Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 ที่มาภาพ Rap Against Dictatorship

กระแสความแรงของ MV เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” โดยกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship หรือ RAD ที่มีเนื้อหาพูดถึงความจริงของปัญหาการเมืองและสังคมไทย เพียง 8 วัน มียอดผู้เข้าชมทะลุ 21 ล้านวิว ปฏิกิริยาจากผู้ชมมีทั้งเห็นด้วยและไม่เป็นด้วย
 

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการทหาร รวมทั้งนักวิชาการ ดารา ผู้สื่อข่าว ศิลปิน กระทั่งกวีซีไรท์ คนเหล่านี้มองว่า เพลงประเทศกูมีด่าประเทศ ดูถูกประเทศ ทำร้ายประเทศ ดูถูกแผ่นดินเกิด ล้างสมองประชาชน บ้างก็ถามนำว่าเป็นภัยความมั่นคงหรือไม่ ผิด พ.ร.บ.คอมฯ หรือไม่ เป็นต้น

มีบางความเห็นที่มองแร็พประเทศกูมีอย่างวิพากษ์ เช่นในบทสัมภาษณ์ “ตกลงเราด่าประเทศได้ไหม? ฟัง ‘ประเทศกูมี’ ผ่านโสตประสาทและสายตาของไชยันต์ ไชยพร”[[1]] โดยไชยันต์มองว่าเนื้อหาของเพลง   “ส่วนใหญ่ก็เป็นข้อเท็จจริงในมุมหนึ่งซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอย่างนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง คือไม่ได้เป็นเรื่องเสกสรรปั้นแต่งอะไร จึงไม่น่าจะต้องตระหนกอะไรกันมาก”

นอกจากไชยันต์จะมองว่า เพลงประเทศกูมีเป็นเรื่องของศิลปะ ที่มุ่งเร้าอารมณ์ความรู้สึก และควรจะมีพื้นที่เสรีภาพในการนำเสนอเหมือนกับเพลง “คืนความสุข” และเพลงอื่นๆ ของรัฐบาล หรือค่ายเพลงทั่วไปแล้ว เขายังชี้ให้เห็นว่าโดยข้อจำกัดของการทำเพลงมันไม่อาจอธิบาย “ความจริงรอบด้าน” ได้เหมือนงานวิชาการ ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว เมื่อถูกถามว่า "ถ้ามีการกดดันตัวศิลปินถึงขั้นจะแจ้งจับจริงๆ อาจารย์คิดว่าจะวางท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร" เขาตอบว่า
 

“อ้าว ผมก็จะยืนยันอย่างที่พูดว่า มันเป็นเสรีภาพในการแสดงออก แต่มันคงไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ เพราะผมไม่ได้คิดว่ามันมีเนื้อหาที่เป็นวิชาการ แล้วผมก็ยืนยันว่า เสรีภาพในทางวิชาการก็ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยนักวิชาการ หมายความว่าประชาชนธรรมดาที่นำเสนออะไรที่เป็นเหตุเป็นผลพยายามมองอย่างรอบด้านก็เป็นวิชาการได้ ทีนี้จุดยืนของผมก็เห็นว่ามันไม่ได้เสียหายอะไร...”

ที่ผมอยากร่วมอภิปรายต่อคือประเด็นที่ไชยันต์บอกว่า เพลงประเทศกูมีมันเป็นเรื่องของ “เสรีภาพในการแสดงออก” แต่ “มันคงไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ เพราะผมไม่ได้คิดว่ามันมีเนื้อหาที่เป็นวิชาการ” ตรงนี้ผมแปลกใจเล็กน้อยว่า ทำไมไชยันต์จึงพยายาม “เน้น” (เพราะเขาพูดเรื่องนี้หลายครั้ง) ว่า เพลงไม่ได้มี “เนื้อหาที่เป็นวิชาการ” เพราะคนทั่วไปที่ฟังเพลงก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าหน้าที่ของบทเพลงไม่ใช่นำเสนอเนื้อหาแบบงานวิชาการ เพราะเพลงเป็นงานศิลปะแบบหนึ่ง สิ่งที่เพลงนำเสนอก็คือความงามทางศิลปะ

อย่างไรก็ตาม งานวิชาการก็ไม่ใช่สิ่งที่ผูกขาดการนำเสนอความจริง เพราะความจริงอาจถูกนำเสนอได้หลายรูปแบบ ในแง่หนึ่งแร็พประเทศกูมีมันคืองานศิลปะแต่เป็นงานศิลปะที่สะท้อนความจริง และความความจริงนั้นไชยันต์ก็ยืนยันว่า “ไม่ใช่สิ่งที่เสกสรรปั้นแต่ง” ขึ้นมาลอยๆ แต่มันคือความจริงที่มาจากการศึกษาสืบค้นในทางวิชาการแล้วแปรความจริงออกมาในรูปของศิลปะเพลงแร็พ[[2]]

ขณะเดียวกันความจริงที่นำเสนอผ่านบทเพลง มันก็ถูกนำไปสืบค้นว่าเรื่องนั้นๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร ดังเช่น iLaw ได้อ้างถึง “7 เรื่องจริงที่ประเทศกูมี”[[3]] จากเนื้อเพลงไปอธิบายให้เห็นว่า

 

“ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะ rifle, ประเทศที่นาฬิกา รมต.เป็นของศพ, ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ, ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ, ประเทศที่ 4 ปีแล้ว ไอ้สัส แม่งยังไม่เลือกตั้ง, ประเทศที่มีความสามารถเสกกฎหมายกลายเป็นข้ออ้าง, ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่”

 

เหล่านี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร
 

พลังของบทเพลงมันจึงไม่ใช่การนำเสนอแบบงานวิชาการ แต่มันคือการนำปัญหาสำคัญๆ ดังกล่าวมาร้อยเรียงและนำเสนออย่างมีศิลปะที่กระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกและกระตุ้นให้คนคิด ซึ่งพลังเช่นนี้งานวิชาการไม่สามารถทำให้เกิดได้ โดยเราก็ไม่ควรลืมไปว่าความจริงที่นำเสนอผ่านบทเพลงประเทศกูมี มันคือความจริงที่มีหลักฐานและคำอธิบายทางวิชาการรองรับอยู่ก่อนแล้ว

ประเด็นต่อมาคือ “เพลงไม่อธิบายความจริงรอบด้านเหมือนงานวิชาการ” อันนี้พูดอีกก็ถูกอีก เพราะมันไม่มีเพลงไหนๆ จะอธิบายความจริงรอบด้านได้อยู่แล้ว เพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” เพลง “คืนความสุข” ฯลฯ มันก็ให้ความจริง (เท็จ) เฉพาะด้านที่ตัวเองต้องการเสนอทั้งนั้น โดยเฉพาะบางคนที่ไม่พอใจเพลงประเทศกูมีบอกว่า “ทำไมไม่พูดถึงปัญหาในยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์บ้าง” อ้าว ปัญหานี้อีกฝ่ายก็พูดกันมายาวนานกว่าทศวรรษแล้ว พูดกันได้ทุกช่องทาง ทั้งฟรีทีวี รายการคืนความสุข และอื่นๆ มีช่องทางให้พูดได้อย่างปลอดภัยมากกว่าการพูดถึงปัญหาของรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มุมมองที่ว่า “เพลงประเทศกูมีพูดความจริงไม่รอบด้าน” ส่วน “งานวิชาการพูดความจริงรอบด้าน” ที่จริงแล้วก็เป็นมุมมองที่สร้าง “มายา” อยู่มาก
 

ประเด็นแรก มันเป็นปัญหาในทางญาณวิทยาว่า เราสามารถเสนอความจริงได้ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกด้านหรือไม่ เพราะเราต่างมีข้อจำกัดในการรู้และเข้าใจความจริง อีกอย่างการเสนอความจริงทางวิชาการก็มักเป็นการเสนอผ่านกรอบแนวคิดหรือทฤษฎีหนึ่งๆ ที่ไม่อาจครอบคลุมความจริงทั้งหมด หรือมันอาจจะเป็นเรื่องเคยชินของมนุษย์เราที่มักจะพูดหรือเสนอความจริงเฉพาะส่วนที่ตนเองต้องการนำเสนอ เป็นต้น

(นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเราจำเป็นต้องมี “เสรีภาพ” ให้การเสนอความจริงหลากหลายแง่มุมจากทุกคน ทุกฝ่ายที่เห็นต่าง คิดต่างเป็นไปได้มากที่สุด เพื่อที่เราจะได้รู้ความจริงครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้)

บางคนที่อ่านหนังสือ “ตาสว่างกับรัชกาลที่ 4”[[4]] ของไชยันต์ อาจเห็นด้วยกับข้อเสนอของเขาที่ว่า ร.4 คือผู้ริเริ่มความคิดแบบยุคแสงสว่างทางปัญญา (The Age of Enlightenment) ที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17-18 แต่บางคนอาจตั้งคำถามว่า “แก่นกลาง” ของยุคแสงสว่างทางปัญญามันคือการยืนยัน “เสรีภาพ” ในการใช้เหตุผลตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ยืนยันความเป็น “คนเท่ากัน” หรือความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) ที่มีสิทธิและอำนาจเป็นของตัวเองในทางศีลธรรมและทางการเมือง ยืนยันเสรีภาพทางศาสนา การแยกศาสนจักรจากรัฐ เป็นต้น แล้ว ร.4 เสนอความคิดเรื่องพวกนี้ด้วยหรือ?

ประเด็นที่สอง ไชยันต์ย่อมจะ “รู้แจ้ง” อยู่แล้วว่า มันไม่ใช่แต่เพลงประเทศกูมีเท่านั้นดอกที่พูดความจริงรอบด้านไม่ได้ แม้แต่งานวิชาการก็พูด “ความจริงรอบด้าน” อย่างแท้จริงไม่ได้ดอก เพราะเงื่อนไขของความเป็นไปได้ (condition of possibility) ของการพูดความจริงได้รอบด้านคือ “เสรีภาพ” (freedom) ซึ่งประเทศกู เอ๊ย ประเทศไทยไม่ได้มีเสรีภาพที่จะพูดความจริงของปัญหาการเมืองได้รอบด้านหรือได้ทั้งหมด “ทุกเรื่อง” จริงๆ

เวลาพูดถึงเสรีภาพ ย่อมหมายถึง “เสรีภาพที่ทุกคนมี” มันไม่ใช่อย่างที่รัฐบาล คสช.ส่งทหารไปติดตามนักการเมืองแม้กระทั่งเวลาเข้าห้องน้ำ อ้างว่า “สังคมไทยก็ยังมีเสรีภาพ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังดำเนินชีวิตปกติ” มันไม่ใช่อย่างนั้นเลยครับ เพราะยังมีบางคนติดคุกเพราะแชร์ข่าว เพราะพูดความจริง มีหลายคนต้องลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ เพราะคิดต่าง มีอุดมการณ์แตกต่างจากฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ถ้ามี “เสรีภาพ” จริงๆ ก็คือรัฐต้องมีกฎหมายเป็นหลักประกันว่า จะไม่มีใครแม้แต่คนเดียวต้องติดคุกหรือต้องหนีออกนอกประเทศเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใดๆ

ประเด็นสุดท้าย สิ่งที่เพลงประเทศกูมีทำได้มากกว่านักวิชาการคือ การพยายามพูดความจริงที่เสี่ยงต่อการถูกอำนาจรัฐบาลเผด็จการทหารหาเรื่องเอาผิดทางกฎมาย ซึ่งนี่คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยผ่านงานศิลปะการทำเพลง ที่ส่งผลกระทบชัดเจนในระดับที่แน่นอนหนึ่ง อีกอย่าง ปัญหาจริงๆ มันอาจจะซับซ้อนกว่าที่ไชยันต์ให้สัมภาษณ์ว่า
 

“ขณะเดียวกันการเลือกตั้งที่รอคอยอยู่ ที่ทุกคนจะออกมาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาล ก็จะประท้วงเพื่ออะไร ในเมื่อมันจะเลือกตั้งอยู่แล้ว คุณจะใช้ความพอใจไม่พอใจใครผ่านการกาบัตรก็ทำได้ พรรคการเมืองที่น่าจะมีจุดยืนใกล้เคียงกับกลุ่มแร็พนี้ก็มี เพราะฉะนั้นก็เป็นช่องทางที่จะไปตรงนั้นได้ “


เพราะเอาเข้าจริง กำหนดวันเลือกตั้งก็ยังไม่มีความแน่นอน พรรคการเมืองฟากตรงข้ามกับ คสช.และพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคอื่นๆ ที่หนุน คสช.ก็ไม่มีความแน่นอนว่าจะถูกยุบหรือไม่ กติกาการเลือกตั้งก็ห่างไกลมากกับสิ่งที่เรียกว่า “เสรีและเป็นธรรม” และอาจมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึง มันจึงไม่ใช่เรื่องเรียบง่ายแบบ “จะใช้ความพอใจไม่พอใจใครผ่านการกาบัตร” ก็ได้ เหมือนการเลือกตั้งในภาวะปกติ
 

ดังนั้น ปรากฏการณ์ของแร็พประเทศกูมีในภาวะที่ยังไม่ปกติ มันจึงมีความหมายต่อการกระตุ้นเตือนสังคมและผู้มีอำนาจรัฐให้ตระหนักร่วมกันว่า การกลับไปสู่วิถีของเสรีภาพและประชาธิปไตยเท่านั้น คือคำตอบของการหลุดพ้นจากความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ที่พูดถึงในเพลงประเทศกูมี

 

 

อ้างอิง

[[1]] “ตกลงเราด่าประเทศได้ไหม? ฟัง ‘ประเทศกูมี’ ผ่านโสตประสาทและสายตาของไชยันต์ ไชยพร” https://waymagazine.org/which-is-my-country-chaiyan-chaiyaporn/?fbclid=IwAR0of8qzARvDXt5bHzyWdO0qHcTHOaUwFCkcn9-pYUlbijZhj6PeOdwN8k4 (เข้าถึงเมื่อ 30 ตุลาคม 2561)    

[[3]] 7 เรื่องจริงที่ “ประเทศกูมี”  https://www.ilaw.or.th/node/4984 (เข้าถึงเมื่อ 30 ตุลาคม 2561)

[[4]] ไชยันต์ ไชยพร, ตาสว่างกับรัชกาลที่ 4, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2560)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net