สื่อนอกเล่าอันตรายคนข่าวในอาเซียน ถูกปิดปากด้วยกฎหมาย-ตายหลายร้อย

สื่อดิอาเซียนโพสท์แสดงเหตุผลว่าทำไมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่อันตรายต่อคนทำงานด้านสื่อ หลังนักข่าวถูกสังหารไปแล้วอย่างน้อย 210 รายนับตั้งแต่ปี 2529 แต่ตัวการกลับลอยนวล ไม่นับการใช้กฎหมายปิดปาก ด้านดัชนีเสรีภาพสื่อนั้นต่ำเตี้ยเรี่ยดิน อยู่ไม่เกิน 60 ประเทศที่ย่ำแย่ที่สุด

โทรศัพท์มือถือกำลังถ่ายทอดสดการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง (ที่มา: แฟ้มภาพ)

7 พ.ย. 2561 สื่อดิอาเซียนโพสท์รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีความเสี่ยงหลายประการ ในหลายส่วนนั้น สื่อมวลชนเสี่ยงภัยเข้าไปทำข่าว

“สื่อกำลังอยู่ภายใต้ภัยคุกคามที่มากขึ้นทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเรื่องน่าขยะแขยงที่นักข่าวผู้กล้าหาญควรต้องเอาเสรีภาพส่วนบุคคล แม้กระทั่งชีวิตไปแขวนบนเส้นด้ายเพียงเพื่อจะทำงานของพวกเขา” เท็ดดี้ บากิลัท สมาชิกรัฐสภาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (APHR) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฟิลิปปินส์กล่าว

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่นักข่าวเสี่ยงภัยอันตรายถึงชีวิต สถิติจากสถาบันสื่อมวลชนนานาชาติรายงานถึงความอันตรายในการเป็นสื่อที่ฟิลิปปินส์ว่า ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา มีนักข่าวและคนทำงานสื่อถูกสังหารไปแล้ว 177 คน และมีถึง 47 คนที่เสียชีวิตในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนั้นฟิลิปปินส์ยังมีอัตราการรับผิดรับชอบต่อการสังหารย่ำแย่ที่สุดติด 1 ใน 5 ของโลกตามข้อมูลของคณะกรรมการปกป้องนักข่าว (CPJ) อีกสี่ประเทศนั้นได้แก่โซมาเลีย ซีเรีย อิรักและซูดานใต้ ฟิลิปปินส์จึงได้รับตำแหน่งประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักข่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หนึ่งเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวขานคือ “การสังหารหมู่มากวินดาเนา” ในปี 2552 เมื่อขบวนรถหกคันที่บรรทุกนักข่าว ทนายควาและญาติของรองนายกเทศมนตรีมานกูดาดาตูถูกโจมตีโดยคนติดอาวุธจำนวน 100 คน เหตุการณ์จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตคนไป 58 คน และ 34 คนเป็นนักข่าว จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

เมื่อ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา เดนนิส เดโนรา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ถูกสังหารจากมือปืนบนท้องถนน ขณะกำลังขับรถในเมืองปานาโป ในปี 2559 ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจด้านความปลอดภัยของสื่อมวลชนขึ้น แต่อีกทางหนึ่งก็สอบสวนและข่มขู่ว่าจะปิดสื่อแรปเปลอร์ สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของฟิลิปปินส์ด้วยข้อหาหนีภาษีและหมิ่นประมาท

ในกัมพูชามีนักข่าวถูกสังหารไป 13 คนตั้งแต่ปี 2537 หลายรายที่เสียชีวิตไปนั้นเป็นคนที่รายงานข่าวและสืบสวนกรณีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล สำหรับไทยนั้น ตั้งแต่ปี 2541 มีนักข่าวถูกสังหารไปแล้ว 10 ราย

นักข่าวไม่ได้เสี่ยงชีวิตแค่อย่างเดียว แต่ยังเจอกับมาตรการปิดหากหลายอย่าง CPJ รายงาว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ใช้มาตรการปิดปากได้เลวร้ายที่สุดประเทศหนึ่ง โดยตั้งแต่ปี 2559 มีนักข่าวและบล็อกเกอร์อย่างน้อย 16 คนถูกจับขังคุก ในพม่า วะลง และจ่อซออู สองนักข่าวรอยเตอร์ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 7 ปีเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาฐานฝ่าฝืนกฎหมายความลับทางราชการจากการรายงานข่าวทหารพม่าสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา

จากสภาพที่เป็นก็ทำให้ทั้งภูมิภาคถูกจัดอันดับด้านเสรีภาพสื่อไว้ต่ำ ทุกประเทศในอาเซียนถูกจัดอันดับไว้มากกว่า 120 จาก 180 ประเทศในดัชนีเสรีภาพสื่อขององค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) โดยสูงสุดนั้นคืออินโดนีเซีย (124) ต่ำสุดคือเวียดนาม (175) ส่วนไทยนั้นอยู่ที่อันดับ 140 จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจที่เวลามีนักข่าวถูกสังหารแล้วจะไม่มีใครรับผิดชอบ เพราะแม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างเสรีภาพสื่อยังไม่ถูกรับประกัน

“รัฐบาลจะต้องทำมากกว่านี้เพื่อปกป้องนักข่าว และประกันว่าคนที่มีส่วนกับการสังหารคนทำงานสื่อจะถูกนำมารับโทษ หากทำได้น้อยกว่านั้นย่อมเป็นสัญญาณว่าอาชญากรรมเช่นนั้นเป็นที่ยอมรับ” บากิลัทกล่าว

รายงานเผยเสรีภาพสื่อในภูมิภาคน้อย เป็นงานอันตราย ไทยติดท็อป 3 คุกคามสื่อ

รายงานสถานการณ์สื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดทำโดย SEAPA เผยแพร่ครั้งแรกในเดือน พ.ค. 2561 พบว่าเสรีภาพสื่อในภูมิภาคนี้ได้รับการจัดอันดับจากองค์กรสื่อนานาชาติอย่างองค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) ในกลุ่มอันดับล่างๆ การทำงานในฐานะสื่อเป็นเรื่องเปราะบางต่อคนทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2560 SEAPA ได้บันทึกเหตุการณ์การข่มขู่ ไปจนถึงการโจมตีสื่อรอบภูมิภาคได้ถึง 128 กรณีด้วยกัน

กรณีการละเมิด หรือคุกคามสื่อนั้นถูกแบ่งเป็นการกำกับควบคุมผ่านกฎหมาย การเซ็นเซอร์เนื้อหาทั้งจากทางการและการเซ็นเซอร์ตัวเอง การดำเนินคดีกับสื่อ การข่มขู่ การทำร้าย และการฆ่า ซึ่งห้าประเภทนี้เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิ้น

ประเทศฟิลิปปินส์นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง หลังการขึ้นมาของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต กลุ่มฐานเสียงของเขา รวมถึงรัฐบาลเองต่างสร้างความเกลียดชังต่อสื่อมวลชนทั้งในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง ทั้งยังมีการฆ่านักข่าวด้วย ซึ่งถือเป็นกรณีที่ไม่ได้รับรายงานจากประเทศอื่นในภูมิภาค รองลงมาเป็นพม่าที่มีกรณีการดำเนินคดี จับกุมและกักขังนักข่าวรวม 11 กรณี อันดับสามเป็นประเทศไทย ที่มีกรณีการเซ็นเซอร์ ระงับใบอนุญาตประกอบการอาชีพสื่อ และแบนเนื้อหาบางประการรวม 7 กรณี

อย่างไรก็ตาม จาก 128 กรณีที่มีการบันทึก มีถึง 86 กรณีที่การคุกคามสื่อเกิดจากการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประมุขรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นตำรวจ ทหาร หรือหน่วยงานด้านข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การรายงานข่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการบริหารรัฐ ถูกเจ้าหน้าที่ภาครัฐมองเป็นเรื่องการต่อต้านรัฐบาล นำเสนอข่าวมีอคติและไม่ยุติธรรม หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการแทรกแซงจากต่างชาติ

นอกจากนั้น วาทกรรมเรื่องข่าวปลอม (Fake News) ที่เกิดขึ้นจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีสื่อที่นำเสนอข่าวที่ไม่พึงประสงค์ ยิ่งโหมกระพือการโจมตีสื่อทั้งในทางวจีกรรมและทางกฎหมายที่มีมานานแล้ว

แปลและเรียบเรียงจาก

Eijas Ariffin, Southeast Asia: Unsafe for journalists, The ASEAN Post, Nov. 7, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท