Skip to main content
sharethis

อัพเกรด 3 แสน ‘ข้าราชการ’ สู่ยุคดิจิทัล ก.พ.แจก 500 ทุน ดึงคนรุ่นใหม่/พยาบาลควงเวรกว่า 40 ชม. จ่อเสนอ สธ.แก้ 3 ปม คนทำงานไม่พอ ความปลอดภัย สวัสดิการ/กลุ่มแรงงานสตรีถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้างร้อง พม./สธ.ชง ครม.เพิ่มค่าปรับ นศ.แพทย์ผิดสัญญาใช้ทุน จาก 4 เเสน เป็น 2.5 ล้าน/กสร. เตือนลูกจ้างร้องเงินโบนัสให้ยึดกฎหมาย/ผลสำรวจพบบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อวัณโรคแฝง 31.41%/เผย 'โบนัส' คือสวัสดิการที่คนทำงานต้องการมากที่สุด

รมว.แรงงาน ยืนยัน ผลสอบกรณีถูกร้องเรียนทุจริตเงินคนพิการ ไม่พบเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานกระทำความผิด พร้อมส่งหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบความคืบหน้าแล้ว

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ จะเจรจากับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานในกลางเดือน พ.ย.นี้ว่าจะดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องปัญหาการร้องเรียนกรณีการทุจริตเงินคนพิการอย่างไร ซึ่งหากไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนก็จะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป และคาดว่าจะมีคนพิการและเครือข่ายนับหมื่นคนทั่วประเทศตบเท้าออกมาเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นไม่พบเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานกระทำความผิดหรือทุจริตตามที่ร้องเรียน และได้มีหนังสือแจ้งให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ดำเนินการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 จำนวนทั้งสิ้น 9 เรื่อง ประกอบด้วย ประเด็นตามมาตรา 33 จำนวน 2 เรื่อง ประเด็นตามมาตรา 35 จำนวน 6 เรื่อง และประเด็นตามมาตรา 33 และมาตรา 35 จำนวน 1 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยร้องเรียนเมื่อปี 2559 – 2560 จำนวน 6 เรื่อง และในปี 2561 จำนวน 3 เรื่อง 

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังกล่าวถึงกรณีการร้องเรียนของคนพิการในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า กรมการจัดหางานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้ดูแลคนพิการการร้องเรียนว่าได้รับสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และจากการตรวจสอบการให้สิทธิตามมาตรา 35 ดังกล่าว พบว่า คนพิการไม่ได้รับเงินค่าจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา ในเบื้องต้นไม่พบเจ้าหน้าที่กระทำความผิดหรือทุจริต ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่ง และกรมการจัดหางานได้สรุปข้อเท็จจริงดังกล่าวนำเรียนผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานรับทราบแล้ว รวมทั้งได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และได้รายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บริหารระดับสูงรับทราบเป็นระยะด้วยแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 11/11/2561

เผย 'โบนัส' คือสวัสดิการที่คนทำงานต้องการมากที่สุด

จ๊อบไทยเผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานทั่วประเทศจำนวน 7,420 คนเรื่องสวัสดิการ พบ โบนัส มาเป็นอันดับแรก ระบุสวัสดิการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาลคนในครอบครัว ประกันชีวิต ฯลฯ เป็นสวัสดิการที่พนักงานยุคใหม่ต้องการนอกเหนือจากเรื่องรายได้ แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาเป็นสวัสดิการ

ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ เผยว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทำงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องผลตอบแทนแล้ว ปัจจัยสำคัญที่คนทำงานให้ความสำคัญรองลงมาก็คือ สวัสดิการ โดยจากการสำรวจของจ๊อบไทยต่อความคิดเห็นของคนทำงานทั่วประเทศ จำนวน 7,420 คน เรื่อง "สวัสดิการที่คนทำงานต้องการจากองค์กร" พบว่า 10 สวัสดิการแรกที่คนทำงานต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1. โบนัส, 2.วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย, 3.ประกันสังคม, 4.ประกันสุขภาพ, 5.ค่าล่วงเวลา, 6.เงินออมพิเศษ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, 7.ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวของพนักงาน , 8.เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้, 9.ประกันชีวิต และ 10.เบี้ยขยัน

นอกจากนี้ จ๊อบไทยได้ทำการสำรวจฝ่ายบุคคล ในหัวข้อ "สวัสดิการที่องค์กรจัดสรรให้กับพนักงาน" จำนวน 457 คน ทั่วประเทศ พบว่า 10 สวัสดิการที่องค์กรจัดสรรให้กับพนักงานมากที่สุด ได้แก่ 1.วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย ,2.ประกันสังคม, 3.โบนัส, 4.ค่าล่วงเวลา, 5.กิจกรรมสันทนาการ, 6.ชุดทำงาน, 7.ตรวจสุขภาพประจำปี, 8.เบี้ยขยัน, 9.เงินสนับสนุน เช่น งานแต่งงาน งานอุปสมบท และ 10.ประกันอุบัติเหตุ

หากเปรียบเทียบสวัสดิการที่องค์กรให้พนักงานกับสวัสดิการที่พนักงานต้องการ พบว่ามีสวัสดิการที่ตรงกัน 5 สวัสดิการ ได้แก่ โบนัส, วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย, ประกันสังคม, ค่าล่วงเวลา และเบี้ยขยัน ส่วนสวัสดิการที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการนอกเหนือจากเรื่องรายได้ คือ สวัสดิการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวของพนักงาน ประกันชีวิต ฯลฯ กลับไม่ได้ถูกนำมาเป็นสวัสดิการที่องค์กรมอบให้แก่พนักงานใน 10 สวัสดิการแรก ทั้งนี้ นอกจากสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว องค์กรยังสามารถจัดสรรสวัสดิการแปลกใหม่ตามความเหมาะสมเพื่อช่วยดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงาน และมีส่วนช่วยในการรักษาพนักงานไว้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี สำหรับข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารพนักงาน เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้นขององค์กร ตลอดจนเป็นการแสดงถึงความใส่ใจที่องค์กรมีต่อพนักงาน โดยเฉพาะในยุคที่เรื่องสวัสดิการของพนักงานมีผลต่อการตัดสินใจเข้าทำงานมากขึ้น ดังนั้นสวัสดิการจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล และผู้บริหารต้องหันมาให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ

ที่มา: คมชัดลึก, 10/11/2561

เผยผลสำรวจพบบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อวัณโรคแฝง 31.41%

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร และปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ให้กำหนดเป็นเป้าหมายสำคัญในการลดปัญหาของประชาชน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยุติวัณโรคโดยควบคุมและลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มสำคัญ

ซึ่งรวมถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้วย เพราะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคระหว่างการปฏิบัติงานจากการสัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคหากร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานที่ดี จะติดเชื้อแบบไม่มีอาการป่วย เรียกว่า “วัณโรคแฝง” ซึ่งไม่สามารถแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้ แต่ผู้ที่มีเชื้อวัณโรคแฝงมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นผู้ป่วยวัณโรคได้ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 เมื่อภูมิต้านทานของร่างกายลดต่ำลง

องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั่วไปมีการติดเชื้อวัณโรคแฝง และในจำนวนนี้ มีประชากรบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดวัณโรค โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีผู้ป่วยวัณโรคร่วมบ้าน และผู้ติดเชื้อเอชไอวี สำหรับในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ควรมีการตรวจคัดกรองหาวัณโรค ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก และควรตรวจเป็นประจำ พร้อมทั้งแนะนำให้ตรวจหาการติดเชื้อวัณโรคแฝงร่วมด้วยโดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค โดยปัจจุบันนี้สามารถตรวจการติดเชื้อแบบไม่มีอาการป่วยที่เรียกว่าวัณโรคแฝงได้ โดยการตรวจตัวอย่างเลือด

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า จากการสำรวจการติดเชื้อวัณโรคแฝงในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการสัมผัสผู้ป่วยวัณโรคที่ปฏิบัติงานด้านต่างๆ และในบุคลากรที่เข้าปฏิบัติงานใหม่ ด้วยวิธี IGRA ตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาที่จำเพาะต่อเชื้อวัณโรค โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ที่โรงพยาบาล จำนวน 4 แห่ง พบอัตราการติดเชื้อวัณโรคเฉลี่ยร้อยละ 31.41 ซึ่งอยู่ในอัตราเดียวกับบุคคลทั่วไปที่องค์การอนามัยโลกประมาณการ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์โดยทั่วไป ได้แก่ มีอายุมาก อายุงานนาน ลักษณะงานที่ปฏิบัติ และการใช้อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่เหมาะสม ผลการตรวจช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการใส่ใจสุขภาพ ระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อและเฝ้าระวังโรค นอกจากนี้ผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกยังได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตน หากตรวจแล้วยังไม่พบอาการป่วยเป็นวัณโรคแต่เป็นวัณโรคแฝง ก็อาจพิจารณาให้ยาป้องกันตามความเหมาะสมเฉพาะราย

“โรงพยาบาลจะต้องมีระบบป้องกันที่ดีและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานหรือการจัดการที่ดี บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความรู้เกี่ยวกับวัณโรคและวิธีการป้องกันการติดต่อของโรค ใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เพื่อลดการติดเชื้อ รวมทั้งควรตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองวัณโรคเป็นประจำทุกปี สำหรับประชาชนทั่วไปก็ควรดูแลและป้องกันตนเองจากเชื้อวัณโรค โดยฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ตามที่แพทย์แนะนำ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ หากมีอาการไอจาม ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก จมูก เวลาไอจาม หรือใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไม่ทราบสาเหตุ ให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

ที่มา: Hfocus, 7/11/2561

กสร. เตือนลูกจ้างร้องเงินโบนัสให้ยึดกฎหมาย

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ต.ค. 2561 มีแนวโน้มลดลง โดยมีข้อเรียกร้องของสถานประกอบกิจการในภาคเอกชนและรัฐวิสากิจ จำนวน 480 แห่ง เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีข้อเรียกร้อง 544 แห่ง พบว่าลดลง 64 แห่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีของทุกปีที่ใกล้จะถึงนี้จะมีข้อเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องเรื่องเงินโบนัส ขอขึ้นเงินเดือน และสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งหากไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่ายก็อาจก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้ ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างส่วนใหญ่ใช้วิธี นัดหยุดงานรวมตัวชุมนุมเรียกร้องจึงอาจทำให้นายจ้างเลิกจ้างโดยและไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย จึงขอเตือนไปยังนายจ้าง ลูกจ้างยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเจรจากันด้วยเหตุผล นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึง ผลประกอบกิจการในปีนั้น ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมาและขอให้ ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่าทั้งนี้ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศ เข้าไปแนะนำ ให้ความรู้ แก่นายจ้าง ลูกจ้างเกี่ยวกับระบบแรงงานสัมพันธ์ และเฝ้าระวังปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่อาจเกิดขึ้นได้ หากพบว่ามีหากพบว่ามีสัญญาณที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทแรงงานจะเร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจและช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/11/2561

สธ.ชง ครม.เพิ่มค่าปรับ นศ.แพทย์ผิดสัญญาใช้ทุน จาก 4 เเสน เป็น 2.5 ล้าน

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเสนอขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2516 เพื่อขอเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ จากจำนวน 400,000 บาท เป็น 2,500,000 บาท โดยขอให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ประสานกับสถาบันการผลิตนักศึกษาแพทยศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งร่างสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ มาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยนายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการเจ้าของสำนวน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2516 ที่กำหนดจำนวนค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ ผู้ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ จำนวน 400,000 บาท นั้น เป็นจำนวนค่าปรับที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งเป็นระยะเวลานานมากแล้ว จึงมีความไม่เหมาะสม และจึงได้แจ้งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าควรพิจารณาทบทวนจำนวนค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ที่ผิดสัญญาที่กำหนดไว้จำนวน 400,000 บาท โดยควรพิจารณาถึงค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ จำนวนนักศึกษาแพทย์ที่ไม่เข้ารับราชการหรือทำงานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาว่ามีมากน้อยพียงใด

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอถอนร่างสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์จากการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 กระทรวงสาธารณสุขโดยคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งมีนายเจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการ ได้พิจารณาเห็นชอบและอนุมัติให้กำหนดค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญาเป็นจำนวน 2,500,000 บาท โดยใช้หลักการการคิดอัตราเงินเฟ้อ และค่าปรับคิดจากการลงทุนโครงการ CPIRD/โครงการปกติ ปีละ 300,000 บาท ต่อคนต่อปี จำนวน 6 ปี เท่ากับ 1,800,000 บาท และงบลงทุนที่สนับสนุนให้กับคณะแพทยศาสตร์ จำนวน 700,000 บาท ซึ่งในขณะนี้เรื่องเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ ผู้ผิดสัญญาอยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/11/2561

กลุ่มแรงงานสตรีถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้างร้อง พม.

ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รับมอบหนังสือจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และกลุ่มแรงงานสตรีที่ประสบปัญหาจากจังหวัดชลบุรี จำนวน 27 คน เข้ามายื่นหนังสือกรณีถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และกลุ่มแรงงานสตรีที่ประสบปัญหาจากจังหวัดชลบุรี จำนวน 27 คน เข้ามายื่นหนังสือกรณีถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง  ขอให้ สค. ช่วยแก้ไขปัญหากรณีกลุ่มแรงงานสตรีที่ได้รับคำสั่งให้ไม่ต้องกลับเข้าทำงานจากโรงงานที่เป็นลูกจ้าง เนื่องจากลุ่มแรงงานสตรีเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้แทนฝ่ายลูกจ้างที่ยื่นข้อเสนอเพื่อเจรจาเรียกร้องสภาพการจ้างและสวัสดิการประจำปี โดยได้มีการเจรจาต่อรองมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 และยุติข้อตกลงเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 โดยโรงงานได้เรียกลูกจ้างบางส่วนกลับเข้าทำงาน ยกเว้นกลุ่มผู้แทนเจรจาฝ่ายลูกจ้าง ทำให้กลุ่มแรงงานสตรีดังกล่าวประสบปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว และสภาพจิตใจ

นายเลิศปัญญา กล่าวต่อว่า กลุ่มแรงงานสตรีนี้ เคยไปยื่นข้อร้องเรียนต่อหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า จึงมายื่นเรื่องต่อกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงาน ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการดูแลสตรีในประเทศไทยและประสงค์จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ภายใต้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อจะขอความช่วยเหลือให้พิจารณาในกรณีที่ถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้างที่ไม่เรียกกลับเข้าทำงาน

“สค.ยินดีให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานสตรี ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อสงเคราะห์ครอบครัว การฝึกอาชีพให้แก่แรงงานสตรีระหว่างที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 36 พรรษา จังหวัดชลบุรี ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว และคำร้องที่กลุ่มแรงงานสตรีประสงค์จะยื่นต่อคณะกรรมการ วลพ.นั้น สค.จะมอบให้ประธานคณะกรรมการ วลพ. โดยเร็ว” นายเลิศปัญญา กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 8/11/2561

ประกันสังคม อัพเกรดบริการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตน เตรียมจับมือสรรพากรเชื่อมโยงข้อมูลเข้าระบบฐานจัดเก็บภาษี

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าตามที่รัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการบริหารงานในองค์กร รวมทั้งรองรับการทำงานในยุคดิจิทัลและเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบงานบริการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตน/ลูกจ้าง โดยสำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาระบบการให้บริการรับ-จ่ายเงินหลากหลายช่องทาง เช่น การให้บริการรับชำระเงินสมทบผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร/หน่วยบริการ การหักบัญชีเงินฝากธนาคาร การให้บริการรับชำระเงินจากนายจ้างผ่านระบบ e-Payment การขอรับสิทธิประโยชน์โอนผ่านธนาคารโดยทุกช่องทาง การชำระเงินสมทบฟรีค่าธรรมเนียม รวมทั้งการพัฒนาระบบใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกันตนได้รับความสะดวก รวดเร็ว สามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่าส่วนเรื่องใบเสร็จรับเงินที่ธนาคารจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ไม่ถึงมือผู้ประกันตนหรือใบเสร็จรับเงินที่ผู้ประกันตนได้รับสูญหายนั้น ระบบใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถพิมพ์หรือบันทึกใบเสร็จรับเงินไว้ได้ด้วย ทั้งนี้ในเบื้องต้นผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบการชำระเงินจากสมุดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารหักเงินไว้ นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะส่งข้อความ (SMS) แจ้งผลการชำระเงินทางโทรศัพท์มือถือ และทุกสิ้นปีผู้ประกันตนจะได้รับใบแจ้งยอดการชำระเงินสมทบประจำปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ในการยื่นหักลดหย่อนภาษีแทนใบเสร็จรับเงินได้

"สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลการชำระเงินกรมสรรพากร (Big data) เพื่อลดภาระการยื่นเอกสารของประชาชน ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตนแจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือและแจ้งที่อยู่ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อจะได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม"

สำหรับวิธีการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินง่ายๆ เพียงผู้ประกันตน สมัครใช้บริการที่เว็บไซด์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ระบบจะกำหนด User และ password ให้ทันที ผู้ประกันตน Login และดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานเพื่อพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน นอกจากการตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินแล้ว ยังสามารถใช้บริการสอบถามข้อมูลการใช้สิทธิการรักษาพยาบาล ตรวจสอบข้อมูลการส่งเงินสมทบ ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล การคำนวณเงินบำนาญชราภาพ และรับทราบข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคมได้อีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร 1506 ตลอด 24 ชั่วโมงสมทบกับ

ที่มา: ไทยโพสต์, 8/11/2561

กสร. ติวเข้มพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะและยกระดับความรู้ ความสามารถและเทคนิคในการปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างให้ยุติลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้างสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานด้านแรงงานสัมพันธ์ในพื้นที่เข้ารับการอบรม รวม 30 คน ซึ่งการอบรมครั้งนี้รองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ในการมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้หลุดพ้นความยากจน ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้งในสังคม และนำพาประเทศชาติไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การอบรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 พ.ย. 2561 รวม 4 วัน โดยมีหัวข้อการบรรยายครอบคลุมทุกมิติของการปฏิบัติงานด้านแรงงานสัมพันธ์ อาทิ จิตวิทยาเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแรงงาน เทคนิคการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน การติดตามความเคลื่อนไหวและประเมินสถานการณ์ด้านแรงงาน เป็นต้น ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะสามารถนำความรู้และเทคนิคไปใช้ในการปฏิบัติจริง ในการเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างลูกจ้าง และสามารถส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีให้แก่สถานประกอบกิจการเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสันติสุขต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/11/2561

บัณฑิตหางานระวังถูกหลอก ไปทำงานเกาหลี-ออสเตรเลีย

อัตราการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี ล่าสุด น่าตกใจ เพราะข้อมูลผู้จบออกมาแต่ละปีจะมีเกือบ 2 แสนคน สาเหตุที่ว่างงานนั้น หลักๆคือเลือกงานทำให้ผู้ตกงาน 7-8 หมื่นคน สะสมเพิ่มในปีต่อๆไป ในขณะที่กลุ่มระดับ ปวช.และปวส.มีอัตราการว่างงานน้อยมาก เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ที่ผ่านๆมากระแสความนิยม เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลี และออสเตรเลีย เป็นที่นิยมในกลุ่มแรงงานไทย

ขณะนี้มาตรการผ่อนปรนเพิ่มระยะเวลาวีซ่านักท่องเที่ยว ที่มาทำงานในออสเตรเลียหรือ วีซ่า เวิร์คกิ้ง ฮอลิเดย์ เมคเกอร์ จากเดิมอนุญาตให้อยู่ 1 ปี ขยายเป็น 3 ปี หากทำงานในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากที่นั่นขาดแคลนแรงงานในกลุ่มนี้ ทำให้มีนักเรียน นักศึกษาไทยจำนวนหนึ่ง สนใจไปหางานทำด้วยอัตราค่าแรงชั่วโมงละ 18 เหรียญออสเตรเลีย (1 เหรียญเท่ากับ 23.80 บาท) ล่อใจ

นายนุกูล (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาไทยชาว อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึงเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน เล่าให้ฟังว่า ปกติแล้ว กลุ่มนักเรียนไทย ที่ใช้เวลาว่างทำงานนอกเวลา จะเหมาจ่าย 50-80 บาท ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ตามร้านอาหาร ถ้าทำงานในฟาร์ม ในสวนเกษตร ที่มีโรงงานแปร รูปผลผลิต หรือเก็บผลผลิต อัตราจะมาตรฐาน ทำให้กลายเป็นสวรรค์ของบัณฑิตไทยที่สน ใจไปเรียน ไปเที่ยวแล้วหางานทำกันในขณะนี้

“กลับมาบ้าน มีเพื่อนๆบัณฑิตสนใจจะไปที่นั่นหลายสิบคน ก็ต้องแนะนำว่า ค่อยๆคิด ไปติดต่อตามที่แนะนำกับหน่วยงานของรัฐฯ เพื่อตรวจสอบก่อนเดินทางไปออสเตรเลีย “

ด้านหน่วยงานแรงงาน ระบุว่า การไปออสเตรเลียยังเป็นประเด็นใหม่ แต่การไปทำงานเกาหลีนั้น ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด เนื่องจากปัญหาแรงงานไทย ลักลอบทำงานมีมากกว่า 1.2 แสนคน จากผลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทยและเกาหลี

ในส่วนแรงงานที่เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะมีประมาณ 4 แสนกว่าคน สร้างรายได้ปีละ 1.2 แสนล้านบาท จึงเป็นประเทศที่รัฐบาลไทย ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธสัญญาตลาดแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะปัญหาการลักลอบเข้าไปหางานทำของแรงงานไทย กลายเป็นภาระเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเกาหลี ที่ต้องดำเนินการ ประกอบกับมีแก๊งคนไทยร่วมมือกับโรงงาน ผู้ประกอบการ ชักชวนแรงงานไทยลอบเข้าไปทำงานแล้ว ไม่ยอมจ่ายค่าแรง ด้วยแรงงานเหล่านี้ไม่กล้าแจ้งความ ทำให้เสียค่านายหน้า ถูกหลอกทำงานฟรี บางรายมีการกู้ยืมเงินลงทุนเดินทางไป ในฐานะนักท่องเที่ยว แล้วหลบหนีเข้าเมืองไปทำงานตามที่ถูกชักชวน

ขณะนี้พบมีกลุ่มนายหน้า เดินสายหลอกลวง แรงงาน ในหลายพื้นที่ ในภาคอีสานและภาคเหนือ โดยกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อจะพบใน จ.ลำปาง ลำพูน น่าน เชียงราย เชียงใหม่ เป็นงานในโรงงานพลาสติกและงานในฟาร์มเกษตร

ทั้งนี้หน่วยงานจัดหางาน ก.แรงงาน ยืนยันว่ากำลังเร่งดำเนินการเจรจาให้เป็นระบบการจ้างงานระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อให้เป็นมาตรฐาน ด้วยแรงานไทยที่ประสบผลสำเร็จ สร้างชื่อเสียงนั้นจะเป็นกลุ่มโรงงานผลิต ประกอบอุปกรณ์ ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูป

ด้านนายนิรันดร์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี ชาว จ. ลำพูน กล่าวว่า ไปทำงานที่เกาหลี เป็นรอบที่ 2 ในแผนกประกอบอะไหล่รถยนต์รอบแรกอยู่ 4 ปี เก็บเงินได้กว่า 3 ล้านบาท อยากฝากไปถึงผู้ที่อยากมาทำงานที่เกาหลี ให้ผ่านระบบมาอย่างถูกต้อง จะได้สิทธิตามกฎหมาย

ผู้นำชุมชน ในเขตเมือง ลำพูน ยอมรับว่า กรณีที่แรงงานไทย บางส่วนถูกหลอก เพราะความคุ้นเคยกันในโรงงานแห่งหนึ่งในเขตนิคมฯ และ ผจก.ที่เคยไปเป็นผู้ประสานงานที่เกาหลี อาศัยช่องว่างหลอกคนงานไป ต้องเสียค่านายหน้า หลายหมื่น แล้วปล่อยลอยแพที่นั่น  แม้จะถูกจับกุมได้ ปัญหาที่ตามมาคือ แรงงานที่เป็นเหยื่อหลายคน ต้องแบกรับภาระหนี้สิน คนที่ก่อความผิดก็แค่ชดเชยกรรมในคุก หมดหนี้ไป กลุ่มใหม่ๆก็โผล่มา ตราบใดที่ รายได้ ค่าตอบแทนที่สูงๆยังเป็นเหยื่อล่อได้

ทั้งๆที่รู้ว่า เดินทางไปทำงานแบบหลบๆซ่อนๆ อาจถูกนายจ้างเอาเปรียบ ไม่จ่ายค่าจ้าง ประกาศเสียงตามสาย แนะนำ ตักเตือนทุกวัน ก็ยังไม่เชื่อ ยังพูดคุยบอกต่อกันว่า โรงงานที่นั่น ที่นี่หรืองานนวดมีรายได้ดี ไม่มีปัญหา อยากวิงวอนหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ สอดส่อง อย่างใกล้ชิด เพราะกว่าจะรู้ว่ามีคนในชุมชนไปทำงานต่างประเทศ ก็เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นทั้งนั้น

ที่มา: เชียงใหม่นิวส์, 6/11/2561

พยาบาลควงเวรกว่า 40 ชม. จ่อเสนอ สธ.แก้ 3 ปม คนทำงานไม่พอ ความปลอดภัย สวัสดิการ

น.ส.กฤษดา แสวงดี ผู้แทนนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า การทำงานของพยาบาลทุกวันนี้พบเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มาตลอด ซึ่งมีทั้งความสมัครใจของพยาบาลเอง และบังคับสมัครใจแบบให้โอที แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบบังคับสมัครใจ เนื่องจากปริมาณคนไข้จำนวนมาก และอัตรากำลังของพยาบาลสัดส่วนไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันมีอัตรากำลังในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร้อยละ 60 แต่ก็ไม่พออยู่ดี ซึ่งจริงๆ การทำงานที่เหมาะสมต้องเป็นเช้า 8 ชั่วโมง และบ่าย 8 ชั่วโมง โดยมี 1 ชั่วโมงพัก แต่ความเป็นจริงบางคนควงกะเช้าบ่ายมากถึง 16 ชั่วโมง ทั้งที่งานวิจัยพบว่าต้องทำงานต่อเนื่องไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง เพราะจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานและจะส่งผลต่อการให้บริการคนไข้ เหมือนกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้น

น.ส.กฤษดา กล่าวว่า ขณะนี้รอเรียกจากทางปลัด สธ.เพื่อเข้าหารือเรื่องนี้ โดยสภาการพยาบาลเตรียมเสนอ ดังนี้ 1. ควรมีการกระจายอัตรากำลังในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่กระจุกตัวเหมือนปัจจุบัน ที่แออัดในตัวเมือง อย่างกรุงเทพฯ และ 2. ภาระงานบางอย่างไม่จำเป็น ไม่ควรให้ทำ เช่น การปูเตียง เช็ดตัว สามารถให้ผู้ช่วยพยาบาลทำได้ และงานเอกสารก็ควรให้ธุรการทำ เพื่อให้การทำงานไม่เป็นภาระงานจนเกินไป  อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ พยาบาลไม่ควรทำงานแบบควงเวรติดต่อกันเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะจะส่งผลต่อการบริการได้

ด้าน นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้สภาการพยาบาลอยู่ระหว่างรอการหารือร่วมกับ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการกำหนดชั่วโมงภาระงานของพยาบาล ซึ่งทางสภาการพยาบาลได้เตรียมข้อมูลไว้หมดแล้ว โดยสิ่งที่จะเสนอมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องของชั่วโมงการทำงาน ซึ่งปัจจุบันพยาบาลมีภาระงานที่หนักมาก ทำงานเกินกว่า 30-40 เวร ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง คุณภาพการบริการก็ด้อยลงด้วย เนื่องจากอัตรากำลังของพยาบาลไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนไข้ เมื่อคนไข้มากก็ปฏิเสธการรับคนไข้ไม่ได้ การทำงานของพยาบาลก็จะยาวออกเหมือนกับของแพทย์เช่นกัน และบางทีเราต้องอยู่เวร 24 ชั่วโมงด้วย

นางประภัสสร กล่าวว่า 2.เรื่องของความปลอดภัย จะเห็นว่ารถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำบ่อยครั้ง เมื่อเวลาออกไปก็มักเป็นชั่วโมงที่เกินจากการทำงานปกติแล้ว ตัวคนทำงานก็มีภาวะเหนื่อยล้า พอส่งคนไข้เสร็จแล้วบ่อยครั้งต้องรับคนไข้ที่อาการดีขึ้นกลับมา เช่น กรณีที่ รถพยาบาล รพ.อมก๋อย เป็นต้น ชั่วโมงของการพักรถ พยาบาล และพนักงานขับรถ ทำให้ไม่เกิดความปลอดภัย และ 3.เรื่องสวัสดิการค่าตอบแทนและความก้าวหน้าต่างๆ เช่น บ้านพักพยาบาล การดูแลเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน เช่น เกิดอุบัติเหตุขณะออกไปส่งคนไข้ ตรงนี้ต้องดูแลด้วย ซึ่งปัจจุบันเราดูแลกันเอง

"ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ คือ สิ่งที่สภาการพยาบาลจะเสนอต่อท่านปลัด สธ. ซึ่งทั้งจะต้องแก้กันเป็นแพ็กเกจเดียวกัน อย่างเรื่องภาระงานที่มาก คนทำงานไม่พอกับงานหรือผู้ป่วย ต่อให้ผลิตแพทย์หรือพยาบาลเพิ่มมากเท่าไร แต่เรื่องของความปลอดภัย สิทธิสวัสดิการต่างๆ ต้องดูแลด้วย จึงจะสามารถคงคนเอาไว้ในระบบ หากไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ คนก็จะไหลออกจากระบบไปอีก คนก็จะไม่เพียงพอต่อไป" นางประภัสสร กล่าว

นางประภัสสร กล่าวว่า ข้อเสนอของสภาการพยาบาลคือ 1.อัตรากำลังคนต้องเพียงพอกับภาระงาน จะช่วยเรื่องของชั่วโมงการทำงานได้ด้วย ซึ่งเรามีข้อมูลอยู่ว่า การดูแลในช่วงฉุกเฉิน หรือการดูแลช่วงปกติอัตรากำลังควรเป็นเท่าไร และชั่วโมงการทำงานควรเป็นอย่างไร  2.กำหนดเวลาพักเวลาทำงานให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วย ต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนแบบที่กรมการขนส่งดำเนินการ เช่น มาส่งแล้วต้องมีเวลาพัก ไม่ใช่รับกลับทันที พนักงานขับรถและพยาบาลต้องมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุได้  3.จัดประเภทและภาระงานของโรงพยาบาลให้ชัดเจน ทั้ง รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน ให้ทำงานในสเกลของโรงพยาบาล รวมถึงการส่งต่อแบบไร้รอยต่อ จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่  4.ต้องส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพป้องกันโรค เพื่อลดจำนวนคนไข้มาโรงพยาบาล รวมถึงชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลด้วย และ 5.สวัสดิการและค่าตอบแทนต่างๆ ต้องมีความเหมาะสม

ด้าน นพ.โมลี วนิชสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ทางชมรมฯ จะประชุมหารือกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์เป็นปัญหามานาน แต่ละแห่งก็จะต้องหาทางแก้ปัญหากัน เพราะโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงฯมีความแตกต่าง มีทั้งโรงพยาบาลเล็ก โรงพยาบาลใหญ่ หลายแห่งมีหมอเยอะ หลายแห่งหมอน้อย การบริหารจัดการก็ต้องดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ แต่ภาพรวมปัญหาภาระงานมีหมด และมีมานานจริงๆ แต่ก็ต้องเห็นใจ กระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นเหมือนบ่อ อย่างคนไข้มาก็ต้องรับหมด ไม่สามารถมากำหนดเกณฑ์ได้ว่า ถ้าส่งต่อมาจะรับได้เท่านี้ๆ  

“โรงพยาบาลต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง การจะหาทางออกเพื่อลดภาระงานแพทย์  ก็ต้องไม่กระทบการให้บริการตรงนี้  ซึ่งในวันที่ 7 พฤศจิกายน จะหารือถึงทางออก ทั้งการกระจายแพทย์ให้เหมาะสม การพัฒนาระบบส่งต่อคนไข้ เจ้าหน้าที่ปลอดภัย ซึ่งตรงนี้กระทรวงฯ มีการพัฒนามาตลอด แต่ก็คงต้องมาหารือว่ายังมีจุดที่ต้องพัฒนาอย่างไรต่อไป” นพ.โมลี กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/11/2561

อัพเกรด 3 แสน ‘ข้าราชการ’ สู่ยุคดิจิทัล ก.พ.แจก 500 ทุน ดึงคนรุ่นใหม่

นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดเผยถึงแนวทางในการพัฒนาข้าราชการพลเรือนของประเทศ ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.พ.เตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังคนภาครัฐตามแผนกำลังคนของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

โดยขณะนี้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลจัดสัมมนานักเรียนทุนดีเด่น เพื่อรวบรวมสาขาวิชาสำคัญที่ควรจัดสรรทุนของรัฐบาล เช่น พลังงาน Biotechnology Data Science Machine Learning Management Science & Finance และร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดประชุม Thailand 4.0 R&I Open Forum เรื่องการปฏิรูปทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่ง สวทน. ระบุสาขาวิชาสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ด้าน Cyber-Physical (เทคโนโลยี Advance Analytics, เทคโนโลยีอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์, เทคโนโลยี Cryptograghy, เทคโนโลยี Smart Sensor) ด้าน Bio-Digital (เทคโนโลยี DNA Sequencing เทคโนโลยี Gene editing) เป็นต้น

“ได้วางรากฐานให้ข้าราชการพลเรือนที่มีอยู่กว่า 3 แสนคน ปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงการสรรหาข้าราชการรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนข้าราชการพลเรือนที่เกษียณอายุเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับส่วนราชการ เนื่องจากปัจจัยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง ทักษะและรูปแบบการทำงานที่ท้าทายของหน่วยงานอื่น ๆ และค่านิยมรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการไม่เพียงพิจารณาจากความเก่ง ฉลาดเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรมและมีใจรักที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอีกด้วย” เลขาธิการ ก.พ. กล่าว

เลขาธิการ ก.พ. กล่าวอีกว่า กำลังคนภาครัฐหรือข้าราชการเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการช่วยนำพาประเทศไปสู่การเติบโต ซึ่งในอนาคตอาจจะกลายเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือทิศทางของประเทศ ดังนั้นการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น สำนักงาน ก.พ. ได้พัฒนารูปแบบการสรรหาและเลือกสรรข้าราชการรูปแบบใหม่ ด้วยการสรรหาเชิงรุก โดยเป็นการชักชวนให้นิสิต นักศึกษา หรือบัณฑิตจบใหม่ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของหน่วยงานราชการ เพื่อเข้ามาทดสอบความสามารถ ความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศร่วมกัน

ทั้งนี้เมื่อผ่านการทดสอบต่างๆแล้ว ได้รับทุนการศึกษา พร้อมการบรรจุเข้ารับราชการหลังจากสำเร็จการศึกษา พร้อมด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น แล้วจึงกลับมารับราชการหรือทำงานในหน่วยงานของรัฐตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานแหล่งทุนในการจัดสรรทุนในสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคล อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศด้วย ” นางเมธินี กล่าว

นางเมธินี กล่าวต่อว่า สำนักงาน ก.พ. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาข้าราชการพลเรือน ให้เป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลโดยให้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นในทุกๆปี สำนักงาน ก.พ. จึงได้จัดให้ทุนการศึกษาในสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย ให้กับผู้ที่สนใจเข้าทำงานราชการ โดยปี 2561 สำนักงาน ก.พ. ได้เข้าร่วมการจัดมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศ ครั้งที่ 15 (OCSC International Education Expo 2018) ภายใต้แนวคิด “Transforming Lives Through Education” โดยการศึกษาที่ดีจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตที่งดงาม โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่  10-11 พ.ย. 2561 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ที่สำคัญภายในงานนี้ สำนักงาน ก.พ. จะมีการประกาศทุนรัฐบาลและเปิดรับสมัครทุนรัฐบาล จำนวน 500 ทุน พร้อมทั้งจะได้ฟังคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่ได้รับทุนรัฐบาล จากสำนักงาน ก.พ. รวมถึงรับคำปรึกษาด้านการเงินในการไปเรียนต่อต่างประเทศ และจะได้ทดลองทำแนวข้อสอบทุนรัฐบาลและทดลองสอบเข้ารับราชการ เป็นต้น

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมทดสอบความถนัดด้านอาชีพจากกระทรวงแรงงาน กิจกรรมสอบ IQ, EQ จากกรมสุขภาพจิต ทั้งนี้ ในงานจะมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการศึกษาต่อต่างประเทศแบบบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ให้กับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจทั่วไปได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้แทนสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกกว่า 370 สถาบันจาก 25 ประเทศ และการให้คำปรึกษาตัวต่อตัวในการไปศึกษาต่อที่จีนและการขอทุนจากประเทศต่างๆ รวมถึงสามารถทดลองสอบ TOEFL& IEL TS mock tests ได้ฟรีอีกด้วย

ที่มา: แนวหน้า, 5/11/2561

ทช.ลุยแก้ประมงผิดกฎหมายปลดใบเหลือง IUU พอใจผลงานปี 2561

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. ซึ่ง ศรชล. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ตามคำสั่ง คสช. ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายหรือ ศปมผ.

นายจตุพร กล่าวต่อว่า การจัดตั้ง ศปมผ. ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing จากมาตรการแจ้งเตือนสถานะใบเหลืองโดยสหภาพยุโรป (EU) เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาทรัพยากรทางทะเลให้สมบูรณ์และยั่งยืนสืบต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ คือสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการและนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจัง

นายจตุพร กล่าวอีกว่า ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มรูปแบบยิ่งขึ้น เนื่องจากหลายหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกันนั้น ต่างก็มีกฎหมายเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่หากบูรณาการร่วมกันก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเรือประมงไร้สัญชาติ การตรวจความถูกต้องของเครื่องมือประมง การตรวจการเข้า – ออก ของเรือประมง (PORT IN / PORT OUT) การตรวจอุปกรณ์เครื่องมือในระบบติดตามเรือ (VMS) กับเรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป การตรวจใบอนุญาตแรงงานชาวต่างด้าว รวมถึงการสอดส่องเรื่องการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการป้องกันและปราบปรามการทำการประมงผิดกฎหมายในภาพรวมของปีนี้ หวังว่าจะช่วยส่งผลให้ไทยหลุดพ้นจากการให้ใบเหลืองของ EU ได้ในที่สุด” นายจตุพร กล่าวย้ำ

ด้าน นายโสภณ ทองดี รองอธิบดี ทช. กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับภารกิจในด้านงานป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายนี้ ซึ่งได้มอบแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ว่าให้เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการที่ทช.จะต้องเป็นหน่วยงานสนับสนุนในการตรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการให้ใบเหลืองของ EU ให้ได้โดยเร็วที่สุด

นายโสภณ กล่าวต่อว่า โดยในปีงบประมาณ 2561 นี้ ทช.มีผลการปฏิบัติงานในด้านดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจ สามารถดำเนินการตรวจเรือประมง ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 – 30 ก.ย. 2561 ได้ถึง 4,101 ลำ แรงงานประมง จำนวน 42,985 คน สามารถดำเนินคดีการทำการประมงผิดกฎหมายได้จำนวน 92 คดี และจับกุมผู้ต้องหาได้ 45 คน โดยคดีส่วนใหญ่เป็นการใช้เครื่องมือประมงประเภทลอบพับ ตลอดจนมีเครื่องมือประมงที่ใช้กระทำผิดในชนิดอื่นๆ อีกเช่น อวนรุน อวนลาก อวนล้อม คราดหอย โพงพาง อวนติดตา เป็นต้น

รองอธิบดี ทช. ระบุว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานราชการหน่วยหนึ่งซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งของชาติ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ทั้งจากการท่องเที่ยวและการประมงทะเล ดังนั้นปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ดังกล่าว กรม ทช. และหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น กรมประมง หรือกองทัพเรือ

“ซึ่งทุ่มเทการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาเป็นระยะเวลานาน จะไม่สามารถประสบความสำเร็จให้ไทยหลุดพ้นจากใบเหลืองได้ หากพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวประมงไม่ให้ความร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ แนวโน้มก็เป็นไปในทางที่ดีและหวังว่าจะปะสบความสำเร็จทำให้สหภาพยุโรปเห็นถึงการแก้ไขปัญหา IUU ของไทยที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง พิจารณาปลดใบเหลืองให้ไทยในไม่ช้านี้” นายโสภณ กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 5/11/2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net