ศึกษาศาสตร์ มช. ถกศึกษาเชิงวิพากษ์  'ครูนักปฏิบัติการสร้างศิษย์ขบถ'

นักวิชาการพื้นฐานการศึกษา ชี้กระบวนการสอนของสังคมไทยมีเพียงเสียง 2 เสียง คือ เสียงของครูที่คอยสอน และ เสียงของผู้เรียนที่ถูกเก็บไว้ภายในใจ ย้ำห้องเรียนควรจะมี 3 เสียง นั่นคือ เสียงของครู เสียงของเพื่อน และเสียงของตัวเองในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล ชี้สร้างการศึกษาเชิงวิพากษ์ครูผู้สอนต้องปฏิเสธการสอนระบบฝากธนาคาร

5 พ.ย.2561 เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมการเสวนา ศึกษาศาสตร์เสวนา : Show & Share 50 เรื่องราวดีๆ ที่มอบให้ ในหัวข้อ 'ครูนักปฏิบัติการสร้างศิษย์ขบถ' ที่ห้องประชุม 45 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ อาจารย์จากสาขาวิชาสังคมศาสตร์และพื้นฐานการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ เป็นวิทยากรร่วมเสวนาในประเด็นการสร้างให้ศิษย์เป็นขบถทางความคิดและอธิบายถึงความจำเป็นว่าเหตุใดครูจึงมีความจำเป็นต้องสอนให้ศิษย์ต้องขบถ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การเสวนาดังกล่าวให้ความสำคัญกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นทางการศึกษาเชิงวิพากษ์ระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนา ทำให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการที่มีความเป็นกันเองและเสริมพลังอำนาจทางความคิดไปพร้อมๆ กัน

การเสวนาโดยสรุปแล้วเน้นการวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีการศึกษากระแสหลักในสังคมไทย โดย วิทยากร กล่าวถึง กระบวนการเรียนการสอนหรือวิธีการสอนในห้องเรียนของสังคมไทยในปัจจุบันจะมีเพียงเสียง 2 เสียง ได้แก่ 1) เสียงของครูที่คอยสอน และ 2) เสียงของผู้เรียนที่ถูกเก็บไว้ภายในใจ ซึ่งในความเป็นจริงเสียงในห้องเรียนนั้นควรจะมี 3 เสียง นั่นคือ เสียงของครู เสียงของเพื่อน และเสียงของตัวเองในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล เพื่อที่จะสร้างพื้นที่ทางการศึกษาและการเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่การเรียนการสอนที่ไม่มีเสียงตอบรับจากผู้เรียน หรือผู้เรียนถูกทำให้กลายเป็นผู้ไร้เสียง ซึ่งหากบริบทในการเรียนการสอนเป็นเช่นนี้แล้วการเรียนรู้ที่จะช่วยสร้างผู้เรียนให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีความเป็นตัวของตัวเองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ในสังคมไทย นักเรียนหรือนักศึกษามักจะกลัวคำว่า “วิพากษ์” เพราะคำนี้แสดงถึงความแปลกแยก นำไปสู่ความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันทางความคิดระหว่างบุคคล การที่นักเรียนหรือนักศึกษาไม่กล้าวิพากษ์ หรือตั้งคำถามกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่ตนเองเห็นว่า ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือกดทับไม่ให้แสดงความต้องการที่แท้จริงของตนเองออกมา ได้นำไปสู่สภาวะยอมจำนนต่อชะตากรรม ไม่ตั้งคำถามต่อความรู้ที่มาพร้อมกับอำนาจเพราะถูกปลูกฝังให้เชื่อในสิ่งที่เรียนหรือหากไม่เชื่อในสิ่งที่เรียนแต่เมื่อจำเป็นต้องตอบคำถามจากครูหรือข้อสอบก็ต้องเชื่ออยู่ดี อาจเป็นเพราะครูก็เชื่อในตำราเรียนจึงเกิดระบบอำนาจครอบงำแบบนี้ขึ้นมา จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ตีกรอบโลกทัศน์และชุดความคิดของเด็กและเยาวชน คือ อำนาจของภาษาที่ถูกตีความจากผู้มีอำนาจและชนชั้นนำของสังคม โดยคำเหล่านั้นถูกหล่อหลอมให้ไม่สามารถพูดออกไปได้ จนไม่มีใครกล้าใช้คำเหล่านั้นเพราะอาจถูกสังคมหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่ากดทับให้เป็นผู้ไร้เสียง แม้แต่กระทั่งจะพูดคำว่า “วิพากษ์” ที่เป็นชุดของคำในทฤษฎีการศึกษาเชิงวิพากษ์

อนึ่ง ทฤษฎีการศึกษาเชิงวิพากษ์จึงเป็นเครื่องมือของครูและนักการศึกษาเชิงวิพากษ์ให้สามารถปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากครูและนักการศึกษาที่ผลิตซ้ำการสอนระบบฝากธนาคาร (Banking education approach) ไปสู่การสอนโดยใช้ประเด็นปัญหาเป็นฐาน หน้าที่ของครูผู้สอน คือ การปลดปล่อยผู้เรียนให้หลุดพ้นจากกรอบครอบงำเหล่านี้ทั้งในแง่ของภาษาที่ถูกหล่อหลอมมาให้ตีความคำว่าวิพากษ์ในเชิงลบ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปลดผนึกความรู้จากคำเหล่านั้นทั้งจากภาษาและระบบสัญญะ ทั้งยังสร้างตัวเองขึ้นมาจากความรู้ที่ไม่ได้ถูกกีดกันจนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นปัญญาชนได้ในท้ายที่สุด ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ รศ.ดร.นงเยาว์ เสนอว่า ครูผู้สอนในฐานะนักปฏิบัติการทางวัฒนธรรมจำเป็นต้องปฏิเสธการสอนระบบฝากธนาคารที่เปรียบเสมือนการนำความรู้ไปฝากไว้ให้แก่ผู้เรียน และครูผู้สอนต้องตรวจสอบ(ด้วยการทำข้อสอบ)ว่าผู้เรียนมีความรู้ที่ครูผู้สอนได้ฝากไว้อยู่หรือไม่ ทำให้เป็นการถ่ายทอดและผลิตซ้ำเพียงแต่ความรู้แต่ไม่ใช่วิธีคิดที่ผ่านการคิดไตร่ตรองเชิงวิพากษ์บนฐานทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติ การเรียนการสอน และการทดสอบแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนไม่เกิดกระบวนการรื้อถอนหรือตั้งคำถามต่อความรู้ จนไม่สามารถสร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาเองได้ มีเพียงแต่ความรู้ที่ครูผู้สอนได้ฝากไว้ผ่านระบบธนาคารนี้เท่านั้น

ดังนั้น การจะสร้างนักเรียนหรือนักศึกษาให้กลายเป็นปัญญาชนนั้น ทฤษฎีการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) จึงมีความจำเป็นอย่างมากทั้งในแง่ของการปฏิรูปศึกษาและการแก้ปัญหาสังคม โดยสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาคือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้พูด (ผู้เรียน) เมื่อผู้พูดสามารถพูดได้โดยไม่มีการแบ่งแยก กดทับ ครอบงำ หรือเบียดขับทั้งในเรื่องของภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ เพศสภาพ และภูมิหลังทางชนชั้น เสียงของผู้พูดก็จะสามารถส่งเสียงไปถึงบุคคลรอบข้างได้และเมื่อนั้นจะเกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมพลังให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาให้กลายเป็นปัญญาชนของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

ช่วงท้าย วิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนา ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนบทบาทของครูผู้ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ครูในฐานะผู้ทำงานทางวัฒนธรรม (Teacher as a Cultural Worker) และศาสตร์การสอนเชิงวิพากษ์ ในมุมมองของผู้เขียนมองว่า คำว่า “ศิษย์ขบถ” ที่วิทยากรต้องการสื่อสารไปให้ผู้เข้าร่วมเสวนาเกิดความเข้าใจร่วมกันนั้นหมายถึง ศิษย์ผู้เป็นปัญญาชนที่สามารถวิพากษ์วาทกรรมความรู้ชุดเดิมๆที่อาจจะถูกติดตั้งและได้รับการส่งต่อมาจากครูผู้สอนหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีอำนาจครอบงำเหนือกว่าศิษย์ขบถจะมีกระบวนการคิดไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ สามารถเจรจาต่อรอง มีจุดยืนทางความรู้ความคิด และสามารถช่วงชิงนิยามความรู้ และผลิตสร้างชุดความรู้อื่นๆ มาปฏิสัมพันธ์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดในพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของตนเองและเพื่อนมนุษย์  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท