Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ กกต. ตรวจสอบการแบ่งเขตเลือกตั้งต่อไปได้ แต่เสร็จก่อน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ พร้อมยืดระยะเวลาพรรคการเมืองสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ถึงวันที่มีการเปิดรับสมัคร ส่วน พ.ร.ฎ.เลือก ส.ว. มีผลบังคับใช้แล้ว

16 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคระรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) เนื้อหาสรุปได้ดังนี้ ตามที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 กำหนดว่าเมื่อพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ประกาศในราชกิจจาฯ ให้กกต.ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศให้แล้วเสร็จก่อนพ.ร.ป.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครครั้งแรก

ต่อมา กกต.ออกระเบียบกกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และประกาศ กกต. เรื่องจำนวนส.ส.เขต ที่แต่ละจังหวัดพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยที่การแบ่งเขตนั้นพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.กำหนดให้พรรคและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น

แต่เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพรรคการเมืองร้องเรียนมากว่าการร่วมแสดงความเห็นยังไม่หลากหลายครบถ้วน การพิจารณาเสนอแนะจากระดับพื้นที่ไปกกต.ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขณะที่กำหนดเวลาการทำงานของ กกต. เร่งรัดเข้ามา

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการแบ่งเขตเรียบร้อย ไม่ขัดกฎหมาย จึงผ่อนผันและขยายเวลาให้ กกต. ดำเนินการต่อไป และให้กำหนดระยะเวลาดำเนินการสรรหาผู้สมัครครั้งแรกให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยเรียบร้อย

ตลอดจนป้องกันการกระทำอันอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ จึงอาศัยอำนาจความมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 44 หัวหน้า คสช. จึงมีคำสั่ง กรณีมีข้อร้องเรียนเรื่องแบ่งเขตให้ กกต. มีอำนาจตรวจสอบ

หรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเพื่อให้ได้ข้อยุติ หากเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศหรือมติใดๆ ของ กกต. ที่ออกไว้ ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยให้เป็นไปตามมติ กกต.

ทั้งนี้ให้จัดทำและประกาศเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส .มีผลบังคับ และให้พรรคการเมืองดำเนินการสรรหาผู้สมัครตามข้อ 4 คำสั่งคสช.ที่ 13/2561 ได้จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

ขณะเดียวเว็บไซต์ราขกิจนุเบกษายังได้เผยแพร่ พระราขกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยเนื้อระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2561 ขึ้นไว้ ให้ พ.ร.ฎ.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้มีการเลือก ส.ว.ให้ประธาน กกต. รักษาการตาม พ.ร.ฎ.นี้ โดยเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ฎ. ฉบับนี้คือ มาตรา 269 (1) (ก) ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว.ตามมาตรา 107 จำนวน 200 คน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือก ส.ส.ตามมาตรา 268 ไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อ คสช.

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกให้ ส.ว. มีที่มาจาก 3 ช่องทาง คือ 1.มาจากการคัดเลือกกันเองในกลุ่มผู้สมัครซึ่งเป็นการดำเนินการโดย กกต. โดยจะมีการคัดเลือกกันเองในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ จนได้จำนวนรายชื่อทั้งหมด 200 รายชื่อ จากนั้นให้ กกต. นำรายชื่อส่งให้ คสข. คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อเป็น ส.ว. อีก 50 รายชื่อเป็นรายชื่อสำรอง 2.มาจากการเป็น ส.ว. โดยตำแหน่งทั้งหมด 6 รายชื่อคือ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม 3.มาจากการคัดกรรมการสรรหา 9-12 คน ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. ทำหน้าที่คัดเลือกรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่ง ส.ว. ทั้งหมด 400 รายชื่อ จากนั้นให้ส่งให้ คสช. คัดเลือก 194 รายชื่อเป็น ส.ว. และรายชื่อสำรองอีก 50 รายชื่อ ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีแรกบทเฉพาะกาลกำหนดให้การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี มาจากความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งหมายความว่า ส.ว. จำนวน 250 คน จะสามารถออกเห็นให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net