สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความขัดแย้งในขบวนการประชาธิปไตยมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดกันวันสองวันนี้ และคงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่านาน

ช่วงยุค "เดือนตุลา" การวิพากษ์วิจารณ์ก็เผ็ดร้อนเช่นกัน สาดโคลนกันก็ไม่น้อย (ศัพท์ดั้งเดิมใช้คำว่า "สวมหมวก" ให้แก่กัน)

กลุ่มที่มีแนวทางเอียงขวา จะถูกสวมหมวกว่า เป็นพวก "ลัทธิแก้"

กลุ่มที่มีแนวทางซ้ายสุดโต่ง จะถูกสวมหมวกว่า เป็นพวก "ฉวยโอกาสเอียงซ้าย"

แต่อย่าไปสนใจศัพท์พ้นสมัยเหล่านี้เลยครับ ครั้งแรกที่ผมได้ยิน กลืนไม่ลงเช่นกัน

ทางออกของความขัดแย้งที่เพื่อนมิตรยุคนั้นจำนวนหนึ่งใช้กันได้ผลคือ "การศึกษารวมหมู่" (ฟังแล้วมันจะงงๆอีกใช่ไหมครับ)

การศึกษารวมหมู่ เริ่มต้นจากความคิดว่า เราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเอง 

ดังนั้นจึงเกิดการรวมกลุ่มเพื่อนกันเล็กๆ ไม่เกิน 10 คน ที่แบ่งปันกันได้ทุกเรื่องราว เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเอง

การเปลี่ยนแปลงตนเองดังว่า ครอบคลุมทั้ง โลกทัศน์ (ทัศนะต่อโลกภายนอก เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม มหาอำนาจ การวิเคราะห์สังคม ภาวะโลกร้อน ฯลฯ) และชีวทัศน์ (ทัศนะต่อการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ วินัยในตนเอง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอดทน ความเสียสละ ความรัก ฯลฯ)

เครื่องมือที่สำคัญในการศึกษารวมหมู่ คือ การวิจารณ์ตนเอง และ การวิจารณ์รวมหมู่ที่ยึดหลัก "สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี"

การวิจารณ์ตนเองอย่างจริงใจ ทำให้เรามีสติ ตรวจสอบตนเองอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และกล้าเปิดเผย"ปม"ของตนให้เพื่อนรู้ เพื่อลดทอน Ego ลง (ศัพท์เดิมใช้คำว่า "วีรชนเอกชน")

ส่วนการวิจารณ์รวมหมู่ เพื่อนในกลุ่มช่วยสะท้อนจุดอ่อนที่เรามองไม่เห็น หรือคิดเอาเองว่า ไม่เป็นปัญหา

เมื่อรู้ปัญหา เรายอมรับ ไม่แก้ตัว ตั้งใจพัฒนาตนให้ดีขึ้น ความคิดเป็นระบบขึ้น มีวินัยขึ้น เสียสละขึ้น

เพื่อนมิตรที่วิจารณ์เรา ก็ให้กำลังใจ และพร้อมสนับสนุน ด้วยต่างมีจุดหมายเดียวกันคือ เพื่อร่วมมือร่วมใจทำให้โลกนี้ดีขึ้น

  • เรื่มต้นด้วยความสามัคคี
     
  • วิจารณ์อย่างจริงใจ ด้วยมิตรภาพ
     
  • รับฟังคำวิจารณ์ด้วยสติ ไม่ดื้อรั้น ไม่เข้าข้างตนเอง
     
  • จบลงด้วยความสามัคคี

ความขัดแย้งหลายๆครั้งในยุคนั้น นำไปสู่การพัฒนาตนและงานอย่างก้าวกระโดดด้วยประโยคสั้นๆ

สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี

ท่าทีต่อความขัดแย้งจึงสำคัญ
พังทลายก็ได้ พัฒนาก็ได้

มาถึงวันนี้ โลกก้าวไกล ความขัดแย้งในขบวนการประชาธิปไตยจึงไม่อาจจำกัดวงแคบๆเพียงในองค์กร แต่แพร่กระจายทั้งเครือข่ายทางสังคม

การปรับใช้ท่าทีต่อความขัดแย้งแบบดั้งเดิมอาจทำได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แอบหวังว่า คงไม่เกินความพยายาม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท