เรียนครู 4 ปี โหด-เร็ว-ดี อย่างไร? : คำถามที่รัฐบาลเผด็จการแย่งสาธารณะคิดและตอบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

 

 


ภาพประกอบจาก https://imgflip.com/i/t2qot

ยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีที่เหล่าคนหวังดีที่มีจิตใจคับแคบทั้งหลายร่วมกันผลักดัน กำลังออกฤทธิ์ผ่านกระบวนการเร่งรัดมัดมือชกในหลายวงการที่เชื่อกันว่า ประเทศนี้มีปัญหาหมักหมม ต้องทำการผ่าตัด แก้ไข หรืออะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลเผด็จการใช้เวลาแสนสั้น ใช้อำนาจสั่งการมากกว่าการมีส่วนร่วม เพื่อให้คนต้องทนอยู่ภายใต้แนวคิดที่ดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ไปอีก 2 ทศวรรษ บทความนี้ขอยกเรื่องวงการศึกษาว่าด้วยการมัดมือชกให้หลักสูตรครูลดการเรียนการสอนเหลือเพียง 4 ปี ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งไปถึงคนในวงกว้าง แต่กลับมีคนเพียงหยิบมือที่ "คิดแทน" "ทำแทน" โดยเชื่อว่า ตนเองเป็นผู้รู้ดี แต่อย่าลืมว่า การแก้ไขปัญหาที่ว่ามันซับซ้อนมากกว่าการบริหารคลินิกเล็กๆ

สำหรับคนนอกวงการศึกษา อาจได้ยินข่าวกระเซ็นกระสายมาบ้างแล้วว่า รัฐบาลต้องการปฏิรูปการศึกษา ประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนมากก็คือ คุณภาพของครู ไม่ต้องวิจัยอย่างจริงจัง คนทั่วไปก็มักรับรู้ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ว่า ครูจำนวนหนึ่งมีปัญหามีพฤติกรรมที่แย่อยู่จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องความรุนแรงในโรงเรียน การละทิ้งห้องเรียน ฯลฯ ส่วนใหญ่จึงละเลยที่จะมองรากฐานที่มาจากโครงสร้างของการเรียนการสอน, ระบบราชการ, ระเบียบพัสดุ ฯลฯ การด่วนตัดสินความผิดมาที่ตัวบุคคล จึงเป็นการมองปัญหาแบบแยกส่วนไปที่ตัวครูเป็นคนๆ ไปดังนั้นเมื่อครูคุณภาพห่วย การเรียนการสอนในโรงเรียนจึงห่วยตามไปด้วย ฉะนั้นคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ที่เป็นผู้ผลิตบัณฑิตโดยตรงนั้นจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้

         

พวกเขากำลังไล่กวดอะไร ทำไมถึงต้องรีบขนาดนั้น

การวินิจฉัยที่ไม่ครอบคลุม นำมาซึ่งการรักษา-แก้ปัญหาแบบติดกระดุมเสื้อผิดเม็ดไปเรื่อยๆ

หลักสูตรครู 5 ปีเริ่มต้นในปี 2546 สิบห้าปีของการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้รับการประเมินอย่างจริงจังเพียงใด ผู้เขียนยังไม่มีข้อมูล

เค้าลางความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามให้การบรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่ง "ครูผู้ช่วย" โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ หรือภาษาปากเรียกกันว่า "ตั๋วครู"[2] ข้อเสนอดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับวงการครูระดับอุดมศึกษา จนมีข่าวการล่า 5 หมื่นรายชื่อเพื่อถอดถอนรัฐมนตรี จนต้องยอมถอย และเปลี่ยนท่าทีว่า ไม่ต้องมี "ตั๋วครู" ในสาขาวิชาที่ ขาดแคลนครูในวิชาเหล่านั้น 17 วิชายังไม่มีผู้เรียนจบ และอีก 8 วิชา ไม่มีผู้สมัครหรือสอบผ่านเกณฑ์ขึ้นบัญชีได้น้อยนั่นคือ วิทยาศาสตร์, วิทยาศาสตร์ทั่วไป, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน[3]

มีข้อถกเถียงที่ตามมาเช่นกันว่าการเรียนครู 4 ปี จำเป็นหรือไม่ การที่วิชาชีพครูถูกผลิตอย่างผูกขาดโดยคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคุรุสภาเป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ จะได้ครูที่มีคุณภาพกว่านี้หรือไม่ถ้าเปิดสอบกว้างขึ้น[4] ความคิดเห็นที่ตั้งคำถามส่วนหนึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดของรัฐบาลจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานคิดดังกล่าว ไม่ได้เกิดมาจากอากาศธาตุ แต่ประเด็นก็คือ ปัญหาครูในฐานะส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา มันคือเรื่องที่ต้องคุยถกเถียง โต้แย้งกันด้วยข้อมูล สถิติ กรณีศึกษา ฯลฯ อย่างกว้างขวางจากหลายวงการ ดังที่จะกล่าวต่อไป

อีกเกือบ 4 เดือนต่อมาที่ประชุมคุรุสภามีมติเห็นชอบให้ผลิตครูในหลักสูตร 4 ปีโดยอ้างว่า นักศึกษาครูไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาเรียนเพิ่มอีก 1 ปี และอ้างว่าหลักสูตร 4 ปีก็ทำให้มีคุณภาพได้ โดยชงให้ไปพัฒนาข้อเสนอการผลิตครูทั้งระบบโดยจะรับนิสิต นักศึกษาด้วยหลักสูตรนี้ในปีการศึกษา 2561 นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นต้นเดือนกรกฎาคม 2560[5] อย่างไรก็ตามอีกไม่กี่วันต่อมา การประชุมของกลุ่มคณะที่ผลิตครูในนาม สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สคศท.) ได้ถกเรื่องราวดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือ เห็นว่าควรเป็นหลักสูตรครู 5 ปี กลุ่มนี้คือ คณะบดีฝั่ง ม.ราชภัฏที่ยึดตามมติอธิการบดี กับอีกฝ่ายเห็นว่าควรเหลือเพียง 4 ปี โดยเหตุผลมุ่งไปที่นักศึกษา[6] มากกว่าผลสัมฤทธิ์ในการสอนและผู้เรียน ความไม่ลงรอยในที่ประชุมนำไปสู่ขั้นต่อไปของนักการเมืองกระทรวงศึกษาธิการ บรรยากาศเช่นนี้แสดงให้เห็นแรงต้านที่ลดลงจากเมื่อ 4 เดือนก่อนมาก

คงมีการใช้กำลังภายในผลักดันอย่างแข็งขันในกระทรวง เมื่ออุดม คชินทร หมออีกคนหนึ่งที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการในเดือนพฤศจิกายน 2560 คู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ความชัดเจนของการเลือกตั้งทั่วไปในระดับประเทศที่จะมีขึ้นช่วงปี 2562 คาดว่าทำให้นักการเมืองในกระทรวงศึกษาธิการยิ่งต้องเร่งให้ผลไม้ของตนสุกก่อนที่ตนจะจัดการไม่ได้

เดือนพฤษภาคม 2561 มีการประกาศว่าจะพัฒนาหลักสูตรนำร่องที่เรียกว่า “หลักสูตรครูคุณภาพสูง” (High quality Teacher) และ “คุณภาพเป็นเลิศ” (Premium quality Teacher) 7 สาขาที่จะใช้นำร่องได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา ประถมศึกษา และการศึกษาปฐมวัย[7] สอดคล้องกับการที่อุดมก็ออกข่าวว่าจะปรับให้ ม.ราชภัฏซึ่งเป็นฐานสำคัญการผลิตครูมานานตั้งแต่สมัยเป็นวิทยาลัยครู (ทั้งที่ฝ่ายนี้ถือเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในการปรับไปใช้หลักสูตรครู 4 ปี) ต้องใช้หลักสูตร 4 ปีเดือนตุลาคม 2561[8]  และตอกย้ำข่าวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ว่า ได้มีการเรียกประชุมคณบดีที่ผลิตครูอีก 17 มหาวิทยาลัยที่ "ไม่ใช่" ตัวแทนจาก ม.ราชภัฏ[9] และใช้ที่ประชุมนี้อ้างว่าต่างก็ยินดีที่จะผลิตครูตามหลักสูตร 4 ปี นำไปสู่การอ้างว่า "ประเด็นไม่ได้อยู่ที่หลักสูตรผลิตครู 4 ปี หรือ 5 ปี แต่อยู่ที่การปรับปรุงกระบวนการผลิต กระบวนการสอนการสอน ซึ่งตนเชื่อว่าทำได้ อีกทั้งคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต่างยืนยันว่าทำได้หมด"

สำหรับคนในแวดวงการศึกษา ช่วงไม่กี่วันมานี้หลักสูตรครุศาสตร์ในสาขาที่กำลังจะปรับปรุงหลักสูตร 2562 ได้รับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังไงก็ต้องสอนเพียง 4 ปี หลักสูตรครูคุณภาพสูงหรือหลักสูตรพรีเมียมที่นำร่องไปจะกลายเป็นหลักสูตร 4 ปี สาขาอื่นๆ นอก 7 สาขาวิชาดังกล่าวก็จำต้องไปพัฒนาหลักสูตรตามโจทย์ที่ถูกกำหนดมา ปัญหาใหญ่คือ กระบวนการดังกล่าวฉุกละหุกมากเกินไป เนื่องจากสัมพันธ์กับระยะเวลาหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น 1) การเปลี่ยนโครงสร้าง 4 ปีจะไปสัมพันธ์กับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ 1 (มคอ.1) ที่คุมหลักสูตรครุศาสตร์ทั่วประเทศ ที่ต้องเปลี่ยนไปด้วยซึ่งขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ตามกำหนดจะต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์ก่อนจะประกาศใช้ช่วงประมาณกุมภาพันธ์ 2562 หลังจากนั้น หลักสูตรถึงจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อกับ มคอ.1 2) การเปิดรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2562 ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ผู้เขียนไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลใดถึงจะต้องไล่กวดเป้าหมายที่ไร้การมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมด้วยการเอาหลักสูตรครุศาสตร์ไปเป็นตัวประกันขนาดนั้น

 นอกจากความรีบเร่งในการพัฒนาพื้นฐานการผลิตครูแล้ว ยังพบความเร่งด่วนในโครงการที่เรียกว่า “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” โครงการดังกล่าวเคยรับเป็นโครงการที่รับสมัคตรจากนักศึกษา ชั้นปีที่ 5 แต่ปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนใหม่โดยให้ดำเนินการคัดเลือกจากระดับมัธยมศึกษาที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 – 5 รวดเดียวครบทั้งแผง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีข้อวิจารณ์ว่า โควต้าที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ไปนั้นไม่เป็นธรรม เกณฑ์ไม่เหมาะสม นักเรียนในบางภูมิลำเนาต้องเดินทางข้ามถิ่นเพื่อไปศึกษา[10] ขณะที่ผลการคัดเลือกของนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาก็ไม่เข้าเป้านั่นคือได้จำนวน 2,874 คนจากที่ต้องการ 4,156 คนใน 35 สาขาวิชา เพราะนักเรียนไม่แน่ใจเรื่องคุณสมบัติที่เข้มงวดและความไม่แน่นอนต่างๆ[11] เช่นกันผู้มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารจะรีบร้อนไปใยกับเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลกว้างต่อสังคมเช่นนี้?

 

อำนาจนิยมกับการมัดมือชกเพื่อเปลี่ยนแปลง

ความรีบร้อนและลนลานของผู้มีอำนาจรัฐ อาจตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ว่า การใช้ยาแรงกับวงการผลิตครูเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยาแรงนี้รัฐบาลประชาธิปไตยมิอาจทำได้ เพราะจะไปขัดผลประโยชน์กับคนจำนวนมากที่จะเป็นฐานเสียงให้กับพรรคการเมือง ดังที่มีข้อวิจารณ์ว่า จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยยิ่งลักษณ์ เคยคิดจะปลดล็อกตั๋วครู แต่ถูกกระแสต่อต้านจากครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ข้อวิจารณ์เชื่อว่า ในสมัยรัฐประหารนั้นไม่ต้องพึ่งฐานคะแนน[12] ในสังคมการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา วงจรอุบาทว์ที่ทหารโค่นล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือนมีอยู่อย่างสม่ำเสมอจนพบว่า ความพยายามเผด็จอำนาจของฝ่ายทำนโยบายสาธารณะมักใช้โอกาสรัฐบาลรัฐประหาร รัฐบาลเผด็จการครึ่งใบผลักดันวาระของตนอยู่เสมอ

แวดวงการศึกษาเป็นปัญหาหนักอกที่ทุกฝ่ายพ้องกันในภาพรวมว่ามีปัญหาจริง เป็นเรื่องใหญ่ที่ถกเถียงกันมานาน และพยายามอัดนโยบายแก้ปัญหาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินเดือนครู การเปลี่ยนหลักสูตร การใส่โปรแกรมพัฒนาครูและโรงเรียน แต่กลายเป็นว่าจนถึงพ.ศ. ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรลุผลสำเร็จ กรณีนี้ต้องแยกออกเป็นสองประเด็นคือ หลักการของนโยบายและกระบวนการทางการเมือง แน่นอนว่าไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย แต่สิ่งที่ขาดอย่างมากก่อนที่จะหาคำตอบ ก็คือ ระดับของการรับฟังปัญหา การแยกแยะ และจัดระบบเพื่อหาทางออกร่วมกัน ผู้เขียนมีโอกาสพบเห็นงานวิจัยการศึกษาจำนวน พบว่าเป็นวิจัยที่มุ่ง "แก้ปัญหา” พร้อมคำตอบที่มีอยู่แล้วอย่างสำเร็จรูป โดยมิได้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมากพอ ทั้งที่โจทย์วิจัยมิได้มุ่งไปที่ มิติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, มานุษยวิทยา-สังคมวิทยาการศึกษาในสถานศึกษา, เศรษฐศาสตร์การเมืองในนโยบายการศึกษา ฯลฯ ที่งานวิจัยควรจะมีลักษณะข้ามศาสตร์ การทำงานร่วมกันระหว่างสายครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์กับสาขาวิชาต่างๆ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า หลักการทางนโยบายมันเกิดจากการวิจัยที่เข้มแข็งมากเท่าใด เมื่องานวิจัยที่รัฐสนับสนุนจำนวนมากเน้นเป้า และผลสัมฤทธิ์ มากกว่าวิจัยไปที่พื้นฐานของปัญหาที่มันเกิดขึ้น

ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ กระบวนการทางการเมือง หากไร้ซึ่งกระบวนการนี้แล้ว นโยบายที่สวยหรูอาจจะมาจากที่ไหนก็ได้ ใครก็ได้ และยิ่งในบริบทสังคมไทย ช่วงที่สุกงอมที่สุด และเหมาะจะผลักดันความหวังดีที่สุดก็คือ การทำงานภายใต้ระบอบเผด็จการที่ขับเคลื่อนด้วยการทำงานแบบอำนาจนิยมที่ใช้การสั่งการ บังคับบัญชา ชี้นำ มากกว่าจะรับฟังและประนีประนอม อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา เรายังไม่มีขบวนการทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หรือพรรคการเมืองที่สร้างการรณรงค์เพื่อความเปลี่ยนแปลง สังคมการศึกษาจึงกลายเป็นเรื่องของเทคโนแครต เจ้ากระทรวง รัฐบาล (ที่อาจไม่ใช่เผด็จการก็ได้) สิ่งที่พรรคไทยรักไทย-เพื่อไทยและรัฐบาลที่ผ่านมาขาดอย่างยิ่งคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในด้านการศึกษาเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัน อย่างไรก็ตามการกล่าวเช่นนี้อาจเป็นการไม่ให้เกียรติความพยายามที่ผ่านมาอยู่บ้าง เช่น นโยบายหลักสูตรชุมชน หลักสูตรท้องถิ่นที่เปิดช่องให้ แต่สุดท้ายกลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะส่วนน้อยที่ทำจากท้องถิ่นจริงๆ ยังเป็นการสร้างหลักสูตรที่ยึดโยงกับศูนย์กลางอำนาจอยู่และที่แย่กว่านั้นก็คือ ข้อสอบดันเป็้นข้อสอบกลางที่กระทรวงนำมาใช้วัดผลซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกันอยู่ดี

กระนั้นสิ่งที่น่าจะเป็นคือ ความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ในการปฏิรูปหากจินตนาการไม่ออก กรุณานึกถึงขบวนการธงเขียวที่ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 ขึ้นมา และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การดึงเอา “ชุมชน” ที่อยู่ล้อมรอบสถานศึกษา “ชุมชน” ที่เป็นที่ตั้งสถานศึกษาเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบาย ที่ผ่านมาชุมชนเป็นเพียงหน่วยพื้นที่ที่รองรับนโยบายของรัฐทั้งการเมืองการปกครอง และการศึกษา ชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับโรงเรียนอย่างมากในฐานะกลุ่มผลประโยชน์อย่างสมาคมครูผู้ปกครองที่จะเป็นปากเสียงให้กับนักเรียน ก็กลับเป็นพื้นที่ที่เพิ่มอำนาจให้กับโรงเรียนมากกว่าจะใส่ใจจัดความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมให้กับสมาชิกในชุมชน การศึกษาและการปฏิรูปจึงมิใช่เรื่องหยาบๆ ที่คิด และทำกันคนโดยคนไม่กี่คน นอกจากนั้นยังควรควรเปิดโอกาสให้ครูและผู้บริการโรงเรียนได้มีส่วนร่วมวางแผน ดำเนินการและทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษา มากกว่าที่จะให้ครูถูกเลี้ยงให้เชื่องในระบบทำหน้าที่แบบไม่สามารถมีปากมีเสียงได้อย่างเช่นทุกวันนี้ ความจริงที่ว่าครูและผู้บริหารของโรงเรียนเองเป็นกลุ่มคนที่รับรู้ถึงปัญหา เผชิญกับปัญหาโดยตรง แต่ไม่มีเวทีที่จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้รวมถึงไม่สามารถที่จะพูดได้โดยตรง[13] แนวทางการปฏิรูปการศึกษายังคงไม่ใจกว้างพอที่จะยอมรับฟังข้อเสนอจากหลายฝ่ายอย่างที่ควรจะกระทำ ไม่มีอัศวินม้าขาวที่จะมาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้ในข้ามคืน

รัฐบาลเผด็จการที่กำลังทำอยู่อาจจะชนะศึกในการเปลี่ยนนโยบายการศึกษาตาม Road Map ที่เขาอยากได้ แต่รัฐบาลเช่นนี้ผู้เขียนขอปรามาสว่าจะไม่สามารถเอาชนะสงครามที่ยิ่งใหญ่กว่าในนาม “ปฏิรูปการศึกษา” ได้.

 

ลำดับการเถลิงอำนาจปฏิรูปการผลิตครู 4 ปี

2560

มีนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โยนหินเปิดสอบกว้างจากทุกสาขาเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูในตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” ได้รับแรงต่อต้านอย่างมากในช่วงแรก

กรกฎาคม ที่ประชุมคุรุสภามีมติเห็นชอบให้ผลิตครูในหลักสูตร 4 ปี (ร่วมกับ 5 ปี)

พฤศจิกายน รื้อระบบโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จัดทำและรับสมัครอย่างเร่งด่วน2561 2561

พฤศจิกายน รับสมัครนักศึกษาใหม่ TCAS รอบ 1 ปีการศึกษา 2562

(ตามหลักการแล้ว หลักสูตรครุศาสตร์ฯที่จะเปิดรับนักศึกษาจะใช้หลักสูตรที่กำลังปรับปรุงอยู่นี้ตามกำหนดการเดิมก่อนจะถูกบีบให้ปรับเป็นหลักสูตร 4 ปี)

 

แผนการเถลิงอำนาจปฏิรูปการผลิตครู 4 ปี

2561

ธันวาคม คุรุสภาจะปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร 4 ปี ให้แล้วเสร็จ คณะที่สกอ.จะเป็นผู้จัดทำมคอ.1 หลักสูตรครูศาสตร์ 4 ปี

2562

มกราคม เปิดประชาพิจารณ์ มคอ.1 หลักสูตรครูศาสตร์ 4 ปี

13 กุมภาพันธ์ ประกาศใช้มคอ.1

14 กุมภาพันธ์ หลังจาก มคอ.1 มีผลบังคับใช้แล้ว หลักสูตรทั่วประเทศสามารถประกาศใช้หลักสูตรครู 4 ปี

24 กุมภาพันธ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ตามที่รัฐบาลให้สัมภาษณ์)

 

[1] บทความนี้ผู้เขียนได้รับข้อมูลและข้อเสนอที่น่าสนใจจากมิตรสหายสายครุศาสตร์อย่างน้อย 3 ท่าน แต่เพื่อความปลอดภัยจากการคุกคามทางการเมืองที่เป็นไปได้จึงขอไม่ระบุชื่อมิตรสหายเหล่านั้นในตอนนี้

[2] โดยการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการสอบครูผู้ช่วยว่า “ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูก็สามารถสมัครสอบแข่งขันเพื่อเข้าบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคคลทางการศึกษาได้” ดูรายละเอียดจากข่าว เดลินิวส์ออนไลน์. "เปิดรับปริญญาตรีทุกสาขา สอบบรรจุ"ครูผู้ช่วย" ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.dailynews.co.th/education/563020 (21 มีนาคม 2560)

[3] ข่าวสดออนไลน์. "ยอมถอย!ศธ.มีมติร่วมเปิดสอบครูให้ 36 สาขาต้องมีใบอนุญาตฯ อีก 25 สาขามี-ไม่มีสอบได้". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_273590 (29 มีนาคม 2560)

[4] ผู้จัดการออนไลน์. "ปลดล็อกตั๋วครู ดีต่อเด็กแต่ครูไม่ชอบ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://mgronline.com/daily/detail/9600000030767 (26 มีนาคม 2560)

[5] คม ชัด ลึก ออนไลน์. "กลับมาผลิตครู4ปีสร้างโอกาสเท่าเทียม". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก http://www.komchadluek.net/news/edu-health/285823 (3 กรกฎาคม 2560)

[6] ไทยรัฐออนไลน์. "ถกเถียงปรับหลักสูตรครู 4 ปี หรือ 5 ปี ยังไม่ลงตัว ส่อ ผลิต 2 ระบบ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.thairath.co.th/content/1003870 (13 กรกฎาคม 2560)

[7] เดลินิวส์ออนไลน์. "ราชภัฏเล็งผลิต"ครูพรีเมี่ยม"ปี 62". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.dailynews.co.th/education/643692 (15 พฤษภาคม 2561)

[8] ข่าวสดออนไลน์. "ศธ.ปรับหลักสูตรครู มหาวิทยาลัยราชภัฏ เหลือ 4 ปี เริ่มปีการศึกษา 2562 นี้". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1699928 (17 ตุลาคม 2561)

[9] ข่าวสดออนไลน์. " ‘หมออุดม’ ตั้งคณะทำ หลักสูตรครู 4 ปี ราชภัฏ 30 แห่ง เด้งรับ พร้อมสร้าง ‘ครูคุณภาพเป็นเลิศ’ ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1771300 (2 พฤศจิกายน 2561)

[10] มติชนออนไลน์. "รับครูพัฒนาท้องถิ่น2.7หมื่นคน จบเกรด3.00บรรจุภูมิลำเนาเดิมทันที". สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.matichon.co.th/education/news_738661 (21 พฤศจิกายน 2560)

[11] Sangfans.com. ""สรุปจำนวนผู้ที่ได้รับการคัดเลือก! โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น สำหรับน้องม.6 อาชีวะ และเทียบเท่าปีการศึกษา 2561"  ". สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.sangfans.com/scholarshipkrum661/ (21 พฤศจิกายน 2560)

[12] ผู้จัดการออนไลน์. "ปลดล็อกตั๋วครู ดีต่อเด็กแต่ครูไม่ชอบ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://mgronline.com/daily/detail/9600000030767 (26 มีนาคม 2560) กรุณาดูข่าวเกี่ยวกับจาตุรนต์และตั๋วครูได้ที่ สทศ. "กลุ่มนิสิตนักศึกษาฯจี้ "จาตุรนต์" เคลียร์กรณี "ตั๋วครู". สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561 จาก http://www.niets.or.th/th/content/view/627 (27 กันยายน 2556)

[13] ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของครูนี้ผู้เขียนได้มาจากเพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์การสอนและช่วยสะท้อนให้เห็นมุมมองปัญหาในโรงเรียนให้กับผู้เขียนได้กระจ่างในหลายครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท