Skip to main content
sharethis

กว่าสองปีมาแล้ว หลังจากที่ประชาชนได้รับรู้ว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ของ บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เหตุเพราะบริษัทที่ปรึกษาที่รับจ้างทำ EIA ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 1 (ค.1) เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559

วันนั้นประชาชนกว่า 1 พันคนจาก 2 จังหวัด ประกอบด้วย ต.น้ำปลีก ต.นายม ต.นาหมอม้า ต.โนนโพธิ์ เขต อ.เมืองอำนาจเจริญ และจาก ต.เชียงเพ็ง ต.ป่าติ้ว อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ได้ร่วมกันออกมาชุมนุมคัดค้านโดยเกรงว่าจะได้รับผลกระทบเพราะสถานที่ตั้งโรงงานอยู่ใกล้ลำเซบายซึ่งเป็นลำห้วยที่ประชาชนสองจังหวัด คือ ยโสธร กับ อำนาจเจริญใช้น้ำธรรมชาติร่วมกันมานานกว่า 500 ปี

จากนั้นเป็นต้นมาการคัดค้านของประชาชนมีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง โดยการเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (ค.2) มีการกีดกันไม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่เข้าร่วมในเวทีดังกล่าว จนท้ายที่สุดวันที่ 20 มี.ค. 2561 สผ. ได้ผ่านความเห็นชอบ EIA โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย และต่อมาได้เห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในวันที่ 9 พ.ค. 2561 และในวันที่ 18 พ.ค. 2561 กระทรวงอุสาหกรรมได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ให้กับบริษัท

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจึงเดินทางเข้ายื่นหนังสื่อถึงนายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบ ขอให้พิจารณาทวนยกเลิกใบอนุญาตโรงงานของโครงการโรงงานน้ำตาลทราย ของ บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และเรียกร้องต่อ ผู้ว่าจังหวัดยโสธร ให้ตั้ง คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากร และสุขภาพ กรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร รวมทั้งได้ยื่นหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จ.อุบลราชธานี เพื่อให้ส่งหนังสือต่อไปยังคณะกรรมการ กกพ. ที่กรุงเทพฯ ให้ระงับการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.อำนาจเจริญ ในวันที่ 17 ต.ค. 2561 เนื่องจากการจัดทำรายงานอีไอเอขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ กกพ. เลื่อนการพิจารณาออกใบอนุญาตฯ และนำมาสู่การประชุมด่วนของคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากร และสุขภาพฯ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 ที่ศาลกลางจังหวัดยโสธร เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการเรื่องการคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรนั่งเป็นประธาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด และนายประเทศ ศรีชมภู ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้าร่วมประชุม

สิริศักดิ์ สะดวก หนึ่งในคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่จังหวัดให้ความสนใจในประเด็นปัญหาข้อกังวลของชาวบ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ เพื่อจะได้หาแนวทางในการดำเนินงานของคณะทำงาน เนื่องจากชาวบ้านรอฟังคำตอบอยู่ว่าคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงฯ จะดำเนินงานไปทิศทางใด และได้ยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุม 3 ประเด็นหลัก คือ

ประเด็นแรก ต้องมีการกำหนดกรอบประเด็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ จากมุมมองของประชาชนเนื่องจากประชาชนอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอดและใช้ทรัพยากรในพื้นที่เพื่อการดำรงชีพอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นประชาชนย่อมเข้าใจและรู้ว่าประเด็นการศึกษาควรต้องครอบคลุมอะไรและแต่ละประเด็นมีความสำคัญอย่างไร หากละเลยประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนกำหนดย่อมจะนำมาซึ่งผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ควรครอบคลุมทุกๆ ด้าน อาทิ ทรัพยากรทุกชนิดที่ประชาชนใช้ประโยชน์ จุดประสงค์การใช้ประโยชน์ อาชีพ รายได้ วิถีวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนใช้ร่วมกัน สุขภาพของคนในชุมชน และ การเสียโอกาสในอนาคตหากต้องสูญเสียทรัพยากร เป็นต้น

ประเด็นที่สอง ประชาชนควรมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ในฐานะผู้ร่วมวิจัย เช่นการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการตรวจสอบข้อมูล เป็นต้น

ประเด็นสุดท้าย ควรมีการรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะทุกระยะเพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทราบข้อมูลความก้าวหน้า

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อสรุปให้คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากร และสุขภาพ ของจังหวัดยโสธร เร่งรัดศึกษาเพื่อจะได้นำเอาข้อมูลไปประกอบพิจารณาในกระบวนการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าฯ เร็วๆ นี้

ในวันเดียวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ มีชาวไร่อ้อยกว่า 300 คนชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยนายอุทิศ สันตะวงศ์ ประธานสหกรณ์อ้อยอำนาจเจริญ ให้สัมภาษณ์ในสำนักข่าวทีนิวส์ จ.ยโสธรว่า ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดยโสธรได้มีเกษตรกรลงทุนปลูกอ้อยในพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ และปลูกมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี และขณะนี้อ้อยก็พร้อมที่จะส่งโรงงานแล้ว แต่โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ที่กำลังก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จและไม่พร้อมที่เปิดดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาการต่อต้านของกลุ่มที่คิดต่างจึงทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบจะต้องขนส่งอ้อยในพื้นที่ไปยังโรงงานน้ำตาลในจังหวัดที่ไกลออกไปอีก ทั้งนี้หากโรงงานฯ ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้จะส่งผลให้ชาวไร่อ้อยใน 2 จังหวัด จะต้องเสียค่าขนส่งอ้อย โดยคำนวณจากกำลังผลิต 1,400,000 ตันของโรงงานฯ โดยจะมีค่าขนส่งที่ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากราคาอ้อยที่ตกต่ำอยู่แล้วในปีนี้

รายงานข่าวของ onbnews.com ระบุว่าโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้นำโครงการอ้อยประชารัฐ เข้ามาส่งเสริมให้พื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดยโสธร ซึ่งในขณะนี้มีผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรแล้ว 150,000 ไร่ และ นายณัฐพงษ์ สวงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเห็นด้วยต่อการมีโรงงานในจังหวัดเพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยไม่ต้องเสียค่าขนส่งอ้อยไปจำหน่ายยังจังหวัดใกล้เคียงและเป็นทางเลือกในการปลูกอ้อยในพื้นที่นาดอนที่ปลูกอ้อยได้ดีกว่าทำนาข้าว

ส่วน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอำนาจเจริญ รายงานเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 ระบุว่า ในขณะนี้มีประชาชนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เข้าร่วมโครงการเป็นชาวไร่อ้อยกับบริษัทน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ 8,866 ราย และมีพื้นที่แจ้งความประสงค์ปลูกอ้อยทั้งสิ้น 138,000 ไร่ สำหรับในฤดูหีบ 2561/62

สิริศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ระบุว่า ในช่วง 2550/51 มีพื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดยโสธร รวม 42,249 ไร่ ปี 2558/59 พื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดยโสธรเพิ่มขึ้นเป็น 115,184 ไร่ หมายความว่าจำนวนไร่อ้อยที่ปลูกเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนไร่เศษ จนเป็น 3 แสนไร่ในปัจจุบันตามข่าว เป็นการส่งเสริมของผู้ประกอบการหลังจากที่ สนอ. อนุญาตให้ผู้ประกอบการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ได้ในระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิม 50 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแย่งอ้อยระหว่างโรงงานและให้เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าขนส่งสูง

แต่หลังจาก สอน. อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน รวมถึงต้องทำรายงานอีไอเอเพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมและผลกระทบในการตั้งโรงงาน แต่ขณะที่ขั้นตอนในการอนุญาตต่างๆ ยังไม่แล้วเสร็จผู้ประกอบการกลับทำการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่ได้คำนึงว่าระยะทางจากอำเภอน้ำปลีก หรืออำเภอเมืองยโสธร ไปโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ มีระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเดิม และเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายใหม่ที่เพิ่งปลูกอ้อยมาได้ 3 ปีได้รับความเดือดร้อนในการแบกรับต้นทุนค่าขนส่งอ้อยสูงในขณะที่ราคาอ้อยตกต่ำลงเรื่อยๆ แผนการส่งเสริมการปลูกอ้อยให้กับเกษตรกรก่อนที่ขั้นตอนการอนุญาตจะเสร็จสิ้นและการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงเป็นการบีบคั้นให้เกษตรได้รับความเดือดร้อนซึ่งอาจหมายถึงการขายอ้อยขาดทุนและเข้าสู่วงจรหนี้สินจนไม่สามารถถอนตัว

“ความผิดพลาดในการดำเนินการของผู้ประกอบการที่ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเดือดร้อนเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการขอนุญาติก่อสร้างโรงงานมาแล้วหลายปีแล้ว หรือไม่ก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยโดยให้ความหวังว่าถ้าโรงงานก่อสร้างได้ในพื้นที่ก็ไม่ต้องเสียค่าขนส่งไกลเหมือนเดิม โดยยังไม่ทันได้มีการศึกษาผลกระทบที่รอบคอบจากทุกฝ่ายและประชาชนส่วนใหญ่ในสองจังหวัดยังไม่มีใครรู้เรื่องและไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

“หากมองเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าแม้โรงงานน้ำตาลยังก่อสร้างไม่เสร็จ โรงไฟฟ้าชีวมวลยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง เกษตรกรทั้งสองจังหวัดก็ได้รับความเดือดร้อนและเกิดความขัดแย้งขึ้นในชุมชนแล้ว ซึ่งหากโรงงานทั้งสองโรงงานในพื้นที่เกิดขึ้นได้จริง ผลกระทบและความขัดแย้งในชุมชนจะยิ่งรุนแรงขึ้น” นายสิริศักดิ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวไร่อ้อยกว่า 300 คน รวมตัวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ เพื่อขอบคุณ-สนับสนุน โครงการอ้อยประชารัฐ จ.อำนาจเจริญ

ยโสธรชาวไร่อ้อยยื่นหนังสือสนับสนุนให้ก่อสร้างโรงงานน้ำตาล http://www.talknewsonline.com/71892/

จังหวัดอำนาจเจริญ โดย บริษัทน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ จัดประชุมเตรียมความพร้อมนำอ้อยเข้าหีบ ปีการผลิต 2561 ปี 62 และนโยบายการส่งเสริม 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net