหมดกลายเป็นกองทัพเดียวแต่ก็เน้นย้ำว่าต้องมีการหารือกันว่าจะควบรวมหลายกองกำลังเป็นหนึ่งเดียวอย่างไร

ในทางหลักการ กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ยอมรับเรื่องการมีกองทัพเดียว แต่ก็พูดถึงความจำเป็นในการพูดคุยกันต่อในรายละเอียด

นักวิเคราะห์การเมืองและกิจการชาติพันธุ์พม่าบอกว่าท่าทีผิดหวังจากรัฐฉานและ KNU จะกลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน และกระบวนการสันติภาพจะไม่คืบหน้าไปจนถึงอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นปี 2563 ที่ผู้นำทหารพม่าเคยสัญญาไว้ว่าจะดำเนินกระบวนการทางสันติภาพให้ลุล่วงได้

เรียบเรียงจาก

Analysis: Why Did the KNU Temporarily Leave Peace Talks?, The Irrawaddy, Oct. 29, 2018

Military Chief Says National Peace Deal Must Guarantee 'Non-Separation', The Irrawaddy, Oct. 15, 2018

หมายเหตุ ประชาไทแก้ไขพาดหัวเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกว่าเดิม และได้แก้ไขชื่อของผู้ปรากฏในข่าวตามการออกเสียง แก้ไขเมื่อ 31 ต.ค. 2561 เวลา 16.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท