กลุ่มนักการเมืองสหรัฐฯ หัวก้าวหน้าร่วมชูประเด็นภัยโลกร้อนเลือกตั้งกลางเทอม

นิตยสารฝ่ายซ้ายของสหรัฐฯ นำเสนอกลุ่มนักการเมืองก้าวหน้าหลายรายในพรรคเดโมแครตที่ต่างชูประเด็นภาวะโลกร้อนในวันที่รีพับลิกันต่างปฏิเสธการมีอยู่ของมัน นักวิเคราะห์ชี้ เข้าสภาได้ไม่ใช่สำเร็จ ยังต้องรับมือเสือ-สิงห์-กระทิง-แรด อีกหลายแนวรบ

ท่อน้ำมันคีย์สโตนของบริษัท TransCanada ซึ่งมีเหตุน้ำมันรั่วไหล 200,000 แกลลอนเมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่รัฐเซาท์ดาโกตา (ที่มา: Flickr/Shannon Ramos)

แอนดรูว กิลลัม ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฟลอริดา หนึ่งในตัวแทนจากพรรคเดโมแครตขี้นอภิปรายบนเวทีโต้วาทีของ CNN ในเมืองแทมปา เขากล่าวว่า สิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการคือผู้ว่าฯ ที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่าในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงยับยั้งโลกร้อนจากการประชุมที่ปารีส ตัวเขาเองก็มีความภูมิใจจะเสนอว่าเขาทำให้เมืองของเขาหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

Dissent นิตยสารฝ่ายซ้ายของสหรัฐฯ ระบุว่า ในขณะที่การเมืองของพรรครีพับลิกันมีการอ้างใช้ "วิทยาศาสตร์" ในแบบของคนละเมอเพ้อพกถึงทฤษฎีสมคบคิด และฝ่ายพรรคเดโมแครตเองส่วนใหญ่ก็ดูจะเลี่ยงๆ ประเด็นเรื่องโลกร้อน แต่ทว่าผู้ที่เริ่มทำให้การเมืองเรื่องโลกร้อนแปรเปลี่ยนไปจากเดิมคือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมตั้งแต่กลุ่ม ‘สแตนดิงร็อค’ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านท่อก๊าซที่ตัดผ่านพื้นที่ชนพื้นเมืองอเมริกัน ไปจนถึงกลุ่มนักการเมืองฝ่ายก้าวหน้าอย่างกิลลัม

รายงานจากการประชุมร่วมกันของสหประชาชาติกับรัฐบาลชาติต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อนเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า การจะลดปัญหาโลกร้อนได้นั้นควรมีการลดใช้พลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ และเร่งใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นเท่าที่เป็นไปได้เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ร้อยละ 45 ภายในปี 2573 และลดการปล่อยอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2593 แต่การทำเช่นนั้นต้องเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและระบบพลังงานโดยทั้งหมดซึ่งอาจจะฟังดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่ Dissent ก็ชี้ว่าโลกเราเริ่มมีเครื่องมือต่างๆ ที่รองรับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นแล้ว รวมถึงเริ่มมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่จะรองรับการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย

สิ่งที่กิลลัมพูดมีความสำคัญกับทั้งฟลอริดาและประเทศสหรัฐฯ เอง ในฐานะพื้นที่ๆ ถูกกระหน่ำจากภัยธรรมชาติอย่างพายุเฮอร์ริเคนที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตและสร้างความเสียหายทางทรัพย์สิน ภัยธรรมชาติเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนว่าน้ำทะเลกำลังจะหนุนสูงขึ้นในระดับห่วงบาสเกตบอล (ราว 3 เมตร) ถ้าหากยังคงมีปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้การที่ทะเลมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นยังส่งผลให้สาหร่ายในทะเลกลายเป็นพิษต่อสัตว์น้ำต่างๆ รวมถึงโลมาและพะยูน

จากภัยธรรมชาติเหล่านี้ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเริ่มที่จะโต้ตอบพรรครีพับลิกันที่ปฏิเสธว่าภาวะโลกร้อนไม่มีอยู่จริง เช่น ผู้ว่าฯ ริค สก็อตต์ จากพรรครีพับลิกันที่สั่งห้ามข้าราชการไม่ให้ใช้คำว่า "โลกร้อน" หรือ "ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" แต่นั่นก็ทำให้ความนิยมของสก็อตต์ลดลง นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองรีพับลิกันผู้ที่หมายจะสืบทอดตำแหน่งผู้ว่าฯ ฟลอริดาอย่าง รอน เดอ ซานติส ที่พยายามปิดปากเรื่องโลกร้อนโดยกล่าวหาว่าผู้ที่พูดถึงปัญหาโลกร้อนเป็นพวก "ตื่นตูม" ไปเอง

โดยสื่ออเมริกันเรียก เดอ ซานติสที่เป็นคู่แข่งในการเลือกตั้งของกิลลัมว่าเป็น “รีพับลิกันสายทรัมป์” ที่ไม่เพียงปฏิเสธเรื่องโลกร้อนแต่ยังพยายามโจมตีกิลลัมผู้สมัครคนดำในลักษณะแบบเหยียดสีผิวด้วย

Dissent ระบุว่ากลุ่มเศรษฐีต่างๆ ในสหรัฐฯ อาศัยเกาะเกี่ยวพรรครีพับลิกันในการรักษาผลประโยชน์ตัวเองเช่นการต่อต้านภาษีคาร์บอน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้วด้วยข้อมูลที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

Dissent ระบุว่าถึงแม้เรื่องนี้จะเปิดโอกาสให้พรรคเดโมแครตฉวยใช้เป็นประเด็นหลักในการหาเสียงทางการเมือง แต่เดโมแครตก็ไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวมาอยู่ในขบวนหาเสียงทางการเมืองอย่างจริงจัง ดังนั้นการที่เห็นนักการเมืองอย่างกิลลัมกับผู้สมัครเดโมแครตอีกหลายคนที่มีจุดยืนหนักแน่นเรื่องโลกร้อนในช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ เช่นนี้จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดี

ยังมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ผลักดันประเด็นภาวะโลกร้อ เด็บ ฮาแลนด์ ผู้สมัครในรัฐนิวเม็กซิโก เป็นผู้ยืนหยัดต่อสู้กับบรรษัทสนับสนุนพลังงานฟอสซิลที่พยายามเข้าไปทำการขุดเจาะในบ้านเกิดของเธอซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษในชาโคแคนยอน รวมถึงแสดงตัวสนับสนุนให้สหรัฐฯ หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย ถ้าหากฮาแลนด์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้เธอจะกลายเป็นผู้หญิงชนพื้นเมืองอเมริกันคนแรกในสภาด้วย

นอกจากนี้ยังมีอิลฮาน โอมาร์จากรัฐมินนิโซตานักการเมืองเชื้อสายโซมาเลีย-อเมริกันผู้ต่อต้านโครงการท่อก๊าซและเรียกร้องนโยบายโลกร้อนที่เน้นเรื่องชุมชนของกลุ่มคนผิวสีและกลุ่มชนพื้นเมือง ในรัฐเนบราสกาก็มีผู้สมัครที่ต่อต้านท่อก๊าซคีย์สโตนเอ็กซ์แอลชื่อ คริสตา ยัวกัม ในรัฐนิวยอร์กก็มีทิช เจมส์ ผู้สมัครลงเลือกตั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ผู้เคยฟ้องร้องบรรษัทแอ็กซอนโมบิลฐานทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจไขว้เขวเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน แรนดี ไบรซ กับอเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เทซ ก็เป็นนักการเมืองฝ่ายก้าวหน้าที่พยายามรณรงค์เรื่องการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเปลี่ยนให้เป็นระบบพลังงานหมุนเวียนและเพิ่มการสร้างงานไปพร้อมๆ กันในโครงการที่ชื่อ "กรีนนิวดีล" (Green New Deal)

กระนั้นก็ตาม จูเลียน เบรฟ นอยส์แคท นักวิเคราะห์นโยบายจากองค์กรด้านปัญหาโลกร้อน 350.org ก็ระบุว่าถ้าหากผู้สมัครหัวก้าวหน้าเหล่านี้ชนะการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาจะต้องขับเคี่ยวกับอีกหลายฝ่ายเพื่อที่จะผลักดันนโยบายของตนเองได้เช่นกับบรรษัทพลังงานฟอสซิล รวมถึงต้องเจรจาต่อรองกับกลุ่มสหภาพแรงงานสายอนุรักษ์นิยมที่เป็นตัวแทนฝ่ายคนงานพลังงานฟอสซิล พวกเขาต้องหาวิธีการถ่ายโอนแรงงานจากภาคส่วนนี้ไปยังภาคส่วนพลังงานใหม่ให้ได้แบบน่าดึงดูด เช่นการการันตีการจ้างงาน และเมื่อฝ่ายการเมืองเริ่มย่อหย่อนจากการผลักดันนโยบายเหล่านี้ก็จะเป็นหน้าที่ของกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะเข้าไปแทรกตัวกับฝ่ายการเมืองให้ผลักดันนโยบายให้สำเร็จ

เรียบเรียงจาก

A New Climate Politics Is on the Ballot, Julian Brave Noisecat, Dissent, Nov. 4, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท