Skip to main content
sharethis

บอร์ด สปสช.อนุมัติเพิ่ม “ยากดฮอร์โมน 2 รายการ” บรรจุสิทธิประโยชน์บัตรทอง เริ่มปี 2562 ช่วยเพิ่มคุณภาพการรักษาผู้ป่วยเด็ก “ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร” ระบุประหยัดงบประมาณกว่า 11 ล้านบาท

5 พ.ย. 2561 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ได้เห็นชอบการเพิ่มสิทธิประโยชน์ยา จ.(2) จำนวน 2 รายการ คือ ยาลูโปรเรลิน (Leuprorelin) 11.25 mg inj. และยาทริปโทเรลิน (Triptorelin) 11.25 mg inj. เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป ในการรักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร (Central precocious puberty; CPP)

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การเข้าถึงยาจำเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเป็นไปตามบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยในการประชุมบอร์ด สปสช.วันนี้ ได้เห็นชอบเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ยาลูโปรเรลิน 11.25 mg inj. และยาทริปโทเรลิน 11.25 mg inj.ซึ่งเป็นยาในบัญชี จ.(2) อีก 2 รายการ ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนเสนอ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ยาลูโปรเรลิน และยาทริปโทเรลินเป็นยารักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ในรายที่พัฒนาการของโรคเร็ว หากไม่รักษาจะเติบโตเร็ว ทำให้มีผลต่อร่างกายคือ โตเร็วและหยุดเติบโตก่อนวัย ทำให้ความสูงสุดท้ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็นประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนผลต่อจิตใจคือ เด็กมีร่างกายเป็นสาวแต่จิตใจเป็นเด็ก จึงอาจมีโอกาสถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกข่มขืนกระทำชำเราหรือตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยเด็ก

ปัจจุบันบัญชียาหลักแห่งชาติมียารักษาคือ ยาลูโปรเรลิน 3.75 mg ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้พิจารณารายการยาเพื่อใช้รักษาเพิ่มเติม คือ ยาลูโปรเรลิน 11.25 mg inj. และยาทริปโทเรลิน 11.25 mg inj. โดยยาทั้ง 2 รายการ มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่แตกต่างกัน เป็นยาฉีดให้กับผู้ป่วยทุก 3 เดือน/เข็ม และผลจากการต่อรองราคา ได้ราคาต่ำสุดที่ 7,383 บาท/เข็ม เมื่อเปรียบเทียบกับยาลูโปรเรลิน  3.75 mg ราคาอยู่ที่ 4,889 บาท/เข็ม แต่ผู้ป่วยต้องได้รับการฉีดทุกเดือน รวม 3 เดือน เป็นราคาเกือบ 15,000 บาท เป็นค่ารักษาที่สูงกว่าเมื่อเปรียเทียบกับยาใหม่ โดยยา 2 รายการตามสิทธิประโยชน์ใหม่นี้ จะใช้กับผู้ป่วยกรณีที่เป็นเด็กหญิงอายุไม่เกิน 11 ปี และเด็กชายไม่เกิน 12 ปี และให้หยุดยาเมื่อกระดูกอายุเด็กหญิงอายุน้อยกว่า 13 ปี และเด็กชายอายุกระดูกน้อยกว่า 14 ปี  

ทั้งนี้สถานการณ์ผู้ป่วยภาวะหนุ่มสาวก่อนวันอันควร มีประมาณ 435 ราย เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 400 ราย และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ 35 ราย โดยมูลค่าการใช้ยาในสิทธิบัตรทอง กรณียาลูโปรเรลินและยาทริปโทเรลิน เมื่อคิดเป็นมูลค่าจะอยู่ที่ 29,532 บาท/คน/ปี หรือเป็นมูลค่ารวม 11,812,800 บาท ขณะที่ยาเดิมโดยมูลค่าการใช้ยาอยู่ที่ 58,668 บาท/คน/ปี หรือ 23,467,200 บาท ที่เป็นมูลค่าที่สูงกว่ามาก

“สิทธิประโยชน์ยาลูโปรเรลิน 11.25 mg inj. และยาทริปโทเรลิน 11.25 mg inj. จะลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยภาวะหนุ่มสาวก่อนวันอันควรจากเดิมมาก ทำให้ประหยัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ถึง 11,654,400 บาท โดยสิทธิประโยชน์ยาใหม่นี้จะเริ่มปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบและประชาชน” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้ยกเลิกยาลูโปรเรลิน 3.75 mg ออกจากบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น ที่ประชุมมอบให้ สปสช.ประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติให้ทบทวน เพื่อให้มีทางเลือกในการรักษาเพิ่มจากกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากยาใหม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net