โลก binary ที่น่าอึดอัด: ภาษานั้นสำคัญไฉน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

(photo credit: from a Facebook page “Drawings of Dogs”)

 

ในหนังสือ “Tomboy’s Survival Guide” ไอวาน โคโยตี (Ivan Coyote) นักเขียน non-binary ชาวแคนาดาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในฐานะคนที่เกิดมาเป็น “ผู้หญิง” แต่กระนั้นก็ไม่เคยรู้สึกว่าตนเป็นผู้หญิง และไม่รู้สึกว่ากรอบทางเพศในโลก gender binary ที่เชื่อว่าโลกนี้มีแค่หญิงและชายสามารถอธิบายตัวตนและประสบการณ์ของตนได้  “Tomboy Survival Guide” จึงเป็นหนังสือบอกเล่าประสบการณ์การควานหาตัวตนในโลกที่บอกว่าอัตลักษณ์ทางเพศมีแค่ “หญิงและชาย” ผู้เขียนจึงคิดว่า

การแปลหนังสือเล่มนี้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยมีประเด็นน่าสนใจให้เราได้ถกเถียงและแสดงความเห็นกัน เพราะการแปลหนังสือเล่มดังกล่าวต้องอาศัยความเข้าใจต่อการประกอบสร้างของอัตลักษณ์ทางเพศ และการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างตัวบุคคลกับโลกที่ไม่มีพื้นที่ให้ตัวตนนอกกรอบเพศ

ตอนที่ไอวานไปออกรายการ On the Coast เพื่อพูดถึง “Tomboy’s Survival Guide” ไอวานกล่าวว่า

"I had a gender identity, it just didn't fit into a gender 'box,'" Coyote told On The Coast host Stephen Quinn. "I never really had words for things, but I never really identified as a girl, either."[1]

 

ฉันมีอัตลักษณ์ทางเพศ มันแค่ไม่ได้อยู่ในกรอบไอวาน โคโยตีบอกสตีเฟน ควินน์ผู้เป็นพิธีกรตอนนั้นฉันไม่เคยมีคำมาอธิบายสิ่งต่างๆเหล่านี้ แต่ฉันก็ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นเด็กผู้หญิงเช่นกัน

“ตอนนั้นฉันไม่เคยมีคำมาอธิบายสิ่งต่างๆเหล่านี้” ประโยคที่ไอวานกล่าวสะท้อนประสบการณ์ของคนข้ามเพศและคนเพศชายขอบอื่นๆที่ไม่สามารถหา “คำ” มาอธิบายตัวตนของตัวเองได้ ซึ่งเป็นหัวใจของหนังสือไอวาน ในหลายๆบทของ “Tomboy’s Survival Guide” ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ตอนเด็กในลักษณะที่ไม่รู้สึกว่าตัวตนของตัวเองเป็นไปตามขนบของความเป็นเด็กผู้หญิง ในลักษณะที่ “ไม่เคยมีคำมาอธิบายสิ่งต่างๆเหล่านี้  ในบท “ONLY LITTLE GIRL” (เด็กผู้หญิงเพียงคนเดียว) ที่ผู้เขียนซึ่งในขณะนั้นอายุเพียงสิบเอ็ดปีกำลังนั่งดูโทรทัศน์ฉายพิธีอภิเสกสมรสของเจ้าหญิงไดอานาและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อพิธีกรกล่าวว่า “Every little girl in the whole world wants to be just like her [Princess Diana] today. Every little girl in the whole wide world” (วันนี้เด็กผู้หญิงทุกคนบนโลกต้องการเป็นแบบเธอ เด็กผู้หญิงทุกคนบนโลกอันกว้างใหญ่นี้) หลังจากที่ผู้ประกาศข่าวกล่าวดังนั้น ไอวานบรรยายความรู้สึกตอนนั้นว่า

“Those words shot out of the tinny speaker in my grandmother’s old cabinet television and pierced through the skin of my still flat chest like poisoned darts. I didn’t want a dress like that, a dress so long other people had to follow you around and carry it for you. I didn’t want my hair and makeup to be perfect so I could marry some chinless British guy who didn’t even earn his own war medals.”

(ถ้อยคำเหล่านั้นพุ่งออกมาจากลำโพงทีวีในห้องเก่าๆของยายและทิ่มแทงหน้าอกที่ยังแบนราบของฉันราวกับลูกดอกอาบยาพิษ ฉันไม่ได้อยากแต่งตัวแบบนั้น ไม่ได้อยากสวมชุดยาวลากพื้นจนต้องมีคนคอยช่วยถือ ไม่ได้ต้องการแต่งหน้าทำผมเพอร์เฟ็คเลิศเลอเพื่อแต่งงานกับชายอังกฤษคางสั้นที่ไม่ได้ได้เหรียญสงครามมาด้วยตัวเองด้วยซ้ำ)

ประโยคที่ยกมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนที่รู้สึกเข้ากันไม่ได้กับตัวตนทางเพศที่โลกมอบให้ ไอวานอธิบายความรู้สึกเข้ากันไม่ได้กับโลก gender binary ได้อย่างรวดร้าวและเห็นภาพ ทั้งที่ผู้ประกาศข่าวบอกว่า เด็กผู้หญิงทุกคนต้องการเป็นอย่างเจ้าหญิงไดอาน่า “เด็กผู้หญิงทุกคนบนโลกอันกว้างใหญ่นี้” ทว่า ชื่อของบทดังกล่าวคือ “THE ONLY LITTLE GIRL” สะท้อนว่าไอวานตอนนั้นมองว่าตนคือ “เด็กผู้หญิงเพียงคนเดียว” ที่ไม่ได้อยากแต่งงานกับเจ้าชาย ความรู้สึกว่าตนเป็นเพียง “เด็กผู้หญิงเพียงคนเดียว” ในโลกใบนี้ที่ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น เป็นส่วนสำคัญของหนังสือที่บอกเล่าประสบการณ์เรื่องเพศ เพราะองค์ประกอบที่สำคัญมากของอัตลักษณ์ทางเพศคือ “ประสบการณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ที่ต้องพุ่งชนกับโลกที่ไม่มีพื้นที่ให้ตน ดังที่ไอวานเองกล่าวในตอนหนึ่งของหนังสือว่า

 “It’s not like I thought I was a real boy. I just knew I was not really a girl.”[2]

ไม่ใช่ว่าฉันคิดว่าฉันเป็นเด็กชายจริงๆ แต่ฉันแค่รู้ว่าฉันไม่ใช่เด็กผู้หญิง”

 

นี่คือประสบการณ์การประกอบสร้างของอัตลักษณ์ทางเพศที่ไอวานเผชิญ “ไม่ใช่ว่าฉันอยากจะเป็นเด็กชาย แต่ฉันแค่รู้ว่าฉันไม่ใช่เด็กผู้หญิง” ประโยคนี้สะท้อนการควานหาตัวตน สะท้อนการที่ตัวตนทางเพศยังไม่คงที่ การที่ยังไม่ได้ตระหนักว่าตนเป็นใครหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่จะอธิบายตัวตนของตนได้คืออะไร ดังนั้นแม้แต่การเลือกใช้ “สรรพนามผู้พูด” ก็ควรใช้คำที่สามารถสะท้อนประสบการณ์และความจำเพาะ (nuances) ดังกล่าวได้ และหากเรามีตัวเลือกดังกล่าวในภาษาไทย เราก็ควรใช้เพื่อให้ภาษาปลายทางสามารถสื่อความจำเพาะนั้น ซึ่งก็น่าจะเป็นคำว่า “ฉัน” ซึ่งมีความเป็นกลางทางเพศมากกว่าคำว่า “ผม”  ในภาษาไทยเองก็มีการใช้คำว่า “ฉัน” อย่างหลากหลาย หากเราสังเกตรอบๆตัวเพลงไทยในปัจจุบันไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายเป็นคนร้องก็มีการใช้สรรพนาม “ฉัน” แทนตัวคนร้องได้ทั้งนั้น เช่น เพลง “ฉันยังรักเธอ” ของเต้ย อภิวัฒน์ & Night Tingle Ft. ยุ่งยิ่งกนกนัทน์ ที่นักร้องทั้งชายและหญิงใช้สรรพนามว่าฉัน หรือเพลง “โปรดรักฉันรักฉันเถอะนะจะไม่ทำให้เธอเสียใจ” (เพลง PLEASE ของอะตอม ชนกันต์)  “ฉันยืนเหม่อมองจนเธอลับห่างไกล” (เพลงช้ำคือเรา ของนิตยา บุญสูงเนิน) เพลงเหล่านี้และอีกมากมายผู้ร้องทั้งหญิงและชายต่างก็ใช้สรรพนาม “ฉัน” แทนตัวเอง

ในต้นฉบับภาษาอังกฤษของ “Tomboy’s Survival Guide” ไอวานบอกเล่าเรื่องราวผ่านสรรพนาม “I” ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นสรรพนามที่มีความเป็นกลางทางเพศ (gender-neutral) อยู่แล้ว เพราะไม่ว่าคนเพศใดก็ใช้สรรพนามคำนี้ได้หมด เช่นเดียวกันในภาษาไทยเราก็มีสรรพนามของผู้พูดที่มีความเป็นกลางทางเพศคือคำว่า “ฉัน” ผู้เขียนจึงเห็นว่าหากเราจะแปลสรรพนามผู้พูดใน “Tomboy’s Survival Guide” เป็น “ผม” คงจะไม่เหมาะนัก หากแปลสรรพนามผู้พูดเป็นคำว่า “ผม” ในบทที่ไอวานยังเป็นเด็กและยังไม่ได้อธิบายตัวเองว่าเป็นผู้ชาย การแปลแบบดังกล่าวก็ดูจะไปลดทอนประสบการณ์ของไอวานที่เติบโตมาในโลกที่บอกว่าตัวตนของไอวานเป็นผู้หญิง และลดทอนมิติการพยายามตามหาและต่อสู้กับโลกที่ไม่มีคำอธิบายให้ตัวตนนอกกรอบเพศ

หากจะกล่าวว่าการใช้สรรพนามผู้พูด “ผม” เหมาะสมกว่าการใช้สรรพนาม “ฉัน” เพราะไอวานเป็นชายข้ามเพศ และเพราะในตอนหนึ่งของหนังสือที่ไอวานสนทนากับคนครัว ไอวานบอกคนครัวที่ในตอนแรกเรียกไอวานว่า “Miss” ว่า "Actually," I say, "I prefer Sir." ว่าเป็นเหตุผลในการใช้คำว่า “ผม” ในแง่หนึ่งก็เป็นไปได้ เราอาจใช้คำว่า “ผม” กับเรื่องเล่าของไอวานในตอนโต เพื่อสะท้อนการตระหนักถึงตัวตนของตัวเองในที่สุด กระนั้นก็ดี ภาษาและเพศเป็นสิ่งเรียบง่ายขนาดนั้นหรือ? เพียงแค่การที่ไอวานรู้สึกว่าตนเองเหมาะกับคำว่า “sir” มากกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าไอวานเลือกใช้สรรพนามผู้พูดที่มีความเฉพาะเจาะจงทางเพศอย่าง ‘ผม’ จะเป็นตัวเลือกที่ดี ไอวานเองกล่าวไว้ในเฟสบุ๊คว่า

“I use the pronoun they. I am used to people using both he and she to refer to me, and I have used both pronouns for myself for different reasons in the past, before I knew about the they pronoun. I make myself be okay with people using either pronoun for me most days, mostly because I don't want how my day goes to be decided by others language too too much.

But I use the pronoun they, and the added respect and feeling "seen" when people get it right feels so good and accurate and true to me. I really appreciate those people who ask, who learn it and then do it, especially when they just do it and don't turn it into a production. Like, I really appreciate it.”[3]

จะเห็นได้ว่าไอวานไม่ได้จุกจิกกับการใช้คำสรรพนามนัก แต่ตัวไอวานเองชอบการใช้สรรพนาม “they” เพราะคำที่เป็นกลางทางเพศดังกล่าวทำให้รู้สึกได้รับการเคารพและได้รับการมองเห็น อีกทั้งเมื่อผู้คนใช้สรรพนามดังกล่าวก็ทำให้รู้สึก “so good and accurate and true” นี่เองเป็นอีกมิติหนึ่งในการใช้ภาษากับเรื่องเพศที่ต้องเคารพตัวตนทางเพศของคน และต้องใช้ภาษาตามที่คนอื่นอาจมองว่าแหวกขนบ แต่การใช้ภาษาแบบดังกล่าวเป็นวิธีการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ทางเพศ ให้ความหลากหลายทางเพศมีตัวตนขึ้นมาได้ในระบบภาษาที่ไม่มีความเป็นกลางทางเพศและทำให้อัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น

ไม่ใช่เพียงสรรพนาม แต่คำอื่นๆในภาษาก็อาจถูกผูกติดกับกรอบทางเพศได้ การแปลหนังสือที่บอกเล่าประสบการณ์อัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ตรงกับกรอบทางเพศ จึงควรให้ความสนใจกับการใช้คำเล็กๆน้อยๆ (แต่มีความสำคัญ) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำลายกรอบทางเพศด้วย และควรสนใจประวัติศาสตร์และความจำเพาะของคำบางคำที่หากแปลเป็นภาษาไทยอาจไม่สามารถสะท้อนความจำเพาะ (nuance) ของคำนั้นๆได้ เช่น ประโยคต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ว่า “I told him that queer people lined up to give blood and they wouldn't take it”  ผู้เขียนมองว่าคำว่า “queer” ควรใช้คำทับศัพท์ไปเลย เพราะคำดังกล่าวจะสามารถสะท้อนความจำเพาะของคำว่าเควียร์ซึ่งเป็นคำที่ในภาษาไทยยังไม่มี คำว่าเควียร์นั้นเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของการถูกกดขี่และการต่อสู้ โดยที่คำดังกล่าวมักเป็นคำที่ใช้เรียกคนรักร่วมเพศ โดย “Queer was the universally used word, the definition of the oppressor, and the term symbolising the accepted oppression”[4] คือคำว่าเควียร์เคยถูกใช้เป็นคำด่า เป็นคำที่ใช้กดขี่คนรักร่วมเพศ แต่ต่อมาคำๆนี้เองถูกนำมาใช้โดยคนรักร่วมเพศ และผู้คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่แค่คนเพศใดเพศหนึ่ง แต่มากไปกว่านั้น และใช้เพื่อเป็นการ “ทวงคืนอัตลักษณ์” ในตั้งแต่ช่วง 1990 โดย gender activist และ gender theorist อย่างกว้างขวาง “Queer activists use the concept ‘queer’ to affirm multiple non-heterosexist identities and varied non- heterosexist experience. They also challenge the construction of a one-dimensional version of lesbian and gay identity which reinforces and sustains heterosexism.” (Anne 76)[5]

หรืออย่างในต้นฉบับภาษาอังกฤษมีบทหนึ่งชื่อว่า “my beautiful boy” ผู้เขียนขอเสนอให้แปลว่า “ชายหนุ่มผู้งดงาม” (หรือใช้คำอื่นๆที่ยังคงไว้ซึ่งลักษณะ “feminine” ของคำว่า “beautiful”) เพราะในเมื่อหนังสือเล่มนี้บอกเล่าการเผชิญกับโลกที่มีกรอบทางเพศ และไอวานเองก็ใช้คำว่า “beautiful”  การคงไว้ซึ่งลักษณะ “femininity” ซึ่งนำมาใช้อธิบาย “boy” ดูจะเป็นความพยายามในการออกจากกรอบทางเพศที่ผู้หญิงเท่านั้นสามารถ “beautiful” ได้ อีกทั้งอาจตรงกับจุดยืนของไอวานที่ไม่ต้องการสร้างกรอบทางเพศใดๆให้ผู้คนรู้สึกเป็นอื่น ดังที่ไอวานเองเคยกล่าวไว้ว่า

“I have no desire to create some kind of a box that people can feel alienated by,” explains storyteller and saxophonist Ivan Coyote, ...“My intention is to celebrate people who push the gender norms a little bit.”[6]

อนึ่ง การแปลหนังสือเช่นนี้มีย่อมตัวเลือกที่หลากหลาย เปิดกว้างต่อการตีความของแต่ละบุคคลว่าควรใช้สรรพนามเช่นไร หรือใช้คำศัพท์เช่นไรในบริบทแบบไหนให้ความหมายของต้นฉบับและประสบการณ์ของนักเขียนได้รับการสื่อสารออกมาอย่างดีที่สุด อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญการแปลท่านหนึ่งก็แสดงความเห็นว่าตัวเลือกในการแปลมีหลากหลาย และตัวเลือกหนึ่งในการแปลคือการใช้คำว่า “ฉัน” เป็นหลัก และใช้คำว่า “ผม” ในบริบทที่เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะใช้คำว่า “sir” หรือ “miss” เป็นต้น อย่างไรก็ดีผู้เขียนรู้สึกดีใจและขอบคุณที่ได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น เพราะการถกเถียงนี้เปิดประเด็นการแปลที่น่าสนใจ ที่ในสังคมไทยเราไม่ค่อยได้ถกเถียงกันนัก และการถกเถียงย่อมนำไปสู่การเพิ่มพูนขึ้นของความรู้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: เฌอทะเล สุวรรณพานิช เป็นศิษย์เก่าเอกภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เชิงอรรถ

[1] https://www.cbc.ca/news/canada/british-columbia/ivan-coyote-book-1.3815065

[2] Coyote, Ivan. Tomboy Survival Guide (Kindle Locations 111-112). Arsenal Pulp Press. Kindle Edition.

 

[3] Coyote, Ivan. On Using Gender-Neutral Pronouns. Facebook, 6 Oct. 2016, www.facebook.com/ivanecoyote/posts/10154435941875726. Accessed 12 November. 2018.

[4] Weeks, Jeffrey (1997) Coming Out: Homosexual Politics in Britain, from the Nineteenth Century to the Present, Quartet, London.

[5] Cranny-Francis, Anne. Gender Studies: Terms and Debates. Palgrave Macmillan, 2011.

[6] https://www.straight.com/arts/435221/verses-festival-words-tomboy-survival-guide-pushes-gender-norms

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท