กลุ่มชาติพันธุ์หนีการกดขี่ ไล่ล่าสารพัดในเวียดนามเพียงเพื่อมาถูกจับขังในไทย

ชาวมองตานญาด ชนพื้นเมืองในเวียดนามผู้หนีมายังกัมพูชาและไทย แสวงหาชีวิตที่ดีกว่าการถูกกดขี่สารพัดในประเทศต้นทาง แต่กลับถูกทางการไทยกักตัวไว้หรือส่งกลับประเทศ ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชน อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศไทยวิจารณ์การส่งกลับเช่นว่าไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่เป็นการโรยเกลือใส่บาดแผล เกิดวงจรของบาดแผลซ้ำซ้อน

ซิวฮคลีเป็นหญิงชนพื้นเมืองมองตานญาด (Montagnard) อายุ 30 ปีจากประเทศเวียดนาม เธอถูกคุมขังอยู่ในสถานกักกันอันมีชื่อเสียงที่ไม่ดีของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (IDCs) ในกรุงเทพฯ ซิวฮคลีลี้ภัยมาจากเวียดนามเนื่องจากที่นั่นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนพื้นเมืองอย่างพวกเธอ เธอพยายามสื่อสารกับคนที่เธอรักและสื่อกับคนทำงานด้านการกุศล

ซิวฮคลีตะโกนอย่างสุดเสียงว่าเธอรู้สึกกลัวมากในขณะที่เธอยังถูกขังในขณะที่ลูกๆ ของเธอยังอยู่ข้างนอก เธอบอกอีกว่าเธอไม่สนใจว่าจะได้ไปอยู่ที่ไหน ขอแค่ไม่ส่งตัวเธอกลับเวียดนามก็พอ มีผู้ลี้ภัยอีกรายหนึ่งที่ถูกจับเช่นกันที่บอกว่าถ้าพวกเขาถูกส่งกลับไปที่เวียดนาม พวกเขาจะถูกจับขังและถูกทารุณกรรม

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฟอร์ติฟายไรท์ ระบุว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชาวมองตานญาดจากจำนวน 85 คนที่ถูกจับกุมเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาที่ จ.นนทบุรี คนที่ถูกจับกุมมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยผู้ถูกจับกุมที่แก่ที่สุดมีอายุราว 70 ปี นอกจากนี้พวกเขายังจับกุมชาวมองตานญาดที่เป็นเด็กอีก 47 คน โดยควบคุมตัวไว้ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ชาวมองตานญาดหรือชาวเดการ์เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองผู้ถูกลืมจากที่ราบสูงทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม คำว่ามองตานญาดที่แปลว่า "ชาวเขา" มาจากภาษาฝรั่งเศสช่วงยุคอาณานิคมที่ถูกใช้เรียกกันมาจนปัจจุบัน ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ถูกกดขี่จากรัฐบาลเวียดนามเพราะพวกเขาสนับสนุนสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนามและถูกปราบปรามเนื่องจากนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งทางการเวียดนามแปะป้ายว่าเป็นศาสนาใน "หนทางชั่วร้าย"

การละเมิดสิทธิมนุษยชนและรุกไล่พวกเขาออกจากที่อยู่อาศัย ทำให้มีจำนวนไม่น้อยหลบหนีมายังประเทศกัมพูชาและไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม พวกเขามักจะถูกส่งตัวกลับเวียดนาม หรือไม่ก็อาศัยเยี่ยงถูกกักตัวภายในบ้านที่กัมพูชาหรือสถานกักกันในไทย

ชาวมอนตานญาดหลายคนที่อยู่ในสถานกักกันแถบนอกเมืองกรุงเทพฯ พูดถึงความโหดร้ายที่พวกเขาเผชิญจนทำให้ต้องหนีออกจากเวียดนาม ชาวมอนตานญาดชื่อสินทุต อายุ 31 ปีเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาเคยไปเยี่ยมพี่หรือน้องสาวเพราะเป็นห่วงสภาพความเป็นอยู่ หลังจากสามีของเธอทิ้งเธอไปและเคยมีตำรวจในท้องถิ่นข่มขืนเธอ แต่เมื่อเขาไปที่บ้านเธอก็พบว่าตำรวจคนเดิมข่มขืนเธออีก เขาพยายามเข้าไปสู้กับตำรวจนายนี้แต่ก็ถูกทำร้ายและถูกเอาปืนจี้ขู่ห้ามไม่ให้ไปบอกใคร ไม่เช่นนั้นเขาจะถูกฆ่าล้างครอบครัว

อีกกรณีหนึ่งเป็นชาวมองตานญาดที่ติดเชื้อเอชไอวี เขาเป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทางการเวียดนามจับกุม 2 ครั้ง รวมถึงถูกถ่ายเลือดให้อย่างไม่จำเป็นจากโรงพยาบาลทหารหลังจากที่มีคนขับรถชนเขา ซึ่งเขาเชื่อว่าได้รับเชื้อเอชไอวีจากเหตุการณ์นี้ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ตามตำรวจในท้องที่ก็ไปปล่อยข่าวลือเรื่องที่เขามีเชื้อเอชไอวีให้ชุมชนในหมู่บ้านชาวคริสต์รับรู้

นอกจากกรณีเหล่านี้แล้ว ยังมีการพูดถึงเรื่องที่ทางการพยายามทำลายวิถีชีวิตของชาวมองตานญาดเช่น สั่งห้ามไม่ให้เด็กพูดภาษาจาไรซึ่งเป็นภาษาชนพื้นเมืองของพวกเขา บางครั้งก็ใช้ยุทธวิธีบีบให้ชาวมองตานญาดผู้ถูกจับส่งกลับประเทศให้พูดต่อต้านสหประชาชาติออกโทรทัศน์และเตือนไม่ให้คนอื่นหลบหนี นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีการสอดแนมพื้นที่ที่ราบสูงภาคกลางอย่างเคร่งครัด ห้ามไม่ให้นักข่าวหรือคนทำงานสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่ได้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานกรณีผู้ลี้ภัยมอนตานญาด

อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามเองกลับเป็นผู้อวดอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยนี้อย่างเปิดเผย กลายเป็นข้อมูลให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์นำมาเปิดเผยต่อชาวโลกในปี 2558 ที่ทางการเวียดนามอวดอ้างเรื่อง "การบุกค้นและไล่ล่า" ชาวมอนตานญาดหลายครั้งและ "จัดการกับผู้นำและสมาชิกสำคัญของพวกเขาอย่างจริงจัง"

ทางการไทยเองก็ไม่พ้นต่อการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ ฟิล โรเบิร์ตสัน รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุะว่า การไม่ยอมรับสถานะผู้ลี้ภัยของชาวมองตานญาดเปิดทางให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุมขังพวกเขาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแทนที่จะให้การคุ้มครองพวกเขา ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งอาจจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็น แต่เนื่องจากขาดเอกสารทางกฎหมายทำให้พวกเขาไม่สามารถไปเรียนหรือไปทำงานได้ ถูกบีบให้ต้องอยู่ด้วยการรับเงินบริจาคหรือลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายทำให้เสี่ยงต่อการถูกกดขี่ นอกจากนี้ยังมีการพรากลูกซึ่งโรเบิร์ตสันชี้ว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของยูเอ็นด้วย

กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยเคยเขียนบทความในบางกอกโพสต์วิจารณ์รัฐบาลว่า รัฐบาลไทยควรเลิกคิดถึงประเด็นผู้ลี้ภัยในมุมมองของความมั่นคงของประเทศ แต่ควรจะมองในมุมด้านมนุษยธรรม พวกเขาควรจะมองว่าผู้คนเหล่านี้หนีตายมาเพราะอยากมีชีวิตที่ดีภายใต้การคุ้มครองของประเทศพวกเราไม่ใช่ซ้ำเติมให้เกิดแผลใจมากขึ้นจากการคุมขังพวกเขา

เกรซ บุย อาสาสมัครโครงช่วยเหลือชาวมองตานญาดกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีโอกาสที่จะได้ไปประเทศอื่นๆ น้อยมาก เพราะผู้ลี้ภัยจากประเทศที่มีสงครามมักจะได้รับการพิจารณาก่อนเสมอ ทำให้ชาวมองตานญาดที่ถูกคุมขังอาจจะถูกคุมขังต่อไปอีกหลายปี

เรียบเรียงจาก

PERSECUTED IN HANOI, LOCKED UP IN BANGKOK: THE MONTAGNARDS, VIETNAM’S FORGOTTEN CHRISTIANS, South China Morning Post, Nov. 4, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท