Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ณ วันที่ปี่กลองทางการเมืองเริ่มบรรเลงขึ้นแม้จะยังไม่มีการปลดล็อคเต็มรูปแบบก็ตาม แต่เราก็เริ่มเห็นตัวละครทางการเมืองหลักๆ เปิดม่านเผยโฉมให้เห็นไม่น้อยแล้ว มีทั้งฝั่งฝ่ายที่แสดงตนอย่างชัดเจน และยังคงสงวนท่าทีอยู่ เมื่อวิเคราะห์จากการติดตามข่าวสารและใช้การสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเป็นหลักในการคิด โดยสามารถแบ่งกลุ่มทางการเมืองได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กลุ่มพรรคที่ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยรักษาชาติ เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 กลุ่มพรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังชล เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 กลุ่มพรรคที่ยังสงวนท่าทีได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา เป็นต้น 

หากสมมติฐานจากบทวิเคราะห์และสถานการณ์ที่ปรากฏทั่วไป รวมถึงภายใต้ข้อกำหนดบทเฉพาะกาลมาตรามาตรา 272 ที่บัญญัติว่า “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ที่เราสมมติฐานได้ว่าทั้งหมดจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ ทำให้คะแนนรวมของทั้งสองสภาเท่ากับ 750 เสียง ซึ่งผู้จะได้เป็นายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง อาจพอยกตัวอย่างแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ดังต่อไปนี้

แนวทางที่ 1 พรรคกลุ่มที่ 1 พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยรักษาชาติ รวมกับพรรคกลุ่มที่ 3 บางพรรคเช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา สามารถรวมคะแนนเสียงได้เกิน 376 คะแนน แต่อาจประสบปัญหาที่จะผลักดันกฎหมายผ่านสภาสูงได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจเกิดได้ยากเนื่องจากระบบเลือกตั้งในปัจจุบันและฐานคะแนนเสียงเดิมเมื่อคำนวนแล้ว ทำให้แนวทางมีโอกาสเกิดได้น้อย

แนวทางที่ 2 พรรคกลุ่มที่ 2 รวมกับพรรคกลุ่มที่ 3 และกลุ่ม สว. เสนอนายกรัฐมนตรีซึ่งอาจหมายถึงนายกคนปัจจุบัน เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยแต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นต่อการบริหารราชการแผ่นดินหากคะแนนเสียงในสภาล่าง (สภาผู้แทนฯ) เป็นเสียงข้างน้อยคือน้อยกว่า 250 เสียง หรือเกิน 250 เสียงไปไม่มาก จะทำให้การออกกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาลในอนาคตเต็มไปด้วยความยากลำบาก

แนวทางที่ 2.1 (หากมีกรณีสถานการณ์พิเศษเข้ามาแทรกคือการยุบพรรคเพื่อไทยภายหลังการเลือกตั้ง) และมีการตั้งรัฐบาลตามแนวทางที่ 2 แล้ว และด้วยความที่รัฐบาลตามแนวทางที่ 2 มีอำนาจในการต่อรองในฐานะรัฐบาล อาจอาศัยช่วงหลังยุบพรรคชักชวนจูงใจเสียงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยรายคนหรือรายกลุ่มให้มาสนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้นได้ (งูเห่า) เพื่อสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาล ก็อยู่ที่ความหนักแน่นในอุดมการณ์ของ ส.ส. แต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ก็อย่าลืมว่าเป็นรัฐบาล กับเป็นฝ่ายค้าน อะไรๆ มันก็ต่างกันอยู่ 
     
แนวทางที่ 3 พรรคกลุ่มที่ 1 พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยรักษาชาติ รวมกับพรรคกลุ่มที่ 3 ทุกพรรค พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยอาจต่อรองโดยยกตำแหน่งสำคัญให้พรรคประชาธิปัตย์ สามารถรวมคะแนนเสียงได้เกิน 400 คะแนน ภายใต้เงื่อนไขรวมกันเพื่อร่วมกันแก้ไขกติกาการเลือกตั้งรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้ยากเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันค่อนข้างมากและอาจจำเป็นต้องอธิบายต้องมวลชนที่เป็นฐานเสียงของพรรคให้เข้าใจแต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

แนวทางที่ 4 หากมีกรณียุบพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยอาจรณรงค์ร่วมกับพรรคพันธมิตรบอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง โดยเหตุผลเรื่องกติกาที่ไม่เป็นธรรม เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 วรรค 2 บัญญัติว่า “ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง” หมายถึงคะแนนของผู้ชนะในแต่ละเขตเลือกตั้งต้องมากกว่าผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (โหวตโน) ซึ่งอาจเกิดขึ้นในหลายเขตในภาคอิสาน ภาคเหนือที่เป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตร จะส่งผลให้เปิดสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ และตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลชุดปัจจุบันและคสช. จะอยู่ในอำนาจต่อไป แต่ในทางการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างมากอาจเลยเถิดไปถึงการแสดงออกต่อต้านรัฐบาลที่มากยิ่งขึ้น

การวิเคราะห์ดังกล่าว คิดขึ้นจากการติดตามและประมวลเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมาและข่าวสารที่ปรากฏขึ้นเป็นการทั่วไป โดยอาจมีแนวทางที่เราคาดไม่ถึงมากกว่านี้ก็เป็นได้โดยตัวแปรคือจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคนั่นเอง โดยแนวทางที่วิเคราะห์ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งเสียก่อน ก็ช่วยกันเอาใจช่วยทุกฝ่ายให้การเลือกตั้งนั้นจงเกิดขึ้นตามกำหนดก็แล้วกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net