ทำอย่างไร (How)? ให้หลักสูตรและการผลิตครูมีคุณภาพในศตวรรษที่ 21

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แนวคิดการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการผลิตครูปริญญาตรี 5 ปี ที่เริ่มใช้ เมื่อปี         พ.ศ.2547 ถึงปัจจุบัน พ.ศ.2561 รวม 14 ปี ได้ถูกนำเสนอเพื่อทบทวนมาโดยลำดับ เนื่องจาก ในอดีตประเทศไทย มีหลักสูตรผลิตครูเฉพาะปริญญาตรี 4 ปี มาตั้งแต่ พ.ศ.2497 ถึง พ.ศ.2546 รวม 49 ปี ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ในการผลิตครูคุณภาพในศตวรรษ ที่ 21 

มีความหลากหลายแนวคิด ของการผลิตครูคุณภาพเป็นต้นแบบ อาทิ หลักสูตรครูปริญญาตรี 3 ปี ของกลุ่มประเทศยุโรป ที่กำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (EQF: European Qualification Framework) และจำนวนหน่วยกิต ECTS ของหลักสูตรแต่ละระดับปริญญา ประเทศสิงคโปร์ ที่มีหลักสูตรการผลิตครู 4 ปี โดยสามารถใช้เวลาเรียนน้อยกว่าที่หลักสูตรกำหนด คือ 3 1|2 ปี และมีระบบหลักสูตรเร่งรัด (fast tract ) ปริญญาตรีควบโท 5 ปี ด้วย ส่วนประเทศฟินแลนด์มีหลักสูตรครูปริญญาโท 5 ปี สำหรับครูที่สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (class teacher )และหลักสูตรครูปริญญาตรี 3 ปี สำหรับครูระดับอนุบาล รวมทั้งหลักสูตรครูปริญญาโท 2 ปี สำหรับครูผู้สอนประจำวิชา (subject teacher) ประเทศดังกล่าวข้างต้นล้วนมีคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับสูงของโลกทั้งสิ้น โดยสรุปคือประเทศในโลกมีหลักสูตรการผลิตครูทั้งหลักสูตรครูปริญญาตรี 3 ปี หลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี หลักสูตรครูปริญญาตรีควบโท 5 ปี และหลักสูตรครูปริญญาโท 5 ปี มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่มีหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี

คำถามคือถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องทำอย่างไร (How)?

คำตอบ คือ การจัดทำหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ต้องมีการดำเนินการด้านกฎหมาย เนื่องจากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครูอยู่ในความรับผิดชอบของ 2 หน่วยงาน ได้แก่

1. คุรุสภาที่มีอำนาจและหน้าที่ในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย 3 ฉบับ ดังนี้ 

1.1 พระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ที่กำหนด ส่วนที่ 5 การประกอบวิชาชีพควบคุม 

มาตรา 44 ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุม ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (ก) คุณสมบัติ (1) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ (2) มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง (3) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

1.2 ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่กำหนดว่า 

“มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ” หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับความรู้และ ประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ หรือการจัดการศึกษา ซึ่งผู้ต้องการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องมีเพียงพอที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพได้

หมวด 1 มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ

ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพครู ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ดังต่อไปนี้
(ก) มาตรฐานความรู้ ประกอบด้วยความรู้ ดังต่อไปนี้ ๑) ความเป็นครู 2) ปรัชญาการศึกษ 3) ภาษาและวัฒนธรรม 4) จิตวิทยาสําหรับครู 5) หลักสูตร 6) การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน 7) การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ 8) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา 9) การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ 10) การประกันคุณภาพการศึกษา 11) คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ
(ข) มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตร
ปริญญาทางการศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากําหนด ดังต่อไปนี้ 1) การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน 2) การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ

1.3 ประกาศคุรุสภา เรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2557

“การปฏิบัติการสอน” หมายความว่า การสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะหรือวิชาเอก ตามหลักสูตรปริญญาหรือประกาศนียบัตร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า หนึ่งปีการศึกษาในสถานศึกษาที่มี คุณสมบัติตามที่คณะกรรมการกําหนด

ข้อ 6 ผู้สําเร็จการศึกษาที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรที่คุรุสภาให้การรับรอง ซึ่งเป็นไป
ตามเกณฑ์การรับรองในข้อ ๓ ต้องผ่านการทดสอบ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามที่คุรุสภากําหนด

ส่วนที่ 1 มาตรฐานและเกณฑ์การรับรอง

ก. วิชาชีพครู
    1. โครงสร้างของหลักสูตร

1.1 ปริญญาตรี (5 ปี)

(1) จำนวนหน่วยกิตรวม ไม่น้อยกว่า 160 หน่วยกิต 

(2) มีข้อกำหนดการปฏิบัติการสอน จะต้องแบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษา มีหน่วยกิตรวมกันไม่น้อยกว่ามาตรฐาน และมีชั่วโมงสอนใน วิชาเอกไม่น้อยกว่า สัปดาห์ละ 8 ชั่วโมงเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์รวมไม่น้อยกว่า 120 ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา มีเวลาเตรียมสอน ตรวจงาน และ การปฏิบัติงานอื่นท่ีได้รับมอบหมาย ไม่น้อยกว่า ภาคการศึกษาละ 120 ชั่วโมง

จะเห็นว่าข้อบังคับข้อ 1.2 และประกาศข้อ 1.3 กำหนดการปฏิบัติไว้เกินกว่าที่พระราชบัญญัติข้อ 1.1 กำหนด ดังนี้

พระราชบัญญัติฯ (3) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
ข้อบังคับฯ กำหนดมาตรฐานความรู้ ประกอบด้วยความรู้ ดังต่อไปนี้ ๑) ความเป็นครู 2) ปรัชญาการศึกษ 3) ภาษาและวัฒนธรรม 4) จิตวิทยาสําหรับครู 5) หลักสูตร 6) การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน 7) การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ 8) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา 9) การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ 10) การประกันคุณภาพการศึกษา 11) คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ
(ข) มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา  เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
มาตรฐานและเกณฑ์การรับรอง การขอรับการรับรองและการติดตามผลการรับรอง ปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา

รายละเอียดแนบท้ายประกาศคุรุสภาเรื่องการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา เพื่อ การประกอบวิชาชีพพ.ศ.2557

(3) มีข้อกำหนดการปฏิบัติการสอน จะต้องแบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษา

สรุป

1. การปฏิบัติการสอนไม่น้อยกว่าหนึ่งปีการศึกษาตามพระราชบัญญัติข้อ 1.1 และตามข้อบังคับข้อ 1.2 ไม่สามารถแยกปฏิบัติการสอนทุกปีการศึกษาได้ เนื่องจากขัดกับเกณฑ์การรับรองปริญญาที่กำหนดให้การปฏิบัติการสอน จะต้องแบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษา เป็นการออกกฎหมายที่ขัดกันในหลักปฏิบัติ

2. การจัดทำหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ไม่สามารถทำได้ เพราะประกาศคุรุสภาข้อ 1.3 กำหนดโครงสร้างหลักสูตรไว้เฉพาะปริญญาตรี 5 ปี เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถจัดทำหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีได้ เพราะไม่มีเกณฑ์การรับรองหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี

3. ข้อบังคับคุรุสภาข้อ 1.2 ข้อ 6 กำหนดมาตรฐานความรู้ไว้ 11 สาระความรู้ ทำให้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาตามความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงด้านวิชาการ จึงเป็นคำถามว่าจำเป็นหรือไม่และเป็นการก้าวก่ายหรือไม่ที่คุรุสภาจะกำหนดสาระความรู้ ซึ่งสิ่งที่คุรุสภาควรจะกำหนดคือสมรรถนะซึ่งเป็นมาตรฐานบัณฑิตครู

จึงเป็นความจำเป็นที่คุรุสภาจะต้องแก้ไขปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องข้างต้น และกฎหมายอื่นหากมีการกำหนดการบังคับใช้ที่ขัดกัน

อนึ่ง เนื่องจากการสร้างหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี อาจส่งผลกระทบต่อผู้เรียนหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปีในปัจจุบัน จึงเห็นสมควรดำเนินการเชิงนโยบาย กล่าวคือให้.ผู้เรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี (รหัส 57, 58 และ 59) ต้องเข้าทดสอบข้อสอบตามประกาศคุรุสภา เพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามข้อ 1.3 ข้อ 6 และเห็นควรให้การเข้าทดสอบข้างต้นเป็นการดำเนินการเพื่อใช้คะแนนเฉลี่ยประเมินคุณภาพการผลิตของสถาบันฝ่ายผลิตในการจัดสรรทุนครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเท่านั้น และให้ถือว่าผู้เข้าทดสอบเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกับนิสิตนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว

2. การกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ โดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินการ ดังนี้ 

2.1 จัดทำ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรสี่ปี) หลักสูตรครูปริญญาโทสาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรสองปี) และหลักสูตรครูปริญญาเอกสาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรสามปี) (โดยไม่มีการกำหนดโครงสร้างหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู) 

2.2 ให้คงประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรห้าปี) ไว้ตามเดิม สำหรับให้สถาบันฝ่ายผลิตที่มีความประสงค์จะจัดทำหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี

แนวคิดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ความมีการกำหนดกรอบมาตรฐานดังต่อไปนี้

1. ระดับคุณวุฒิ (degree level) มีการกำหนดกรอบคุณวุฒิให้ครอบคลุมทั้ง หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี (bachelor degree) หลักสูตรปริญญาโท 2 ปี (master degree) และหลักสูตรปริญญาเอก 3 ปี (doctoral degree)

2. ผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcomes) ควรมีเป้าหมายที่ สมรรถนะ(competency) ทักษะ(skill) และอุปนิสัย (character) ของผลผลิตและผลลัพธ์ คือคุณภาพบัณฑิต ที่สอดคล้องกับทักษะคนในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

1) สมรรถนะ (competency) ที่สามารถถ่ายทอดทักษะ (skill)ในแต่ละด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (1) ด้านความรู้ในเนื้อหา (2) ด้านการจัดการเรียนรู้ (3) ด้านคุณลักษณะความเป็นครู และ (4) ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน

2) ทักษะ (skill) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และ (2) ทักษะการจัดการ ได้แก่ (1) ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ การรู้จักแก้ปัญหา “9 C" ได้แก่ 1) มีวิจารณญาณ (“C”ritical Thinking), 2) คิดอย่างริเริ่มสร้างสรรค์ (“C”reativity), 3) เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม (“C”ross-cultural Understanding), 4) ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ (“C”ollaboration), 5) แก้ปัญหาความขัดแย้ง ("C"onflick solving) 6) รู้จักสื่อสารและใช้สื่อเป็นอย่างรู้เท่าทัน(“C”ommunications-Media Literacy), 7) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็น (“C”omputing and ICT Literacy) ทักษะทางวิชาชีพ (“C”areer Skills) 9) วัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ("C" ulture of life-long learning) 

(2) ทักษะการจัดการ " 5 “S" ได้แก่ 1) ทักษะการบริหารจัดการบุคคล (Personnel Management "S") 2) ทักษะการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Maturity "S"kill) 3) ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making "S"kill) และ 4) ทักษะการเจรจาต่อรอง (Negotiation "S"kill).5) ทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด (Thinking Elasticity “S”kill)

3. มาตรฐานหน่วยกิต (unit standard) และความรู้ (knowledge) ได้แก่ หน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร (curriculum unit) ซึ่งสามารถศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรฐานหน่วยกิตรวมของหลักสูตรครูปริญญาตรีของกลุ่มประเทศในยุโรป ได้แก่

หลักสูตรครูปริญญาตรีของประเทศฟินแลนด์ กำหนดให้เรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติไม่น้อยกว่า 60 หน่วยกิต (ECTS) จากจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรปริญญาโท ของหลักสูตรครูประจำชั้นและครูประจำวิชา (300 ECTS) และหลักสูตรปริญญาตรีครูอนุบาล (180 ECTS) ทั้งนี้การฝึกปฏิบัติวิชาครูสำหรับหลักสูตรครูประจำชั้น และครูประจำวิชา จะเป็นการฝึกสอนจำนวน 20 ECTS และ 25 ECTS สำหรับหลักสูตรครูอนุบาล

กลุ่มวิชาชีพครู 60 ECTS มีสัดส่วนเป็น 1/5 ของจำนวนหน่วยกิตรวม 300 หน่วยกิต และการฝึกปฏิบัติ 20 ECTS มีสัดส่วนเป็น 1/3 ของกลุ่มวิชาชีพครู 60 ECTS 

จากการคำนวณเทียบเคียงหน่วยกิตของไทย TCTS (Thai Credit Transfer System) กับ ECTS ตามเกณฑ์การเทียบเคียง 7.25 ECTS = 5.25 TCTS โดยหลักสูตร Bachelor Degree 180 ECTS เทียบได้กับ 130.345 TCTS ผู้เขียนจึงเสนอให้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี มีหน่วยยกิตรวมไม่น้อยกว่า 131 หน่วยกิตของไทย TCTS (Thai Credit Transfer System) ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร สกอ. และเกณฑ์คุรุสภา (โดยเทียบเคียงจากหน่วยกิตรวมหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี)

ดังนั้น จึงสามารถกำหนดสัดส่วนหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี โดยเทียบเคียงสัดส่วนกับหลักสูตรปริญญาตรีของกลุ่มยุโรป ได้ คือ วิชาชีพครู 1/5 ของ 131 TCTS เท่ากับ 26.2 TCTS และการฝึกปฏิบัติวิชาชีพครู 1/3 ของ 26.2 TCTS เท่ากับ 8.34 TCTS

โครงสร้างหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ควรกำหนดหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 138 หน่วยกิต (หน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีของ สกอ. และ เทียบได้เกินกว่าเกณฑ์หลักสูตรปริญญาตรีของกลุ่มประเทศในยุโรป) ดังนี้

1) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต

2) หมวดวิชาเฉพาะ/วิชาเอก ไม่น้อยกว่า 69 หน่วยกิต

3) หมวดวิชาชีพครู ไม่น้อยกว่า 33 หน่วยกิต

4) หมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต

4. ความรู้หมวดวิชาชีพครู (professional knowledge) และหมวดวิชาเอก (major subjects)

4.1 หมวดวิชาชีพครู 33 หน่วยกิต จำแนก ดังนี้

1. ความเป็นครูและนวัตกรรมเทคโนโลยี (Pedagogy &Innovation Teachnology) 12 หน่วยกิต 4 รายวิชา (จิตวิญญาณและคุณค่าความเป็นครู)

2. ศาสตร์การสอน (Didactics) 6 หน่วยกิต 2 รายวิชา              (ความชำนาญศาสตร์การสอนวิชาเอก และการสอนในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

3. วิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา (Research & Educational Quality Assurance) 3 หน่วยกิต 1 รายวิชา (แสวงหาความรู้ด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อการประกันคุณภาพ)

4. การปฏิบัติการวิชาชีพครู (Professional Practice) 12 หน่วยกิต 4 รายวิชา รวม 30 สัปดาห์ (ฝึกประสบการณ์เพื่อทักษะและสมรรถนะวิชาชีพ) ดังนี้

ปีที่ 1 ฝึกประสบการณ์ในโรงเรียน (School Experience) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์

ปีที่ 2 ฝึกเป็นผู้ช่วยสอน (Teaching Assistance) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์

ปีที่ 3 ฝึกปฏิบัติการสอน 1 (Practicum 1) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์

ปีที่ 4 ฝึกปฏิบัติการสอน 2 (Practicum 2) 6 หน่วยกิต 18 สัปดาห์

4.2 หมวดวิชาเฉพาะ/วิชาเอก 69 นก เรียน 23 รายวิชา(ความรู้นำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพ)

5. กิจกรรมเสริมความเป็นครู (student activities)

การสร้างทักษะ (skill) สู่การมีสมรรถนะ (competency) ควรมีกิจกรรม         5 ด้าน ตลอดระยะเวลาการศึกษาทุกปี โดยไม่กำหนดจำนวนครั้ง โดยจัดทำหลักฐานเป็น แฟ้มสะสมงาน (portfolio) ที่มีผู้รับรองการทำกิจกรรมโดยอาจดำเนินการ ดังนี้

ปีที่ 1 การพัฒนาตนสู่ความเป็นครู (กิจกรรม มุ่งพัฒนาตน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านบุคลิกภาพ และด้านสุนทรียภาพ)

ปีที่ 2 ความเป็นผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง (กิจกรรม ศึกษาข้อมูล กระตุ้นตนเองลงมือทำ นำชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง)

ปีที่ 3 การมีภูมิคุ้มกัน (กิจกรรม ไม่ข้องเกี่ยวข้องอบายมุข มีความสุขด้วยคุณธรรม จริยธรรม น้อมนำจิตด้วยหลักศาสนา)

ปีที่ 4 การสร้างสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรม (กิจกรรม รู้เท่าทันเทคโนโลยี มีความติดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างสื่อการเรียนรู้และสื่อเทคโนโลยี)

ปีที่ 1-4 การมีจิตสาธารณะเพื่อสังคม (กิจกรรม ใส่ใจต่อสังคม อุดมด้วยจิตสาธารณะ เสียสละโดยไม่เห็นแก่ตัว)

6. การรู้เรื่องภาษาอังกฤษ (English Literacy)

กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา(exit exam) โดยการทดสอบการรู้เรื่องภาษาอังกฤษ (English Literacy) ตามเกณฑ์ ดังนี้

                TOEIC    TOEFL (Paper)    TOEFL (CBT)    TOEFL (IBT)    IELTS    CEFR
ปริญญาตรี    505         477                   153                53                 4.5          B1 

ปริญญาโท    600         510                  180                64                  5.0         B2
 
ปริญญาเอก  (ตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาของแต่ละสถาบัน)

นิสิตนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรภาษาอังกฤษ และวิชาเอกภาษาอังกฤษ ต้องผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษระดับปริญญาโท

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
การกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ควรกำหนดบทเฉพาะกาลให้ในปีการศึกษา 2562 นิสิตนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ที่เข้าเรียนปีการศึกษา 2560 (รหัส 60) และ ปีการศึกษา 2561 (รหัส 61) สามารถเทียบโอนหน่วยกิต เพื่อเข้าศึกษาหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ได้

ข้อเสนอการดำเนินการ (ภาคผนวก)

1. การปฏิบัติการวิชาชีพครู (Professional Practice) 12 หน่วยกิต 4 รายวิชา รวม 30 สัปดาห์ (ฝึกประสบการณ์เพื่อทักษะและสมรรถนะวิชาชีพ) ดังนี้

ปีที่ 1 ฝึกประสบการณ์ในโรงเรียน (School Experience) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์

ปีที่ 2 ฝึกเป็นผู้ช่วยสอน ( Teaching Assistance) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์

ปีที่ 3 ฝึกปฏิบัติการสอน 1 (Practicum 1) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์

ปีที่ 4 ฝึกปฏิบัติการสอน 2( Practicum 2) 6 หน่วยกิต 18 สัปดาห์

การดำเนินการตามพระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ที่กำหนด ส่วนที่ 5 การประกอบวิชาชีพควบคุมมาตรา 44 (3) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

การดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ การปฏิบัติการสอนไม่น้อยกว่าหนึ่งปี สามารถเทียบเคียงระยะเวลาหนึ่งปีได้กับ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 ข้อ 6 ระบบการจัดการศึกษา ใช้ระบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ 1 ภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ ดังนั้น การปฏิบัติการสอนหนึ่งปีจึงต้องไม่น้อยกว่า 30 สัปดาห์

แนวคิดการปฏิบัติการวิชาชีพครู (Professional Practice) ทุกปี เป็นการดำเนินการตามแนวทางของหลักสูตรการผลิตครูปริญญาตรีของประเทศสิงคโปร์ ที่ฝึกปฏิบัติการวิชาชีพ ปีที่ 1 จำนวน 2 สัปดาห์ ปีที่ 2 จำนวน 5 สัปดาห์ ปีที่ 3 จำนวน 5 สัปดาห์ และปีที่ 4 จำนวน 10 สัปดาห์ รวมตลอดหลักสูตร 22 สัปดาห์ ส่วนหลักสูตรครูปริญญาของประเทศไทย ต้องดำเนินการตามกฎหมายจึงกำหนด 30 สัปดาห์

แนวทางการบริหารจัดการการเรียนการสอนที่ต้องไม่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน และต้องมีประสิทธิภาพด้วย จึงสามารถบริหารจัดการได้ ดังนี้

ปีการศึกษาที่ 1 ภาคปลาย เรียนรายวิชาตามแผนการเรียน 15 สัปดาห์ สอบปลายภาค 1 สัปดาห์ ฝึกประสบการณ์ในโรงเรียน (School Exerience) 4 สัปดาห์ รวมเรียน 20 สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา (สอดคล้องกับการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

ปีการศึกษาที่ 2 ภาคปลาย เรียนรายวิชาตามแผนการเรียน 15 สัปดาห์ สอบปลายภาค 1 สัปดาห์ ฝึกประสบการณ์การช่วยสอน (Teaching Assistantship) 4 สัปดาห์ รวมเรียน 20 สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา (สอดคล้องกับการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

ปีการศึกษาที่ 3 ภาคปลาย เรียนรายวิชา 15 สัปดาห์ สอบปลายภาค 1 สัปดาห์ ฝึกประสบการณ์การปฏิบัติการสอน 1 (Teaching Practice 1) 4 สัปดาห์ รวมเรียน 20 สัปดาห์ ต่อภาคการศึกษา (สอดคล้องกับการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

ปีการศึกษาที่ 4 ภาคต้นหรือภาคปลาย ฝึกประสบการณ์การปฏิบัติการสอน 2 (Teaching Practice 2) หนึ่งภาคการศึกษา รวมเรียนไม่น้อยกว่า 18 สัปดาห์ (สอดคล้องกับการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

2. กิจกรรมเสริมความเป็นครู (student activities) เพื่อเสริมสร้างทักษะ (skill) สู่การมีสมรรถนะ (competency) ควรมีกิจกรรม 5 ด้าน โดยกำหนดเป็นกิจกรรมแต่ละปีและสามารถทำทุกกิจกรรมได้   ทุกปี โดยปีที่ 1 การพัฒนาตนสู่ความเป็นครู ปีที่ 2 ความเป็นผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง ปีที่ 3 การมีภูมิคุ้มกัน ปีที่ 4 การสร้างสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีที่ 1-4 การมีจิตสาธารณะเพื่อสังคม
การกำหนดกิจกรรม เสริมความเป็นครู (student activities) ไว้ในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิเป็นการปรับประยุกต์ในแนวทางเดียวกับที่หลักสูตรครูปริญญาตรีของสิงคโปร์กำหนดไว้ในหลักสูตร ดังต่อไปนี้

สิงคโปร์ผลิตและพัฒนาครูอย่างไร (ดร.ประวิต เอราวรรณ์) หลักสูตรผลิตครูของสิงคโปร์ยังกําหนดให้นักศึกษาต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะเชิงวิชาชีพใน อีก 5 กิจกรรม ดังนี้

(1) โครงการกลุ่มการเรียนรู้เชิงบริการ (Group Endeavours in Service Learning: GESL) โดย นักศึกษาจะต้องรวมกลุ่มประมาณ 20 คน แล้วคิดโครงการบริการชุมชนเพื่อออกไปสัมผัสและเกิดการเรียนรู้จาก ชุมชนรอบตัว เพื่อฝึกทักษะการจัดการ การทํางานเป็นทีม การวิเคราะห์ความต้องการจําเป็น การตัดสินใจ การเข้าใจ ผู้อื่น

(2) ประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษ (Certificate in English Language Studies: CELS) นักศึกษา ยังต้องเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ปีที่ 1 โดยให้ได้ใบประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษ ในชั้น      ปีที่ 2 หรือ 3 ซึ่งออกแบบ หลักสูตรมาเพื่อให้นักศึกษามีความมั่นใจในวิธีการสอนด้วยภาษาอังกฤษ และสร้างทักษะการสื่อสารทั้งด้านการพูด และการเขียนภาษาอังกฤษ

(3) โครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพครู หรือเรียกว่า The Meranti Project โครงการนี้ถูกออกแบบให้ นักศึกษาเป็นรายบุคคลได้พัฒนาตนเองและสมรรถนะทางสังคมของครู โดยแลกเปลี่ยนกับครูที่มีประสบการณ์สอน รวมถึงนักเรียนในชั้นเรียน ซึ่งโครงการนี้จะสร้างมุมมอง เชิงประสบการณ์การเป็นครูตั้งแต่แรกให้กับนักศึกษาครู และ ทําให้นักศึกษาเข้าใจวิธีการสําหรับการจัดการศึกษาของประเทศ และคุณลักษณะความเป็นพลเมืองในท้ายที่สุด

(4) การเข้าร่วมการเสวนา สัมมนา ประชุมปฏิบัติการ และกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดขึ้นสําหรับนักศึกษา ตามหลักสูตรในระหว่างเรียนทั้ง 4 ปี

(5) การปลูกฝังความซื่อสัตย์ทางวิชาการ (Academic Integrity) ทางสถาบันจะเข้มงวดกับเรื่อง ความซื่อสัตย์ทางวิชาการของนักศึกษา โดยหนังสือ เอกสารการสอน อุปกรณ์การเรียนต่างๆ ของสถาบันที่ใช้ในการ เรียนการสอนจะต้องจัดซื้ออย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์เพื่อเป็นตัวอย่างแก่นักศึกษา และฝึกนักศึกษาให้มีความซื่อสัตย์ เช่น การเขียนเอกสารต่างๆ ต้องมีการอ้างอิงเสมอ เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดให้เรียนรายวิชาความซื่อสัตย์ทางวิชาการ (academic integrity course) ให้นักศึกษาเรียนอีกด้วย

3. การรู้เรื่องภาษาอังกฤษ (English Literacy) กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา (exit exam) เช่นเดียวกับที่หลักสูตรปริญญาตรีสิงคโปร์กำหนดไว้ข้างต้นใน (2) คือ ประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษ (Certificate in English Language Studies: CELS) ส่วนเกณฑ์ที่นำเสนอเป็นเกณฑ์ทั่วไปที่ยึด ปริญญาตรี IELTS 4.5 และปริญญาโท IELTS 5.0 และการเทียบเคียงกับคะแนนการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐานอื่น

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก เป็นคณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท