ภาคปชช. ค้าน กม.ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ อัดมาพร้อมโอกาสร่วมจ่าย ณ จุดบริการ

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพระบุรัฐมองระบบหลักประกันสุขภาพเป็นภาระ ชี้ซุปเปอร์บอร์ดอำนาจล้น-ทับซ้อน รัฐเป็นใหญ่ ขณะที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมของไม่ถึง 10% มองเป็นการทำลายระบบบัตรทอง เครือข่ายผู้ติดเชื้อประกาศหากกฎหมายผ่านจะรวมตัวปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ ‘นิมิตร์’ ชี้ รพ.ขาดแคลนงบประมาณต้องแก้ทั้งระบบ อย่าโทษกันไปมา

13 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลา 10.00 น. ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะที่ห้อง BB206 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

‘ซุปเปอร์บอร์ด’ มาได้ไง

กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ. ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ หรือร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญของคือการตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดี ซึ่งนั้นหมายถึงการรวมกองทุน 3 ระบบได้แก่ บัตรทอง, ประกันสังคม, ข้าราชการ มาไว้ในความดูแลของ ซุปเปอร์บอร์ด

ซุปเปอร์บอร์ดอำนาจล้น-ทับซ้อน มาพร้อมโอกาสร่วมจ่าย ณ จุดบริการ

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และตัวแทนกลุ่มคนรักหลักฯ กล่าวว่า ตอนนี้ พระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ผ่าน ครม. ไปแล้ว กำลังอยู่ที่กฤษฎีกา ก่อนจะเข้า สนช. เราพูดกันมาตั้งแต่แรกว่ากฎหมายนี้ไม่จำเป็น ไปทับซ้อนกับกฎหมายอื่น และให้อำนาจที่ไม่จำเป็นที่ชี้หรือกำกับว่าการดำเนินงานของหน่วยงานด้านสุขภาพ มีอำนาจเหนือบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถ้าคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติมีมติ มีนโยบายอะไร โดยที่ไปแย้งกับกฎหมายดั้งเดิม กฎหมายดั้งเดิมก็จะตกไป เพราะกฎหมายนี้ใหญ่กว่า จึงเป็นการให้อำนาจกับคนเฉพาะกลุ่มเกินกว่าเหตุ

นอกจากนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถูกมองว่าเป็นภาระจากผู้มีอำนาจ จากรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงมีความคิดจะแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่พอพวกเรากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลุกขึ้นมาส่งเสียงว่ากฎหมายถ้าจะแก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า กฎหมายฉบับนี้ ก็ยังค้างเป็นผีดิบ ไม่รู้จะเอาอย่างไร แต่วันดีคืนดีก็ฟื้นคืนชีพแปลงร่างมาเป็นกฎหมายซุปเปอร์บอร์ด

“ถ้ารัฐบาลชุดนี้แก้ให้มีการร่วมจ่าย เราอาจจะเจอเคสแบบโรงพยาบาลพระราม 2 ที่ไปตายกลายทาง เพราะประชาชนพอบอกว่าต้องร่วมจ่ายก็จะคิดเยอะ และพยายามจะจัดการตัวเอง แล้วก็อาจถูกปฏิเสธการรักษาถ้าไม่มีเงินร่วมจ่าย เราจะยอมให้เป็นแบบนี้หรือ ถ้าเราไม่ส่งเสียงแบบนี้ โอกาสที่ประชาชนจะตายทั้งเป็นมีเยอะ โอกาสที่ระบบหลักประกันสุขภาพจะถูกทำให้ตายลงไปเรื่อยๆ และไม่สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์เองได้ ถ้ามีเลือกตั้งเราอาจจะต้องถามพรรคการเมืองที่จะเข้ามาว่าเอายังไงกับเรื่องพวกนี้ ถ้าจะมีซุปเปอร์บอร์ด ต้องไม่มีอำนาจมากเกินไป และต้องอยู่ในขอบเขตการวางนโยบาย ไม่มีสิทธิมาล้วง มากำกับ มาสั่งการ ระบบสุขภาพที่มีอยู่” นิมิตร์กล่าว

ซุปเปอร์บอร์ดรัฐเป็นใหญ่-มีส่วนร่วมของภาคประชาชนไม่ถึง 10% ทำลายระบบบัตรทอง

จุฑา สังขชาติ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่า อยากย้ำประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ การกินรวบของกฎหมายฉบับนี้ เห็นได้ชัดจากโครงสร้างคณะกรรมการที่มี 45 คน แต่มีประชาชนแค่ 3 คน ไม่ถึง 10% ของกรรมการทั้งหมด ถือว่าน้อยมาก ที่เหลือเป็นข้าราชการ วิชาชีพทางการแพทย์ และมีแม้กระทั่งสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าซึ่งมีตัวแทนจากสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือพรีม่าอยู่ด้วย ซึ่งน่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ถามว่าเอากลุ่มนี้เข้ามา เขาก็ต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม สัดส่วนโครงสร้างแบบนี้จะนำไปสู่การทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ

มีนา ดวงราษี ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักฯ ภาคอีสาน กล่าวว่า ช่วงนี้เราจะเห็นจากข่าวว่ามีผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายคนพูดว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นภาระ ทางเรารู้สึกหนักใจ เพราะส่วนหนึ่งคือภาวะทางเศรษฐกิจตอนนี้ และรู้สึกเรากำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเป็นประชากรในประเทศไทยในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลซึ่งรัฐต้องจัดสวัสดิการในการดูแล

โดยหลักการของการบริหารโครงสร้างใหญ่ๆ ต้องมีหลักการของประชาธิปไตย ซึ่งมากไปกว่าการถ่วงดุล คือตรวจสอบได้ แต่ซุปเปอร์บอร์ดที่อ้างว่าปฏิรูประบบสุขภาพ ทางอีสานไม่เห็นด้วย ขอยืนยันว่านี่คือการปฏิวัติที่ลงสู่เหว ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น

พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 นับเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ในการคิด ออกแบบ ร่วมเป็นกลไก ไม่ใช่เป็นแค่ผู้รับบริการสาธารณสุข แล้วพอเกิดการถ่วงดุลมากขึ้น ผู้เสียอำนาจจึงเริ่มคิดว่าทำอย่างไรจะเรียกอำนาจกลับคืนมา

“เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม ประชาชนต้องร่วมมือกัน กีดกันไม่ให้ออกเป็นกฎหมายได้ 3 ระบบหลักประกันสุขภาพ บัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ และซุปเปอร์บอร์ดนี่แหละจะทำให้ระบบเหล่านั้นถ่างออกจากกันมากขึ้น และจะส่งเสริมให้กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มนักการเมือง กลุ่มบริษัทยา   เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์บนชีวิตและสุขภาพของประชาชน อยากให้รัฐฟังเสียงของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นรากฐานของระบบหลักประกันสุขภาพ” มีนากล่าว

มีนาให้ข้อสังเกตว่า กฎหมายซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบบ 30 บาทของประชาชน จากหลักการมีส่วนร่วมของกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ออกแบบมาจนสามารถสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของให้กับประชาชนทุกคน กำลังจะถูกทำลายลง ในขณะที่ อ้างกันว่าจะปฏิรูปประเทศ จะสร้างสังคมที่เป็นธรรม แต่กลับออกกฎหมายด้วยหลักคิดแบบเดิมๆ คือ รัฐเป็นใหญ่เท่านั้น

เครือข่ายผู้ติดเชื้อลั่น หาก กม.ผ่านจะรวมตัวปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ตัวแทนผู้ป่วยเรื้อรัง กล่าวว่า กลุ่มเรามีตั้งแต่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยความดันเบาหวานทั้งหลาย ซุปเปอร์บอร์ดเกิดขึ้นเมื่อไหร่กลุ่มเหล่านี้จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เพราะวิธีคิดของรัฐมีปัญหา คือบอกว่าเราพาโรคเหล่านี้มาใส่ตัว ทำให้ทเราต้องรับผิดชอบด้วยในการร่วมจ่าย ผู้ป่วยเรื้อรังทั่วประเทศต้องตื่นตัว และลุกขึ้นมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพของเราร่วมกัน 

“อย่างไรก็ตาม เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ทั่วประเทศหลายหมื่นคนจะเตรียมพร้อม และจะรวมพลังกันอีกครั้ง ถ้าเข้า สนช. เมื่อไหร่พวกเราก็พร้อมจะมารวมตัวกัน เพราะนี่คือการฆ่ากันทางอ้อม เพราะพวกเราตายแน่นอนจากการไม่มีสตางค์จ่าย นี่คือซุปเปอร์บอร์ดที่จะนำมาสู่การฆาตกรรมผู้ป่วยเรื้อรังเป็นอันดับแรกๆ” อภิวัฒน์กล่าว

อภิวัฒน์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในการประชุมของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ประชุมยังได้มีความเห็นต่อการยื่นลาออกของบอร์ดหลักประกันสุขภาพทั้ง ๔ คนว่า เป็นเรื่องที่แต่ละคนตัดสินใจได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ภาคประชาชนจะจับตามอง เพราะหากเป็นไปตามข่าวที่ออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ลาออกเพราะไม่ต้องการยุ่งยากแจกแจงบัญชีทรัพย์สินกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เห็นว่า คนเหล่านี้คงไม่พร้อมมาเป็นกรรมการฯ ที่ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายงบประมาณระดับแสนล้าน เนื่องจากคุณสมบัติเรื่องความโปร่งใสต้องเป็นอันดับหนึ่ง โดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด เร่งให้มีการจัดสรรหาบอร์ดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนโดยเร็ว

‘นิมิตร์’ ชี้ รพ.ขาดแคลนงบประมาณต้องแก้ทั้งระบบ อย่าโทษกันไปมา

ภายในการแถลงข่าว มีคำถามเรื่อง รพ. ภาคกลางขาดงบประมาณจากระบบ นิมิตร์ได้ชี้แจงว่า ระบบหลักประกันสุขภาพมีหลักการว่า ใกล้บ้านใกล้ใจ รักษาตามที่ที่เราอยู่ ระบบงบประมาณก็จะแจกไปตามจำนวนประชากรในพื้นที่ หน่วยบริการภาคกลางเกิดปัญหาเรื่องประชากรเบาบาง ทำให้งบประมาณไปแต่ละ รพ. จำกัด เช่น รพ.มีนบุรี มีประชากรหลักหมื่นคน แต่มีเจ้าหน้าเกือบ 500 คน ดังนั้นพอไปเทียบกับงบจำนวนหัวของประชากรที่ได้จึงไม่พอ จนอาจเกิดภาวะขาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดการ

“ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขเล่นง่ายมาก พอ รพ.ไหนขาดทุนก็ของบกลางจากรัฐบาลมาอุดหนุน กรรมการที่เคยดูเรื่องนี้เคยตั้งคำถามว่าจะแก้เรื่องนี้อย่างถาวรได้อย่างไร ตลอด 15 ปีมานี้ รพ.ที่ขาดทุนอันเนื่องจากมีข้าราชการเยอะไม่เคยแก้ปัญหา ไม่มีคนเกษียณหรือไม่มีคนย้ายเลยหรือ ไม่สามารถจัดการทรัพยกรบุคคลในแง่นี้ได้

เราอยากเห็นแผนการชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่นการคุมจำนวนบุคคลกร เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของ รพ. เพื่อคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างไร คุมการรักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผลได้อย่างไร เรารู้ว่าโรงพยาบาลขาดทุน รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำงานหนัก แต่เรื่องนี้เราต้องช่วยกันแก้ทั้งระบบ ไม่ใช่โทษกันไปมาแบบนี้” นิมิตร์ กล่าว

มีนา กล่าวเสริมว่า การมีซุปเปอร์บอร์ดก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนงบได้ มีโอกาสที่ระบบแย่ลงกว่าเดิม เพราะขาดเงื่อนไขที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การมีส่วนร่วม และทั้งนี้ระบบหลักประกันก็มีนโยบาย เช่น เงินอุดหนุนแถวชายแดน ผันงบเข้าไปช่วย เครือข่ายประชาชนก็เข้าไปมีส่วนร่วมส่งข้อมูล จึงเห็นว่าควรต้องพัฒนากฎหมายที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น อย่าไปพากฎหมายที่น่าจะสร้างความวุ่นวายเข้ามา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท