สิ้นบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ ฤาชาวปัตตานีจะสิ้นลมหายใจ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561 มีข่าวการปิดโรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งรายใหญ่ในจังหวัดปัตตานี แต่ประเด็นของเนื้อหาคงไม่สามารถสู้กับกระแสข่าวเพลงประเทศกูมี การเจรจาสันติภาพและการเลือกตั้ง ที่เป็นสื่อกระแสหลักร้อนแรง ณ ช่วงเวลานี้ได้ แต่เหตุการณ์ปิดโรงงานแปรรูปฯ ดังกล่าวในมุมมองของผู้เขียนและรศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม เราเห็นตรงกันว่าอาจจะมีผลกระทบต่อคนในพื้นที่อย่างมหาศาล โดยที่ยังไม่เห็นช่องทางว่าปัญหาอาจจะเกิดขึ้นกับชาวบ้านในอนาคตข้างหน้าจะมีหนทางในการคลี่คลายไปได้อย่างไร 

รายงานข่าวชิ้นนี้มาจากการสนทนาของผู้เขียนและ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรมในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ผู้เขียนรู้จัก ดร.ซุกรีมานาน ท่านมักจะแนะนำตัวเองอย่างภาคภูมิใจเป็นลูกของ “ชาวประมง” ในจังหวัดปัตตานีโดยกำเนิด ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าน่าจะได้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปิดโรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งรายใหญ่ในจังหวัดปัตตานีจากลูกประมงโดยกำเนิดคนนี้ได้

ก่อนจะเข้าเนื้อหาผู้เขียนจะเชื่อมโยงประวัติส่วนตัวของ รศ.ดร.ซุกรี คนนี้กับโรงงานแปรรูปฯ เสียก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า ประสบการณ์ส่วนตัวมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นเกี่ยวกับการปิดโรงงานนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร?


ที่มา: https://talung.gimyong.com/index.php?topic=354377.0

ลูกชาวประมงกับโรงงานปลาหมึก
‘งานที่ทำชิ้นแรกหลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ก็คือ คนงานในโรงงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งของบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ นี่แหละ’ รศ.ดร.ซุกรีกล่าว

ปี พ.ศ. 2536 ขณะที่อายุได้ 22 ปี ดร.ซุกรีจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เอกเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.)  งานแรกที่ทำคือ โรงงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งของบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ ในจังหวัดปัตตานี ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.ซุกรีและโรงงาน กับชาวปัตตานีจากมุมมองของ ดร. ซุกรี ในฐานะบุคคลที่เคยเป็นทั้ง ‘คนงาน’ ในโรงงาน และในฐานะ ‘อาจารย์’ สอนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งในวัยเด็กชีวิตของ ดร.ซุกรี ยังสัมพันธ์แนบแน่นกับ ‘เถ้าแก่’ นายทุนที่ให้การอุปถัมภ์ครอบครัวชาวประมงยากจนเล็กๆ มาโดยตลอด อาจารย์เล่าว่าขณะนั้นมีคนงานประมาณ 6-700 คน โรงงานมีการนำเข้าทั้งปลาหมึกกล้วย ปลาหมึกสาย ปลาหมึกกระดอง กุ้ง และปลาทรายบางส่วน 
 

โรงงานแปรรูปปลาหมึกกับชุมชนปัตตานี
‘สมัยนั้น 50% ของอาหารทะเล โรงงานฯ รับมาจากชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี และอีก 50% จึงรับมาจากข้างนอก คือ จังหวัดสงขลา สตูล และประเทศมาเลเซีย’ ดร. ซุกรีกล่าว

โรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งของบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ จังหวัดปัตตานี ให้ความสำคัญกับการรับสินค้าจากสะพานปลาปัตตานีและใกล้เคียง ทั้งจากประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ นำเข้าโรงงาน 50% โดยจะรับซื้อในราคาสูง ดังนั้นโรงงานแปรรูปฯ จึงเป็นตลาดใหญ่ของชาวบ้านในพื้นที่ จุดสุดท้ายของปลาจึงอยู่ที่โรงงานนั้นเอง

แต่อย่างไรก็ตามในขณะนั้นการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมถูกต่อต้านโดยแนวคิด 2 กระแส คือ 1) จากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มองว่าการตั้งโรงงานทำลายสิ่งแวดล้อม และ 2) การสร้างโรงงานทำให้ชาวบ้านทิ้งบ้านโดยเฉพาะผู้หญิงและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาทำโรงงานปลากระป๋องในโรงงาน  
 

โรงงานแปรรูปปลาหมึกกับสำนึกความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมและสังคม
ผม (ดร.ซุกรี) เห็นที่ผู้จัดการโพสต์ก่อนปิดโรงงานว่า “หยดสุดท้ายของน้ำในโรงงาน จะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อของชุมชน”
    
นอกจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างโรงงานปลาหมึกกับชาวประมงพื้นบ้านแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังมีความรับผิดชอบต่มอการดูแลสิ่งแวดล้อมสูงมาก ดร.ซุกรี กล่าวว่า ก่อนปิดโรงงานผู้จัดการได้ทำการปรับสภาพน้ำให้ดีก่อนปล่อยออกไป ที่ผ่านมาโรงงานถึงกับใส่ปลาในบ่อเพื่อทดสอบสภาพความสะอาดของน้ำ ‘โรงงานแห่งนี้ไม่ไร้จิตสำนึก มิหนำซ้ำยังเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับโรงงานแห่งอื่นๆ อีกด้วย’ นอกจากนี้บทบาทของโรงงานยังไม่ได้มีบทบาทต่อสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีความรับผิดชอบต่อสังคม นั้นคือ โรงงานฯ ยังเป็นแหล่งพึ่งพิงทางวิชาการของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ดร.ซุกรีเล่าว่า มหาวิทยาลัยส่งนักศึกษาฝึกงานสาขา เทคโนโลยีการประมง และวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ รวมทั้งสาขาอื่นๆ ในรายวิชาสหกิจศึกษา จากคณะวิทยาศาสตร์ มอ.ปัตตานี ไปฝึกงานที่โรงงานแห่งนี้ และเมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้ว โรงงานฯ ยังรับนักศึกษาเข้าทำงานอีกด้วย มหาวิทยาลัยยังได้ผู้จัดการมาบรรยายให้กับนักศึกษา ถ่ายทอดความรู้เป็นประจำทุกปี ในขณะเดียวกันบุคลากรในโรงงานฯ ยังมาใช้บริการจากห้องแล็บของคณะวิทยาศาสตร์ มอ.ปัตตานี เพื่อวิเคราะห์และทดสอบ ดังนั้นแล้วทั้งโรงงานฯ และมหาวิทยาลัยต่างฝ่ายต่างเป็นแหล่งที่พึ่งให้กันและกัน 

แต่ตอนนี้แหล่งดูงานและตลาดแรงงานของนักศึกษาที่เรียนจบ ปิดตัวไปแล้ว คำถามใหญ่คือ นักศึกษาเหล่านี้จะไปสมัครงานที่ไหน? มหาวิทยาลัยจะมีแหล่งดูงานชั้นดี และพร้อมต้อนรับอย่างกัลยาณมิตรแบบนี้ได้ที่ไหนบ้าง?

เจ้าของโรงงานแปรรูปให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่ถูกเผา
‘กรณีเผาโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2536 ผมได้รับมอบหมายจากโรงงานฯ ให้ไปดูว่ามีโรงเรียนไหนเสียหาย มีโรงเรียนไหนที่มีนักเรียนเป็นลูกมาจากคนทำงานในโรงงานบ้าง พอทราบว่ามีที่ไหนบ้างก็ได้ส่งความช่วยเหลือไปให้’ ดร.ซุกรี กล่าว

ในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบที่รุนแรงถึงขีดสุด โรงเรียนจำนวน 36 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ถูกลอบวางเพลิงในคืนเดียว เหตุการณ์เผาโรงเรียนดังกล่าว ได้รับความสนใจจากโรงงานแปรรูปแห่งนี้ ได้แสดงความจำนงจะช่วยเหลือโรงเรียนที่ถูกเผา เพราะมีความกังวลและห่วงเป็นใยว่า อาจจะมีลูกหลานของคนงานที่ทำงานในโรงงานแปรรูปเรียนอยู่ในโรงเรียนดังกล่าวด้วยหรือไม่ ด้วยสายสัมพันธ์ที่มีมานาน ดร.ซุกรีจึงได้รับการติดต่อจากโรงงานฯ ให้ทำการสำรวจความเสียหายของโรงเรียนและสำรวจผลกระทบที่อาจมีต่อลูกหลานของคนงานในโรงงาน เมื่อดร.ซุกรีพบว่า รร.ตะโล๊ะกะโปร์ มีนักเรียนที่เป็นลูกของคนงานในโรงงานแปรรูป จึงนำไปสู่การช่วยเหลือโรงเรียนและบุตรหลานของพนักงาน ‘และนี่คือการกระทำที่แสดงถึง “สำนึก” รับผิดชอบต่อสังคมในมุมมองที่ผมรู้จัก’
 

โรงงานแปรรูปฯ และความขัดแย้งทางวัฒนธรรม
ในสมัยที่โรงงานแปรรูปจัดตั้งใหม่ๆ มีการจ้างแรงงานผู้หญิงตามหมู่บ้านต่างๆ ให้เข้าทำงานในโรงงาน ขณะนั้นมีกระแสการต่อต้านผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมากมาย โดยเฉพาะการต่อต้านจากชุมชน ถึงแม้ว่าผู้เป็นพ่อและสามีจะไม่ห้ามการทำงานของภรรยาและลูก เนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานและบทบาทการหาเลี้ยงครอบครัวในสมัยนั้นจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ชาย และสายตาความเป็นห่วงจากสังคมที่ไม่ค่อยมีความสุขมากนัก แต่ด้วยสภาวะทางสังคมและการลดลงของทรัพยากรทางทะเล รายได้จากประมงพื้นบ้านโดยการออกเรือหาปลากลับมีข้อจำกัด รายได้ลดลง จึงกลายเป็นปัจจัยผลักสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากแม่บ้านออกไปทำงานข้างนอก ดังนั้นผู้ชายจึงรู้สึกว่าตัวเองเสียศักดิ์ศรีเนื่องจากไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ มิหนำซ้ำยังถูกชุมชนลงโทษทางสังคมกล่าวหาผู้ชายที่ปล่อยให้ผู้หญิงที่เป็นเมียและลูกสาวออกมาทำงานนอกบ้าน 

อีกสองประเด็นที่สำคัญที่ ดร.ซุกรี เล่าคือ หนึ่ง ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านและออกจากโรงงานตอน 3 ทุ่ม และสองความไม่พอใจที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ไปทำงานในโรงงานจะไม่คลุมผม

ดร.ซุกรีกล่าวว่า พวกผู้ชายจะห่วงไปถึงลูกเพราะเวลาทำงานในโรงงานสมัยก่อนจะเข้าไปทำงาน 8 โมงเช้า และกลับออกมา 3 ทุ่ม จึงมีคำถามว่าลูกๆ จะอยู่อย่างไร? ส่วนประเด็นความเป็นห่วงเรื่องชู้สาวไม่มีเลย เพราะกลุ่มผู้หญิงมากันเป็นทีมคันรถและกลับเป็นทีม โรงงานจะทราบว่าในแต่ละวันจะต้องจ้างคนงานกี่คนเพื่อความพอเหมาะในการทำงานในโรงงานฯ แต่ละจุด แต่ละวัน ส่วนประเด็นที่สองเรื่องวัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล เพราะผู้หญิงที่ไม่ได้คลุมผมเมื่ออยู่นอกโรงงานแต่พอเข้ามาทำงานในโรงงานแล้วทุกคนต้องปิดผมมิดชิดไม่ให้เส้นผมแม้แต่เส้นเดียวออกมา เนื่องจากเกี่ยวกับความสะอาดในการทำงานในโรงงาน มีทั้งเสื้อแจ๊คเก็ต เสื้อกาวน์ (เสื้อคลุมสีขาวยาว) ที่สำคัญในโรงงานมีที่ละหมาดด้วย
 

สิ้นชาญชัย เหล่าเทพพิทักษ์ สิ้นสุดโรงงานบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ปัตตานี
“เงินประมาณ 150-200 ล้านบาท จะหายไป เมื่อโรงงานฯ ปิด ชาวบ้านจำนวน 1,000 กว่าคนจะได้รับผลกระทบ” ดร.ซุกรีปรารภ

ดร.ซุกรี ให้ความเห็นว่าการสูญเสียคุณชาญชัย เหล่าเทพพิทักษ์ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งฯ ต้องปิดตัว และน่าจะมีอิทธิพลมากกว่าปัญหาอื่นๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ก่อให้เกิดภาวการณ์ขาดทุน การกีดกันทางการค้าของต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือแม้แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.ซุกรีกล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่แท้จริง แต่อาจเป็นความพยายามลดค่าใช้จ่ายลงด้วยการปิดโรงงานฯ ที่ปัตตานี มีมาตลอด ประกอบกับเมื่อโรงงานฯ กลายเป็นบริษัทมหาชน และการเสียชีวิตของคุณชาญชัย ทุกๆปัจจัยส่งผลให้ในท้ายที่สุดโรงงานฯ แห่งนี้จึงปิดตัวลง

หากไล่เรียงปัญหาต่างๆ ที่โรงงานฯ เคยเจอ เช่น สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจจะไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะโรงงานฯ เจอวิฤตเศรษฐกิจมาตลอดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 และประสบปัญหาจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท (เดิมทีจ่าย 100 กว่าบาท) แต่ทุกครั้งโรงงานฯ สามารถฝ่าฟันวิกฤตเหล่านี้มาได้ตลอด ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การลดจำนวน staff ออกระดับหนึ่งเพื่อนำรายได้มาคงตำแหน่งงานให้กับพนักงานที่เป็นคนงาน นอกจากนี้สถานการณ์การลดลงและปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางทะเลที่ป้อนเข้าโรงงาน (เนื่องจากทรัพยากรในอ่าวปัตตานีลดจำนวนลงอย่างรุนแรง) ผลกระทบอาจมีปัญหาการขาดทุน แต่หนึ่งเสียงของคุณชาญชัยในฐานะคณะกรรมการบริหารเมื่อครั้งโรงงานฯ กลายรูปมาเป็นบริษัทมหาชนขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังมีพลังเพียงพอที่จะยับยั้งการปิดตัวของโรงงานฯ และยังคงนโยบายการจ้างงานที่เป็นคนในพื้นที่ 100% (ต่างจากโรงงานอื่นๆ ที่จ้างแรงงานต่างด้าวในราคาถูกกว่า) จึงสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โรงงานแห่งนี้จึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนในปัตตานีในช่วงทุกสภาวะวิกฤตแม้แต่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ถ้าปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบและปัญหาความมั่นคงที่คนภายนอกกังวลว่าจะส่งผลกระทบทำให้โรงงานปิดตัวนั้น ดร.ซุกรี แสดงทัศนะว่าการมองเช่นนี้เท่ากับเป็นการดูถูกคนในพื้นที่ เพราะจังหวัดปัตตานีสามารถผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีความเก่งและความกล้าไว้มากมาย ประกอบกับการจ้างงานที่เป็นคนในพื้นที่จำนวน 100% โรงงานฯ จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ไม่เคยถูกข่มขู่หรือการเก็บส่วยจากกลุ่มก่อความไม่สงบ ดังนั้นการกล่าวว่าเพราะสถานการณ์ความไม่สงบทำให้ไม่สามารถหาบุคลากรมาทำงานได้ ไม่น่าจะจริงในความเห็นของท่าน 

ส่วนใหญ่คนงานที่ทำงานในโรงงานฯ เป็นผู้หญิงโดยเฉพาะมาจากหมู่บ้านรอบอ่าวปัตตานี เช่น ดาโต๊ะ แหลมโพธิ์ ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้หญิงรอบอ่าวปัตตานีเป็นผู้นำรายได้หลักหาเลี้ยงครอบครัว มีหน้าที่รับผิดชอบต่อปากท้องอย่างน้อยอีก 5 คนในครอบครัว เพราะฉะนั้นการที่โรงงานฯ ปิดตัว จึงไม่ใช่เพียง 1,000 คนที่ตกงาน (แต่ละคนจะมีรายได้ 300 – 350 บาท) ที่จะไม่มีข้าวกิน แต่นั้นหมายถึงอีก 5,000 – 6,000 กว่าชีวิตซึ่งจะได้รับผลกระทบด้วย ในขณะที่ผู้ชายออกเรือหาปลาไม่สามารถหารายได้เป็นกอบเป็นกำและสม่ำเสมอ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะ 2 ปีที่แล้ว ครอบครัวประมงในจังหวัดปัตตานีไม่สามารถพึ่งพารายได้จากพ่อบ้านได้อีกต่อไป ดร.ซุกรีได้ทำการทดลองสมมติฐานนี้ด้วยตัวเอง คือ ซื้อเรือมา 1 ลำ และให้ชาวบ้านใช้ ปรากฏว่ารายได้จากการทำงานด้วยเรือหาปลา 5 เดือน กลับทำรายได้เพียง 4,000 บาท (ในช่วงเวลา 5 เดือน!) เท่านั้น 

ดังนั้นเมื่อผู้หญิงตกงานเนื่องจากโรงงานฯ ปิดตัว ผู้หญิงส่วนหนึ่งจะต้องไปหางานใหม่ในประเทศมาเลยเซีย แต่การทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ณ ปัจจุบันนี้ ก็ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนเมื่อก่อนอีกเช่นกัน ช่วงระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลยเซียมีการกวดขันคนไทยที่เข้าไปขายแรงงานในประเทศมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินริกกิตตกเหลือ 7 บาท ต่อ 1 ริงกิต (เดิม 10 บาท ต่อ 1 ริงกิต) นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่อาจจะมีต่อชุมชนชาวปัตตานี เช่น ถ้าผู้หญิงไปทำงานใครจะดูแลลูก? หรือการรับมือกับปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่ชุมชนมีอยู่เดิมแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือได้รับการแก้ไขน้อยมาก เช่น เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาทางสุขภาวะจิต ฯลฯ (ดูในรายวิจัยของ Alisa Hasamoh (2017). Trauma and gender in natural disaster and conflict contexts: a comparative study of Aceh, Indonesia and the Deep South of Thailand. PhD thesis, James Cook University.) สังคมไทยจะมีการจัดการอย่างไร?

สรุปบทสนทนาสุดท้าย ดร.ซุกรีเล่าว่า คนงานบางส่วนได้รับความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี โดยผู้ว่าฯ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลและพยายามหาแหล่งงานที่ใหม่  โรงงานมีการจ่ายค่าชดเชย แต่คนงานตกงานอีกหลายร้อยคนยังอยู่ในสถานการณ์อันแสนมืดมน และถึงแม้ว่าในพื้นที่จะมีนักวิชาการและ NGOs ที่ให้ความสำคัญกับชาวบ้านในแถบอ่าวปัตตานีและประมงชายฝั่ง แต่เป็นเพราะอุตสาหกรรมประมงมักจะถูกมองเป็นคู่ตรงข้ามกับวิถีประมงพื้นบ้านรวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด จึงอาจจะทำให้ข่าวการปิดโรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งรายใหญ่ในจังหวัดปัตตานีอาจจะไม่ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะมากนัก ความสิ้นหวังอีกด้านหนึ่งคือ จังหวัดปัตตานีเองไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างอาชีพเพื่อทดแทนเงิน 200 ล้านบาทที่ขาดหายไป อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าความหวังในการให้ความช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ดูเหมือนจะเลือนลางและยากที่จะมองเห็น แต่เราทั้งคู่ในฐานะคนทำงานในพื้นที่ ก็คงต้องทำงานและคาดหวังว่าน่าจะมีหนทางที่ยังพอมีอยู่ในอนาคตและคงต้องหาทางแก้ไขต่อไป
 

 

อ้างอิง

ผู้จัดการออนไลน์. (2561, 31 ตุลาคม). ปิดฉาก! โรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งรายใหญ่ปัตตานี เผยต้านวิกฤต ศก.โลกไม่ไหว, จากผู้จัดการออนไลน์ ข่าวภาคใต้. สืบค้นจาก https://mgronline.com/south/detail/9610000108896?fbclid=IwAR3tEYe9CABwEue0usha3IH_zM6BWOZH1EtN-AdHmIm4u8QLcRDUH_O0MAI

ไทยรัฐออนไลน์. (2561, 5 พฤศจิกายน). แร็ป Thailand 4.0 แตะ 1.3 ล้านวิว ส่วนแร็ป ประเทศกูมี ทะลุ 28 ล้านวิว. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/content/1412305

Benarnews. (2561, 29 มีนาคม).  การเจรจาสันติสุขชายแดนใต้สะดุด เพราะข้อเรียกร้องของกลุ่มก่อความไม่สงบ. สืบค้นจาก https://www.benarnews.org/thai/commentary/TH-pathan-03292018193230.html

BBCNews Thailand. (2562, 13 กันยายน). วันเลือกตั้ง: รัฐบาล-กกต. ยืนยันกำหนดเดิม 24 ก.พ. 2562. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-45493498

HAJISAMAE, S. (2014). สืบค้นจากhttp://www.mis.sat.psu.ac.th/staff_directory/staff.php?STAFF_ID=0006342

คม ชัด ลึก. (2560, 1 สิงหาคม). วันนี้ในอดีต 1 ส.ค. 2536 เผา ‘36 โรงเรียนใต้’. สืบค้นจาก http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/290182

Hasamoh, Alisa (2017) Trauma and gender in natural disaster and conflict contexts: a comparative study of Aceh, Indonesia and the Deep South of Thailand. PhD thesis, James Cook University

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: อลิสา หะสาเมาะ เป็นอาจารย์ประจำแผนกวิชาพัฒนาสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และกรรมการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและการสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท