กลับบ้านเถิดหนาท้องนายังคอย: เสียงร้องเรียกของ “ไอ้หนุ่มบ้านนา” ในเพลงลูกทุ่งไทยสมัยพัฒนา (พ.ศ. 2510 - 2530)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"โอ้..เจ้าช่อนกยูง แว่วเสียงเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ซ้ำหอมน้ำปรุงที่แก้มนงคราญ”

หากผมร้องขับเพลงนี้จีบหญิงสาวสักคนในปัจจุบัน เชื่อเหลือเกินว่าเธอคงเห็นผมเป็นไอ้หนุ่มบ้านนาหลงยุค และหากเธอมีจิตเมตตาต่อความรักก็คงแนะนำให้ผมไปฝึกร้องเพลงแร็ป

แม้เพลงลูกทุ่งไทยจะไม่เคยถูกมองว่าเป็นภาพแทนความทันสมัยมาแต่ไหนแต่ไร แต่ใครหลายคนก็เชื่อว่า “เพลงลูกทุ่งไม่มีวันตาย” (แม้นักร้องดังอย่าง สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ และพุ่มพวง ดวงจันทร์ จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม) แน่นอน สำหรับไอ้หนุ่มบ้านนาอย่างผมแล้วก็เชื่อว่าเพลงลูกทุ่งไม่มีวันตาย หากแต่ไม่ใช่ในความหมายแห่งความดีงามหรือความเป็นไทยดังที่เป็นอยู่ แต่หมายถึง “เครื่องมือ” ในเชิงวัฒนธรรมศึกษา (cultural study) ที่ทำหน้าที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นยุคสมัยทางประวัติศาสตร์สังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงยุคพัฒนาทศวรรษ 2510-2530

ในวงวิชาการของไทย เพลงลูกทุ่งถือได้ว่าเป็นประเด็นศึกษาที่มีผู้สนใจอยู่พอสมควร ทั้งด้านมานุษยวิทยา นิเทศศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ[1] อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของงานศึกษาเพลงลูกทุ่งไทยที่คนนิยมกล่าวถึงเสมอคือ ประเด็นเรื่องความเป็นเมือง (อันหมายถึงกรุงเทพฯ หรือบางกอก) กับชนบท (หมายถึงพื้นที่ “ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ หรือบางกอก”)

 ประเด็นของบทความนี้คือ นอกจากแนวการวิเคราะห์เพลงลูกทุ่งไทยในช่วงประมาณทศวรรษ 2510-2530 หรือยุคสมัยพัฒนาว่า เมืองเป็นผู้มีอำนาจควบคุม บงการข่าวสารและวัฒนธรรมเหนือชนบทแล้ว[2] ในขณะเดียวกัน หลายบทเพลงในยุคดังกล่าวงก็มีลักษณะเนื้อหา “ด่าเมือง” แม้ประเด็นการด่าเมืองจะน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับข่าวสารต่างๆ ที่เมืองส่งมาถึงชนบท แต่ก็แสดงให้เห็นว่าชนบทยังพอมีเสียงเรียกร้องหรือต่อรองอยู่บ้าง

ประเด็นสำคัญและอาจจะเป็นเพียงประเด็นเดียวที่พบในการ “ด่าเมือง” ของเพลงลูกทุ่งไทยสมัยพัฒนาคือ การถูกแย่งชิงทรัพยากรจากเมือง โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นทรัพยากรหลักที่ถูกเมืองดูดเอาไปใช้งาน ในหลายๆ เพลงจึงมีการต่อว่าเมืองและพยายามดึงคนไว้ในชนบท โดยเฉพาะเพศหญิง ซึ่งชวนสังเกตว่า ครูเพลงและนักแต่งเพลงลูกทุ่งเกือบทั้งหมดเป็น “เพศชาย” ดังนั้น การต่อสู้หรือต่อรองของชนบทในเพลงลูกทุ่งจึงมักเป็นประเด็นเกี่ยวกับ “เพศหญิง”

ในเพลงดังอย่าง “สาวผักไห่” ของ ชาตรี ศรีชล ได้แสดงถึงภาพที่เพลงลูกทุ่ง เล่าถึงหนุ่มบางกอกในฐานะตัวแทนของเมืองที่เข้ามาจะดึงหญิงสาวในชนบทว่า “ พี่คนบางกอก ไม่เคยคิดหลอกดั่งคำใคร”

กระนั้น แม้เมืองจะถูกให้ภาพที่เลวร้าย แต่ในยุคสมัยพัฒนา เมืองคือศูนย์รวมความเจริญและก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ที่สามารถยกสถานะให้คนชนบทสูงขึ้น (ตามค่านิยมที่เมืองส่งมา) ในเพลง “พาร์ทเนอร์เบอร์ห้า” ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ แม้กล่าวถึงความเจ็บช้ำทั้งกายและใจจากการเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ในเมืองกรุงแล้ว แต่หญิงสาวก็จะยังคงไม่กลับบ้านนอกจนกว่า “สักวันแม้เงินมีมา คืนบ้านนาหาทางสร้างตัว”

ขณะที่อีกด้าน เพลงที่กล่าวถึงคนชนบทที่เข้ามาศึกษาในเมืองกรุง ล้วนไม่ปฏิเสธความจำเป็นที่ต้องเข้ามา แต่ได้เรียกร้องให้เมื่อเรียนจบแล้วกลับคืนบ้านนา เช่นเพลงดังอีกเพลงของพุ่มพวงอย่าง “จดหมายจากบ้านนา” ที่กล่าวถึงเรื่องประเด็นนี้จนกลบเรื่องความรักของหนุ่มสาวอย่างชัดเจนใน ว่า “ โปรดกลับคืนมาถิ่นเก่า..เพราะความเป็นห่วงด้วยใจจริงยิ่งใหญ่ กลัวบัณฑิตรุ่นใหม่ ลืมบ้านไร่ไพรสนฑ์ เพื่อนเอยอย่าลืมบ้านนา ยังด้อยศึกษาซ้ำยังแสนจน เอาปริญญามาพัฒนาบ้านตน”

ในยุคพัฒนาช่วงแรก คนในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนมากยังไม่มีเงินบำนาญ และไม่มีเงินชดเชยเมื่อตกงาน (กฎหมายแรงงานเพิ่งมาเติบโตในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) ดังนั้น คนชนบทส่วนใหญ่จึงยังไม่ทิ้งครอบครัวในชนบทไปอย่างสิ้นเชิง แต่จะเคลื่อนย้ายกลับไปตามฤดูกาลเพาะปลูกทางการเกษตร ซึ่งเป็นเสมือนหลักประกันอีกทางหนึ่ง แต่ในทศวรรษ 2520 อุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ (จากการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่น) ทำให้ต้องใช้คนงานมีทักษะสูงและเป็นคนงานถาวร ไม่ใช่คนงานอพยพไปๆมาๆ [3] การกลับบ้านนอกของคนชนบทในเมือง จึงมิได้มีเวลานานหลายเดือนตามฤดูกาลเช่นแต่ก่อน แต่เป็นการกลับตามเทศกาลวันหยุด ซึ่งเต็มที่ก็เป็นระยะเวลาเพียง 5-6 วันเท่านั้น

ภาพปรากฏการณ์หายไปของคนชนบทโดยเฉพาะหญิงสาว จึงปรากฏอยู่ในเพลงลูกทุ่ง ดังเช่นเพลงดังของ สายัณห์ สัญญา อย่างเพลง “จำปาลืมต้น” สายัณห์ถึงกับครวญหาว่า “คิดถึงจำปา หนีหน้าคนบางเดียวกัน เจ้าอยากเป็นสะใภ้นายพัน หันไปบางกอกไม่บอกสักคำ” ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงการขาดไปของทรัพยากรในชนบทว่า “ เจ้าจำปาทิ้งนาเคยทำ ทิ้งกำข้าวกล้า ไปหาห้องแอร์” ขณะที่ “คอยน้องสิบสองเดือน” ของ ยอดรัก สลักใจ แม้ทำนองเพลงจะสนุกสนานแต่กับเต็มไปด้วยความเศร้าเพราะ “ตั้งแต่ปีใหม่เดือนมกรา พี่คอยขวัญตาไม่มาบ้านเรา...น้องไปบางกอกน้องเคยบอกกับพี่ ว่าสิ้นปีนี้คนดีจะกลับเดือนมีนา...ยันพฤศจิกาคอยมาแรมปี...น้องพี่ไปหลง เจ้าคงไม่กลับคืนบ้านนา”

ทว่า นับปีที่รอคอยของจำปาลืมต้นกับคอยน้องสิบสองเดือนยังต้องพ่ายแพ้ให้กับ “ไอ้หนุ่มรถไถ”  ที่รอถึง “ 5 ปีกว่า ตั้งตารอคอย หรือน้องกลอยไปเป็นเมียน้อยนายห้างขายยา ไปเรียนเสริมสวยทำไมตั้งนาน ป้าลุงทางบ้านเฝ้าห่วงคอยหา พี่นั่งคอยนับวันตั้งตา จนหญ้าคาสูงขึ้นมาท่วมหัวพี่เอง” ภาพการหายไปของหญิงสาวชนบทที่เข้าไปทำงาน ล้วนเป็นภาพสะท้อนของหญิงสาวชนบทที่ถูกเมืองดึงไปเป็นทรัพยากรการผลิต

ข้อสงสัยที่ว่าทำไมเพลงลูกทุ่งที่ “ด่าเมือง” ว่าแย่งทรัพยากรในชนบทไปจึงเป็นหญิงสาวส่วนใหญ่ ก็อาจพอมีคำตอบอยู่บ้างว่า ในหลายบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมพอใจจ้างคนงานหญิงมากกว่าชายเพราะทักษะความเชี่ยวชาญ จากสถิติพบว่า กลางทศวรรษ 2520  3 ใน 5 ของคนงานใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้หญิง ครั้นถึง พ.ศ. 2538 ประมาณกึ่งหนึ่งของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดเป็นหญิง และ 7 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกระดับนำของไทยจ้างคนงานหญิงสูงถึงร้อยละ 80[4] รวมไปถึงผลจากการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวในยุคทหารอเมริกันครองเมืองช่วงทศวรรษ 2510 ที่กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยบาร์ ไนต์คลับ ซ่อง และอาบอบนวด ประมาณการว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนผู้หญิงหากินในกรุงเทพฯ มีมากถึง 300,000 คน

แม้ภายหลังทหารอเมริกันจะออกไป แต่ช่วงต้นทศวรรษ 2520 รัฐบาลก็เริ่มส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างหนักเพื่อเพิ่มรายได้จากต่างประเทศ ส่งผลให้ตลาดการท่องเที่ยวขยายตัวต่อไปอีก นักธุรกิจปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเพศพาณิชย์ที่เฟื่องฟูในยุคทหารอเมริกันครองเมืองให้สอดคล้องกับรสนิยมของนักเที่ยวกลุ่มใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น[5] ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผลของการพัฒนาธุรกิจเพศพาณิชย์ตั้งแต่ช่วงทศววรษ 2510-2520 ส่งผลต่อความต้องการทรัพยากรโดยเฉพาะหญิงสาวเป็นอย่างมาก

การไหลออกจากชนบทสู่เมืองของหญิงสาว ทำให้บางส่วนของเพลงลูกทุ่งต้องพยายามโน้มน้าวรักษาทรัพยากรของตนเอาไว้ ดังเห็นได้จากหลายบทเพลงได้สร้างมายาภาพถึงการเข้าไปในเมืองของหญิงสาวว่า มักกลับมาอย่างชอกช้ำและเลวร้ายกว่าที่เคยเป็นอยู่ในชนบท โดยนิยมกล่าวถึงการเสียพรหมจรรย์อันเป็นภาพแทนความบริสุทธิ์ของสาวชนบทให้กับคนในเมือง ดังเห็นได้จากเพลงดังอย่าง “ดาวเรืองดาวโรย” ที่ “สิ้นสดหมดสาวกลายเป็นข่าวกลับนา นามดาวเรืองโดนไอ้หนุ่มแซวมา เออ เอ่อ เอิง เอ่ย เรียกอีหม่า ดาวโรย” และ “ปูไข่ไก่หลง” ที่ทำเป็นเมินไอ้หนุ่มบ้านนาไปนั่งรถเบนซ์ว่า “แม่นายไก่หลง จากดงหวังจะส่องแสง ถูกกินจนสิ้นแรง แสงเลยน้อยนอนตามซอยโทรมโทรม”

นอกเหนือจากชนบทจะสร้างมายาภาพเพื่อรักษาหญิงสาวอันเป็นทรัพยากรของตนไว้ ยังต้องสร้างคติไม่ให้หญิงสาวเสียตัวให้กับคนเมืองที่มาอยู่ในชนบทด้วย

ในช่วงเวลาเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐราชการภายใต้ยุคสมัยเผด็จการทหารได้ขยายตัวเป็นอย่างมาก อำนาจและกลไกรัฐเพิ่มมากขึ้นในแบบระบบราชการรวมศูนย์ โดยมีตัวแทนศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ (กระทรวงมหาดไทย)[6] และกรมกองรักษาความสงบเรียบร้อย (กระทรวงกลาโหม) สำนักงานของกรมกองใหม่ๆ ได้ผุดขึ้นตามต่างจังหวัด และมีการส่งข้าราชการส่วนกลางเข้าควบคุมเขตภูธรอย่างกว้างขวาง[7]

ข้าราชการของเมืองที่มาพร้อมกับอำนาจและกลไกของรัฐในระบบราชการนี้ นอกจากจะเป็นภาพแทนของอำนาจเมืองที่พยายามควบคุมชนบทแล้ว ยังนำเอาความทันสมัยและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนมาด้วย ดังนั้น หญิงสาวในชนจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าเมืองกรุงเพื่อแสวงหาความทันสมัยและยกสถานะตัวเองในทางเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่สามารถสัมผัสแบบตัวเป็นๆ และเป็นเจ้าของความเป็นเมืองได้จากข้าราชการของรัฐเหล่านี้ ซึ่งอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงการกลืนกินคนและวัฒนธรรมในชนบทของเมืองผ่านการแต่งงาน โดยเพลงลูกทุ่งบางส่วนก็ได้สะท้อนภาพปรากฏการณ์เช่นนี้

สองเพลงดังของระพิน ภูไท อย่าง “คนจนเป็นไง” ถึงกับตัดพ้อว่า “รักพี่คงฟาล์ว ไม่มีดาวและมีบั้ง” และ “สองหูของแม่ คอยฟังแสียงแตรรถยนต์” ขณะที่เพลง “คิดถึงพี่หน่อย” ถึงกับแสดงให้เห็นว่าคนในชุมชนก็รับรู้ถึงสภาวะดังกล่าว เพราะ “เขามาทีหลังพี่ตั้งนานชาวบ้านก็รู้ แต่แล้วพี่สู้เขาไม่ได้อำนาจยศถาบรรดาศักดิ์ตัดรักแรมไกล ตั้งแต่นี้ไปเหมือนเส้นขนาน”

สภาวะเช่นนี้ทำให้มีเพลงลูกทุ่งบางเพลงได้พยายามที่จะย้ำเตือนมายาภาพของคนเมืองที่ถูกสร้างขึ้นว่า เป็นพวกโกหก หลอกลวง (ดังเพลงสาวผักไห่) ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของความเป็นเมืองที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากร อย่างเช่นในเพลง “คุณนายลูกสาวกำนัน” ของ ยอดรัก สลักใจ ที่ร้องว่า “ เจ้าลืมคนรักคนจน แม่หน้ามนลูกสาวกำนัน ได้ข่าวว่าผู้กองเขามาจองเป็นคู่หมั้น ทุกเย็นสามดาวเยือนบ้าน พ่อกำนันหัวเราะชอบใจ...สักวันเถอะนะน้อง เจ้าจะร้องเมื่อเจอบ้านใหญ่ (ผู้กองมีเมียอยู่แล้ว-ผู้เขียน) ลูกกำนันก็จะเป็นม่าย กลับมาอายคนทั้งตำบล”

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของเพลงที่มีเนื้อหาต่อต้านความเป็นเมืองคือ มิได้นำเอาหลักศีลธรรมหรือความผิดบาปทางพระพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ หากแต่ใช้ “มาตรการทางสังคม” (Social Sanction) ในการสร้างความกลัว เช่น โดนไอ้หนุ่มแซวมา (เพลงดาวเรื่องดาวโรย) และ กลับมาอายคนทั้งตำบล (เพลงคุณนายลูกสาวกำนัน) เป็นต้น ซึ่งจะพบว่ากลยุทธ์นี้เป็นหนึ่งในกลไกของวัฒนธรรมแบบชุมชนที่พยายามให้สมาชิกรู้สึกร่วมกันถึงผลประโยชน์บางอย่างทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวม การทอดทิ้งบ้านนอกไปแล้วมิได้อะไรกลับมานอกจากความเจ็บช้ำและลูกในท้อง คือ ความเสี่ยงที่ชนบทได้ย้ำเตือนกับหญิงสาว เพื่อโน้มน้าวไม่ให้หญิงสาวที่เป็นทรัพยากรของชนบทต้องเสียไป และหากไปแล้วกลับมาเป็นอย่าง “ดาวเรือง” หรือ “ลูกสาวกำนัน” พวกเธอก็จะพบกับบทลงโทษทางวัฒนธรรมแบบชุมชน

ใคร่กล่าวปิดท้ายว่า แม้การวิเคราะห์นี้จะมิได้เป็นภาพของวัฒนธรรมปัจจุบัน และเพลงลูกทุ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางไปอย่างหลากหลาย แต่กระนั้น เพลงลูกทุ่งไทยก็นับว่ายังมีอีกหลายเรื่องราวให้ศึกษาในฐานะหลักฐานแห่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ถึงแม้ว่าไอ้หนุ่มบ้านนาอย่างผมจะเริ่มหันไปฝึกร้องเพลงแร็ป แล้วก็ตาม.

 

เชิงอรรถ

          [1] ดู พัฒนา กิติอาษา, คนพันธุ์ป๊อป: ตัวตนคนไทยในวัฒนธรรมสมัยนิยม, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546) , 21. ไม่นานมานี้ ก็ยังมีนักศึกษาปริญญาโทของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ศึกษาเพลงลูกทุ่งในชื่อหัวข้อ “ปฏิภาณทางภาษาเชิง ‘สองแง่สองง่าม’ ในคำร้องเพลงลูกทุ่งไทย.

          [2] ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, เพลงลูกทุ่งในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย, ใน โขน คาราบาว น้ำเน่า และหนังไทย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2538), 19-61.

[3] คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติไทยร่วมสมัย, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ:มติชน,2559), 292-293.

[4] คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร,ประวัติไทยร่วมสมัย, 293.

[5] เพิ่งอ้าง, 210-211 และ 283.

[6] ดู ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, อำนาจนำของ สิงห์ : การสร้างพื้นที่ในเขตเมืองของข้าราชการนักปกครองส่วนภูมิภาค จากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, วารสารการบริหารท้องถิ่น  ปีที่ฉบับที่ ..2559, 18-40 .

[7] คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติไทยร่วมสมัย, 239.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท