Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปี 2014 ประเทศไทยโหมโรง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” กันยกใหญ่ตลอดปี ก่อนที่ประชาคมนั้นจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2015 ราวกับว่า AEC เป็นหมุดหมายสำคัญของการก้าวไปข้างหน้าของประเทศชาติ สถานที่ราชการแทบทุกแห่งมีธงชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนประดับ

ภาพธงชาติเรียงแถวทำนองนี้สอดคล้องกันกับแนวการวางตัวและวิธีการทำงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในเวทีนานาชาติ นั่นก็คือเป็นสถาบันประจำชาติ มีอำนาจตัดสินภายในเขตแดนรัฐ และมีหน้าที่ติดต่อพัวพันกับตัวแทนประจำชาติอื่นๆ ทำนองเดียวกับภาพจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ผู้แทนประเทศแต่งตัวภูมิฐานยืนยิ้มเรียงแถวไขว้มือแบบ “อาเซียนแฮนด์เช้ค”

สถาบันศูนย์กลางทางวรรณกรรมของประเทศไทยเกาะกระแส AEC โดยชี้ชวนให้เห็นว่าประชาคมด้านเศรษฐกิจเป็นเพียงหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียนเท่านั้น ด้านสังคม-วัฒนธรรมนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน และงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยนี่แหละ ที่จะทำหน้าที่ค้ำจุนประชาคมอาเซียนในด้านวัฒนธรรม

ประเด็นของบทความนี้มีสองระดับ ระดับแรกคือการชี้ปัญหาของการตีกรอบทำงานวรรณกรรมระดับนานาชาติแบบ “อาเซียนแฮนด์เช้ค” ซึ่งส่งผลให้การทำงานข้ามชาติไปไม่ถึงจุดหมายของการยอมรับความหลากหลายและความเท่าเทียมแห่งนานาประเทศอย่างแท้จริง ระดับที่สองคือการชี้ปัญหาที่ซ้อนอยู่ด้านล่าง นั่นก็คือ “ระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งประเทศไทย” อันเป็นภัยต่อพลังสร้างสรรค์ของนักเขียนรุ่นใหม่และนักเขียนจากชายขอบของอุดมการณ์ที่ครองอำนาจรัฐ

ในโอกาสที่ สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ฉันคาดหวังว่าสมาพันธ์ฯ จะสามารถสร้างพื้นที่วรรณกรรมข้ามชาติอีกแบบขึ้นมาได้ พื้นที่ที่นักเขียนไม่ต้องวางตนเป็นทูตสันถวไมตรีของรัฐชาติ หากวางตนเป็นผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมแทน

แม่โขงแต่เพียงนาม

รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong River Literature Awards - MERLA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 ด้วยดำริของสมาคมนักเขียนเวียดนาม ลาว และกัมปูเจีย เพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกันระหว่างนักเขียนในภูมิภาค จนกระทั่งปี 2012 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมสังเกตการณ์พิธีมอบรางวัลฯ และต่อมาก็เข้าร่วมเป็นภาคีอย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันนี้ยังมีประเทศสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นภาคีด้วย

เกณฑ์การตัดสินผู้ได้รับรางวัลแตกต่างกันไปแต่ละประเทศ ของประเทศไทยเป็นการให้รางวัลแก่ตัวนักเขียนที่ทำผลงานโดดเด่นมายาวนาน ส่วนประเทศอื่นๆ ฉันไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่เท่าที่สืบค้นดูของประเทศลาว พบว่าเป็นการตัดสินผู้ชนะตามบทประพันธ์ที่ส่งประกวดเพื่อการนี้โดยเฉพาะ บทประพันธ์ที่ชนะส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงโดยตรง แต่ก็มีบ้างที่ชื่อรางวัลพ้องกับตัวงาน เช่นบทกวี “ອາລິຍະທຳລຸ່ມນ້ຳຂອງ” ซึ่งได้คะแนนสูงสุดในปี 2015 ประพันธ์โดยนักกวีหนุ่มพระไพวัน มาลาวง เจ้าของนามปากกา “ລູກດອນກະເດັນ”

ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก (แต่ละปีคณะกรรมการตัดสินคงแตกต่างกันไปบ้าง แต่สำหรับปี 2016 มีประธานคือ บูรพา อารัมภีร และกรรมการร่วมคือ ขจรฤทธิ์ รักษา, กนกวลี กันไทยราษฎร์, จตุพล บุญพรัด, จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, และ พินิจ นิลรัตน์) มีนักเขียนสัญชาติไทยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับรางวัลแม่โขงอวอร์ด ดังต่อไปนี้คือ

ปี 2014 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กฤษณา อโศกสิน และธีรภาพ โลหิตกุล จัดงานมอบรางวัลที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

ปี 2015 ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และสาคร พูลสุข จัดงานมอบรางวัลที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ปี 2016 พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล และไพฑูรย์ ธัญญา จัดงานมอบรางวัลที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ปี 2017 เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ และวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง จัดงานมอบรางวัลที่กรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย

ในบทความ “วรรณกรรมแม่น้ำโขง: สายสัมพันธ์เพื่อนบ้านผ่านตัวหนังสือ” จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าจุดประกายวรรณกรรม วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2557 อุมมีสาลาม อุมาร ได้กล่าวถึงผู้ชนะรางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ดชุดแรกจากประเทศไทยไว้ว่า

“นักเขียนทั้งสามล้วนเขียนเรื่องราวที่มีแก่นแกนของชีวิตและผู้คนในลุ่มน้ำโขง อย่าง “เขียนแผ่นดิน” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “จำหลักไว้ในแผ่นดิน” และ “เสียงหัวเราะและน้ำตาในศิลานคร” ของกฤษณา อโศกสิน และ “ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป” ของธีรภาพ โลหิตกุล ซึ่งไม่ต้องบอกก็ทราบกันดีว่าผลงานของนักเขียนทั้งสามล้วนเป็นงานแนวหน้าของวงการวรรณกรรมไทย”

ในรายงานชิ้นนี้ มีการให้เหตุผลและรายละเอียดที่ชัดเจน ว่านักเขียนทั้งสามมีผลงานเกี่ยวโยงกับประเทศแถบลุ่มน้ำโขงอย่างไร ซึ่งงานที่ถูกกล่าวถึงของทั้งสามคน มีจุดร่วมที่สำคัญคือผลงานที่ผุดมาจากประสบการณ์การท่องเที่ยว ซึ่งความลุ่มลึกก็แตกต่างกัน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สัญจรไปทุกที่เพื่อ “เขียนแผ่นดิน” สดๆ เป็นร้อยกรองอย่างปฏิภาณกวี ส่วนกฤษณา อโศกสิน ก็นำความสะเทือนใจจากการได้ไปเยือน “ทุ่งสังหาร” ตวลสเลง และค่ายเจืองเอ็ก กลับมานั่งเขียนเป็นสารคดีท่องเที่ยวในหน้านิตยสารรายสัปดาห์ และยังต่อยอดเป็นนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา ในขณะที่ธีรภาพ โลหิตกุล เน้นศึกษาค้นคว้าทั้งจากเอกสารและภาคสนามเป็นเวลายาวนาน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของสายน้ำและผู้คน ดังเช่นเรื่องของ พอล พต ใน “ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป” และเรื่องของชุมชนตลอดเส้นทางลุ่มน้ำโขงใน “โขงนทีสีทันดร”

ทว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล “แม่น้ำโขงอวอร์ด” ก็ดูจะเลิกสนใจว่าผลงานของนักเขียนเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงอย่างไรไปเสียอย่างนั้น กนกวลี (พจนปกรณ์) กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นปี 2017 ว่า

“หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้พิจารณาร่วมกันในทั้ง6ประเทศ คือนักเขียนต้องทำงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางศิลปะ ให้เกียรติแก่มนุษยชาติ มีความรักความศรัทธาในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชนกับโลก”

“แม่น้ำโขงอวอร์ด” กลายเป็นเพียงอีกหนึ่งรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่สมควรได้รับรางวัล จากมุมมองของคณะกรรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับชาติ จุดต่างอย่างเดียวของรางวัลนี้จริงๆ ก็มีเพียงป้ายประทับ “ระดับนานาชาติ” คล้ายๆ กับรางวัล “ซีไรต์” ซึ่งมีฉลากนานาชาติ แต่กระบวนการพิจารณาถูกรวบอำนาจเบ็ดเสร็จโดยสถาบันส่วนกลางของรัฐชาติ

ยังมิต้องกล่าวว่า ในบรรดาผู้รับรางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ดนั้น ไม่มีผู้ใดเลยที่มีภูมิลำเนาจากชุมชนลุ่มน้ำโขง หรือเล่าถึงชุมชนลุ่มน้ำโขงในฐานะ “คนใน” ที่นับว่าตนมีเทือกเถาเหล่ากอ มีเครือญาติชาติพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่ตัวเองเล่า

แน่นอนว่าการเล่นพรรคพวกเป็นปัญหาใหญ่ ผ่านมาหลายต่อหลายปีแล้ว กลับไม่มีผู้รับรางวัล “แม่น้ำโขงอวอร์ด” สัญชาติไทยคนไหนเลยที่มีพื้นเพมาจากชุมชนลุ่มน้ำโขง

แต่ประเด็นไม่ใช่การประท้วงการละเลยนักเขียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ปัญหาที่ลึกไปกว่าก็คือการยอมรับรัฐชาติว่าเป็นเวทีในการที่จะสานสัมพันธไมตรีทางวัฒนธรรมระหว่างคนหลายเชื้อชาติหลายภาษา ซึ่งควบคู่ไปกับการมองตนว่าเป็นทูตสันถวไมตรีประจำรัฐชาติหนึ่งๆ ที่ต้องเป็นตัวแทนที่เชิดหน้าชูตารัฐชาติที่ตัวเองสังกัดและสานสัมพันธ์อันดีกับรัฐอื่น

ความรู้สึกดีๆ ของทูตสันถวไมตรีของรัฐ

กฤษณา อโศกสิน แสดงทรรศนะว่าด้วยหน้าที่ของนักเขียนในฐานะทูตสันถวไมตรีระหว่างประเทศ (ในกรณีนี้คือการไปเรียนรู้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดงที่กัมพูชา) ไว้ในรายงาน “วรรณกรรมแม่น้ำโขง: สายสัมพันธ์เพื่อนบ้านผ่านตัวหนังสือ” ว่า

“คนอื่นๆ ในดินแดนเหล่านี้เขาก็เป็นคนเช่นเดียวกับเรา มีคนดีคนไม่ดี ไปครั้งนี้ได้พบเห็นคนดีๆ เยอะ ก็เลยคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้เราจะต้องต้องรักษา เวลาที่เขียนหนังสือดิฉันรู้สึกว่าตัวเองจะมีหน้าที่อยู่อย่างหนึ่งว่าจะต้องเขียนในฐานะทูตสันถวไมตรี ดิฉันจะไม่เขียนอะไรที่ทำร้ายความเป็นมิตรระหว่างประเทศ ไม่ว่าเขาจะมีเรื่องส่วนตัวเลวร้ายที่สะเทือนใจเพียงใด เช่น ไปเห็นเรื่องความสยดสยองอย่างที่เล่ามาก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว ไม่ต้องไปเกลียดหรือไปรักมาก เราคิดถึงส่วนรวมของประเทศต่อประเทศว่าควรจะเป็นมิตรกัน เพราะเราก็เห็นแล้วว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศมันนำความทุกข์ยากมาให้กับประชาคมโลกอย่างที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน”

การคำนึงถึงมิตรภาพระหว่างประเทศในการสร้างงานศิลปะเป็นเรื่องไม่เสียหาย แต่สำหรับคุณกฤษณา มีเส้นแบ่งระหว่าง “เรื่องของเรา” กับ “เรื่องของเขา” ที่ชัดเจนตายตัว ไม่เปิดช่องชี้ให้เห็นว่าชะตากรรมของคนในประเทศเพื่อนบ้านนั้นเกี่ยวร้อยกันกับชะตากรรมของคนในประเทศของเราอย่างไร

ออกจะประหลาดเมื่อขยายตรรกะทำนอง “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” มาใช้ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะประเทศไม่ใช่ครอบครัว “เรื่องส่วนตัว” ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่เรื่องที่เรา “ห้ามเสือก” 

การจะคิดได้ทำนองนี้ ต้องคิดไปก่อนแล้วว่าแต่ละรัฐชาติมีเรื่องราวที่เป็นเอกเทศ นักเขียนมีสังกัดของรัฐชาติที่ชัดเจน และนักเขียนมีหน้าที่คือต้องคิดถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่ตนเขียนถึง

ถึงกระนั้น คุณกฤษณาเองก็มีผลงานนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ที่เล่าถึงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งผู้เขียนบทความได้อรรถาธิบายไว้ว่า “นวนิยายเรื่องนี้เป็นเสมือนตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกดี เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบเจอกับสิ่งเลวร้ายหลายต่อหลายครั้ง” เมื่อพิจารณาดูแล้ว “ความรู้สึกดี” ของผู้อ่านที่ว่านี้ ดูจะวางอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมนัก เพราะฝ่ายหนึ่งคือประเทศที่พบเจอสิ่งเลวร้าย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายผู้ที่มารับรู้และเห็นอกเห็นใจ 

คำว่า “ส่วนรวม” ในการ “คิดถึงส่วนรวมของประเทศต่อประเทศ” ของคุณกฤษณา ในอีกแง่หนึ่งจึงเป็นมุมมองแบบ “ภาพรวม” จาก “ศูนย์กลางอำนาจรัฐ” เป็นการละเลยการมีอยู่ของนักเขียนที่ไม่ได้มีสำนึกที่แยกขาดว่าตนเป็นตัวแทนของรัฐใด และละเลยความหลากหลายของแนวคิดและประสบการณ์ของผู้คน ซึ่งสังกัดรัฐชาติอาจไม่ได้เป็นตัวกำหนดสำคัญ

พันธกิจของการเป็นทูตสันถวไมตรีทำนองนี้ ไม่ได้มีแต่กฤษณา อโศกสินที่ยึดถือ นักเขียนสัญชาติไทยทุกคนที่ได้รับรางวัล “แม่น้ำโขงอวอร์ด” ก็พูดถึงบทบาทวรรณกรรมในเวทีระหว่างประเทศไม่มากก็น้อย ฉันเห็นว่าหลายๆ คน ตีความบทบาทของวรรณกรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดีกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่มีใครพูดจากจุดยืนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐชาติจริงๆ

ผู้ชนะรางวัลปี 2017 เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ คม ชัด ลึก ไว้ว่า

“ผมมองว่างานวรรณกรรมก็คือการชำระประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน ประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลและความบาดหมางระหว่างประเทศร่วมภูมิภาค ดังนั้น รางวัลอาจทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปรแก้ไขความผิดพลาดต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นในอดีตได้ และยังส่งเสียงสะท้อนไปถึงประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่า ในกรณีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างเอาเปรียบ เช่น แม่น้ำ เป็นต้น”

ถึงแม้ฉันจะไม่มีข้อติใดๆ ต่อทัศนคติที่น่านับถือของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ก็ยังอยากตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งแห่งที่ของนักเขียนสัญชาติไทยที่ได้รับ “คัดเลือก” ให้ได้รางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ดทั้งหลาย ก็ยังอยู่ในปริมณฑลของศูนย์กลางของอำนาจรัฐอยู่นั่นเอง แม้จะผิดแผกจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก แม้จะมุ่งสื่อสารไปยังประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่าก็ตาม

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวมานี้อาจจะใช้ได้กับสถาบันทางวรรณกรรมและสมาคมนักเขียนอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับภาค หรือระดับท้องถิ่น ตัวอย่างอันดีตัวอย่างหนึ่งคือสุนทรพจน์ของ Mr. Ladwintha Saw Chit ประธานสมาคมนักเขียนเมียนมา ที่กล่าวต่อคณะผู้แทนสมาคมนักเขียนประเทศไทย ในโอกาสที่นักเขียนของสองประเทศมาเซ็น MOU เพื่อทำงานแปลและแลกเปลี่ยนผลงานวรรณกรรมระหว่างกัน (แปลเป็นภาษาไทยโดย อ.ขวัญข้าว สังขพันธานนท์ และเผยแพร่ในหน้าเพจเฟซบุ๊กของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนปี 2015) ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์


“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้ต้อนรับทุกท่านด้วยมิตรภาพและความอบอุ่น ข้าพเจ้าพูดภาษาไทยได้แค่คำเดียวเท่านั้นคือ สวัสดี

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านให้เกียรติเดินทางมาที่สมาคมนักเขียนเมียนมา กรรมการของสมาคมนักเขียนเมียนมาก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมต้อนรับคณะของท่าน

ประเทศไทยกับประเทศเมียนมาก็เป็นเพื่อนบ้านกันมายาวนาน เป็นมิตรที่ดีต่อกันอย่างยั่งยืน เรามีวัฒนธรรมและประเพณีที่คล้ายคลึงกัน เรามีศาสนาเดียวกัน มีพิธีกรรมทางศาสนาหลายอย่างที่เหมือน ๆ กัน

เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปเดินทางไปร่วมประชุมกับนักเขียนจากหลายประเทศในอาเชียนที่ภูเก็ต ก็เห็นว่าแม้แต่การแต่งกาย อาหารการกิน เราก็มีความคล้ายคลึงกัน ผู้คนก็มีหน้าตาคล้ายกัน มีคนมาทักทายข้าพเจ้าว่า คุณมาจากเชียงใหม่ใช่ไหม ข้าพเจ้าตอบว่าไม่ใช่ ข้าพเจ้าเดินทางมาจากพม่า เขาจึงพูดว่า มิงกะลาบา

ข้าพเจ้าสังเกตว่า มีขนมหลายอย่างที่เหมือนกัน เช่น ขนมครก ของไทยกับของพม่ารสชาติก็ไม่ได้แตกต่าง และยังอร่อยเหมือนกันอีก

ในโอกาสที่เราซึ่งเป็นนักเขียนด้วยกัน สมาคมนักเขียนของทั้งสองประเทศได้มาเซ็น MOU ทำงานเกี่ยวกับวรรณกรรมแลกเปลี่ยนของทั้งสองประเทศ ข้าพเจ้าก็มีความหวังว่า เราจะต้องมีความสนิทสนมแน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิม

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดทำวรรณกรรมไทย-มาเลเซีย ไทย-กัมพูชา ไทย-เวียดนาม ไทย-ลาว ไทย-อินโดนีเซีย จึงทำให้ข้าพเจ้ามีความหวังว่า คงจะได้เห็นวรรณกรรมไทย-เมียนมา ขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ทางสมาคมนักเขียนพม่าจะรีบดำเนินการคัดเลือกทั้งเรื่องสั้นและบทกวี และจะพยายามทำให้ให้ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด

โลกปัจจุบันนี้ เราไม่ได้คิดแต่จะแปลผลงานวรรณกรรมของชาติอื่นมาเป็นภาษาพม่า แต่เราก็มีความหวังว่า งานวรรณกรรมของพม่าจะได้ต้องรับการแปลไปสู่ภาษาอื่น และประเทศอื่นด้วย

ข้าพเจ้าคิดว่า เมื่อทุกคนได้อ่านงานเขียนที่ดี สังคมของมนุษยชาติก็จะมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจและมีความใกล้ชิดสนิทสนมแน่นแฟ้นขึ้น และเมื่อได้อ่านมากๆ เราก็จะรู้สึกว่า เราเป็นสังคมเดียวกัน”

หากอ่านอย่างวิพากษ์ วาทะของคุณ Ladwintha Saw Chit สามารถชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการให้สถาบันศูนย์กลางทางวรรณกรรมเป็นผู้กำกับงานการสร้างสำนึกเป็นปึกแผ่นระหว่างประเทศ -- นั่นคือสร้างความเป็นปึกแผ่นด้วยการลบเลือนความหลากหลายภายในประเทศทั้งสองฝ่าย เพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ที่ทั้งไทยและเมียนมา “มีศาสนาเดียวกัน” (พุทธศาสนา?) ไปจนกระทั่งให้ความสำคัญกับภาษามาตรฐานประจำชาติเหนือกว่าภาษาถิ่น ความหลากหลายแห่งมนุษยชาติถูกลดทอนเป็นทิวแถวธงของรัฐชาติหลากสีสัน แต่ความหลากหลายภายในถูกกดทับไว้ ความรู้สึกดีๆ ที่ว่า “เรา[มนุษยชาติ]เป็นสังคมเดียวกัน” อาจตื้นเขินกว่าที่ควรเป็น

ฉันไม่ได้หวังสูงว่า ผลงานจากเมียนมาที่ทางสมาคมนักเขียนแห่งสหภาพเมียนมาคัดเลือก จะเป็นผลงานที่ชิดใกล้กับสภาพความเป็นจริงทั้งหลายของชายขอบประเทศ และยิ่งหวังน้อยลงไปอีกว่าสมาคมนักเขียนแห่งสหภาพเมียนมาจะผลักดันส่งเสริมช่างวรรณกรรมผู้มีพื้นเพจากชายขอบและมีมุมมองทางการเมืองต่อต้านอำนาจรัฐศูนย์กลาง

ระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งประเทศไทย  

ฉันไม่ปฏิเสธว่าการพยายามช่วงชิงพื้นที่และอิทธิพล ณ ศูนย์กลางอำนาจรัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย และไม่ปฏิเสธอีกเช่นกันว่าเพื่อความอยู่รอด นักเขียนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะแสวงประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งชาติ แต่เมื่อย้อนกลับมามองที่ตัวฉัน ซึ่งยังคงเสาะหาที่ทางให้ตัวเองอยู่ในบรรณพิภพ ฉันเห็นว่าจะเป็นการดีกว่าหากเส้นทางวรรณกรรมของฉันเลาะเลียบอยู่รอบนอกวงการอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งชาติ

ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ฉันพยายามแสวงหาโอกาสฝึกฝนเขียนและแสดงผลงาน ตอนอยู่ม.ต้นฉันรวบรวมบทกวีเป็นแฟ้มผลงานส่งไปประกวดรายการ ยุวกวี ของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ชิงรางวัลพระราชทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ตอนอยู่ ม.ปลาย นอกจากส่งกลอนไป โครงการประกวดร้อยกรองออนไลน์ แล้ว ฉันได้สมัครไปเข้าร่วมอบรมโครงการ กล้าวรรณกรรม ที่สนับสนุนโดยบริษัทซี พี ออลล์ จนได้อบรมต่อยอด ยอดกล้า  ฉันไปแข่งขันความรู้ด้านภาษาไทยในเวที เพชรยอดมงกุฎ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาพระธรรมภาวนาวิกรม ฯลฯ

การได้เข้าร่วมงานเหล่านี้ ทำให้ฉันได้ไปเรียนรู้จากประสบการณ์และทรรศนะของกวีนักเขียนผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนในวงการวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็น ชมัยภร แสงกระจ่าง วัฒน์ วรรยางกูร (สมัยนั้นการเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดงยังไม่ถึงจุดวิกฤต) ไพวรินทร์ ขาวงาม อดุล จันทรศักดิ์ กนกวลี พจนปกรณ์ อรสม สุทธิสาคร ฯลฯ

แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือฉันได้รู้จักกับเพื่อนพี่น้องรุ่นไล่ๆ กัน ที่สนใจการเขียนวรรณกรรม หรือกระทั่งใฝ่ฝันอยากยึดการเขียนเป็นอาชีพ เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ทอดยาวเกินวัยเรียน จนต่างคนต่างเรียนจบและหางานทำ และพบว่าการเขียนเพื่อเลี้ยงตน ไม่ง่ายเลย

ในช่วงที่การเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดงปะทุใหญ่ ฉันและมิตรสหายวรรณกรรมได้เห็นการแตกหักภายในวงการนักเขียนไทย อดไม่ได้ที่พวกเราหลายคนจะเอนเอียงไปทางข้างใดข้างหนึ่ง ฉันเริ่มเอียนกับขนบการเขียนงานให้ถูกตาต้องใจกรรมการชุดเดิมๆ ที่เวียนไปตัดสินทุกเวทีประกวดวรรณกรรมที่พากันผุดขึ้นมาล่อใจพวกเรา

ฉันเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังกับโครงสร้างเชิงอุปถัมภ์เหล่านี้ ที่ดูเผินๆ เหมือนมีเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปะ และการเจริญเติบโตทางปัญญา แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับเป็นภัยโดยการตีกรอบอุดมการณ์และจำกัดนวัตกรรมการสร้างสรรค์ของนักเขียนใหม่อย่างพวกเราเสียเอง

ภาวะการถูกหล่อเลี้ยงโดยอุปถัมภกผู้ร่ำรวยและทรงอำนาจ ย่อมมีอิทธิพลต่อการสร้างงานของนักเขียนอย่างเลี่ยงไม่ได้ งานแปลกๆ แหกขนบที่ออกมาจากชายขอบ ที่สามารถผลักดันเพื่อพัฒนาให้สุดขีดศักยภาพ ก็อาจถูกเมินไม่ให้การสนับสนุนที่จำเป็น งานที่ซ้ำซาก ไม่น่าจะสร้างต่อไปแล้วในตลาดวรรณกรรม ก็กลับถูกต่ออายุโดยกรอบของรสนิยมผู้ถืออำนาจศูนย์กลาง

หากจะมีวิวัฒนาการของกรอบรูปแบบและเนื้อหาไปบ้าง มันก็เคลื่อนไปช้าเกินกว่าจะหนุนพัฒนาการทางศิลปะของพวกเรา ระบบอุปถัมภ์นี้รังแต่จะถ่วงเราไม่ให้ค้นพบวิธีการเขียนที่ดีกว่า ที่เข้าใกล้ความเป็นจริงของสังคมร่วมสมัยมากกว่า

คนแรกๆ ที่ฉันตั้งคำถามด้วยก็คือมิตรสหายคนหนึ่งจากค่าย กล้าวรรณกรรม ผู้พากเพียรเขียนกวีนิพนธ์เพื่อรวมเล่มทำมือส่งประกวด เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ทุกปีๆ เขาส่งต้นฉบับมาให้ฉันอ่าน และฉันจะตั้งคำถามกับเขาอู่เสมอว่า ทำไมเขาจึงต้องขึ้นเล่มด้วยบท “อาเศียรวาท”? ทำไมเนื้อหาบทกวีส่วนใหญ่ของเขาจึงว่ายวนอยู่กับประเด็น “เพื่อชีวิต” ที่นำเสนอแบบเดิมๆ หวังให้ผู้อ่านสะเทือนใจต่อวิถีชีวิตชนชั้นล่าง?

คำตอบหนึ่งของมิตรสหายท่านนี้ที่ฉันเถียงต่อไม่ได้ ก็คือถ้าไม่ให้เข้าร่วมการประกวดทำนองนี้ (ที่ฉันอ้างว่าคับแคบเกินไป) แล้วเขาจะหารายได้จากการเขียนได้อย่างไร งานประจำของเขาคือการเป็นครูฝึกสอน ก็ไม่ได้มีรายได้มากนัก

คำตอบนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของอุทิศ เหมะมูล ในเล่ม สามานย์ สามัญ ที่เนื้อหาเป็นปาฐกถานักเขียนผู้ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมอันทรงเกียรติ แต่ปาฐกถานี้ไม่ได้ดำเนินไปอย่างไพเราะรื่นหูอย่างสุนทรพจน์นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล หากเป็นถ้อยคำประณามระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมโดยบริษัทเกษตรรายใหญ่ที่ทำฟาร์มบนหลังคน ซึ่งรวมไปถึงแม่ของนักเขียนในเรื่องด้วย การมารับรางวัลที่สนับสนุนโดยบริษัทเดียวกันนั้นจึงเป็นเรื่องตลกร้าย เจ็บแสบ ขมขื่น ความเป็นอยู่ที่สูญเสียไปของผู้เป็นแม่นั้นไม่อาจกู้กลับมาได้ด้วยรางวัลทางวรรณกรรม ถ้อยคำเป็นอาวุธเดียวที่นักเขียนมีเหลือเพื่อตอบโต้

เมื่อปีที่แล้ว ปีสุดท้ายที่ฉันเข้าข่ายเป็น “นักเขียนรุ่นเยาว์” ในเวทีประกวดวรรณกรรมที่มีจัดประกวดศิลปินนักเขียนอายุไม่เกิน 25 ปีออกมาต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด หรือยังไทยอาร์ทิสต์อวอร์ดของเครือปูนซีเมนต์ไทย ฉันไม่ได้ส่งผลงานอะไรไปประกวดแล้ว ถึงแม้ใจหนึ่งก็อยากจะได้เงินหมื่นเงินแสนกับเขาอยู่

ถ้าเกิดฉันมาจากครอบครัวที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและไม่ได้มีรายได้เพียงพอ ฉันก็คงส่งประกวดเหมือนกันนั่นแหละ

ที่ได้กล่าวไปแล้วนี้มีจุดมุ่งหมายอะไร ชี้ทางอะไรข้างหน้าสำหรับนักสร้างสรรค์วรรณกรรมผู้รวมกลุ่มกันเป็นสมาคมในนาม สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ? สมาคมนักเขียนที่ใช้แม่น้ำโขงเป็นชื่อเรียกตัว แต่ “แม่โขง” ไม่ได้เป็นเพียงนาม?

อิสรภาพอย่างใหม่ของผู้ลี้ภัยการเมือง

“ประชาคมอาเซียน” ที่ประโคมข่าวกันเป็นวาระแห่งชาติในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทุกวันนี้ทิ้งร่องรอยไว้ในสถานที่ราชการ ธงประจำชาติอาเซียนซีดเก่าขาดคาเสา ในร้านเช่าชุดประจำชาติหญิง-ชาย ไว้ในป้ายไวนิลสอนคำทักทาย ซินจ่าว เซลามัต ดาตัง สะบายดี อยู่ในหนังสือรายงานความยั่งยืนประจำปีของบริษัทไทยเบฟ ที่ได้สนับสนุนวงดนตรีพื้นบ้านจากสิบประเทศอาเซียน C asean Consonant ให้ไปสู่เวทีสากล สะท้อนในภาพแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างในหลวงภูมิพลกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โฮจิมินห์

หากไม่ตั้งตนเป็นทูตสันถวไมตรีผู้เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศชาติ ไม่เป็นตัวแทนผู้มีอุปถัมภกหล่อเลี้ยงอุ้มชูแล้ว มีบทบาทอะไรอีกบ้างที่ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมข้ามชาติจะเปรียบตนเข้าได้?

ในยุค AEC ฐานการผลิตของบริษัทใหญ่ทั้งไทยเทศข้ามพรมแดนได้อย่างเสรีและเขตเศรษฐกิจพิเศษแพร่ลามเหมือนเชื้อร้าย ในยุค AEC โลมาแม่น้ำโขงในประเทศลาวได้สูญพันธุ์ไปแล้วโดยปริยาย ในยุค AEC ผู้คนยังคงดิ้นรนหาหนทางข้ามทั้งเส้นพรมแดนบนแผนที่และเส้นแบ่งที่ถูกขีดไว้ภายใน ครูชาวคาเมรูนสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนน้ำพองศึกษา ครูชาวฟิลิปปินส์ที่กลายเป็นแดร็กควีนในบาร์เกย์กรุงเทพ แม่หญิงลาวข้ามฝั่งโขงมาทำงานรับจ้างทางการเกษตรตามฤดูกาล ดิจิตอลโนแมดสัญชาติสหรัฐอเมริกามาตั้งหลักแหล่งในเชียงใหม่เพื่อค่าครองชีพถูกๆ ที่แพงขึ้นเป็นลำดับสำหรับคนที่อยู่มาก่อน ในยุค AEC คนไทยทำทีเป็นนักท่องเที่ยวบินไปเกาหลีใต้แต่แล้วถูกส่งตัวกลับตั้งแต่ที่สนามบิน วัยรุ่นยุโรปเชื้อสายอีสานกลายมาเป็นดาราในวงการบันเทิงไทย นักเรียนนอกไปแล้วไม่กลับแต่ก็เชื่อว่าตนกำลังทำหน้าที่ตอบแทนสังคมในฐานะพลเมืองโลก เด็กชาวปกาเกอะญอจากพม่าข้ามพรมแดนเพื่อโอกาสทางการศึกษาที่พอมีในค่ายผู้ลี้ภัย...

ความคิดของฉันมาสะดุดอยู่กับผู้ลี้ภัยทางการเมือง ฉันคิดถึงการ์ตูน ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ที่ตัดสินใจหนีออกนอกประเทศทันทีที่เธอตระหนักว่าถ้าเธอไปตามหมายเรียก เธออาจกลายเป็น “ไผ่ ดาวดิน” คนใหม่ ฉันคิดถึงพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ผู้ขอลี้ภัยในออสเตรเลียเพราะเกรงถูกหมายเอาชีวิตเพราะสืบไปเจอ “ตอ” ในขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา -- คนที่เลือกหนีจากประเทศที่ไม่เห็นค่าพวกเขา หนีไปเพื่อรักษาชีวิตของตนเอง

ฉันคิดถึงหนุ่ม เรดนนท์ ที่เคยเขียนเล่าถึงชีวิตที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัวมาอยู่ต่างประเทศ กับการพยายามเป็นผู้ประกอบการขายลูกชิ้นหาเลี้ยงชีพ ฉันคิดถึงวัฒน์ วรรลยางกูร ที่ระหกระเหินไปตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2014 แต่ก็ยังส่งเสียงกลับมาอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา -- คนที่อยู่กับการรอคอย เก็บหอมรอมริบเงินและงานไปด้วยความหวังและศรัทธาอย่างเงียบๆ

ฉันคิดถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ตั้งแต่ย้ายไปอยู่ที่ปารีส ท่วงท่าและเนื้อหาที่แสดงออกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นอิสระมากขึ้นจากที่เคยระวังการตีความทุกคำทุกประโยค ฉันคิดถึงอั้ม เนโกะ ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกอย่างเต็มที่ในปารีสจนคนในประเทศที่เคยเห็นใจเธอถึงกับหันมาด่าเธอ -- คนที่ค้นพบอิสรภาพอย่างใหม่ในแผ่นดินอื่น ขยายเสียงความคิดความเชื่อของตนขึ้นอย่างไม่เกรงอำนาจ

ฉันคิดถึงจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ตั้งหลักลี้ภัยที่ฟินแลนด์ แล้วได้เขียนหนังสือเล่าเรื่องชีวิตรัก เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย ขายเป็นอีบุ๊คออนไลน์ ขณะพยายามเรียนภาษาฟินนิชและภาษาอีสาน ฉันคิดถึงเจ้าชายสี่คนในสหรัฐอเมริกาที่เพียรส่งจดหมาย ส.ค.ส. กลับประเทศทุกๆ เทศกาลปีใหม่ แต่ชีวิตพวกเขาก็เดินไปข้างหน้าตามเส้นทางอาชีพที่ตนไขว่คว้ามาได้ -- คนที่สร้างเส้นทางใหม่ในแผ่นดินอื่น พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ ที่จะมาเยือนชีวิตที่เหมือนจะต้องพลัดถิ่นไปถาวร

หากจะก้าวจากการทำงานวรรณกรรมแบบทูตสันถวไมตรี ไปสู่การทำงานวรรณกรรมข้ามชาติอีกแบบ พวกเราน่าจะลองสวมบทบาทเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองบ้าง

ผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมเลือกหลีกหนีจากระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งชาติที่ไม่เห็นค่าพวกเรา หนีไปเพื่อรักษาพลังชีวิตของตนเอง พลังแห่งการสร้างสรรค์ผลงานที่ถือขนบต่างออกไปจากของอำนาจรัฐศูนย์กลาง

ผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมอยู่กับการรอคอยให้แผ่นดินที่ตนจากมาไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม เก็บหอมรอมริบความคิดและผลงานไปด้วยความหวังและศรัทธาอย่างเงียบๆ ไม่คาดหวังสินจ้างรางวัลตอบแทนการบุกบั่นไปตามความปรารถนาของเราเอง

ผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมค้นพบอิสรภาพอย่างใหม่ในแผ่นดินอื่น แผ่นดินที่ไม่มีศูนย์กลางทางรสนิยม ไม่มีการเล่นพรรคพวก ต่างคนต่างสามารถขยายเสียงความคิดความเชื่อของเราได้อย่างไม่เกรงอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถือเสียงของตนว่าเป็นเสียงตัวแทนของกลุ่มชนชาติใด ไม่จำเป็นต้องพูดแต่ด้านดีของแผ่นดินของเรา

ผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมสร้างเส้นทางใหม่ในแผ่นดินอื่น พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ ที่จะมาเยือนเส้นทางวรรณกรรมที่เหมือนจะไม่ได้กลับไปผนวกกับอำนาจศูนย์กลางอย่างถาวร

เมื่อตระหนักแล้วว่าเราตกอยู่ในสภาวะข้ามชาติ คร่อมเส้นพรมแดนอยู่โดยไม่รู้ว่าสุดท้ายเราจะไปลงเอยที่ไหน เราก็น่าจะใช้สภาวะเช่นนี้ให้เป็นประโยชน์ เอามาสร้างผลงานที่แตกต่าง ผลงานที่ไม่อิงอยู่กับสำนึกของความเป็นชาติ ไม่ว่าชาติของเราหรือชาติของเขา ผลงานที่อิงอยู่กับสำนึกของแม่น้ำที่เป็นสัญลักษณ์ของการไหลข้าม สำนึกของแม่น้ำที่เชื่อมแผ่นดินเข้าหากันแทนที่จะเป็นเส้นพรมแดนแบ่งแยกแผ่นดิน สำนึกเป็นปึกแผ่นเดียวกันที่ยอมรับความหลากหลายและความขัดแย้งภายในทุกหนแห่ง ไม่ได้อิงอยู่กับการลบเลือนมันเพื่ออ้างความสมานฉันท์ปรองดอง

ฉันมองว่า สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ เสนอตัวว่าจะทำหน้าที่สร้าง “แผ่นดินใหม่” นั้นสำหรับผู้ที่ต้องการเปิดพื้นที่วรรณกรรมที่ปฏิเสธผู้ถืออำนาจรัฐ เพื่อสร้างอำนาจให้แก่ผู้อยู่ชายขอบให้ดีดตัวขึ้นมาด้วยความภาคภูมิใจในตนเอง ก้าวสู่ยุคที่ใครๆ ก็สามารถเป็นจุดเชื่อมย่อขนาดย่อมได้โดยไม่ต้องมีสมองส่วนกลางสั่งการ 

สำหรับฉันเอง แผ่นดินใหม่นี้อาจมีชื่อว่า สาธารณรัฐลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำของ หรืออาจยังต้องระหกระเหินต่อไปที่อื่น ฉันเองไม่แน่ใจว่าการรอนแรมทางวรรณกรรมของฉันจะมีจุดหมายปลายทางที่ไหน อย่างน้อยที่สุด ในคืนนี้ขอฉันได้แรมทาง.

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Fanpage ปลดกระฎุมพีระ :: PEERA'S PUBLIC BEDROOM

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net