Skip to main content
sharethis

สนช. ค้าน เผย กก.สภามหา'ลัยหลายคนเปรยๆ จะลาออก โดย 'สกอ.-ทปอ.' สรุป กก.สภามหา'ลัยไม่ควรต้องยื่น จ่อส่ง ป.ป.ช.ทบทวน ด้าน ปธ.ป.ป.ช. ชี้ในอนาคตเจตนารมย์ กม. อนาคตข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ต้องยื่นทั้งหมดเป็นล้านคน ขีดเส้นสัปดาห์หน้าได้ข้อยุติ ยันพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ‘สารี’ หนุน กก.องค์กรอิสระ-สภามหา'ลัยแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพื่อความโปร่งใส คุมทุจริต

8 พ.ย.2561 ภายหลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยนั้น

สนช. ค้าน เผย กก.สภามหา'ลัยหลายคนเปรยๆ จะลาออก

วันนี้ (8 พ.ย.61) เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับประกาศ ป.ป.ช. ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เพราะ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจอนุมัติเกี่ยวกับการเงินน้อยมาก จะประชุมงบประมาณเพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น สภามหาวิทยาลัยจึงไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือสามารถไปล้วงลูกการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยได้

อำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย จึงไม่ตอบสนองต่อหลักคิดเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของป.ป.ช. หากกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจริง จะมีคนเก่ง คนดี ที่มหาวิทยาลัยเชิญมาช่วยงานมหาวิทยาลัย ลาออกจำนวนมาก เพียงพอที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยได้ การที่กรรมการมหาวิทยาลัยไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ได้เป็นเพราะกลัว ทุกคนไม่กลัว แต่เห็นว่า เป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ โดยไม่สมเหตุผลกับตำแหน่งหน้าที่ ส่วนกมธ.ศึกษาและกีฬาของสนช. คงไม่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ทั้งรัฐบาล และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เคลื่อนไหว เพื่อหาทางออกเรื่องร่วมกับป.ป.ช.อยู่แล้ว

วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ สมาชิกสนช. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ประกาศ ป.ป.ช.ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นปัญหามาก เพราะบุคคลที่มหาวิทยาลัยเชิญมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ทำให้เกิดความกังวล หากจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะหากยื่นผิดจะมีความผิดทางกฎหมาย จึงอยากให้ป.ป.ช.ทบทวนเรื่องนี้ คำว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่ระบุอยู่ในกฎหมายลูกให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ไม่ควรรวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

เพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักธุรกิจเหล่านี้ มีมุมมองประสบการณ์ ให้คำแนะนำด้านการบริหารงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยมากมาย คนเหล่านี้ไม่มีเงินเดือน มีแค่เบี้ยประชุมเท่านั้น อย่างสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนี้ ก็มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนเปรยๆ จะลาออก หากต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย สายที่เป็นอาจารย์ก็อยากยื่นลาออกด้วย ประกาศป.ป.ช.ฉบับนี้ครอบคลุมกว้างมาก แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็อยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการสำนักงานราชบัณฑิตสภาเอง ก็อยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเช่นกัน ทั้งที่หน้าที่มีหน้าที่ส่งเสริมเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเลย

(ที่มา ข่าวสดออนไลน์)

'สกอ.-ทปอ.' สรุป กก.สภามหา'ลัยไม่ควรต้องยื่น จ่อส่งป.ป.ช.ทบทวน

เช่นเดียวกับวานนี้ (7 พ.ย.61) ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประชุมหารือถึงประกาศ ป.ป.ช.ดังกล่าว ร่วมกับ ตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 

สุชัชวีร์ กล่าวว่า ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในภาครัฐ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ อธิการบดี และรองอธิการบดีจึงควรยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ตามที่กำหนดในประกาศ แต่การที่ให้นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านวิชาการเป็นหลัก ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโดยตรง อันจะทำให้เกิดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ กรรมการสภาฯ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหาร หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้กรรมการสภาฯ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเสนอให้ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนประกาศ ดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย เพราะตอนนี้กรรมการสภาฯ บางแห่งได้ยื่นลาออกแล้วจริงๆ ทำให้เกิดปัญหาและอาจส่งผลกระทบต่อนักศึกษา จากนี้จะทำหนังสือถึง ป.ป.ช.และเตรียมจะเข้าไปหารือกับประธานป.ป.ช.อย่างเป็นทางการต่อไป

"ผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ ทำให้นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ บางแห่งไม่ประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะการยื่นบัญชีทรัพย์สินแม้ว่าจะเป็นการแสดงความบริสุทธ์ใจ เพื่อธรรมาภิบาลแต่ก็เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องยื่นทรัพย์สินมากเกินควร รวมทั้งต้องยื่นทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรด้วย ขณะเดียวกันระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ เพียง 60 วัน ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องและครบถ้วนได้ ดังนั้นหากยื่นบัญชีผิดพลาด แม้ไม่ได้เจตนาก็อาจมีโทษทางอาญาและถูกศาลพิพากษาจำคุกได้ จึงได้มีนายกสภาฯ และกรรมการสภาฯบางแห่งยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว ส่งผลกระทบให้สภาฯ มีกรรมการสภาฯ ไม่ครบองค์ประชุมไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ส่งผลเสียต่อการบริหารงานในมหาวิทยาลัยและนิสิต นักศึกษา" ประธาน ทปอ.กล่าว 

(ที่มา ไทยโพสต์)

ปธ.ป.ป.ช. ชี้ในอนาคตเจตนารมย์ กม. อนาคตข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ต้องยื่นทั้งหมดเป็นล้านคน

ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงข้อทักท้วงกรณี ป.ป.ช.ขยายตำแหน่งที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ต่อ ป.ป.ช.ครอบคลุมถึงตำแหน่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัย และ บุคคลากรในสถาบันอุดมศึกษาว่า เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กำหนดให้ ป.ป.ช.ต้องประกาศให้ตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งตำแหน่งระดับสูงครอบคลุมถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ป.ป.ช.ไม่สามารถละเว้นตำแหน่งใดได้ เพราะเจตนารมย์ของกฎหมายจริงๆ ในอนาคตข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ต้องยื่นทั้งหมดเป็นล้านคน ดังนั้นหากมีปัญหาว่าจะเป็นการสร้างภาระมากเกินไปก็สามารถเสนอความเห็นมาได้ เพื่อจะได้หาทางออกต่อไป 

ขีดเส้นสัปดาห์หน้าได้ข้อยุติ ยันพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย

ขณะที่วันนี้ (8 พ.ย.61)  พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวอีกว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปจะได้ข้อยุติอย่างไร ป.ป.ช.อยู่ระหว่างรอฟังความเห็นจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ(ทปอ.) รวมทั้งรอหารือกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำลังประสานวันเวลากันอยู่ จะพยายามให้ได้ข้อยุติภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้มีเวลาตัดสินใจแบบไม่กระชั้นชิด เพราะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ สิ่งที่ป.ป.ช.ดำเนินการนั้น เป็นไปตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่กำหนดให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่ใช้อำนาจปกครองทางบริหารต้องแสดงความโปร่งใส ป.ป.ช.จึงดำเนินการไปตามขั้นตอน

ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ประกาศที่ออกไปทำไปตามกฎหมาย เราไม่รู้ว่าไปกระทบกับตำแหน่งอะไรบ้าง เมื่อถามว่า นอกจากตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยแล้ว ยังกระทบถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีพระเถระผู้ใหญ่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.)ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ป.ป.ช.กำลังพิจารณาผล กระทบจากประกาศดังกล่าวว่า ส่งผลกระทบกับบุคคลเฉพาะกลุ่ม หรือคนจำนวนมาก เรื่องนี้ต้องดูองค์รวมว่ามีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ยืนยันป.ป.ช. พร้อมฟังความเห็นทุกฝ่าย

(ที่มา ช่อง 3และ ไทยโพสต์)

วิษณุ เผยนัดคุย ป.ป.ช.แล้วหาทางออก

วันเดียวกัน (8 พ.ย.61) วิษณุ ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนไปหารือกับ ป.ป.ช. ถึงกรณีดังกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับ ป.ป.ช. ได้นัดแล้วแต่ยังไม่ได้พบเพราะทาง ป.ป.ช.ยังไม่สะดวกเพราะต้องเตรียมข้อมูลบางอย่าง ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องพูดคุยกับประธาน ป.ป.ช.เท่านั้น แล้วแต่ว่าจะมอบหมายใครมา และกรณีนี้มีคำถามเยอะประมาณ 10 ข้อ

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพระเถระชั้นผู้ใหญ่และองคมนตรีที่เข้าไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องยื่นตามประกาศ ป.ป.ช.นี้ด้วยหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ตามในกฎหมายถ้าดำรงตำแหน่งก็ต้องยื่น เมื่อถามว่าส่วนตัวคิดว่าจะต้องแก้ในส่วนไหนบ้างรองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ขอตอบเพราะเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.และเรากำลังจะคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน

เมื่อถามว่าส่วนตัวได้หาทางออกไว้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ได้เตรียมทางเข้า” เมื่อถามอีกว่า มีแนวโน้มที่จะใช้ ม.44 อีกครั้งในการแก้ไขกฎหมายนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เคยคิดเรื่องนั้น เพราะอยู่ที่ ป.ป.ช.จะมีวิธีการอย่างไร อำนาจอยู่ที่ประธาน ป.ป.ช.จะวินิจฉัย เมื่อถามย้ำว่าสุดท้ายแล้วจะมีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่กล้าพูด รู้อย่างเดียวตนต้องยื่น

(ที่มา ผู้จัดการออนไลน์)

‘สารี’ หนุนแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพื่อความโปร่งใส คุมทุจริต

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และในฐานะ บอร์ด สปสช. สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระหลายคน ทั้งสภามหาวิทยาลัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมลาออกหลายคน ภายหลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศให้ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ในส่วนของตนเองมีความเห็นต่อเรื่องนี้ 3 ประเด็น คือ

1.กรรมการระดับสูงของหน่วยงานในประเทศนี้ควรต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพราะต้องช่วยกันสนับสนุนการสร้างความโปร่งใส การป้องกันทุจริตและคอรัปชั่น รวมถึงการสร้างธรรมาภิบาล เป็นหนึ่งในความรับผิดชอบ ซึ่งจากการทำงานในบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมา หากถามว่ามีอะไรที่ไม่โปร่งใสหรือไม่ ก็คงไม่มี เพราะว่าในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากกรรมการท่านใดมีส่วนที่เกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็จะออกการพิจารณาก่อน

2.ความเข้มแข็งของ ป.ป.ช.ในการจริงจังกับการใช้ข้อมูลที่ได้รับหรือกรณีการพบทุจริตที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังให้เห็นผล ซึ่งจะทำให้มีผู้สนับสนุนการแสดงบัญชีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งที่ผ่าน ป.ป.ช.ยังไม่ได้ทำให้เห็นว่ามีความเข้มแข็งและใช้ข้อมูลที่ได้เหล่านี้เพื่อป้องกันและควบคุมการทุจริตอย่างไร

ยกตัวอย่างกรณีการตรวจสอบการแสดงบัญชีทรัพย์สินในรัฐบาลนี้ ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบพบบางคนมีทรัพย์สินถึง 300 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างไร ไม่มีการจัดการอะไร อาจเป็นเหตุทำให้คนไม่ค่อยสนับสนุนได้เพราะดูแล้วว่า เมื่อให้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินไปแล้วก็ไม่เห็นมีประโยชน์หรืออะไรเกิดขึ้น

3.หน่วยงาน และ ป.ป.ช.ต้องมีระบบรายงานที่ง่ายและเป็นมืออาชีพ เพื่อสนับสนุนและคอยอำนวยการทำหน้าที่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินของกรรมการ ซึ่งจากการประกาศลาออกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ของนายดํารง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา จากที่ได้ดูการชี้แจงผ่าน You tube ก็เข้าใจ เพราะตัวเองก็เคยมีประสบการณ์ที่พบปัญหาในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย เนื่องจากเราไม่ใช่ข้าราชการระดับสูง ไม่ใช่นักการเมือง บางครั้งเราก็จำกระบวนการและขั้นตอนช่วงเวลาที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ได้ เช่น ต้องยื่นหลังพ้นตำแหน่ง 30 วัน 1 ปี หรือ 3 ปี เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีกลไกที่มาคอยเตือนและสนับสนุน

เช่น ปัจจุบันตนเป็นกรรมการ สปสช. อยู่ ในการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ทั้ง ป.ป.ช. และ สปสช.ควรมีไทม์ไลน์ที่คอยเตือนกรรมการ สปสช.ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินที่เป็นการสนับสนุนการทำงานของกรรมการ เพื่อไม่ให้ทำผิดกติกา เพราะบางครั้งกรรมการอาจลืมได้ ไม่ได้มีเจตนาปกปิดที่จะไม่รายงาน ซึ่งกรณีของคุณดำรงระบุว่า ได้เคยเปิดบัญชีธนาคารไว้ในต่างจังหวัด แต่ก็ลืมไปจึงไม่ได้รายงาน ไม่ได้เจตนาที่จะไม่รายงาน ดังนั้น ป.ป.ช.เองต้องไม่หยุมหยิมกับประเด็นและรายละเอียดเล็กน้อยหล่านี้ โดยต้องดูจากเจตนาเป็นหลัก นอกจากนี้ควรปรับปรุงระบบเพื่อทำให้ผู้ที่ต้องรายงานบัญชีทรัพย์สินมีความง่ายและสะดวกในการจัดการ

“การลาออกของกรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการ สปสช.ทั้ง 4 คน เป็นสิทธิของแต่ละคน ซึ่งบางคนไม่อยากยุ่งยากวุ่นวายในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจึงถอนตัว เพราะประกาศฉบับใหม่นี้ครอบคลุมไปถึงครอบครัวและลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงเป็นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจะเป็นเหตุกระทั่งทำให้คนไม่อยากเข้ามาทำงาน หรือหาคนมาทำหน้าที่ไม่ได้เลยนี้ มองว่าประเทศคงไม่ขาดแคลนขนาดนั้น แต่ในฐานะกรรมการระดับสูงของหน่วยงานต้องสนับสนุนกระบวนการป้องกันการทุจริต ความโปร่งใส และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น” กรรมการ สปสช. กล่าว

(ที่มา :  Hfocus.org)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net