Skip to main content
sharethis

จากที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีศรีลังกาสั่งยุบสภาและถอดถอนนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห รวมถึงแต่งตั้งอดีตผู้นำที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาขึ้นเป็นนายกฯ แทน จนเป็นที่น่าหวาดหวั่นว่าวิกฤตการเมืองจะลุกลาม อย่างไรก็ตามเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 พ.ย.) ศาลสูงสุดของศรีลังกาก็ตัดสินระงับคำสั่งของประธานาธิบดีหลังพรรคการเมืองยื่นเรื่องร้องเรียน

กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงศรีลังกา (ที่มา:วิกิพีเดีย)

เมื่อ 13 พ.ย. ศาลสูงสุดของศรีลังกาสั่งยกเลิกการตัดสินใจยุบสภาของประธานาธิบดีไมตรีพละ ศิริเสนา และสั่งให้ยับยั้งการเตรียมการจัดเลือกตั้งใหม่โดยด่วน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค. เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่ จากกรณีที่ศิริเสนาสั่งยุบสภาปลดนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห แล้วแต่งตั้ง มหินทรา ราชปักษา ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนโดยที่ราชปักษาเป็นอดีตผู้นำที่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหามาก่อน

ประธานาธิบดีศรีลังกาสั่งปลดนายกตั้งผู้นำฝ่ายค้านแทน ส่อเค้าวิกฤตการเมือง

หลังจากการประกาศสั่งปลด วิกรมสิงเหก็ยังไม่ยอมลงจากตำแหน่งโดยยังคงปักหลักอยู่ในทำเนียบรัฐบาลและไม่ยอมลงจากตำแหน่ง โดยตามกำหนดการแล้วในวันที่ 14 พ.ย. นี้จะมีการประชุมสภาด้วยสมาชิก 225 รายเพื่อลงมติว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภาจะรับรองราชปักษาหรือไม่ ซึ่งวิกรมสิงเหบอกว่าเขาจะไปที่สภาด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลที่เขาเป็นนายกฯ มีความชอบธรรม

ศิริเสนายังเคยสั่งยุบสภาและวางแผนว่าจะมีการเลือกตั้งโดยด่วนในวันที่ 5 ม.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม คำสั่งของศาลออกมาในวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมาทำให้แผนการของศิริเสนาถูกระงับไว้ คำสั่งดังกล่าวออกมาหนึ่งวันหลังพรรคการเมืองยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาล ศาลประกาศอีกว่าจะมีการตัดสินข้อร้องเรียนครั้งสุดท้ายในวันที่ 7 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ หลังจากมีการเปิดไต่สวนพิจารณาคดี 3 วัน

นักข่าวอัลจาซีรา เบอร์นาร์ด สมิทธ์ ระบุว่าการที่ศาลมีคำสั่งออกมาเช่นนี้แสดงท่าทีว่าศาลมองการกระทำของประธานาธิบดีที่สั่งยุบสภาว่าไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ

สาจิต พรีมาดาซา สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคยูเอ็นพีของวิกรมสิงเหชื่นชมคำตัดสินในครั้งนี้ โดยบอกว่า "คณะตุลาการที่มีอิสระและความยุติธรรมนี้ตีความบทเฉพาะกาลและข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ถูกต้อง รวมถึงรวบเอาปทัสถานทางกฎหมายทั้งหมดเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเป็นธรรม"

นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่าราชปักษาจะไม่ได้รับการสนับสนุนในสภามากพออยู่ดี เพราะพรรคยูดีพีต่อต้านคำสั่งปลดวิกรมสิงเหโดยที่มีเสียงของพวกเขาอยู่ในสภา 113 เสียง

สำหรับท่าทีของประเทศอื่นๆ ต่อเรื่องนี้ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงประชาคมโลกอื่นๆ แสดงความเป็นห่วงต่อวิกฤตการเมืองศรีลังกาในครั้งนี้ มีแค่ประเทศจีนเท่านั้นที่ยอมรับการแต่งตั้งราชปักษา เนื่องจากในสมัยที่ราชปักษาเป็นประธานาธิบดีเขาอาศัยพึ่งพาจีนอย่างมากในเรื่องการเงินและการสนับสนุนทางการทูต

เรียบเรียงจาก

Sri Lanka Supreme Court overturns dissolution of parliament, Aljazeera, Nov. 13, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net