Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยทนายความรวม 70 รายชื่อ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงศาลทหารกรุงเทพ ขอให้ทบทวนกรณีสั่งศูนย์ทนายฯ ลบข้อมูลคำเบิกความจากเว็บ และยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารทันที โอนคดีพลเรือนที่ค้างไปยังศาลยุติธรรมโดยเร็ว

8 พ.ย.2561 จากกรณีที่ ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนทนายความอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา กรณีเผยแพร่เนื้อหาการสืบพยานโจทก์ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ในคดีฐนกร (สงวนนามสกุล) แชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมาและสั่งให้ อานนท์ นำภา แจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบข้อความที่ปรากฏในข่าว “ทหารผู้กล่าวหาคดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา ใช้เฟสบุ๊กไม่เป็น แต่เห็นว่าแค่กดไลค์เพจหมิ่นฯ ก็ผิด 112” (http://www.tlhr2014.com/th/?p=8950) บนเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกนั้น

ล่าสุดวานนี้ (7 พ.ย.61) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยองค์กรองค์กรสิทธิมนุษยชน และทนายความรวม 70 รายชื่อ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง เจ้ากรมพระธรรมนูญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขอให้ทบทวนการใช้อำนาจศาลทหารกรุงเทพ กรณีดังกล่าว

จดหมายเปิดผนึกมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ต่อศาลทหารกรุงเทพ ประกอบด้วย 1. เคารพสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เสรีภาพในการแสดงออก และการทำหน้าที่ของทนายความและองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและปกป้องสิทธิมนุษยชน 2. ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่ควรถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางจนกระทบต่อหลักการพิจารณาคดีที่เปิดเผยและหลักสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม และควรอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายซึ่งมีเจตนารมณ์เฉพาะเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปโดยเรียบร้อยและไม่ถูกขัดขวางเท่านั้น

3. ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ  ศาลทหารพึงพิจารณาพิพากษาคดีด้วยความหนักแน่นมั่นคงไปตามหลักกฎหมาย  พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบของคู่ความ ปราศจากอคติทั้งปวง และเป็นอิสระ  ไม่ถูกแทรกแซงจากกระแสสังคม และอำนาจบังคับบัญชา และ 4. ศาลทหารควรทบทวนบทบาทตนเองในการพิจารณาคดีต่อพลเรือน โดยต้องยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารทันที และโอนคดีพลเรือนที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรมโดยเร็ว

รายละเอียด : 

จดหมายเปิดผนึก

วันที่  7  พฤศจิกายน พ.ศ.  2561

เรื่อง    ขอให้ทบทวนการใช้อำนาจศาลทหารกรุงเทพ กรณีการให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบข้อมูลเกี่ยวกับคำเบิกความพยานจากเว็บไซต์

เรียน    เจ้ากรมพระธรรมนูญ, หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร, ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ

สืบเนื่องจากที่ศาลทหารกรุงเทพได้ทำการไต่สวนนายอานนท์ นำภา ทนายความ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 จากกรณีที่เว็บไซต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่คำเบิกความพยานในคดีฐนกร (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการแชร์ผังทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการกดไลค์เพจที่มีข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และโพสต์เสียดสีคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง โดยศาลทหารเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากเอกสารที่นายอานนท์ขอคัดถ่ายไปจากศาล  จากการไต่สวน ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าการเผยแพร่คำเบิกความดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อรูปคดี และเกิดผลกระทบต่อพยานที่มาเบิกความเป็นพยานต่อศาล จึงมีคำสั่งให้นายอานนท์แจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ลบข้อมูลดังกล่าวจากเว็บไซต์ภายใน 24 ชั่วโมง และห้ามมิให้บุคคลหรือองค์ใดนำคำเบิกความพยานและการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในคดีนี้ไปลงเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ได้มีการดำเนินการลบข้อความดังกล่าวออกจากเว็บไซต์แต่อย่างใด เพราะเห็นว่าการเผยแพร่ข้อความพยานดังกล่าวไม่ใช่การกระทำที่เข้าข่ายจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล และเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งต่อศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 แต่ศาลทหารกรุงเทพได้มีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว  นับแต่นั้นเป็นต้นมา ศาลทหารกรุงเทพก็ยังไม่ได้มีการดำเนินมาตรการบังคับใดๆต่อนายอานนท์ นำภา และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี องค์กรและบุคคลผู้มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ยังคงมีความห่วงกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าว เพราะวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณาคดีนายฐนกร ซึ่งเป็นคดีที่นำมาสู่การไต่สวนนายอานนท์ นำภา และให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบข้อความคำเบิกความพยานออกจากเว็บไซต์องค์กร โดยอ้างฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลดังที่กล่าวมา ซึ่งมีแนวโน้มที่ศาลทหารกรุงเทพอาจจะมีการดำเนินมาตรการบังคับหรือมีการดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาลต่อนายอานนท์ นำภาและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

องค์กรและบุคคลผู้มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ จึงมีความเห็นเพื่อขอให้ศาลทหารกรุงเทพทบทวนการบังคับใช้ข้อหาละเมิดอำนาจศาลต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

1. การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีในศาล รวมถึงคำเบิกความพยานเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย  เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเพื่อให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ร่วมตรวจสอบการพิจารณาคดีของศาลได้  และเป็นหลักประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) รับรองไว้  และการจำกัดสิทธิ สามารถทำได้ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อความจำเป็นเกี่ยวกับส่วนได้เสียในเรื่องชีวิตส่วนตัวของคู่กรณี หรือในสภาพการณ์พิเศษซึ่งศาลเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นอาจเป็นการเสื่อมเสียต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเท่านั้น  

คดีของนายฐนกรดังกล่าว เป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย และศาลทหารไม่ได้มีคำสั่งหรือวางข้อกำหนดห้ามประชาชนมิให้เข้าฟังการพิจารณา และไม่ได้ห้ามมิให้มีการเปิดเผยซึ่งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ต่างๆ ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนแห่งคดีซึ่งปรากฏจากคำคู่ความหรือคำแถลงการณ์ของคู่ความหรือจากคำพยานหลักฐานที่ได้สืบมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 36 (1) หรือ (2)  ซึ่งศาลทหารเพิ่งออกคำสั่งให้ลบข้อมูลและห้ามเผยแพร่ภายหลังจากที่มีการเผยแพร่สรุปคำเบิกความไปแล้ว ทั้งที่การเผยแพร่ดังกล่าว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือเหตุผลในทางกฎหมายตามมาตรา 36 (1) หรือ (2) แต่อย่างใด   การห้ามเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีโดยปราศจากข้อเท็จจริงและเหตุผลตามกฎหมายที่ชัดเจนดังกล่าว ย่อมกระทบต่อหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ และกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก การแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14, 19 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 โดยสิทธิดังกล่าวมีความสำคัญและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ความโปร่งใสและความรับผิดชอบของระบบตุลาการ และนำไปสู่การปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 

2. ศาลทหาร เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเช่นเดียวกับศาลอื่นๆ แต่ถูกจำกัดอำนาจหน้าที่ให้พิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญาทหาร หรือคดีที่ทหารกระทำผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษจำคุก แต่ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีพลเรือนว่าศาลทหารจะมี “ความเป็นอิสระ” ในการพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ เพียงใด เมื่ออยู่ภายใต้โครงสร้างและการบริหารงานเดียวกันกับฝ่ายบริหาร

อย่างไรก็ตาม  แม้โครงสร้างของศาลทหารจะเป็นเช่นนั้น การพิจารณาพิพากษาคดีย่อมต้องอยู่ภายใต้หลักความเป็นอิสระ และปราศจากการแทรกแซง การที่ศาลทหารมีคำสั่งในคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณา โดยวินิจฉัยว่าการนำคำเบิกความของพยานไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปทราบ ย่อมมีผลต่อการชี้นำสังคมให้รูปคดีเป็นไปตามที่ฝ่ายตนต้องการ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 36 (2) ทั้งที่เนื้อหาคำเบิกความที่มีการเผยแพร่นั้นไม่มีส่วนใดที่กระทบต่อศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตยหรือส่วนได้เสียในเรื่องชีวิตส่วนตัวของคู่กรณี  อีกทั้ง การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวย่อมไม่สามารถชี้นำสังคมหรือส่งผลใดๆ ต่อการพิจารณาคดีของศาลจนทำให้เสียความยุติธรรมไป และยังไม่ถึงขั้นที่จะก่อภยันตรายที่ชัดแจ้งและใกล้จะถึงต่อการบริหารความยุติธรรมของศาลได้  คำสั่งข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นของสาธารณชน ซึ่งศาลทหารในฐานะที่ใช้อำนาจตุลาการพึงทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีด้วยความหนักแน่นมั่นคงไปตามหลักกฎหมาย  พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบของคู่ความ ปราศจากอคติทั้งปวง และเป็นอิสระและไม่ถูกแทรกแซงจากกระแสสังคมด้วย

นอกจานี้ คำสั่งในลักษณะดังกล่าว รวมถึงการห้ามเผยแพร่สรุปคำเบิกความของพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร และการเตรียมการดำเนินคดีกับนายอานนท์ นำภา และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่เป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อาจถูกตั้งคำถามได้ถึงบทบาทที่เหมาะสมในฐานะผู้ใช้อำนาจตุลาการ ที่อาจส่งผลกระทบหรือส่งผลเป็นการยับยั้งการทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความได้  

ด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น บุคคลผู้มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อศาลทหารกรุงเทพ ดังต่อไปนี้

1. เคารพสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เสรีภาพในการแสดงออก และการทำหน้าที่ของทนายความและองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและปกป้องสิทธิมนุษยชน 

2. ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่ควรถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางจนกระทบต่อหลักการพิจารณาคดีที่เปิดเผยและหลักสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม และควรอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายซึ่งมีเจตนารมณ์เฉพาะเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปโดยเรียบร้อยและไม่ถูกขัดขวางเท่านั้น

3. ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ  ศาลทหารพึงพิจารณาพิพากษาคดีด้วยความหนักแน่นมั่นคงไปตามหลักกฎหมาย  พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบของคู่ความ ปราศจากอคติทั้งปวง และเป็นอิสระ  ไม่ถูกแทรกแซงจากกระแสสังคม และอำนาจบังคับบัญชา

4. ศาลทหารควรทบทวนบทบาทตนเองในการพิจารณาคดีต่อพลเรือน โดยต้องยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารทันที และโอนคดีพลเรือนที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรมโดยเร็ว

ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

3. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

4. Advocates for Freedom of Expression-Southeast Asia (AFEC-SEA)

5. Center for International Law Philippines (Center Law Philippines)

6. Legal Aid Center for the Press (LBH Pers Indonesia)

7. สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ

8. แสงชัย รัตนเสรีวงศ์ ทนายความ

9. สมชาย หอมลออ ทนายความ

10. รัษฎา มนูรัษฏา ทนายความ

11. เลาฟั้ง  บัณฑิตเทิดสกุล ทนายความ

12. ศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมาย

13. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ

14. สุรชัย ตรงงาม ทนายความ

15. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

16. จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ

17. คอรีเยาะ มานุแช ทนายความ

18. กฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ

19. สุพรรษา มะเหร็ม ทนายความ

20. อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความ

21. ผรัณดา ปานแก้ว ทนายความ

22. พนม บุตะเขียว ทนายความ

23. สุริยง คงกระพันธ์ ทนายความ

24. วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ

25. สนธยา โคตรปัญญา

26. ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความ

27. สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์

28. ทิพพวรรณ ถิ่นมะลวน ทนายความ

29. ณัฐชัตยากร กัญฐณา ทนายความ

30. ทิตศาสตร์ สุดแสน

31. ศุภมาศ มะละสี ทนายความ

32. บัณฑิต หอมเกษ

33. พรพิมล มุกขุนทด

34. ยุพิน เขียวขำ ทนายความ

35. อนุชา วินทะไชย

36. คุณัญญา สองสมุทร ทนายความ

37. สัญญา เอียดจงดี ทนายความ

38. อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความ

39. วีรวัฒน์ อบโอ  ทนายความ

40. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความ

41. ลดา ตรีศักดิ์ศรีสกุล ทนายความ

42. สุรศิษฏ์ เหลืองอรัญนภา ทนายความ

43. อุบลวรรณ บุญรัตนสมัย นักกฎหมาย

44. ธีรพันธุ์  พันธุ์คีรี ทนายความ

45. ปรีดา นาคผิว ทนายความ

46. ปภพ เสียมหาญ นักกฎหมาย

47. กาญจนา อัครชาติ ทนายความ

48. พนิตพิชา ใต้แสงทวีธรรม นักกฎหมาย

49. ศศิประภา ไร่สงวน ทนายความ

50. ยูฮานี เจ๊ะกา นักกฎหมาย

51. มนัญญา พูลศิริ  นักกฎหมาย

52. สุธาทิพย์ อมปาน

53. ณิชกานต์ จันทรภาพ นักกฎหมาย

54. พิศาล เกิคควน นักกฎหมาย

55. จริงจัง นะแส ทนายความ

56. มนตรี อัจฉริยสกุลชัย นักกฎหมาย

57. นภาพร สงปรางค์ ทนายความ

58. สุทธิเกียรติ ธรรมดุล ทนายความ

59. เติมพล ทองสุทธิ์ นักกฎหมาย

60. ดนัยกฤต ศรีคาน ทนายความ

61. วราภรณ์ อินทนนท์ นักกฎหมาย

62. หทัยกานต์ เรณูมาศ

63. ประดิษฐา ปริยแก้วฟ้า นักกฎหมาย

64. วลีรัตน์ ชูวา นักกฎหมาย

65. ธรธรร การมั่งมี  นักกฎหมาย

66. วรวุธ ตามี่ นักกฎหมาย

67. อัญญาณี ไชยชมภู นักกฎหมาย

68. มนทนา ดวงประภา

69. Gilbert Andres, the Chairperson of AFEC-SEA and Deputy Executive Director of Center Law Philippines.

70. Ade Wahyudin, Lawyer of Legal Aid Center for the Press (LBH Pers Indonesia)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net