ประเทศกูมี : ขบถอำนาจรัฐด้วยศิลปะและดนตรีการเมืองร่วมสมัย

เสวนา ‘ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน’ นักวิชาการด้านศิลปะ-ดนตรี-การละคร-กฎหมายร่วมวิเคราะห์ปรากฎการณ์เพลงประเทศกูมี ระบุ ขบถอำนาจรัฐด้วยศิลปะและรสนิยมที่เป็นฐานของประชาชน รวมทั้งรูปแบบของศิลปะก็แสดงการต่อต้านขัดขืนโดยตัวมันเอง นักวิชาการด้านกฎหมายชี้ ศิลปะ ต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง เป็นข้อเท็จจริง-ความคิดเห็น ไม่ผิด พ.ร.บ. คอมฯ

 

หลังจากเพลงประเทศกูมีได้สร้างปรากฏการณ์พิเศษที่ทำให้จำนวนยอดวิวและยอดแชร์พุ่งสูงและเป็นเทรนด์ติดกระแสในโลกโซเชียล ทั้งในยูทูบ ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ค และทำให้คนจำนวนมากที่อาจมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลายลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นกันอย่างท่วมท้น

ปรากฎการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การจัดงานเสวนา "ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน" โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และเครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนักวิชาการด้านศิลปะ ดนตรี การละคร รวมทั้งกฎหมายมาร่วมวิเคราะห์วิพากษ์ปรากฎการณ์ เชื่อมโยงสู่การตีความเพลงเพื่อชีวิตแบบใหม่ ศิลปะขบถ และกฎหมายที่ถูกนำมาตีความโดยไม่ชอบธรรม ‘ประชาไท’ ได้สรุปความ ดังนี้

 

สุชาติ แสงทอง: เพลงเพื่อชีวิตเปลี่ยนรูปแบบคือดนตรีการเมืองร่วมสมัย

 


สุชาติ แสงทอง

 

สุชาติ แสงทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ กล่าวว่า ในฐานะนักดนตรี และผู้ที่ศึกษาดนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่อดีต เพลงนี้พอฟังแล้วเห็นเบื้องหลังว่าเกิดจากรากฐานความคิดที่สะท้อนวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย เพลงลักษณะนี้ที่เรียกว่า Political Music เกิดในสังคมไทยเป็นช่วงๆ ตลอดเวลา ความงดงามของการต่อสู้ด้วยดนตรีคือการต่อสู้ที่ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ และเพลง ‘ประเทศกูมี’ เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เพลงการเมืองไทย

“สิ่งที่เพลงนี้ทำได้คือการเอาความรู้สึกของพวกเขาไปกะเทาะความรู้สึกของผู้คนให้ได้มากที่สุด ใช้วัฒนธรรมร่วมสมัยเข้ามาผสมผสาน ทำให้เกิดจิตสำนึกร่วมหมู่บางอย่าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” สุชาติกล่าว

สุขาติกล่าวต่อว่า Political Music บางอย่าง ผู้รับเข้ามาอาจไม่รู้เลยว่ามันเป็นนัยสำคัญที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อของอำนาจการเมืองนั้นๆ เช่น สมัยร.4 อังกฤษเข้ามาอยู่ในสยาม นำวัฒนธรรม นำเพลงเข้ามา มีเพลง ‘God Save The King’ ที่ไทยเอามาแต่งเป็น เพลง ‘จอมราษฎร์จงเจริญ’ แต่ต่อมาในสมัย ร.5 ได้ทรงดำริว่าเราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ จึงไม่จำเป็นต้องใช้เพลงนี้

ยุคจอมพลป. มีนัยการใช้บทเพลงปลุกใจให้รักชาติ ใช้เพลงตอกย้ำให้ประชาชนทำตามนโยบายของรัฐ หลังจากนั้นก็มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่เข้ามา มีการนำอุดมการณ์ประเทศจีนเข้ามา ก็จะมีเพลงทำนองแบบจีนเข้ามาด้วย หลังจากนั้นพอคนเริ่มเบื่อ ก็เปลี่ยนแนวดนตรีมาเป็นแบบกีตาร์ตัวเดียว เป็นเพลงเพื่อชีวิตในสมัยนั้น ดังนั้นเพลงก็สะท้อนการเมืองในสมัยนั้น โดยส่วนตัวเพลงนี้อาจเป็นเพลงปลุกใจลักษณะหนึ่ง แต่เป็นเพลงปลุกใจของภาคประชาชนที่เบื่อรัฐ

ดังนั้นเพลงเพื่อชีวิตมันยังไม่ปิดฉากเพียงแต่มันเปลี่ยนรูปไป เพลงเพื่อชีวิตยุคนี้ก็มีแนวร่วมอีกเยอะมาก ทำให้พื้นที่มันขยายวงกว้าง อาจจะเรียกว่ายุค Political contemporary music ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต้องการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

ถนอม ชาภักดี: ขบถอำนาจรัฐด้วยศิลปะและรสนิยม ที่เป็นฐานของประชาชน

 


ถนอม ชาภักดี

 

ถนอม ชาภักดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ถ้าเราพูดถึงคำว่าศิลปะ มองบ้านเรา เวลาพูดถึงเพลงขบถเราจะพูดถึงเพลงภาษาไทย แต่ลืมไปว่าหมอลำเคยเป็นเพลงขบถในสมัย ร. 3 คือกบฏผีบุญ และกบฏผีบุญคนสุดท้ายตายในสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ขอนแก่น แต่เราไม่เคยพูดถึงขบถเหล่านี้เลย ช่วงสงครามเย็นหมอลำถูกใช้เป็นเครื่องมือทั้งรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อต่อสู้ซึ่งกันและกัน ซีไอเอเคยพาหมอลำไปนั่งเฮลิคอปเตอร์เพื่อให้คนได้ฟัง กลอนรำจึงมีทั้งรัฐและคอมมิวนิสต์สู้กัน กลอนต่อกลอน และจริงๆ รากฐานของแร็พก็คือกลุ่มขบถที่ไม่มีพื้นที่นี่เอง มาพร้อมกับกราฟิตี้ มาพร้อมกับการไม่มีใครฟัง

ถ้าเราย้อนกลับไปจะพบว่าการต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางนั้นมีมาตลอด แต่เราไม่เคยพูดถึงเสียงประชาชนเหล่านั้นว่าเป็นเสียงขบถ และปัจจุบันการขบถนั้นเราให้ความสำคัญกับการต่อสู้ของคนในเมืองมากกว่า ถ้าเราให้ความสำคัญกับเสียงที่เป็นขบถจริงๆ ที่เขาได้รับผลกระทบจากกลไกหรืออำนาจของรัฐให้มากกว่านี้ เราจะเห็นเสียงของขบถเยอะมากในแผ่นดินนี้ ดังนั้นลำพังเพลงประเทศกูมีอาจมาสะกิดต่อมของคนชนชั้นกลางในเมือง แต่ขณะเดียวกันหมอลำหรือเพลงในภูมิภาคอื่นๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน

“ผมไปจัดงานขอนแก่นเมนิเฟสโต้ (Manifesto) คอนเซ็ปต์คือสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน เปิดงานวันที่ 6 ตุลาคม ไม่ได้เปิดในหอศิลป์ ไปเช่าตึกร้างริมถนนมิตรภาพ เป็นตึกของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ GF ซึ่งเคยดูดเงินของคนอีสานเป็นพันๆ ล้านในช่วงทศวรรษ 2530 จนกระทั่งฟองสบู่แตกช่วงปี 2540 ตึกก็ปล่อยร้าง จนมาเปิดอีกครั้งในปีนี้

ผมจงใจใช้คำว่าเมนิเฟสโต้ ไม่ใช่เพราะเป็นแถลงการณ์ของคาร์ล มาร์กซ์ แต่ผมอยากย้อนรอยว่าในช่วงนโยบายจอมพลสฤษดิ์ ชูคำขวัญ ‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก’ และประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2504 ซึ่งร่างกันที่บึงแก่นนคร ขอนแก่นกลายเป็นโมเดลสำคัญที่ทำให้ส่วนกลางเข้าไปทำลายโครงสร้าง วิถีที่เป็นสามัญของชาวบ้าน ถนนมิตรภาพจากสระบุรีเข้าโคราช จากโคราชไปหนองคาย เกิดจากจอมพลสฤษดิ์สมคบอเมริกา” ถนอมกล่าว

ถนอม สรุปว่า ฉะนั้นความเป็นขบถนั้นมีอยู่ในประชาชนทุกคน เพียงแต่ใครจะมาเปิดต่อมความขบถให้เกิดการรวมพลัง กระบวนการต่อสู้ทางซอฟพาวเวอร์ มีมาตลอด เพื่อต่อรอง แต่ปัญหาคือ ระยะเวลาที่ผ่านมา โครงสร้างเผด็จการทหารมีความแยบยลมากกว่า สามารถปลุกเร้า กล่อมเกลาให้กระบวนการทางศิลปะตกเป็นเครื่องมือเขา ได้มากกว่าที่พวกเราเอามาใช้ แน่นอนเพราะคนมีอำนาจควบคุมได้มากกว่าเรา แต่เราเองก็ไม่สามาถหากระบวนการต่อสู้ได้มาก

“สุนทรียศาสตร์การต่อต้านที่ประเทศกูมีใช้ น่าสนใจมาก น่าสนใจตรงที่คนกำลังกระหาย หิวโหย รอหาความเป็นตัวแทน รอให้มีคนพูดแทน แทนที่จะออกมาร่วมร้องเพลงด้วยกัน ไม่ทำ เพราะทุกคนห่วงสถานะ ทำไมผมถึงกล้าทำขอนแก่นเมนิเฟสโต้ เพราะผมเกษียณแล้ว ถูกจับช่างแม่ง แต่จริงๆ ก็ไม่ช่างแม่งหรอกครับ เราต้องยกเลิกงานบางงาน เช่นงานที่เกี่ยวกับไผ่ ดาวดิน หรือมาตรา 112

“เราทำงานกับความเสี่ยง แต่ถ้าไม่เสี่ยงเราก็ไม่สามารถขัดขืนได้ เราไม่ได้ฟังเพลงแบบนี้ในช่วงที่มีเสรีภาพแน่นอน เพลงแบบนี้จะเกิดขึ้นก็ตอนนี้แหละครับ เพียงแต่เราจะมาร่วมกันร้องเพลงแบบนี้ได้ยังไง โดยไม่ต้องรอหอศิลป์ ประเทศนี้มีพื้นที่การต่อต้านทุกย่อมหญ้า ไม่ใช่แค่กรุงเทพ การต่อสู้กับเผด็จการไม่มีรูปแบบ ศิลปะทุกแขนงสามารถหยิบยื่นความน่าระอาให้กับเผด็จการได้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ งานศิลปะในความหมายนี้จึงเป็นงานที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับคนได้

“นี่คือสัญญาณการต่อสู้ครั้งใหม่ภายใต้การใช้สุนทรียศาสตร์กับรสนิยมของประชาชน นี่คือการส่งสัญญาณว่าเราควรสร้างศิลปะและรสนิยมที่เป็นฐานของเราเอง เราขาดช่วงตั้งแต่ปี 16 เป็นต้นมา เราไม่เคยสร้างศิลปะด้วยกระบวนการของประชาชนเลย เราถูกกล่อมด้วยคำว่าเพื่อชีวิต ในปี 1930 ฮิตเลอร์เคยดูถูกงานศิลปะว่าเป็นศิลปะเสื่อมทรามทั้งที่เป็นศิลปะที่พูดถึงความยากจนข้นแค้นของชาวเยอรมัน เช่นกันในไทยนี่คือสิ่งที่เราต้องพูดออกมา นี่คือศิลปะ นี่คือรสนิยม นี่คือสิ่งที่เราต้องยกธงขึ้นมาทำในนามของประชาชนเอง เพื่อใช้เพลงนี้ปลุกปลอบและสะท้อนเรื่องราวของผู้คนที่ถูกทับถมอยู่ตลอดเวลา” ถนอมกล่าวทิ้งท้าย

 

ภาสกร อินทุมาร: รูปแบบของศิลปะก็แสดงการต่อต้านขัดขืนโดยตัวมันเอง

 


ภาสกร อินทุมาร

 

ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ชอบเอ็มวีมาก มันตั้งคำถามกับสังคมว่าคุณยังรื่นรมย์กันได้อีกหรือเมื่อเห็นความรุนแรงอยู่ตรงหน้า การที่คุณสนุกสนานกับเหตุการณ์ตรงหน้า มันก็คือการที่คุณร่วมกระทำความรุนแรงด้วย

ละครที่ทำงานในเชิงประเด็นสังคมเองก็มีมาตลอด ขอยกตัวอย่างละคร ‘บางละเมิด’ ซึ่งระหว่างทำการแสดงก็ถูกคุกคามตลอด เช่น การขอดูบท หรือแต่ละรอบที่แสดงมีทหารมานั่งดูสองคนทุกรอบ ซึ่งการแสดงนี้เป็นการแสดงเดี่ยว มีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ หากคนไม่ติดตามประเด็นการเมืองสังคมก็อาจดูแล้วไม่รู้เรื่อง การแสดงบางรอบทหารบางคนก็ถูกเอามาเล่นด้วย การที่ผู้มีอำนาจหันมาให้ความสนใจกับศิลปะ แสดงว่าศิลปะกำลังสำแดงฤทธิ์บางอย่าง

ในทางการละครมีรูปแบบละครที่เรียกว่า Realism คือการละครแบบสมจริง แต่ก็มีนักละครลุกขึ้นมาต่อต้านว่าละครแบบนี้ไม่ทำให้คนคิดหรือตั้งคำถาม จึงสร้างละครแบบ Anti-Realism เพราะบอกว่าความสมจริงนั้นไม่สามารถพูดถึงความจริงของมนุษย์และสังคมได้เท่ากับความไม่สมจริง เพราะความไม่สมจริงมีพื้นที่ให้กับการสร้างสรรค์และตีความอีกมากมาย และกรณีละครอย่างบางละเมิด หรือละครที่พูดเกี่ยวกับประเด็นสังคม โดยรูปแบบก็เป็นละครที่ไม่สมจริงทั้งสิ้น การต่อต้านขัดขืนจึงไม่ได้มีแค่ประเด็ฯแต่รูปแบบของศิลปะก็มีความต่อต้านขัดขืนอยู่ในตัวมันเอง

“นอกจากนี้รสนิยมศิลปะแบบมวลชนน่าจะต้องเป็นอย่างไร มันจำเป็นต้องซับซ้อนจริงไหม เพลงครางชื่ออ้ายแน มีคนวิจารณ์ว่ามันไม่มีชั้นเชิง ไม่มีรสนิยมที่ดีพอ แต่นี่คือเพลงพื้นบ้าน อย่างหมอลำที่ทะลึ่ง ตรงไปตรงมา ที่แหละคือศิลปะของชาวบ้าน” ภาสกร กล่าว

 

สาวตรี สุขศรี: ศิลปะ ต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง เป็นข้อเท็จจริง-ความคิดเห็น ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ

 


สาวตรี สุขศรี

 

สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทำไมบรรดาผู้มีอำนาจของรัฐถึงอยากกดปราบปิดกั้นศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะที่เข้าถึงง่ายอย่างเพลง ภาพยนตร์ ละคร ภาพวาด สาเหตุหนึ่งคือศิลปะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าในหลายครั้ง จากปรากฎการณ์ครั้งนี้เราจะเห็นว่าพอมีเพลงประเทศกูมีขึ้นมา เพื่อนที่ไม่เคยสนใจการเมืองเลยก็สนใจ แสดงว่าลักษณะศิลปะนั้นเข้าถึงคนได้มากกว่า เสพได้มากกว่า เพลงประเทศกูมีอาจเป็นเพลงที่มาปิดฉากเพลงเพื่อชีวิตสมัยก่อน แต่ด้วยฟังก์ชั่นเพลงนี้มีลักษณะเหมือนเพลงเพื่อชีวิตเลย เพลงเพื่อชีวิตในยุคหนึ่งมีลักษณะเสียดสีสังคม ตัวบุคคล นโยบาย

เพลงที่ต่อต้านอำนาจแบบนี้เคยถูกปิดกั้นรึเปล่า ในจอมพลป. อาจจะมีสักสองเพลง เสน่ห์ โกมารชุน เคยแต่งเพลงคัดค้านนโนบายจอมพลป.เกี่ยวกับห้ามสามล้อมาขี่ในพระนคร ชื่อเพลง ‘สามล้อแค้น’ กับ ‘ผู้แทนควาย’ เสียดสีสังคม และถูกแบน ห้ามเผยแพร่ในวิทยุกระจายเสียง เพราะอยู่ในยุคเผด็จการ การใช้กฎหมายบิดเบือนเป็นข้ออ้างว่าขัดต่อความมั่นคง กระทบต่อศีลธรรมอันดี การแบนแบบนี้ของผู้ใช้อำนาจสะท้อนว่าศิลปะเข้าถึงคนง่าย ผู้มีอำนาจที่ใจไม่กว้างพอจะรู้สึกว่าอำนาจถูกกระทบ

ศิลปะถูกใช้ในการประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐอยู่แล้วในทุกประเทศ รัฐเองก็ใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ประชาชนเองก็ใช้ต่อต้านอำนาจรัฐ ยุคร่วมสมัยก็มีเพลงอย่าง ‘This is America’ของ Childish Gambino เกี่ยวกับการเหยียดผิว หรือ ‘What about us’ ของ Pink ก็มีคนบอกว่าเสียดสีนโยบายทรัมป์

การใช้ศิลปะบางทีจึงเนียนกว่าการอารยะขัดขืนด้วยซ้ำ เช่น คนที่ปฏิเสธการจ่ายภาษีเพื่อต่อต้านการที่รัฐเข้าร่วมสงคราม การอารยะขัดขืนจึงทำให้ผู้มีอำนาจลำบากใจได้ แต่การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างสมูทแต่อาจมีอิมแพคระดับเดียวกัน คอนเซ็ปต์การใช้ศิลปะต่อต้านกับอารยะขัดขืนเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกัน คือไม่เห็นด้วยไม่จำเป็นต้องต่อต้านโดนใช้ความรุนแรง

ปรากฎการณ์ที่ผู้มีอำนาจใส่เกียร์ถอยบอกร้อง ฟัง แชร์ได้ไม่ผิด เรายังสรุปไม่ได้ว่าเขายอมรับเสรีภาพ หรือจะใช้กฎหมายที่เป็นธรรมแล้ว ไม่ใช่ เป็นปรากฎการณ์พิเศษจากยอดไลก์ยอดแชร์ พวกเขาไม่ได้ตาสว่าง แต่พวกเขาเพิ่งฉลาด เพราะยิ่งปิดปากคนยิ่งอยากพูด ยิ่งปิดหูคนยิ่งอยากฟัง เขาจึงต้องถอย ปรากฎการณ์นี้เราดีใจไม่ได้ จึงเป็นที่มาว่าต้องมาดูกฎหมายที่เขาใช้ ว่ามันผิดพลาดอย่างไร

ประเด็นแรก พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลเท็จ น่าจะเกิดความเสียหาย คำนิยามของการเป็นเท็จคือ ไม่จริง โป้ปด โกหก หลอกลวง ในเนื้อร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ หลายเรื่องเกิดขึ้นจริง บางเรื่องอาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริง เช่น ล้มบัตร 30 บาท แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียหาย และหลายคนก็เข้าใจว่ามีคนพยายามจะทำให้การล้ม 30 บาท หรือคำที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงดูรุนแรง เกินจริง เช่น ปัญหาสูงเกินหอไอเฟล นั้นเป็นลักษณะการเปรียบเปรย เพื่อให้ได้อรรถรส มันคือความคิดเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงมีจริงมีเท็จ แต่ความคิดเห็นไม่มีใครจะสรุปได้ว่าจริงหรือเท็จ และคนที่ออกมาบอกว่าจะฟ้องไม่มีใครบอกได้ว่าเนื้อเพลงประโยคไหนที่เป็นเท็จ หรือผิด หรือเสียหายยังไง

กฎหมายไม่ได้ห้ามประชาชนพูดความจริงแม้จะเป็นเรื่องไม่ดี คนต่างประเทศฟังเพลงนี้แล้วไม่ได้ไม่อยากมาประเทศไทยเพราะเพลงนี้ แต่จะไม่อยากมาเพราะประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารที่ใช้อำนาจข่มขู่คนแต่งเพลง

เนื้อร้องหลายตอนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. เจ้าหน้าที่รัฐ และศาล ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ประเทศ ไม่ได้ทำให้ประเทศไม่มั่นคง แต่กลับกัน การกระตุ้นให้ประชาชนรับรู้ปัญหา เพื่อทำให้ปัญหาถูกแก้ไข นี่ต่างหากที่จะทำให้ประเทศมั่นคง

ส่วนประเด็นต่อมาคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น เนื้อเพลงก็ไม่ได้มีลักษณะแบบนั้น ไม่ได้เชิญชวนให้มีการใช้กำลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท