ป่าตะนาวศรีกลายเป็นที่ปะทะขององค์กรสิ่งแวดล้อมต่างชาติ-ชาวบ้านในพื้นที่

รายงานในเดอะการ์เดียนระบุถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างเรื่องแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากภายนอกกับการดูแลพื้นที่ป่าในแบบของชาวบ้านปกาเกอะญอ โดยที่แนวคิดอนุรักษ์จากหน่วยงานการกุศลของอังกฤษเริ่มส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากสงครามในพม่า 

ภาพกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) จัดงานรำลึกวันจับอาวุธลุกสู้กับกองทัพพม่า ภาพถ่ายเมื่อปี 2557 (ที่มา: แฟ้มภาพ)

เมื่อ 2 พ.ย. 2561 เดอะการ์เดียนรายงานว่า กลุ่มเฟานาแอนด์ฟลอราอินเตอร์เนชันแนล (FFI) กลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (UN) กำลังพยายามดำเนินการคุ้มครองพื้นที่ราว 3,200 ตร.กม. ในเขตตะนาวศรีทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า แต่โครงการดังกล่าวถูกต่อต้านจากกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่ต้องอาศัยพื้นที่ป่าในการดำรงชีวิต พวกเขากลัวว่าถ้าหากมีการทำให้พื้นที่ป่ากลายเป็นเขตป่าสงวนแล้วจะทำให้พวกเขาปลูกพืช, สร้างบ้าน หรือหาอาหารในพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้

นอกจากนี้ องค์กรที่่ชื่อสหพันธ์อนุรักษ์แห่งตะนาวศรี (CAT) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ในท้องถิ่นของพม่ายังระบุอีกว่าการตั้งพื้นที่คุ้มครองของ FFI จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่พลัดถิ่นเพราะความขัดแย้งหาที่อยู่อาศัยใหม่ไม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นแผนการที่จะไปรบกวนข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 2555 ระหว่างกลุ่มกบฏสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (KNU) กับกองทัพพม่า ข้อตกลงดังกล่าวระบุให้พื้นที่ๆ กลุ่มกบฏยึดครองอยู่จะตกไปอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลเป็นข้อตกลงที่ถูกมองว่ามีความเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม แฟรงค์ มัมเบิร์ก ผู้อำนวยการโครงการของ FFI ในพม่าก็ชี้แจงว่า "มีการตีความผิดๆ และได้รับข้อมูลที่ผิด" เกี่ยวกับโครงการ โดยบอกว่าทาง FFI จะไม่กำหนดให้พื้นที่หมู่บ้านของชาวบ้านกลายเป็นพื้นที่คุ้มครองโดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากชนชาติพันธุ์ แต่ทว่าคนในพื้นที่หลายคนก็ยังคงกังขาและรู้สึกไม่พอใจที่ไม่มีความโปร่งใสในเรื่องนี้ ชาวบ้านบางคนบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการโครงการนี้ตั้งแต่แรกและอยากให้ผู้ให้ทุน FFI ในอังกฤษมาดูสถานการณ์ในพื้นที่ด้วยตนเอง

ในแง่ของข้อวิจารณ์เรื่องความโปร่งใสนั้นมีการยกตัวอย่างกรณีหมู่บ้านเฮนไล (Hein Lai) ซึ่งไม่ได้รับข้อมูลทั้งหมดจาก FFI แต่พวกเขารับรู้ข้อมูลวัตถุประสงค์การสำรวจพื้นที่เพื่อจัดวางเขตป่าสงวนจากองค์กร CAT ซึ่งทาง CAT บอกว่าถือเป็น "การละเมิดสิทธิของชาวบ้านอย่างร้ายแรง" ที่ไม่ได้ให้ชาวบ้านมีโอกาสพิจารณาและให้ความยินยอมจากข้อมูลที่ครบถ้วน ทางด้านมาร์ค ไกรนด์ลีย์ จาก FFI ระบุว่าการขอความยินยอมจากชาวบ้านทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติภายใต้ระยะเวลาของโครงการ พวกเขาคิดว่านับจากนี้ไปเจ้าหน้าที่ของ FFI จะไม่ได้รับการต้อนรับจากกลุ่ม KNU ให้เข้าไปในพื้นที่

ความขัดแย้งในเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการที่ชุมชนผู้อาศัยอยู่ร่วมกับป่าพยายามต้านทานแนวทางแบบอนุรักษ์ธรรมชาติจากต่างชาติ วิกตอเรีย เทาลี-คอร์ปัซ เจ้าหน้าที่รายงานพิเศษด้านสิทธิของชนพื้นเมืองจาก UN เปิดเผยในรายงานเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า องค์กรด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่เคารพในสิทธิชนพื้นเมืองเท่าที่ควร จากการสำรวจในช่วงระหว่างปี 2533-2557 มีชนพื้นเมืองราว 250,000 ราย ถูกบีบให้ต้องออกจากบ้านของตัวเอง บางครั้งก็ถูกบังคับด้วยกำลังเพื่อทำให้พื้นที่นั้นๆ เป็นพื้นที่อนุรักษ์

นอกจากนี้ ฝ่ายการป่าไม้ของ KNU ยังวิจารณ์ว่าโครงการของ FFI จะทำให้เกิดการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับกองทัพพม่าในพื้นที่นั้นๆ ในแง่นี้โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติจะยิ่งกลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่พิพาทและส่งผลกระทบต่อพลเรือนอย่างใหญ่หลวง

เรียบเรียงจาก

Displaced villagers in Myanmar at odds with UK charity over land conservation, The Guardian, Nov. 2, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท