Skip to main content
sharethis

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทำหนังสือถึง ประยุทธ์ เสนอให้นำ “ข้อตกลงคุณธรรม” ใช้ในการประมูลร้านค้าปลอดภาษีและอากรหรือดิวตี้ฟรีรอบใหม่ เพื่อสร้างความโปร่งใส

2 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ ( 2 พ.ย.61) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. และ ประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เพื่อขอให้ใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” ในการประมูลโครงการร้านค้าปลอดภาษีและอากร หรือ ดิวตี้ฟรีครั้งใหม่ ซึ่งสัมปทานเดิมที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กับ เอกชน กำลังจะสิ้นสุดเดือนกันยายน พ.ศ.2563 นี้

โดยในหนังสือระบุว่า   

“ตามที่จะมีการประมูลหาผู้ร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการร้านค้าปลอดภาษีและอากร (Duty Free Shop) ครั้งใหม่ ที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในหลายสนามบินสำคัญของประเทศ ทำให้โครงการนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของประเทศและเป็นแหล่งสร้างรายได้เข้ารัฐที่สำคัญ

ปัจจุบัน “ข้อตกลงคุณธรรม” เป็นมาตรการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ที่ใช้มาตรการนี้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศได้อย่างมหาศาล

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการหาผู้ร่วมทุนในโครงการร้านค้าปลอดภาษีและอากร เป็นไปอย่างโปร่งใสตามนโยบายของรัฐบาล องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ใคร่ขอกราบเรียนเสนอท่านนายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณานำ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ในโครงการดังกล่าว”

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบัน ความเห็น ความต้องการ ข้อเสนอแนะ มุมมองของผู้คนในสังคมเกี่ยวกับสนามบินมีหลายหลายทั้งบวกและลบ จนอาจทำให้เกิดการคาดเดาไปในทางที่เสียหายได้ ดังนั้นการศึกษา กำหนดแนวทาง การบริหารจัดการ การกำกับดูแลเกี่ยวกับการประมูลโครงการร้านค้าปลอดภาษีและอากร

ครั้งนี้ จึงต้องการความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม เพื่อให้มั่นใจว่ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ด้วยเงื่อนไขที่ดีที่สุด

ดังนั้นทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จึงเห็นควรที่จะต้องสร้างความโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วมด้วย“ข้อตกลงคุณธรรม” ที่เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล (ตามที่ปรากฎในหนังสือ) เพราะ “ข้อตกลงคุณธรรม” เป็นมาตรการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่นายกรัฐมนตรีได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ที่ใช้มาตรการนี้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศได้

สำหรับ ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) คือ หนึ่งในเครื่องมือที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 นำมาใช้บริหารงานการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกันที่ลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรณ์ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ฝ่ายหน่วยงานภาครัฐ  2.ฝ่ายผู้ประกอบการภาคเอกชน  และ3.ผู้สังเกตการณ์อิสระตัวแทนภาคประชาชน โดยหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการฯ ต้องตกลงกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้สังเกตการณ์อิสระ รวมทั้งยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์อิสระที่มีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความรู้และประสบการณ์ เข้าร่วมสังเกตการณ์การทำงานจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดทำร่างขอบเขตงาน ไปจนส่งมอบงานสิ้นสุดโครงการ

ทั้งนี้กรณีที่ผู้สังเกตการณ์อิสระเห็นว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในข้อตกลงคุณธรรม จะรายงานข้อสังเกตให้หน่วยงานภาครัฐฯ ทราบ และหากไม่มีการแก้ไขจนเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โครงการ ผู้สังเกตการณ์อิสระจะรายงานให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตทราบ เพื่อรายงานข้อมูลต่อสาธารณะ และอาจแจ้งหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net