พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: โมฆะบุรุษผู้มาจากอเมริกา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ห้องสมุด Clark County ลาสเวกัส รัฐเนวาดา บนถนน Flamingo ตัดกับ Eastern Ave. คือที่สถิตของผมเมื่อหลายปีก่อน อาคารอันโอ่โถงถูกสร้างไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามตามแบบอย่างศิลปะฮีสแปนิกส์ อาคารทรงสเปน ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ เข้าไปคุณจะเห็นเซ็คชันสื่อคอมพิวเตอร์หรือ E-library ก่อนอื่น อยู่รอบๆ เค้าน์เตอร์เจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่เป็นพนักงานประจำ

บรรยากาศของห้องสมุดแห่งนี้ช่างตัดกับบรรยากาศ ลาสเวกัสสตริพ ดุจดังฟ้ากับเหว คือในขณะที่ลาสเวกัสเป็นเมืองโลกีย์ แต่ห้องสมุดเป็นเสมือนศูนย์รวมหรือแหล่งวิชาการ แค่นี้ก็มากพอทำให้เกิดภาพตัดกันอย่างมีนัยสำคัญ เพราะนอกจากสถาบันวิชาการหลักในเมืองบาปแห่งนี้ อย่าง UNLV หรือมหาวิทยาลัยเนวาดา ลาสเวกัสแล้ว สถาบันเชิงความรู้อื่นๆ แทบไม่มีเอาเลย

ในฐานะกะเหรี่ยงไทย ชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งในเมืองนี้ ผมเลยได้ใช้ห้องสมุดของ Clark County เป็นที่พึ่งพาในทางความรู้ นอกเหนือไปจาก the Las Vegas Review journal สื่อ (หนังสือพิมพ์) หลักประจำท้องถิ่นของที่นี่ ซึ่งก็น่าแปลกใจอย่างยิ่งว่า แทบไม่เห็นคนไทย มายุ่งเกี่ยวหรือมีกิจกรรมใดๆ ที่ห้องสมุดแห่งนี้เลย ในขณะที่ทางห้องสมุดได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานเขียนหรือหนังสืออยู่เนืองๆ เป็นประจำแทบทุกเดือน

ผมเชื่อว่า ส่วนหนึ่งของการไม่มาสัมผัสความรู้ในฝั่งท้องถิ่นอเมริกันของคนเชื้อสายไทยส่วนหนึ่งเกิดจากภารกิจหรือหน้าที่การงานประจำวัน เช่น ทำงานในร้านอาหาร ทำงานในบ่อน ทำให้ไม่มีเวลามาห้องสมุด นับเป็นการยอมจำนนจากการบีบรัดที่เกิดจากหน้าที่การงาน ประเด็นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ตามเหตุผลที่ว่า “ไม่มีเวลา” 

แต่จริงหรือเหตุผลที่ว่า ไม่มีเวลาจะเป็นไปตลอดกาล หรือว่าแท้จริงแล้วคนไทยในอเมริกาเหล่านี้ไม่สนใจที่จะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ในอเมริกาเอง คือ ไม่ใส่ใจขวนขวาย ตรงนี้คงไม่ใช่แต่ลาสเวกัสเมืองเดียว คนไทยในเมืองอื่นๆ รัฐอื่นๆ ก็คงจะเหมือนกัน  ยิ่งใน แอล.เอ. ในฮอลลีวูด (ที่ตั้งไทยทาวน์) ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนไทยด้วยแล้ว การเรียนรู้เรื่องอเมริกันกลับทำได้ยากกว่าที่เมืองอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ เพราะคุณแทบไม่มีโอกาส หรือไม่ต้องแสวงหาโอกาที่จะพูดจาสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้การซึมซับทางด้านวัฒนธรรมจึงไม่เกิดขึ้นกับคนไทยเหล่านี้ พวกเขาไม่เคยเรียนรู้ด้วยซ้ำว่า วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตอเมริกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างไร อำนาจนิยมอย่างไรก็เป็นอำนาจนิยมแบบไทยๆ แบบเดิมๆ ไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยซึมซับหรือมีอารมณ์ร่วมกับแนวทางสิทธิเสรีภาพ หรือประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

เช่นเดียวกับการติดตามข่าวสาร คนไทยเหล่านี้ แทบไม่อ่านไม่รับชมสื่ออเมริกันเอาเลย อ่าน รับชมและติดตามข่าวสารจากสื่อไทยฝ่ายเดียว การอยู่ในอเมริกา จึงยิ่งเท่ากับสักแต่การอยู่อาศัยเท่านั้น คนเหล่านี้ไม่เคยได้รับอิทธิพลความคิดหรือจารีตทางวัฒนธรรมหรือการเมืองอเมริกันใดๆ เลย  

จึงอย่าเข้าใจว่าเขารู้วัฒนธรรมต่างๆ ของอเมริกันเป็นอย่างดี เพราะมันไม่เป็นความจริง มิหนำซ้ำยังยิ่งจะหนักกว่าคนไทยในเมืองไทยที่เปิดรับข่าวสารหลากหลายช่องทางเสียด้วยซ้ำ 

คนไทยที่มีวัตรปฏิบัติและอาศัยอยู่ในอเมริกาทำนองนี้จึงล้าหลังกว่าคนไทยที่อยู่เมืองไทยเสียอีก และส่วนใหญ่เป็นพวกตกกระแส ขวาจัด ชาตินิยม กล่าวคือ มีทัศนคติแบบอำนาจนิยม ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเขาไม่เคยได้เรียนรู้วัฒนธรรมไม่ว่าด้านใดๆ ของอเมริกันเลย สาเหตุก็เนื่องจากต้องทำงานไม่หยุดหย่อน จึงไม่มีเวลาและสาเหตุสำคัญคือไม่สนใจที่จะเรียนรู้ นับประสาอะไรกับการเข้าห้องสมุด แค่รับสื่ออเมริกัน คนเหล่านี้ยังไม่เอาเลย ทำให้กลายเป็นพวกตกขอบไปในที่สุด ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของอนุชนที่ตามไปอเมริกาทีหลังในทางความคิดแบบอเมริกันได้เลย ส่วนใหญ่เท่าที่พบมักมีทัศนคติในทางการเมืองแบบชาตินิยม และสุดโต่ง หลงยุค ซึ่งนับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ยิ่ง ถ้าเป็นในเมืองไทย ฝ่ายประชาธิปไตยคงเรียกคนเหล่านี้ว่า “สลิ่ม”

ยิ่งไปกว่าความเป็นชาติไทยนิยมในอเมริกาแล้ว คนกลุ่มมักดูถูกวัฒนธรรมอเมริกันบางอย่าง เช่น การใช้ทุนนำ (ทุนนิยม) หากแท้จริงแล้วพวกเขาเองก็ไม่ต่างจากคนอเมริกันคนอื่นๆ คือ อยู่ได้ด้วยทุนเช่นเดียวกัน แบบเดียวกับคำพังเพยไทยที่ว่า “เกลียดปลาไหล กินน้ำแกง” รวมกระทั่งความเชื่อที่ว่า อเมริกันแทรกแซงผลประโยชน์ทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะการแทรกแซงการเมืองไทยในอดีตและปัจจุบัน อเมริกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแทบทุกเหตุการณ์ รัฐบาลอเมริกันเป็นตัวร้ายในสายตาคนกลุ่มนี้เอาเลย  แต่พวกเขาก็ชอบใช้ชีวิต ทำมาหากินในอเมริกานั้นแหละ

และก็น่าแปลกว่า พอคนเหล่านี้กลับไปเกษียณหรือรีไทร์ ที่เมืองไทยเขากลับยกย่องลัทธิอเมริกันนิยมเป็นตุเป็นตะเลยทีเดียว แม้ไม่ได้ความรู้ หรือแนวคิดวัฒนธรรม การเมืองแบบอเมริกันกลับไปเลยแม้อย่างเดียว (เขาขลุกอยู่แต่สังคมไทย) ในใจของเขามีแต่อำนาจนิยม จารีตนิยมและชาตินิยมเท่านั้น ในความเห็นของพวกเขาประเทศไทยคือศูนย์กลางจักรวาลแนวเดียวกับเขาพระสุเมรุ เพราะในยุคล่าอาณานิยม ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศใดมาก่อน

เขาชอบอ้างความเป็นอเมริกัน พร้อมกับความเกลียดชังอเมริกัน โดยที่ไม่เคยรู้ว่า ความเป็นอเมริกันคืออะไร ไม่เคยและไม่ยินยอมที่จะเรียนรู้หรือมีประสบการณ์ร่วมกับคนอเมริกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน เขาเพียงได้ชื่อว่า เป็นคนเคยอยู่อเมริกาเท่านั้น ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีเพื่อนน้อยชอบคบคนไทยคอเดียวกันหรือภาคเดียวกัน จึงไม่แปลกที่โลกทัศน์ของเขาจะคับแคบยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง บ้างกลายเป็นพวกท้องถิ่นนิยมหรือชาตินิยมไปที่สุด ไม่สามารถประยุกต์ประสบการณ์ที่เคยมีในอเมริกาไปใช้ในเมืองไทยใดๆ ได้

เราสามารถพบบุคคลเช่นนี้ได้ทั่วไป ทั้งในเมืองไทยและในอเมริกา เป็นบุคคลที่สับสนในความเป็นตัวตนของเขา เกิดความโละพ่อ คือ อยู่ในอเมริกาเกลียดระบบและแทบทุกสิ่งที่เป็นเอเมริกัน อยู่เมืองไทยถวิลหาและอ้างความเป็นอเมริกันตะพึดตะพือ 

แหละนี่อาจคือ บุคคลที่สับสน สับปลับ กับชีวิตและหลักการใช้ชีวิตมากที่สุดก็ว่าได้

หลักหนึ่งที่เขายึดถือมาตลอดนั่นคือ ท้องถิ่นนิยม จารีตนิยม บุคคลนิยม ระบบอุปถัมภ์ เจ้าขุนมูลนาย ปฏิเสธหลักการประชาธิปไตยและหลักการ“คนเท่ากัน” ในฐานะของคนที่เคยอยู่อเมริกา เขาคิดว่า เขาเหนือกว่าคนไทยทั่วไป

จึงนับเป็น “โมฆะบุคคลผู้มาจากอเมริกา”โดยแท้ !! 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท