Skip to main content
sharethis

เวียดนามยกระดับการควบคุมพื้นที่ออนไลน์ผ่านเครื่องมือใหม่ นวัตกรรมจากฝ่ายสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐบาล พร้อมควบคุมผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูลการใช้งานภายนอกประเทศ รัฐบาลอ้างเพื่อเป็นการจัดการกับการคุกคามและบิดเบือนในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีในเวียดนาม ภาพถ่ายปี 2552 (ที่มา: Flickr/Toyohara)

9 พ.ย. 2561 กรณีรัฐบาลเวียดนามจะเพิ่มมาตรการสอดส่องว่างสารในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้น BBC ภาษาเวียดนามรายงานข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงต่อมาจากคำแถลงการณ์ของฝ่ายความมั่นคงสาธารณะและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตอบข้อซักถามต่อสภาแห่งชาติของเวียดนาม

รมว.ไอซีทีระบุเตรียมผุดเครื่องมือ "จัดการขยะอินเทอร์เน็ต"

ข้อมูลจากการตอบข้อซักถามต่อสภาแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 61 ที่ผ่านมา เครื่องมือจัดการขยะอินเทอร์เน็ตเป็นของศูนย์ให้คำปรึกษาและดูแลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ  ในส่วนของข้อมูลจากรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร เหวียนแหม่งญ์หุ่ง “เครื่องมือจัดการขยะอินเทอร์เน็ต” นี้สามารถอ่าน วิเคราะห์ ประเมิน และจำแนกข่าวสารได้ราว 100 ล้านข่าวในแต่ละวัน

สาเหตุที่ต้องใช้เครื่องมือนี้ เหวียนแหม่งญ์หุ่ง ให้เหตุผลไว้ว่าในปัจจุบันนี้ บนโซเชียลเน็ตเวิร์กมีข่าวสารมากกว่า 100 ล้านข่าวสาร จึงไม่สามารถใช้คนในการตรวจสอบได้ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ ซึ่งเขาเรียกว่า “เครื่องมือจัดการขยะ”

นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวต่อว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนิยามในทางกฎหมายว่าอะไรคือข้อมูลเท็จหรือข่าวโคมลอย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องมีหลักฐานจากประชาชนผู้เสียหาย

จัดการการหมิ่นประมาทบนพื้นที่ออนไลน์

ในช่วงเดียวกันนั้นเอง รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ โตเลิม ให้ข้อมูลผ่านคำตอบของเขาที่ถูกยื่นแก่ผู้แทนของสภาแห่งชาติเหวียนสีเกืองในวันที่ 31 ตค. 61 ว่าได้จัดการคดี “หมิ่นประมาทบนพื้นที่ออนไลน์” ไปจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ในขั้นของการยับยั้งนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดขับอุปสรรคบางประการ

ประการแรกคือเรื่องภูมิศาสตร์ ข้อมูลเชิงจาบจ้วงหรือล่วงละเมิดที่ “ไร้ที่มา” นั้นไม่ได้มาจากแค่ในเวียดนาม แต่มาจากทั่วทุกประเทศ

ประการที่สองคือด้านกฎหมายที่ยังไม่พัฒนา ในการจัดการกับคดีข้อมูลบิดเบือนหรือหมิ่นประมาทนั้นจำเป็นต้องมีหลัดฐาน ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่สืบเสาะ แต่เราไม่มี

จากรายงานของเว็บไซต์ Zing.vn เหวียนสีเกืองได้กล่าว่า มีผู้ที่ “ถือตนเป็นที่ตั้ง” คุกคามผู้อื่นบนโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นเวลานานแล้ว เขาได้ยกตัวอย่างว่าหลังการลงมติไว้วางใจในสภาแห่งชาติ ก็มีการแสดงออกในเชิง “หมิ่นประมาทต่อรัฐมนตรี”

ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องการทราบว่า คณะรัฐบาลและกระทรวงความมั่นคงสาธารณะสามารถจัดการกรณีเหล่านี้ได้หรือไม่

โตเลิมเองก็ยอมรับว่าการจัดการกับการ “ใส่ร้าย” “จาบจ้วง” นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่ ‘บิดเบือน’ ข้อมูลนั้นกระทำในรูปแบบของบุคคลนิรนาม

เขายังได้กล่าวต่อว่าจะทำการรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับ “การกระทำที่มุ่งโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล” “การกระทำที่คุกคาม บิดเบือน ใส่ร้าย ดูหมิ่นชื่อเสียงบนพื้นที่อินเทอร์เน็ต” เพื่อสะสางจัดการ

ในส่วนของวันที่ 1 พ.ย. นั้น โตเลิมก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มในการตอบคำถามต่อสภาแห่งชาติว่า กระทรวงความมั่นคงสาธารณะกำลังร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อตอบโต้พฤติกรรมต่อต้าน จาบจ้วงบิดเบือนบนพื้นที่อินเทอร์เน็ต

กำหนดให้ผู้บริการลบข้อมูลอันเป็นเท็จ

รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารเหวียนแหม่งญ์หุ่ง ได้กล่าวว่า ความท้าทายในปัจจุบันคือการที่โซเชียลเน็ตเวิร์กข้ามพรมแดนได้ ข่าวสารต่างๆ จากภายนอกต่างหลั่งใหลเข้าสู่เวียดนาม

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องขอ “ความร่วมมือ ‘อย่างเคร่งครัด’ จากบรรดาผู้ให้บริการ ให้เคารพกฎหมายเวียดนาม โดยเฉพาะในแง่ของการจัดการกับข่าวสารข้อมูล” 

เขากล่าวต่อว่า วิธีการนี้สามารถเรียนรู้ได้จากประเทศแถบอียูและอาเซียนที่เคยทำกับเฟซบุ๊คและยูทูบ และจำเป็นที่จะต้องมีการลงโทษผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จบนอินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นการ ‘เคารพกฎหมาย’

กระทรวงความมั่นคงสาธารณะกำลังร่วมมือกับกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารในการขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มี “เนื้อหาเลวร้าย” ราว 3,000 หน้าเว็บ
ข้อมูลจาก AFP รายงานว่า กฎหมายความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งผ่านการอนุมัติในเดือนมิถุนายนปีนี้  และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2562 นั้น ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ลอกมาจากจีน และสร้างความกังวลแก่สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ตามกฤษฎีกาฉบับนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศจะถูกบังคับให้ก่อตั้งสำนักงานในเวียดนามและเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ภายในประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็จะประกอบไปด้วยข้อมูลตรวจพิสูจน์บุคคล ประวัติการเงิน มุมมองทางการเมือง และด้านศาสนา

ซึ่งร่างกฤษฏีกาผลักดันกฎหมายความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ตที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมากจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net