Skip to main content
sharethis

ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้พบเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง 14 ปี (2547-2561) มีจำนวน 247,480 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็นการถูกกระทำจากคนใกล้ชิด


ที่มาภาพประกอบ: CMY Kane (CC BY 2.0)

17 พ.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2542 กำหนดให้เดือน พ.ย. ของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และวันที่ 25 พ.ย. ทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากลเพื่อกระตุ้นให้สังคมทั่วโลก ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี สธ.จึงให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัด จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรงตั้งแต่ปี 2543 ใช้ชื่อว่า ‘ศูนย์พึ่งได้’ (One Stop Crisis Center: OSCC) มีทีมสหวิชาชีพ ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำได้ทันที ครบวงจร ทำหน้าที่รับแจ้งเหตุ คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล ส่งเสริมป้องกันโรค ดูแลด้านความปลอดภัย ประเมินด้านจิตใจเพื่อช่วยเหลือในภาวะวิกฤต ประสานและให้คำแนะนำด้านกฎหมาย ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ ให้คำปรึกษา ฟื้นฟู เยียวยาสภาพจิตใจ ติดตามเยี่ยมบ้าน และประเมินผล 

ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า สธ.มีศูนย์พึ่งได้ 10,611 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน 829 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดกรมต่าง ๆ 32 แห่ง ข้อมูลตั้งแต่ปี 2547- ปัจจุบัน ผู้ถูกกระทำความรุนแรงซึ่งเป็นเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงมารับบริการทั้งสิ้น 247,480 ราย เป็นเด็ก 121,860 รายและสตรี 119,331 ราย การกระทำรุนแรงในเด็กมีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลยของครอบครัวขาดการดูแลอย่างเหมาะสมจนเป็นสาเหตุให้เด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศ มากที่สุด ส่วนใหญ่จะถูกกระทำโดยคนใกล้ชิด และส่วนในสตรีมีสาเหตุมาจากการหึงหวงทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันของคู่สมรส
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net