Skip to main content
sharethis

'อนาคตใหม่' ชี้ พรรคการเมือง ในรธน.60 “ตั้งยาก ยุบง่าย” ขัดหลักสากล ปชป. ชี้ Primary Vote ทำให้พรรคเข้มแข็ง แต่ระบบค่าบำรุงสมาชิกทำเข้าถึงยากขี้น 'พลังท้องถิ่นไท' ย้ำ 'กระจายอำนาจ' แก้รัฐประหารซ้ำซาก 'ปิยบุตร' ระบุทำพรรคด้วยความหวังใหม่คนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่คะแนนเสียง 'ปชป.' ชู 'ยุวประชาธิปัตย์' ทำพรรคดำรงสถานภาพพรรคมาได้นานขนาดนี้ ขณะที่ 'ภูมิใจไทย' ขอไม่ดูที่คนหนุ่มหรือคนแก่ แต่ต้องดูคนที่มีความคิด 

15 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคาร 50 ปี คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวทีเสวนา Politics talk เรื่อง "พรรคการเมืองกับท้องถิ่นไทยในอนาคต” โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมืองถึง 6 พรรคมาร่วมพูดคุยและถกเถียงกันในประเด็น การกระจายอำนาจ New Voter และพรรคการเมืองในอนาคต ซึ่งมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สื่อมวลชนและบุคลากรภายนอกเข้าร่วม โดยบรรยากาศกิจกรรมไปอย่างคึกคักและเป็นกันเอง

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

พรรคการเมืองภายใต้ รธน. 60

ต่อประเด็นคำถามแรกถามถึงเรื่องคุณภาพของพรรคกับปริมาณพรรค มุมมองของพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 60 นั้น ตัวแทนจาก พรรคอนาคตใหม่ คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า  เสรีภาพของพรรคการเมืองในการจัดตั้งขัดแย้งกับหลักความเป็นจริงของสากลที่การจัดตั้งพรรคต้อง “ตั้งง่าย ยุบยาก” ไม่ใช่ “ตั้งยาก ยุบง่าย” เนื่องจากไทยยังใช้รูปแบบ “อนุมัติ อนุญาต” การทำงานล่าช้าของ กกต. ในการจัดตั้งพรรคการเมืองและการปฏิบัติงาน ที่ทำหน้าที่เหมือน “ตำรวจพรรคการเมือง” ที่ตรวจสอบการทำงานของพรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลา ภายใต้การบีบบังคับโดยกฎหมายให้พรรคการเมืองจัดตั้งพรรคให้ทันการเลือกตั้ง หรือการออกคำสั่งของ คสช. เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ชวนให้ตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญต้องการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง หรือเป็นการล้มล้างพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ นิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า  พรรคการเมืองเข้มแข็ง การเมืองเข้มแข็ง เมื่อกฎหมายไม่เอื้อให้พรรคการเมืองแข็งแกร่ง ส่งผลให้ประชาธิปไตยไม่ได้รับการส่งเสริม ดังนั้นการจัดทำ Primary Vote จึงเป็นอีกแนวทางที่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

“กฎหมายต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมแต่การเข้าเป็นสมาชิกพรรคต้องมีการจ่ายค่าบำรุง ทำให้การเข้าถึงมีความยากมากยิ่งขึ้น” นิพนธ์ กล่าว

ศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย

ศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิดหน้าที่ของพรรคการเมือง ซึ่งมีหน้าที่หลักในการนำพาประเทศในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้ก้าวผ่านวิกฤติต่างๆให้ได้ “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง”

ขณะที่ นพคุณ รัฐไผท ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การมีพรรคการเมืองเกิดมากขึ้นว่า จากการมีพรรคร่วม หรือพรรคสาขาเกิดขึ้นในการเมือง เพื่อไทยมองว่าการมีพรรคการเมืองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีความสนใจทางการเมืองมากขึ้น

การกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น

ต่อประเด็นความสามารถของท้องถิ่นในการต่อรองของพรรคการเมือง นั้น ตัวแทนจากพรรคพลังท้องถิ่นไท ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ กล่าวว่า จุดยืนของประชาธิปไตยเริ่มจากรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ได้มีการกำหนดการกระจายอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งความไม่สมดุลในการบริหารบ้านเมืองในปัจจุบันเป็น “จุดกำเนิดของการรัฐประหาร” ทำให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจและการแย่งชิงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงเหมือนการถ่ายโอนภารกิจที่จะลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคม ดังนั้น “การกระจายอำนาจ คือ เครื่องมือในการพัฒนา” โดยมีเป้าหมายคือความเสมอภาคและความเท่าเทียม ในความเสมอภาคและความเท่าเทียมนี้มักจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สุขภาพ การศึกษา และการคมนาคม ยกตัวอย่าง เช่นการศึกษาในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นจำนวนมากจึงเกิดคำถามในสังคมว่า “การศึกษาต้องการให้นักศึกษาเป็นผู้อยู่รอดในสังคมระบบทุนนิยมที่จบไปแล้วมีงานรับรอง หรือการศึกษาต้องการเพียงแค่ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้อยู่รอด” ข้อดีและข้อเสียของพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 ข้อดี คือคะแนนส่วนน้อยไม่ถูกมองข้าม ข้อเสีย คือต้องจ่ายค่าบำรุงในการเข้าเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ามันเป็นสิทธิที่พึงมีในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ ชาติไทยพัฒนา

ตัวแทนของพรรคพลังท้องถิ่นไทยังเสนอแนวคิดที่ว่า ปัญหาต่างๆ นั้นต้องแก้ที่การกระจายอำนาจ และปัญหาการกระจายอำนาจก่อให้เกิดการรัฐประหารซ้ำซากเพราะทำให้เกิดความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจ การตรากฎหมายที่ไม่มีอำนาจถ่ายโอนภารกิจ ความเหลื่อมล้ำทางการกระจายอำนาจเช่น โรงพยาบาลในปริมณฑลและโรงพยาบาลรอบนอก และยังเสริมว่าประเทศไทยกำลังหลงประเด็นเลือกตั้งในเรื่องของการเลือกพรรคทหาร ไม่ทหาร ซึ่งจริงๆ แล้วมีปัจจัยมากกว่านั้น การจะเลือกพรรคต้องดูว่าพรรคนั้นตอบโจทย์ต่อสังคมอย่างไร

“สิทธิพลเมืองต้องเสียเงินทุกเรื่องเลยหรอ” ธีรศักดิ์ ตั้งคำถามกับการจ่ายเงินเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ปิยบุตร กล่าว่า การกระจายอำนาจเป็นหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่นเป็นหลักโดยการดำเนินการด้านโครงสร้าง คือการจัดการด้านอำนาจหน้าที่โดยการถ่ายโอนทางภารกิจการกระจายอำนาจหน้าที่ให้สำเร็จนั้นจะต้องทำแบบบิ๊กแบง ไม่ใช่การค่อยขยับและค่อยเป็นค่อยไป ให้น้อยลง การจัดการรายได้ต้องไม่มีการห้อยนโยบาย เช่น เบี้ยผู้สูงอายุการต้องให้อำนาจเต็มที่ในการบริหารงานกับท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โอนคืนให้กับท้องถิ่นรวมถึงภาษีเงินได้นิติบุคคลควรนำเข้าท้องถิ่นนั้น รวมถึงการหารายได้ใหม่ๆโดยการทำรัฐวิสาหกิจแบบชุมชนเป็นต้น อุปสรรคในการกระจายอำนาจคือต้องมุ่งสร้างความเชื่อและก็การรับรู้ใหม่ๆให้กับประชาชนโดยการทำลายความเชื่อที่ทำให้ท้องถิ่นมีคุณภาพเป็นความเชื่อในปัจจุบันของคนไทยที่เชื่อว่าการกระจายอำนาจคือการกระจายคอรัปชั่นให้เป็นการกระจายอำนาจคือการทำให้คอรัปชั่นน้อยลง

นิกร จำนง ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา

นิกร จำนง ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา มีการเสนอแนวคิดที่ว่า นักรัฐศาสตร์ต้องไม่เป็นเหยื่อของการเมือง และพรรคการเมืองต้องเป็นเครื่องมือของประชาชน” โดยมีการใช้นโยบายเป็นการจูงใจไม่ใช่แรงกดดันทางการเมือง เป็นตัวผลักดันในการเลือกตั้ง ดังนั้นส่วนที่สำคัญที่สุดคือ การต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองว่าพรรคการเมืองคือเครื่องมือของประชาชน นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวคิดว่าการกระจายอำนาจไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 60 และโดยส่วนตัวมองว่า “การเลือกตั้งเป็นโรงเรียนสอนการเมืองให้กับประชาชน

New Voter กับนโยบายพรรคการเมือง

สำหรับประเด็นคนรุ่นใหม่มีความต้องการหรือมีพลังทางการเมืองมากน้อยเพียงใดนั้น ตัวแทนจาก พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ต้องการสร้างพลังทางการเมืองในรูปแบบใหม่โดยกลุ่มคนที่สนใจในโยบายของพรรคมากที่สุดคือกลุ่มคนที่อายุ 18-25 ปีและกลุ่มกลุ่มนี้คือกำลังสำคัญของพรรค แนวทางการจัดตั้งพรรคประกอบด้วย การทำพรรคที่ต้องทำพรรคด้วยความหวังใหม่คนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่คะแนนเสียง แต่ต้องเป็นการก้าวข้ามพรมแดนทางการเมืองที่ต้องหลุดพ้นจากกลุ่มอำนาจและก็กลุ่มตระกูลเดิมๆ จนทำให้เกิดวาทกรรม “ชนชั้นนำทางการเมือง” การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นการเปิดโอกาสให้การเมืองเป็นเรื่องของสาธารณะ และทำให้ทุกคนตระหนักว่าเหตุการณ์การเมืองที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ พรรคอนาคตใหม่จึงมีความต้องการกระตุ้นความหวังทางการเมืองให้ทุกคนตื่นตัว และนำพาประเทศเข้าสู่ระบบการเมืองที่เป็นปกติอย่างรวดเร็วภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ยังเสนอนโยบายที่ยังแสดงถึงความเอาใจใส่ผู้สูงอายุและได้พูดถึงการบ่มเพราะยุวชนประชาธิปัตย์เพื่อเป็นพลังของพรรค และยังได้กล่าวเสริมอีกว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ดำรงสถานภาพพรรคมาได้นานขนาดนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ที่เป็นยุวประชาธิปัตย์

ขณะที่ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย เสนอว่าการดูพรรคการเมืองไม่ได้ดูที่คนหนุ่มหรือคนแก่ ต้องดูคนที่มีความคิด ทางพรรคได้มีนโยบายที่เกี่ยวกับ Grab รวมถึงนโยบายที่จะแก้ไขกฎหมายที่ขัดข้อง รวมถึงภูมิใจไทยไม่ได้คิดแค่นโยบายให้กับเยาวชนแต่ยังคิดให้กับพ่อแม่ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net