Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมเวิร์ลซัมมิทของกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (HRDs) ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการโจมตี คุกคาม และสังหารผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อประชาชนทั่วไป โดยมีการกล่าวเน้นย้ำกว่าการสังหารนักสิทธิฯ เหล่านี้มีมากขึ้นจนถึง 'จุดวิกฤต' และจะส่งผลกระทบเลวร้ายต่อประชาธิปไตย


ที่มาภาพประกอบ: Extrajudicial Killing in the Philippines

11 พ.ย. 2561 ในที่ประชุมเวิร์ลซัมมิทของกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (HRDs) ที่มีตัวแทนจากทั่วโลกมาประชุมรวมกันมากกว่า 150 คน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่องคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนถูกโจมตีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึง "จุดวิกฤต" ของปัญหานี้

หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม HRDs คือ มิเชลล์ บาเชเลตต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติได้พูดถึงบทบาทสำคัญที่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีต่อสังคมว่า เมื่อมีใครถูกล่ามโซตรวน เมื่อมีใครถูกปิดกั้นสิทธิ นักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้จะเข้าไปช่วย พวกเขาจะท้าทายความอยุติธรรมและยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้อื่น ทุกๆ ย่างก้าวของความก้าวหน้าในทางความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิต่างๆ เป็นไปได้เพราะการต่อสู้และการอุทิศตนของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน

การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมซัมมิทของกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกเป็นครั้งที่ 2 หลัง และนับเป็นการครบรอบ 20 ปีคำประกาศของสหประชาชาติในเรื่องผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนซึ่งระบุให้ประชาคมโลกจะต้องให้เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพทางความเชื่อต่อทุกคน รวมถึงทำให้ทุกคนเป็นอิสระจากความกลัวและความอยาก แต่ทว่ารัฐบาลทั่วโลกก็ย่อหย่อนต่อการปฏิบัติตามพันธกิจในเรื่องนี้ ทำให้ยังคงมีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกยังคงถูกสังหารโดยที่ตัวผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล

มิเชล ฟอร์สต์ ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนของยูเอ็นกล่าวถึงสภาพการณ์น่าเป็นห่วงที่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนต้องเผชิญและสถานการณ์นี้ก็กำลังย่ำแย่ลงทั่วโลก คุมิ ไนดู เลขาธิการของแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลกล่าวในทำนองเดียวกันว่านักกิจกรรมจากทั่วโลกต้องเผชิญกับอันตรายในระดับที่ถึงขั้นวิกฤต มีคนธรรมดาทั่วไปถูกข่มขู่คุกคาม ถูกทารุณกรรม ถูกจับคุมขัง และถูกสังหารเพียงเพราะพวกเขาเป็นอย่างที่พวกเขาเป็น ไนดูบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องต่อสู้กับกระแสการปิดกั้นข่มเหงผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก

ในรายงานของยูเอ็นระบุว่านับตั้งแต่มีคำประกาศเรื่องนี้มีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนถูกสังหารทั่วโลกอย่างน้อย 3,500 ราย แค่ในปี 2560 ปีเดียวก็มีคนทำงานด้านนี้ถูกสังหารมากกว่า 300 รายจาก 27 ประเทศ ซึ่งมากกว่าตัวเลขในปี 2558 ถึงสองเท่า และเกือบร้อยละ 85 ของการฆาตกรรมผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเหล่านี้มาจากประเทศละตินอเมริกา 5 ประเทศ คือ โคลอมเบีย, บราซิล, กัวเตมาลา, ฮฮนดูรัส และเม็กซิโก

ประเทศที่เลวร้ายที่สุดสำหรับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนคือโคลอมเบียซึ่งมีอัตราการฆาตกรรมคนทำงานด้านนี้สูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2559 ที่มีข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธ FARC โดยในปี 2560 มีการสำรวจพบว่าผู้นำนักกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมถูกสังหารมากกว่า 120 คน จากกองกำลังรูปแบบทหารและจากกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายที่ส่วนใหญ่มาจากเขตที่ยังคงมีกองกำลัง FARC หลงเหลืออยู่ โดยผู้ที่ถูกสังหารส่วนหนึ่งเป็นนักกิจกรรมต่อต้านเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำและสู้เรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านผู้ที่จะได้รับผลกระทบทางสิทธิมนุษยชนอย่างการพลัดถิ่น

องค์กรฟรอนต์ไลน์ดีเฟนเดอร์ระบุว่าร้อยละ 67 ของคนที่นักสิทธิมนุษยชนผู้ถูกสังหารในช่วงปี 2560 คือคนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องผืนดิน สิ่งแวดล้อม และสิทธิของชนพื้นเมือง โดยมักจะมีฝ่ายคู่ขัดแย้งเป็นโครงการขนาดยักษ์ อุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากร และธุรกิจใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการข่มขู่คุกคามจากกลุ่มติดอาวุธรูปแบบทหารอย่าง "อินทรีดำ" ที่ส่งใบปลิวขู่ฆ่าโดยระบุว่าจะกวาดล้างกลุ่มผู้หญิงวายูซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองพิทักษ์สิ้งแวดล้อม

บาเชเลตต์ กล่าวว่าการโจมตีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทุกคดีถือเป็นการโจมตีสิทธิมนุษยชนเอง ซึ่งเป็นสิทธิของพวกเราทุกคน

อย่างไรก็ตามการที่หลายประเทศล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนและเอาผิดกับผู้อยู่เบื้องหลังจากโจมตีเหล่านี้ยังทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินการสืบสวนอย่างเป็นทางการในเรื่องเหล่านี้

แต่ถึงแม้ในบางคดีที่มีการนำตัวผู้ก่อเหตุขึ้นศาลได้แต่กระบวนการยุติธรรมก็ยังทำให้ผู้ก่อเหตุไม่ต้องรับผิด เช่นในกัวเตมาลากรณีเจ้าของบริษัทเหมืองแร่สัญชาติแคนาดาฮัดเบย์มิเนอรัลตกเป็นผู้ต้องหาเรื่องก่อเหตุสังหารนักกิจกรรมชนพื้นเมือง อดอลโฟ อิช ชามาน เมื่อปี 2552 อีกทั้งยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทใช้ปืนจี้ข่มขืนผู้หญิง 11 รายในช่วงบังคับไล่ที่ผู้คน แต่เขาก็ได้รับการพิพากษาได้พ้นผิดถึงแม้ว่าจะมีพยานและหลักฐานทางวัตถุ อีกทั้งศาลยังขอให้มีการฟ้องร้องภรรยาของชามานโดยอ้างว่าเธอ "ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและบิดเบือนข้อมูล"

ฟอร์สต์กล่าวว่าการทำให้ผู้ก่อเหตุลอยนวลอย่างเป็นระบบจำนวนมากเช่นนี้เป็นสัญญาณที่ไม่ดีสำหรับผู้ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงส่งสัญญาณแย่ๆ ต่อสิทธิของทุกคนเองในที่สุดรวมถึงทำให้ประชาธิปไตยตกอยู่ในอันตราย

ถึงแม้จะจะมีเรื่องแย่ๆ เหล่านี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็มีความก้าวหน้าขึ้นบ้างในเรื่องผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน เช่น กรณีที่มีการให้รางวัลโนเบลแก่ชาวยาซิดีผู้เคยตกเป็นทาสบำเรอกามต่อกลุ่มก่อการร้ายไอซิสและหมอชาวคองโกผู้ดูแลเยียวยาผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่ทั้งสองคนนับเป็นผู้ที่มีบทบาทในการหยุดใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นเครื่องมือทางสงคราม

ในงานประชุมตัวแทนจากยูเอ็นทั้งสองคนยังกล่าวเน้นย้ำความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนหลังจากที่มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนครบรอบ 70 ปี (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ UDHR ประกาศเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2491)

"สิ่งที่เหล่าผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนสอนเราคือพวกเราทุกคนสามารถลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของพวกเราเองและสิทธิของผู้อื่นได้ ตั้งแต่ระดับคนรอบข้างของพวกเรา ในระดับประเทศของพวกเรา และในระดับทั่วโลก พวกเราสามารถเปลี่ยนโลกได้" บาเชเลตต์กล่าว


เรียบเรียงจาก
Attacks on Human Rights Defenders are Reaching a Crisis Point Around the Globe, Toward Freedom, 07-11-2018
https://towardfreedom.org/archives/globalism/attacks-on-human-rights-defenders-are-reaching-a-crisis-point-around-the-globe/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net