นโยบายสาธารณะที่ไม่มีส่วนร่วม ระวังที่ราบสูงจะลุกฮือ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่ม สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้ายหรือขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ ในปี 2558 บวกกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ปี 2554 รวมแล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) เป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต มีโรงงานน้ำตาลขยายกำลังผลิตและโรงงานน้ำตาลใหม่เพิ่มขึ้น 29 โรงงาน พ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกโรงงาน

ตามด้วยการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่จัดทำขึ้นใหม่โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังคลอดไม่ได้ เกิดจากการเจรจาที่ยังไม่ลงตัวเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างตัวแทนชาวไร่อ้อยกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เพราะตลอด 33 ปีที่ผ่านมา ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล 70:30 คำนวณจากรายได้สุทธิจากการขายน้ำตาลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมี “กากน้ำตาล” เป็นผลพลอยได้เท่านั้น แต่ปัจจุบัน “อ้อย” สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลายอย่าง และ “กากอ้อย” ก็สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ การนำรายได้ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาคำนวณรายได้ในระบบ จึงเป็นข้อถกเถียงอย่างเข้มข้น โดยฝ่ายโรงงานน้ำตาลยืนยันแบบเดิม ส่วนตัวแทนชาวไร่อ้อยเห็นว่ารายได้ที่เกิดจากอ้อยทั้งหมดต้องมีการแบ่งปันให้เกษตรกรอย่างเป็นธรรม

สภาพการณ์จากปรับตัวของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำทรายขาลง ไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพซึ่งมีแผนการลงทุนเป็นโครงการขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด โดยคาดว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 14 ล้านไร่ ในขณะที่ชาวไร่อ้อยยังคงยากจน ถูกกดขี่แรงงานบนที่ดินของตนเองภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา และมีความเสี่ยงสูงกับหนี้สินที่อาจทำให้ที่ดินหลุดมือ[1]การรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้นของชาวไร่อ้อย ทำให้สมาคมชาวไร่อ้อยวางตัวลำบากในฐานะที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ให้ชาวไร่อ้อย และรัฐต้องพยายามอย่างมากในการไกล่เกลี่ยกับนายทุนให้ยอมได้แบบไม่เต็ม หรือเสียบางอย่าง เพื่อให้ตัวแทนชาวไร่อ้อยยอมรับ ร่างพ.ร.บ.อ้อยฯ ป้องกันการประท้วงของของชาวไร่อ้อยซึ่งมีมวลชนที่พร้อมจะออกมาถ้ามีการปลุกกระแส โดยเฉพาะเมื่อมวลชนชาวไร่อ้อยที่แท้จริงไม่เคยเป็นเนื้อเดียวกันกับนายทุนแต่ไหนแต่ไรมา และอาจจะมีการเติมเชื้อด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นการวัดว่าฐานเสียงของรัฐบาลในพื้นที่ที่ราบสูงจะมีน้ำหนักพียงใด

ประกอบกับแรงคัดค้านที่หนักขึ้นของประชาชนในหลายจังหวัดที่มีการเชื่อมร้อยกันในนาม “เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน” โดยมีเครือข่ายระดับภาคและระดับพื้นที่เกือบ 30 องค์กร ทั้งนี้เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมรอบใหม่ในภาคอีสาน “อุตสาหกรรมชีวภาพ” กำลังจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในด้านต่างๆ ที่อาจส่งกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากร และวิถีชีวิตของประชาชนอย่างไม่อาจเรียกคืน

นโยบาย-แผน ในรัฐบาลที่ประชาชนไม่มีเสียง ไม่มีส่วนร่วม ทยอยเปิดออกมาเรื่อยๆ และกำลังถูกจับตาโดยภาคประชาชน 

แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) มีแนวคิดและทิศทางการพัฒนา คือ การใช้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับโครงข่ายระบบการคมนาคมขนส่งและพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงและข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาเสริมสร้างกิจกรรมการพัฒนาใหม่ๆ ให้แก่ภาค มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ พัฒนาอีสานให้เป็น “ศูนย์กลาง
เศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”

แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเลย ชี มูล โดยศึกษา สำรวจ และจัดหาพื้นที่เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ แม่น้ำในภาคและระหว่างภาค

โครงการโขง เลย ชี มูล คือส่วนหนึ่งของการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม

การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของภาคที่ส่งผลต่อการปฏิรูปภาคเกษตร อาหาร สาธารณสุขและการแพทย์ พลังงาน อุตสาหกรรมเคมี โดยพัฒนาให้นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และสกลนคร เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูป และอาหารแบบครบวงจร 

การส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่และธุรกิจแนวใหม่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง ด้วยการพัฒนาต่อยอดจากวัตถุดิบและของเหลือทิ้งทางการเกษตร/อุตสาหกรรม และฐานความหลากหลายทางชีวภาพไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น เอทานอล พลาสติกชีวภาพ (bio-plastic) สารสกัดจากพืชมูลค่าสูง เอนไซม์/อาหารเสริมสุขภาพจากจุลินทรีย์ เป็นต้น รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางพลังงานระดับชุมชน จากการนำวัตถุดิบในชุมชน ของเหลือทิ้งทางการเกษตร ขยะครัวเรือน มาผลิตเป็นพลังงานเพื่อใช้ภายในครัวเรือนหรือชุมชน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับชุมชน

การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ ของภาค โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงภาคกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลางและพื้นที่ EEC ให้แล้วเสร็จตามแผน อาทิ แผนการพัฒนารถไฟความเร็วสูง การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) การพัฒนารถไฟสายใหม่ (บ้านไผ่-นครพนม) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภายในภาค 6 แห่ง (อุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และขอนแก่น) และขยายถนน 4 ช่องจราจรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง

การพัฒนาเมืองสำคัญ ขอนแก่น นครราชสีมา ให้เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าการลงทุน การบริการสุขภาพและศูนย์กลางการศึกษา โดยพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับ แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักที่เชื่อมโยงระหว่างภาค เร่งรัดพัฒนาระบบขนส่งรางเบาเมืองขอนแก่น พร้อมทั้งส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะในเมืองให้เชื่อมโยงระหว่างเมืองและระบบขนส่งอื่น และ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งระบบรางในเมืองที่มีศักยภาพที่สำคัญ อาทิ เมืองขอนแก่น และบริเวณเมืองชายแดนที่มีศักยภาพ รวมทั้งบริเวณใกล้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อาทิ เมืองนครพนม เมืองหนองคาย เมืองมุกดาหาร โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำโครงการนำร่องที่ใช้แนวทางการจัดรูปที่ดิน การวางผังเมืองควบคู่กับการพัฒนาเมืองแบบประหยัดพลังงาน

การพัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาด่านชายแดน โครงสร้างพื้นฐานบริเวณด่านศุลกากร เร่งก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย ลาว เวียดนาม และจีน และการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยพัฒนามุกดาหารเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนและสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานโครงการและมาตรการสำคัญในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นครพนม หนองคาย ให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และบริการ CIQ ที่ได้มาตรฐานสากล

ส่วน แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560- 2564) วางเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริหาร และ การลงทุนในภูมิภาค โดยการพัฒนาการขนส่งทางราง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและศูนย์บริการโลจิสติกส์ อาทิ ท่าเรือบก ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า สถานีขนส่งสินค้า คลังสินค้าปลอดอากร ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าทางรถไฟ ในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในแนว Economidor Corridor ที่สำคัญ และฐานการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศไปยังประตูการค้าหลักและด่านการค้าสำคัญของประเทศ

17 กรกฎาคม 2561 ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561- 2570 ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-CURVE) จำนวน 10 อุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) โดยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคตที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New S-Curve) โดยเริ่มต้นผลักดันการลงทุนสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อขยายผล Bioeconomy ในพื้นที่ EEC ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานตอนกลาง เพื่อเชื่อมภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเร่งขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ นำร่องขยายผลการพัฒนาพื้นที่ (Local Economy) ด้วยแนวคิดแบบ EEC ต่อเนื่องในภูมิภาคอื่นที่เหมาะสมทั่วประเทศ

ด้าน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่ ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขนาดพื้นที่ประมาณ 500 - 700 ไร่ ซึ่งมีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นท่าเรือบก และ Logistic Park เพื่อดึงสินค้าส่งผ่าน (Transit Cargo) เข้ามาใช้บริการ และสามารถรองรับสินค้าจากจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ เช่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และ หนองคาย เบื้องต้นกลุ่มลูกค้าที่จะใช้บริการใน จ.ขอนแก่น คือ โรงงานน้ำตาล โรงงานเยื่อกระดาษ โดย สนข. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง คือ หอการค้าจังหวัดขอนแก่น และนักธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นไปแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ตามด้วย ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและมาตรการสนับสนุนการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 กำหนดให้ ตำบลสีคิ้ว ตำบลลาดบัวขาว ตำบลมิตรภาพ ตำบลกุดน้อย และตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา และ พื้นที่เทศบาลตำบลน้ำพอง เทศบาลตำบลลำน้ำพอง เทศบาลตำบลม่วงหวาน เทศบาลตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หมายความว่าผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์อีกมากมาย 

ตัวอย่างแผนงานซึ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ล้วนมีความเชื่อมโยงกัน และถูกผลักดันอย่างเร่งด่วนในรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำของนายทุนใหญ่ 12 สาขา 

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้หลายอุตสาหกรรมก่อให้เกิดความต้องการใช้แร่ที่เป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ๆ หรือวัตถุดิบแร่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ส่วนโครงการก่อสร้างจำนวนมากต้องการใช้หินอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล อุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพต้องการใช้แร่โปแตชเป็นวัตถุดิบ 

เมื่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกจัดวางและเตรียมการไว้ให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมหรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมสำหรับรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมภายในภาคและจากภาคอื่นๆ ในประเทศโดยรัฐบาลทหารที่ไม่ได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจต่อนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อภาคทั้งภาคอย่างกว้างขวาง

ถ้ารัฐบาลคิดว่าผลักดันเดินหน้าได้โดยประชาชนจะไม่ตั้งคำถาม ไม่ลุกฮือขึ้นมาคัดค้าน รัฐบาลอาจจะต้องประเมินใหม่ เพราะแรงบีบคั้นของอำนาจที่ใช้กดทับประชาชนมาตลอด 4 ปี มันอาจจะรอไม่ไหวที่จะเริ่มต้นใหม่กันตอนเลือกตั้ง
 

 

[1] 2561.งานวิจัยผลกระทบอีสานจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ. รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม, แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท