Skip to main content
sharethis

มหกรรมโฉนดชุมชน 'ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย' เอ็นจีโอเผยคนรวยถือครองที่ดินส่วนมากทำแก้เหลื่อมล้ำไม่ได้ ชี้ภาษีที่ดินไม่ก้าวหน้าทำท้องถิ่นรายได้หด เนื่องจากไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีตามขนาดถือครองอย่างแท้จริง แต่กลับมีข้อยกเว้นให้เก็บกับบุคคลที่ถือครองที่ดินเกษตรกรรมที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งการขยายเพดานการยกเว้นเช่นนี้สูงเกินไป


17 พ.ย. 2561 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่าที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายภาคประชาชน 13 องค์กร ร่วมกันจัดกิจกรรมมหกรรมโฉนดชุมชน “ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย” ในงานมีทั้งการเวทีเสวนา การปาฐกถา การออกร้านสินค้าของชุมชน รวมทั้งการแสดงดนตรี โดยในช่วงเช้าเริ่มต้นงานด้วยการกล่าวต้อนรับของ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีชาวบ้านร่วมฟังราว 300 คน

ดร.ปริญญา กล่าวว่า ที่ดินในประเทศไทยมี 320 ล้านไร่ ซึ่งเพียงพอต่อการอยู่อาศัยและทำกินของทุกครัวเรือน แต่ปัญหาเกิดจากกฎหมายที่ดิน เพราะเมื่อใช้กฎหมาย คนที่ไม่มีโฉนดกลายเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดิน ต่อมาเมื่อมีกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ก็ประกาศทับที่ประชาชนอีก

ขณะที่การประกาศของสำนักงานปฏิรูปที่ดินหรือ สปก. ก็เกิดปัญหามากมาย เช่น นายทุนเข้าไปลงทุนในแหล่งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เข้าไปซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่ยากจนและขาดเงิน ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ต้องแก้ไขกฎหมายและเน้นทำให้ที่ดินเป็น “ที่ดินทำกิน” ไม่ใช่ “ที่ดินทำขาย”

“เราจึงควรหาทางออกซึ่งเริ่มต้นจากการให้โอกาสโดยการกระจายการถือครองที่ดิน เช่น มาตรการภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า การจัดการที่ดินแบบโฉนดชุมชน หรือธนาคารที่ดิน คือรัฐไปซื้อที่ดินกลับมาแล้วจัดสรรให้ชาวบ้าน ทุกวันนี้เมื่อเกิดการรวมศูนย์ทางการเมือง ย่อมเกิดการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจ

ความเหลื่อมล้ำของประเทศเพิ่มจากอันดับ 10 ของโลกเป็นอันดับ 3 ตอนนี้เรามีบทเรียน ไม่ว่าจะขัดแย้งกันแค่ไหนก็ต้องเล่นกันตามกติกา ไม่เช่นนั้นทหารก็จะเข้ามา และรัฐบาลก็มาสั่งให้เราทำ ขณะที่รัฐบาลประชาธิปไตยแตกต่างคือตั้งโจทย์แล้วถามหาทางออกร่วมกัน

สิ่งที่เป็นหัวใจของการประชุมในวันนี้คือ ความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งไม่ได้ หากยังมีความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ และความเหลื่อมล้ำที่สำคัญคือเรื่องที่ดินที่ต้องแก้ไข” ดร.ปริญญา กล่าว

ด้าน นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า เมื่อ 44 ปีที่แล้วมีการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ ในนาม “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” โดยมีข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาที่ดินทั้งสิ้น และทุกวันนี้ข้อเรียกร้องทั้งหมดยังร่วมสมัย

เพราะยังไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ ในเรื่องที่ดิน มรดกการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย คือ กฎหมาย 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 และ พ.ร.บ.ปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518

โดยกฎหมายฉบับแรกไม่ถูกบังคับใช้เพราะให้คุ้มครองผู้เช่า เจ้าของที่ดินจึงไม่พยายามใช้กฎหมายทำให้กฏหมายนี้เป็นหมัน ขณะที่กฎหมายปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีเป้าหมาย 2 ประการคือ ให้รัฐจัดซื้อที่ดินเอกสารสิทธิ์มาจัดสรรให้เกษตกร

แต่ปรากฏว่า 44 ปีที่ผ่านมา รัฐสามารถซื้อที่ดินนำมาจัดสรรได้เพียง 10,000 ไร่ต่อปี รวมแล้วจนถึงปัจจุบันซื้อแล้ว 4.5 ล้านไร่ จากที่ดินที่มีโฉนด 37 ล้านฉบับ หากยังดำเนินการเช่นนี้อยู่คงต้องใช้เวลา 3,200 ปี จึงจะกระจายการถือครองที่ดินสู่เกษตรกรผู้ยากไร้ได้สำเร็จ

นายประยงค์ ยังกล่าวว่า หากย้อนหลังไปเมื่อ 64 ปีที่แล้ว ที่มีการประกาศประมวลกฎหมายที่ดินโดยมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ประชาชนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันกรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ไป 128 ล้านไร่ โดยเป็นโฉนด 37 ล้านฉบับ ถูกถือครองโดยประชาชน 15 ล้านรายเท่านั้น หรือ ร้อยละ 24 ของประชากรทั้งหมด

แต่ในบรรดาผู้ถือครองใน 15 ล้านคนนั้น เมื่อแบ่งเป็น 5 กลุ่มตามขนาดผู้ที่ถือครอง พบว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินมากที่สุดกับกลุ่มที่มีที่ดินน้อยที่สุดมีสัดส่วนการถือครองที่ดินต่างกัน 325 เท่า โดยคนที่ถือครองที่ดินมากสุดคือ 6.3 แสนไร่ ส่วนผู้ที่ถือครองน้อยสุดมีที่ดินเพียง 1 ตารางวา

“ผลพวงการกระจุกตัวของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิส่งผลให้คนไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 หรือร้อยละ 76 ของคนไทยทั้งหมด ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่ทำกินที่มีเอกสารสิทธิ เป็นแรงกดดันและแรงจูงใจให้คนที่ไม่มีที่ดินตัดสินใจเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ

ปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆทั้งจากยอดดอยสูงและในเกาะต่างๆในภาคใต้ถูกประกาศเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ทับที่ดินของบรรพบุรุษอย่างน้อย 2,700 ชุมชน เนื้อที่ประมาณ 5.9 ล้านไร่ ทุกวันนี้ชุมชนกำลังเผชิญปัญหาการไล่รื้อทวงคืนผืนป่า อันนี้คือสถานการณ์ปัญหาวิกฤตและรุนแรงขึ้นตาลำดับ” นายประยงค์ กล่าว

ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ยังกล่าวอีกว่า ชาวบ้านได้เสนอทางแก้ปัญหาไปแล้ว 16 รัฐบาล 13 นายกรัฐมนตรี โดย 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลระบุ 3 เรื่องชัดเจนคือเรื่องกำหนดการเก็บภาษีที่ดิน การจัดตั้งธนาคารที่ดินและการรองรับสิทธิให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดิน

แต่สุดท้ายเรากำลังได้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่ใช้ภาษีก้าวหน้า ส่งผลให้บางองค์กรปกครองท้องถิ่นไม่สามารถเก็บภาษีได้ หรือได้น้อยกว่าเดิมที่เป็นภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน เนื่องจากไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีตามขนาดถือครองอย่างแท้จริง แต่กลับมีข้อยกเว้นให้เก็บกับบุคคลที่ถือครองที่ดินเกษตรกรรมที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งการขยายเพดานการยกเว้นเช่นนี้สูงเกินไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net