Skip to main content
sharethis

7 พ.ย. 2561 สืบเนื่องจากกระแสข่าวว่า แกนนำคนสำคัญชองพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นใบลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อมาสมัครสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระกระทรวงพลังงาน วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแกนนำคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีการคาดเดาว่า ไม่สามารถทำงานภายใต้การนำของ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้

ภาพโดย Bundit Uawattananukul (แฟ้มภาพ)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ย. จาตุรนต์ ฉายแสง ระบุถึงเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กว่า ตามที่มีข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ และจะมีนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยย้ายไปร่วมด้วยนั้น เนื่องจากมีการกล่าวถึงตนอยู่ด้วย จึงขอชี้แจงว่าการที่นักการเมืองของพรรคเพื่อไทยไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ทั้งที่ตั้งไปแล้ว และที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกจะเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม แต่เท่าที่ทราบ ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งภายในพรรคอย่างที่เป็นข่าว ความขัดแย้งแตกต่างในพรรคการเมืองทุกพรรคย่อมมีอยู่เป็นธรรมดาไม่เว้นพรรคเพื่อไทย แต่ความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดไม่ได้เป็นสาเหตุถึงขั้นที่จะทำให้ถึงขั้นจะอยู่ร่วมพรรคกันไม่ได้และถ้ามีการหารือเคารพความเห็นที่แตกต่างกันตามสมควร ทำงานอย่างเป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งแตกต่างๆ ทางความคิดก็จะไม่เป็นปัญหาใหญ่โตอะไร

จาตุรนต์ กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกระทำมากที่สุดจากระบบและกติกาภายใต้ยุทธศาสตร์ “การรัฐประหารครั้งนี้ต้องไม่เสียของ” และ “คสช.ต้องสืบทอดอำนาจยาวนาน” ยุทธศาสตร์เหล่านี้มุ่งขัดขวางสกัดกั้นไม่ให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลและทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่  2 ประการคือ

1.ความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยทั้งที่จนถึงขณะนี้ไม่มีข้อเท็จจริงหรือปัญทางกฎหมายใดๆ ที่จะใช้ยุบพรรคเพื่อไทยได้เลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาการยุบพรรคการเมืองบางพรรคก็เกิดขึ้นทั้งที่ไมได้ทำผิดอะไร เมื่อมีข่าวว่ามีความพยายามที่จะยุบหรือมีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาทางยุบพรรคเพื่อไทย หลายคนก็ยังมั่นใจว่าไม่มีทางถูกยุบ แต่ก็มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยเห็นว่าไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ถูกยุบ ควรเตรียมทางหนีทีไล่ไว้โดยไม่ประมาท

2.ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ถูกออกแบบเพื่อทำให้พรรคการเมืองทั้งหมดอ่อนแอ พรรคเล็กเสียเปรียบ พรรคขนาดกลางได้ประโยชน์ แต่หาทางป้องกันไม่ให้พรรคขนาดใหญ่ได้เสียงมากอย่างที่เคยได้ พรรคที่ได้เสียงจากเขตเลือกตั้งเกินครึ่งซึ่งปรกติต้องถือว่าชนะท่วมท้นกลับมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฏร พรรคใดยิ่งได้ สส.เขตมากก็ยิ่งมีโอกาสได้ สส.บัญชีรายชื่อน้อยหรือไม่ได้เลย พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากระบบเลือกตั้งที่แปลกประหลาดนี้มากที่สุด

จาตุรนต์ กล่าวต่อว่า เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ที่นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจะหาทางป้องกันไม่ให้ถูกกระทำหรือพยายามลดความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะการแสวงหาช่องทางที่นักการเมืองแต่ละคนจะสามารถทำงานในระบบรัฐสภาได้ต่อไป ส่วนสาเหตุที่การดำเนินการต่างๆดูจะเป็นไปอย่างสับสนก็น่าจะมาจากสภาพต่างคนต่างทำการขาดการหารือวางแผนร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้นักการเมืองทุกคนในพรรคเพื่อไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงการคิดรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและในที่สุดแต่ละคนก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net