Skip to main content
sharethis

ประธาน กกต. เผยยังไม่ตัดสินใจว่าจะให้ EU เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหรือไม่ ระบุครั้งนี้ขอมาเยอะ และขอไปสังเกตทุกที่ หวังถ้าได้เขาเข้ามาจะเป็นการสังเกตการณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่มาจับผิด ทั้งนี้ กกต. จะพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 2 สัปดาห์หน้า รอคุยกับกระทรวงต่างประเทศก่อน

อิทธิพร บุญประคอง ภาพจากเว็บไซต์สำนักงาน กกต.

8 พ.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่าตามที่เคยให้ข่าวว่าได้รับการติดต่อจากอียูเรื่องขอส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2562 ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่เนื่องจาก กกต. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง การพิจารณาเรื่องนี้จึงอาจขยับไปอีกสองสัปดาห์ เพราะ กกต. ต้องหารือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศที่อาจจะบันทึกพฤติกรรมผู้ที่เคยมาสังเกตการณ์เชิงความเหมาะสมที่อาจนำข้อสังเกตการณ์ไปทำอะไรที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจขั้นสุดท้าย เพราะเราไม่อยากตัดสินใจโดยลำพัง ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเอกสารที่อียูส่งมาให้  

“ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมาหรือ 15 ปีมาแล้ว ที่ กกต. เคยเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศที่ กกต. ไทยเคยไปสังเกตการณ์ในประเทศของเขาหรือประเทศใหม่ๆ ที่สนใจจะมาหรือองค์การระหว่างประเทศ (เอ็นจีโอ) ที่อยากมาสังเกตการณ์ในบ้านเรา สามารถเข้ามาได้ภายใต้โปรแกรมผู้สังเกตการณ์ของ กกต. หรือ  Visitor Program ซึ่งมีสาระสำคัญคือต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย และเงื่อนไขที่เราขอร้อง เช่น จะไปไหนต้องแจ้งต้องบอกเรา และในบางพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องขออนุญาตในบางพื้นที่ที่ล่อแหลมมีความเสี่ยง มาสังเกตการณ์ แต่ไม่ใช่มายุ่มย่ามหรือรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็มีการเข้ามาสังเกตการณ์โดยเฉพาะอียูเองเคยส่งมา 2 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาอียูขอมาเป็น Election Expert Mission (EEM) แต่คราวนี้ขอมาแบบ Election Observation Mission (EOM) ซึ่งค่อนข้างใหญ่และซับซ้อนกว่า ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่าย Visitor Program ที่เราเปิดกว้างให้อยู่” อิทธิพร

ต่อคำถามว่า กกต. ต้องถามความเห็นจาก คสช. ก่อนตัดสินใจหรือไม่ อิทธิพร กล่าวว่า ยังไม่คิดว่า กกต. จะต้องไปขออนุมัติหรืออนุญาตจาก คสช. เพราะเป็นเรื่องการจัดการเลือกตั้งโดยแท้ และการเข้ามาสังเกตการณ์ไม่น่าจะมีประเด็นกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยตรง แต่หาก คสช. มีความเห็นเบื้องต้นก่อนที่เราจะถามไปเราก็อาจนำประกอบการพิจารณา คือความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือแม้แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็มีความหมาย เราก็จะถามเขาไป ส่วนคสช.ถ้ามีความคิดอย่างไรเราก็รับฟัง   

อิทธิพร กล่าวถึงกรณีดอน ปรมัถต์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วยกับการให้องค์กรต่างประเทศมาสังเกตการณ์ ว่า สิ่งที่นายดอนพูดถึงเงื่อนไขของการมาสังเกตการณ์นั้นถูกต้อง คือเมื่อคุณขอมาดูก็ควรจะเป็นการสังเกตการณ์อย่างสร้างสรรค์ คือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กฎหมาย แล้วเสนอแนะด้วยใจที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่มาแถลงข่าวติติง มาจับผิด หรือทำตัวเป็นกรรมการตัดสินการเมืองในประเทศอื่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net