สุรพศ ทวีศักดิ์: มนุษย์กับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ฌอง ฌากส์ รุสโซเขียนไว้ในหนังสือ “สัญญาประชาคม” ว่า “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่เขาถูกพันธนาการอยู่ทั่วทุกแห่งหน” สะท้อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ว่า คือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการต่างๆ แต่ผลของการต่อสู้ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากพันธนาการต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด หรือนำไปสู่การสร้างพันธนาการใหม่ๆ ที่ซับซ้อนแตกต่างกันไปตามยุคสมัยอย่างไรบ้าง นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ดูเหมือนรุสโซเชื่อว่า เมื่ออยู่ในภาวะที่ถูกอำนาจเผด็จการบังคับให้สยบยอม มนุษย์เราอาจจำเป็นต้องสยบยอม หรือทำเสมือนว่ายอมเชื่อฟังเผด็จการ แต่เมื่อเผด็จการอ่อนแอลง หรือมีเงื่อนไข สถานการณ์ โอกาสให้โค่นล้มเผด็จการได้ พวกเขาก็จะโค่นล้มเพื่อปลดปล่อยตนเองให้มีเสรีภาพ

หนังสือ “ประวัติศาสตร์อเมริกา” (American History) ของ Paul S. Boyer แปลโดยธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมนุษย์เพื่อปลดปล่อยตนเองให้มีเสรีภาพ เรื่องราวการต่อสู้เพื่อสร้างชาติของชาวอเมริกันให้เป็นชาติที่มี “เสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ดังคำปราศรัยของบารัก โอบามา หลังจากที่เขาได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีที่เป็นคนผิวสีคนแรก เขาพูดว่า “คนรุ่นพ่อของเขายังถูกภัตตาคารที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในนิวยอร์กปฏิเสธที่จะให้บริการอยู่เลย” การมีประธานาธิบดีเป็นคนผิวสีคนแรก จึงเป็นการประกาศความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งแห่งการเดินทางที่ยาวนานของเสรีภาพและความเท่าเทียม อันเป็นอุดมคติสืบทอดจากยุคแรกเริ่มในคำประกาศอิสรภาพที่มีขึ้นในช่วงปี 1763-1789 ที่เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติ สร้างรัฐธรรมนูญ และชาติใหม่

เมื่อย้อนไปดูคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาที่ถือเป็นการปัก “เสาหลักแห่งเสรีภาพ” ก็จะพบความย้อนแย้งหลายอย่าง คำประกาศนั้นยืนยันอุดมคติสูงสุดว่า “เราทุกคนถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้ประทานสิทธิอันไม่อาจพรากไปได้แก่เราทุกคน นั่นคือสิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน อิสรภาพและการแสวงหาความสุข” นี่คือการนำแนวคิด “สิทธิตามธรรมชาติ” (natural rights) ของจอห์น ล็อคมาใช้โดยผสานกับความเชื่อเรื่องพระเจ้าผู้สร้างโลกและมนุษย์ของชาวคริสต์เตียนที่เป็นชาวอเมริกันส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม โธมัส เจฟเฟอร์สัน ผู้เป็นมันสองในการร่างคำประกาศดังกล่าวกลับเป็นเจ้าที่ดินที่มีทาสในปกครองจำนวนมาก

ทาสชาวแอฟริกันบางคนแสดงความเห็นว่า เขารู้สึกดีใจที่ได้ยินคำว่า “เสรีภาพ” แม้ว่าเขาจะไม่มีส่วนใดๆ ในความหมายของคำดังกล่าว ขณะที่ทาสหลายคนอาสาร่วมรบในสงครามปฏิวัติโดยหวังว่าเมื่อได้ชัยชนะพวกเขาจะได้รับอิสรภาพ บรรดาผู้หญิงที่ทำหน้าที่บริหารฟาร์มแทนสามี หาเงินส่งเสบียงให้สามีที่ออกรบบอกกับสามีว่า “เราทุกคนเท่าเทียมกันต้องหมายถูกผู้หญิงทุกคนด้วย” และว่า “เมื่อมีรัฐบาลใหม่หวังว่าจะไม่ลืมผู้หญิง” แต่หลังจากชัยชนะในสงครามปฏิวัติ ต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษกว่าที่จะเลิกทาส เมื่อเลิกระบบทาสแล้วยังมีการแบ่งแยกสีผิว ต้องต่อสู้กันอีกยาวนานกว่าที่จะมีประธานาธิบดีเป็นคนผิวสีคนแรก ส่วนผู้หญิงก็อีกหลายทศวรรษจึงมีสิทธิเลือกตั้ง หลังจากที่ผู้หญิงอังกฤษต่อสู้จนต้องสละอิสรภาพและชีวิตตนเองจนได้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ผู้หญิงอเมริกันและที่อื่นๆ จึงพลอยได้สิทธิดังกล่าวตามไปด้วย

แปลว่า อิสรภาพ สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมเกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ซับซ้อน มันมีทั้งการเสนอแนวคิดทางปรัชญาที่ยืนยันอิสรภาพ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งมีเนื้อหาทั้งสอดคล้องและแตกต่างหรือขัดแย้งกัน ตัวนักปรัชญาเองที่เสนอแนวคิดดังกล่าวก็มักจะถูกเล่นงานโดยอำนาจเผด็จการของระบบกษัตริย์และศาสนจักร แต่แล้วแนวคิดดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้อ้างอิงในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบกษัตริย์ที่อิงหลักความเชื่อทางศาสนามาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่อิงหลักการโลกวิสัย (secularism) และหลังปฏิวัติก็เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองเรียกร้องอิสรภาพ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบรรดาผู้ถูกกดขี่ เช่นทาส คนผิวสี สตรี คนยากจน คนหลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ

นอกจากนั้น อุดมคติในคำประกาศอิสรภาพอเมริกา ยังเป็นการ “ปักหมุด” ว่า ศาสนากับอิสรภาพ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคควรไปด้วยกันได้ โชคดีที่สหรัฐฯมีศาสนาหลากหลายนิกาย และไม่มีศาสนจักรของนิกายใดถูกสถาปนาให้มีอำนาจรัฐหรือเป็นศาสนาประจำชาติ ในบางรัฐมีศาสนนิกของบางนิกายเป็นคนส่วนใหญ่ แต่ศาสนิกของนิกายนั้นก็เป็นคนส่วนน้อยในรัฐอื่นที่มีศาสนิกของนิกายคู่แข่งเป็นคนส่วนใหญ่ จึงไม่มีศาสนาใดหรือนิกายใดผูกขาดอำนาจได้อย่างแท้จริง ประกอบกับอุดมคติเสรีนิยม (liberalism) ที่ถือว่ารัฐกับศาสนจักรต้องแยกจากกัน จึงทำให้ “เสรีภาพทางศาสนา” ได้รับการคุ้มครอง หลังปฏิวัติอมริกา ศาสนาเป็นทั้งพลังในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่ขณะเดียวกันก็มักถูกนำมาอ้างในการแบ่งแยกและกีดกันด้วย เช่นมีการอ้างความเชื่อทางศาสนาในการรณรงค์คัดค้านการออกกฎหมายให้สิทธิในการทำแท้ง คัดค้านสิทธิเท่าเทียมของเกย์ หรือคัดค้านการออกกฎหมายให้สิทธิการแต่งงานแก่คนรักเพศเดียวกันเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพ ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีของมนุษย์คืออุดมการณ์หลักในการสร้างชาติของชาวอเมริกัน ในนิวยอร์กมีพิพิธภัณฑ์หอจดหมายเหตุแห่งชาติให้คนอเมริกันและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าชมร่าง “คำประกาศอิสรภาพ” และเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกดขี่กับฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ผ่านสงครามกลางเมือง การเข่นฆ่า ความรุนแรงนับครั้งไม่ถ้วน และความยากลำบากในการต่อรองประนีประนอมของบรรพบุรุษรุ่นต่างๆ กว่าที่จะกลายมาเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และยังต้องสู้กับปัญหาการกดขี่ในมิติอื่นๆ อีกต่อไป

ต่างกันอย่างลิบลับกับสยาม-ไทย ที่ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสามัญชนถูกทำให้ลดความสำคัญลง ด้วยการเน้นความสำคัญของประวัติศาสตร์เชิดชูวีรกรรมและสร้างสำนึกในบุญคุณของชนชั้นปกครองขึ้นมาแทน คนไทยรุ่นใหม่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” มีเนื้อหาสำคัญที่เป็นการปักหมุดอุดมการณ์แห่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ไว้อย่างไรบ้าง ในแบบเรียนตามหลักสูตรการศึกษาของรัฐไม่มีให้เรียนเต็มๆ ไม่ได้เน้นความสำคัญของคณะราษฎรในฐานะวีรบุรุษผู้วางรากฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่กลับเน้นว่ากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญและสละอำนาจแก่ราษฎรชาวสยาม-ไทย

นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35, พฤษภา 53 และประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพของสามัญชนในรูปแบบต่างๆ นอกจากจะไม่ถูกเน้นความสำคัญโดยรัฐไทย ยังมีความพยามทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นถูกลืมเลือน และพยายาม “ตีตรา” ว่าเป็น “ประวัติศาสตร์สร้างความขัดแย้ง” ของคนในชาติ ดังที่เผด็จการทหารยุคปัจจุบันพยายามจะตรวจสอบ “ฉากเก้าอี้ฟาดศพ” ในเพลง “ประเทศกูมี” ว่ามีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ ต้องการนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บาดแผลขึ้นมาใช้สร้างความขัดแย้งหรือไม่

แท้จริงแล้ว ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของมนุษย์ในสังคมไหนๆ ในโลกนี้ (และโลกอื่นๆ ถ้ามี) มันก็คือ “ประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง” ระหว่างอำนาจเผด็จการที่กดขี่ ปิดกั้นเสรีภาพ กับประชาชนฝ่ายที่ถูกกดขี่ ถูกปิดกั้นเสรีภาพที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองจากอำนาจเผด็จการในสังคมนั้นๆ ในยุคสมัยนั้นๆ ที่มีความซับซ้อนแตกต่างกันไป ความขัดแย้งมันจึงไม่มีวันสิ้นสุด ตราบที่ยังมีชนชั้นผู้กดขี่กับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ 

อำนาจเผด็จการจึงไม่ใช่อำนาจที่สร้างความสามัคคีปรองดอง หรือเป็นอำนาจที่สลายความขัดแย้งดังที่พวกเขาพยายามหลอกลวง แต่เป็นอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงหรือเป็นอำนาจที่เป็น “คู่ขัดแย้งโดยตรง” กับประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย ความขัดแย้งและความรุนแรงจะลดลงหรือสามารถเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ ต่อรองโดยสันติวิธีได้จริง ก็ต่อเมื่อสังคมเราสามารถเดินตามหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยได้จริงเท่านั้น ซึ่งแปลว่าอำนาจเผด็จการใดๆ ถูกขจัดออกไปได้จริง ดังสังคมเมริกาและสังคมอื่นๆ ที่เขาต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จให้เห็นมาก่อน

ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสามัญชนในสยาม-ไทย จึงไม่ได้ต่างจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสังคมอื่นๆ ในแง่ที่ต้องผ่านห้วงเวลาและสถานการณ์ของความสับสนอลหม่าน หรือสภาวะจลาจลทางความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ความขัดแย้งและความรุนแรงหลากรูปแบบดังที่เราเผชิญมา 

คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า ทำไมจนป่านนี้แล้วเรายังไม่สามารถนำประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีตมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเป็นบทเรียนให้ถนนต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่ยังทอดยาวไกลของเราไม่ต้องเกิดความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีก

คำตอบก็เพราะเผด็จการพยายามกีดกันความรับรู้ ความทรงจำ สำนึกของประชาชนออกจาก “ประวัติศาสตร์สามัญชน” และประวัติศาสตร์ของ “ชาติ” ที่พวกเขาสอนให้ประชาชนรู้จักและปลูกฝังให้รัก ก็ไม่ใช่ชาติที่คณะราษฎรได้ปักหมุดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์และอำนาจของประชาชนในการปฏิวัติสยาม 2475 หากเป็นชาติในความหมายที่มองการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชนเป็นภัยหรือเป็นการสร้างความขัดแย้ง

แต่คนไทยก็มีความเป็น “มนุษย์” ที่ปรารถนาเสรีภาพไม่ต่างจากมนุษย์ที่ไหนๆ ในโลก เมื่อรับรู้ความหมายของ “เสรีภาพ” เสียแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีใครลุกขึ้นสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองให้มีเสรีภาพ ดังนั้น แม้จะเกิดรัฐประหารซ้ำซากก็ไม่มีวันขจัดประชาชนที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพให้หมดไปได้ ยิ่งเผด็จการลุแก่อำนาจละเมิดเสรีภาพของประชาชนตามอำเภอใจมากเท่าใด จุดจบของพวกเขาก็ยิ่งจะมาถึงในเร็ววันมากเท่านั้น เพราะประวัติศาสตร์บอกเราว่าไม่มีเผด็จการยุคไหนอยู่ค้ำฟ้า 

 

 

 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท