ใบตองแห้ง: ปราบโกงพิธีกรรม

มหาวิทยาลัยทั่วประเทศออกมาโวย ประกาศ ปปช.ฉบับใหม่ บังคับกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน จะทำให้กรรมการลาออกนับร้อยคน จนรัฐบาลต้องส่งมืออภินิหารทางกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ไปคุยกับประธาน ปปช. เพื่อหาทางออกให้

ที่จริงไม่ใช่แค่กรรมการสภามหาวิทยาลัย บอร์ด สปสช.ก็ลาออกไปแล้ว 4 คน เพราะประกาศฉบับนี้ครอบคลุมทุกหน่วยงานองค์กรของรัฐ มหาวิทยาลัย แบงก์ชาติ ก.ล.ต. กกพ. กสทช. กองทุน และองค์การมหาชนต่าง ๆ

ในมุมหนึ่ง ก็น่าขำ “ไม่ได้ทำผิดแล้วกลัวอะไร” ทีนักการเมืองละก็ ไล่ล่ากันจัง มหาวิทยาลัยปัจจุบันทำมาค้าขายหลักสูตร มีผลประโยชน์ใหญ่โตกว่า อบต.หรือเทศบาลตั้งหลายเท่า แถมสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เป็น “สภาเกาหลัง” เป็นฐานอำนาจของอธิการบดี ที่งอกรากสืบทอดอำนาจแทบตายคาเก้าอี้

เพียงแต่ถ้ามองภาพรวม ถึงทุกมหาวิทยาลัย ทุกหน่วยงานที่ต้องยื่นบัญชี ก็มีด้านที่น่าเห็นใจ เพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่ ไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประจำ ไม่ได้ทำมาหากินเป็นอาชีพ เหมือนอย่างกรรมการ ปปช. หรือองค์กรอิสระ ที่มีเงินเดือนเงินประจำตำแหน่ง งบรับรองเหมาจ่าย เดือนละเกือบสองแสน

กรรมการสภามหาวิทยาลัยรับแค่เบี้ยประชุม บางแห่งรับเดือนละสองพัน โดยมีงานประจำหรือทำธุรกิจอื่นหลากหลาย ถามว่าคุ้มกันไหม ที่จะต้องมานั่งทำบัญชีทรัพย์สิน ส่ง ปปช.ตรวจสอบ ส่งผิดส่งพลาดส่งไม่ครบ มีโอกาสติดคุกอีกต่างหาก ถ้าเผื่อมีสามีภรรยานอกสมรสยิ่งลำบาก เท่ากับลาก ปปช.ไปไล่บี้ชีวิตส่วนตัวคุณ

ฉะนั้น ถ้าเป็นคนไม่มีผลประโยชน์ ไม่อยากยุ่งยาก ก็จะมารับเบี้ยประชุมเดือนละสองพันให้เดือดร้อนทำไม

ในขณะเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบตำแหน่งต่าง ๆ ตามประกาศ ปปช. ก็ยังเป็นเรื่องขำ ๆ ที่ตั้งคำถามได้ว่า กรรมการหอภาพยนตร์ กรรมการสถาบันแสงซินโครตอน มีประโยชน์โพดผลอะไรนักหนา จนต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ในขณะที่ทหารตำรวจ ต้องแจ้งเพียงผู้บัญชาการเหล่าทัพ กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขณะที่แม่ทัพภาค ผบ.พล หรือผู้บัญชาการตำรวจภูธร นครบาล ตม. ผู้การจังหวัด ซึ่งน่าจะให้คุณให้โทษได้ยิ่งกว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่ยักต้องแจ้ง

ประเด็นสำคัญของการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน คือมันกลายเป็นเรื่องเอาเป็นเอาตาย กับการไม่แจ้ง หรือแจ้งไม่ครบ ซึ่งกลายเป็นความผิดอาญา แบบนักการเมืองท้องถิ่นที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินลงโทษระนาว จำคุก 2 เดือนบ้าง 4 เดือนบ้าง แต่รอลงอาญา พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

การไล่บี้บัญชีทรัพย์สิน แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นงานรูทีนของ ปปช. เอาผิดแจ้งเท็จ จงใจไม่แจ้ง แต่ไม่ยักพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นทุจริตฉ้อโกงมาหรือไม่

ส่วนที่โกงจริง ๆ ปปช.ก็ไม่ค่อยจะจับได้ มีแต่ต่างชาติจับส่งให้ เช่นอดีตผู้ว่า ททท. เช่นสินบนโรลสรอยซ์ หรือฟลุค โจรปล้นบ้านอดีตปลัดคมนาคม เด็กฝึกงานแฉโกงเงินคนจน นอกนั้น ก็เป็นคดีการเมืองซึ่งใช้วิธีตีความกฎหมายเอาผิดกันเสียมากกว่า

การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ที่จริงเป็นเรื่องสปิริตทางการเมือง หากถูกจับได้ว่าแจ้งเท็จ ก็ควรถูกลงโทษทางการเมือง หรือทางวินัย มีผลต่อตำแหน่งหน้าที่ ไม่ใช่ความผิดอาญา เว้นแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริต

ประเทศนี้บ้าจี้พิธีกรรม ต้องการอวดว่าปราบโกง มีองค์กรสูงส่งไว้ไล่จับ ติดดาบเสริมเขี้ยวเล็บจนเป็นอำนาจหยุมหยิม จะไล่บี้กระทั่งคู่สมรสไม่จดทะเบียน แต่คนไทยก็ชอบ เพราะเชื่อยาแรง

อ้าว แต่ทีตรวจสอบเรื่องนาฬิกา ผ่านมาเกือบปี ยังพูดได้ว่า ขอเวลาอีกไม่นาน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/261066

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท