ครม.ผ่าน กม.กัญชา คลายล็อกใช้รักษาโรค ป.ป.ส.-สธ.เป็นผู้อนุญาตพื้นที่ปลูก

ครม. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....คลายล็อกกัญชาใช้รักษาโรค ให้ป.ป.ส.และ ก.สาธารณสุขเป็นผู้ให้อนุญาตเรื่องพื้นที่ที่สามารถปลูก แต่ไม่ได้หมายความว่าปลูกหลังบ้านก็ได้ ยันควบคุมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่อิสระ

ที่มาภาพประกอบ: Thomas Hawk (CC BY-NC 2.0)

14 พ.ย.2561 วานนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมนั้น มีมติหนึ่งที่น่าสนใจหลังจากมีกระบวนการเรียกร้องให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์นั้น คือ ครม. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และให้ส่งความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไปเพื่อประกอบการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และให้ส่งคืน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยัง สนช. ภายในกำหนดเวลา นอกจากนี้ยังมีมติให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ สนช. เสนอว่า โดยที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปัจจุบัน ในส่วนของกัญชานั้นปรากฏผลวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีการผ่อนปรนโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย อนุญาตให้ประชาชนใช้พืชกระท่อมและกัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีการกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้มีราคาแพง และอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และตำรับยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

สนช.มีมติให้ ครม.รับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ไปพิจารณาปลดล็อคกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

นักการเมืองมาเลเซียเรียกร้องรื้อคดีประหารคนแจกจ่ายกัญชาเพื่อการแพทย์

ประวิตร ระบุกำลังคลายล็อก เรื่องนี้ไม่ใช่การปลดล็อค

พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับกัญชาว่า เรื่องดังกล่าวกำลังคลายล็อก เรื่องนี้ไม่ใช่การปลดล็อค เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดที่อยู่ในประเภทที่ 5 เพียงแต่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาในเรื่องของการรักษาโรค ว่าควรจะจำกัดจำนวนเท่าไหร่ในการใช้ ซึ่งจะใช้เป็นบทเฉพาะกาลในระยะเวลา 5 ปี ก่อน ซึ่งจะต้องส่งกลับไปให้ทาง สนช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีนี้เพิ่มเติมว่า สาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม คือ ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต เฉพาะกรณี จำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต และกำหนดให้การมียาเสพติดให้โทษในประเภท5 ไว้ในครอบครอง ไม่เกินจำนวนที่จำเป็น สำหรับการใช้รักษาโรคเฉพาะ หรือสำหรับปฐมพยาบาล ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน และให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ หากเป็นการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลป์หรือเพื่อศึกษาวิจัย

นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้รับอนุญาตสามารถจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ ในสถานที่ที่ระบุไว้เท่านั้น ขณะเดียวกัน เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจในการกำหนดเขตพื้นที่ เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็น หรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 รวมถึงผลิตและทดสอบยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ตามพื้นที่กำหนด หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพกระท่อม หรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กำหนด

“เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้เลย จึงแก้ให้มีการนำเข้า ส่งออกได้ แต่ต้องนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลเท่านั้น และยกเว้นให้มีกัญชา กระท่อมไว้ในครอบครองได้ แต่ว่ามีไว้เฉพาะในการรักษาพยาบาล อย่างเช่นผู้ป่วยก็มีไว้ในครอบครองได้ไม่มีความผิด และการเพิ่มความสามารถในการทำเพื่อรักษาโรค คือ หมอสามารถนำกัญชา หรือสารเสพติดประเภท 5 มาใช้ในการสั่งยาและรักษาโรคได้ และให้สามารถเสพได้ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งเรื่องนี้ปกติ คนที่จะผลิตหรือจำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครอง มีโทษทั้งหมด และเห็นว่าสิ่งนี้จะปลดล็อกให้ หมอ คนไข้ การพกพาในจำนวนจำกัด ถือว่ายกเว้นให้ว่าไม่มีความผิด ขอเน้นย้ำว่า ทั้งหมดนี้เพื่อสังคมมีความเข้าใจมากขึ้น เพื่อรักษาและใช้ในเชิงการแพทย์เท่านั้น และคณะกรรมการ ป.ป.ส.และกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ให้อนุญาตเรื่องพื้นที่ที่สามารถปลูกได้ ไม่ได้หมายความว่าปลูกหลังบ้านก็ได้ ต้องเป็นพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสม และการนำไปสู่การผลิต ต้องระบุว่าใครบ้างและต้องมีการควบคุมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่อิสระ” พุทธิพงษ์ กล่าว

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังต่อไปนี้

1. เพิ่มเติมบทบัญญัติ ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16)

2. เพิ่มเติมบทบัญญัติ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต และกำหนดให้การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตามจำนวนที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17)

3. เพิ่มเติมบทบัญญัติ ในกรณีที่ยกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือสำหรับใช้ประจำในการปฐมพยาบาล หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 18)

4. เพิ่มเติมอำนาจของผู้อนุญาตที่จะอนุญาตให้จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 5 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19)

5. เพิ่มเติมให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิตและทดสอบยาเสพติดประเภท 5 หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กำหนดได้ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบด้วย (เพิ่มมาตรา 19/1)

6. ตัดยาเสพติดประเภท 5 ออกจากบทบัญญัติห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการกำหนดปริมาณยาเสพติดประเภท 5 ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อครอบครองจำหน่ายออก โดยใช้เนื้อหาเดียวกันนี้ไปกำหนดเพิ่มเติมในมาตราอื่น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26)

7. กำหนดห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตามมาตรา 17 จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 นอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 27)

8. เพิ่มเติมหน้าที่ของผู้รับอนุญาต ในการจัดเก็บรักษายาเสพติด และหน้าที่ที่ต้องกระทำเมื่อยาเสพติดถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28)

9. กำหนดเพิ่มเติมมิให้โฆษณายาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่เป็นการโฆษณาต่อผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุญาต และหลักเกณฑ์ในการโฆษณาฉลากหรือเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48)

10. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตที่ประสงค์จะจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 5 เกินปริมาณที่กำหนด ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 60)

11. กำหนดหน้าที่ของทายาท ผู้ครอบครอง หรือผู้จัดการมรดก และอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 5 ตายก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 61)

12. กำหนดโทษกรณีครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อันฝ่าฝืน พ.ร.บ.นี้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 76 และมาตรา 76/1)

สำหรับ ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่ไม่เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง 4 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มี 4 รายการ คือ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม และพืชเห็ดขี้ควาย

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และข่าวสดออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท