2 อดีตผู้นำเขมรแดงโดนโทษเพิ่มข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เป็นครั้งแรกนับจาก 40 ปีที่ผ่านมาที่ศาลอาชญากรรมพิเศษคดีเขมรแดงตัดสินให้อดีตผู้นำระดับสูงของเขมรแดง 2 คนมีความผิดในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 'นวน เจีย' ปัจจุบันอายุ 92 ปี รองผู้นำของเขมรแดงในยุคนั้น และอีกคนหนึ่งคือ 'เขียว สัมพัน' ผู้ที่มีตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจ

อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือที่รู้จักในนาม 'เขมรแดง' คือ นวน เจีย และเขียว สัมพัน ถูกตัดสินจากศาลอาชญากรรมพิเศษคดีเขมรแดงให้มีความผิดข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากการสังหารชาวมุสลิมเชื้อสายจาม และกลุ่มชนพื้นเมืองเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชา

หลังจากที่เขมรแดงเคยก่อเหตุสังหารผู้คนมาแล้วอย่างน้อย 1.7 ล้านคน ทั้งจากการประหารชีวิต การใช้แรงงานหนัก โรคภัยไข้เจ็บ และจากภาวะอดอยาก โดยที่คนส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นชาวเขมรเอง

โจนาธาน เฮด นักข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่าก่อนหน้านี้การสังหารหมู่ผู้คนในกัมพูชาโดยเขมรแดงนั้นไม่เข้าเค้านิยามแบบแคบๆ ของคำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามกฎหมายนานาชาติ ทำให้มีการลงโทษผู้นำเขมรแดงเหล่านี้ด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติแทน นอกจากสองข้อหานี้แล้ว นวน เจีย และเขียว สัมพัน ยังเคยถูกตัดสินให้มีความผิดโทษฐานอื่นๆ อย่างการละเมิดสนธิสัญญาเจนีวาขั้นร้ายแรง การกวาดล้าง การใช้แรงงานทาส และการทารุณกรรมด้วย

ในรายงานของนิวยอร์กไทม์ระบุถึงปากคำของอดีตทหารเขมรแดงจำนวนมากที่ในตอนนี้ไปอยู่ในแถบชนบทห่างไกลของกัมพูชาพูดถึงความโหดร้ายภายใต้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยพอล พต ซึ่งพยายามทำให้ประเทศกลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ หนึ่งในทหารชื่อ มีอา จรัน ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าดงบนภูเขาของอำเภออัลลองเวง ทางตอนเหนือของกัมพูชา กล่าวว่าน่าจะมีคนถูกสังหารไปหนึ่งล้านหรืออาจจะถึงสามล้านคน

ทั้ง นวน เจีย และเขียว สัมพัน ถูกสั่งลงโทษในข้อหาล่าสุดนี้ด้วยการจำคุกตลอดชีวิตซึ่งเป็นบทลงโทษเดียวกับที่พวกเขาเคยได้รับก่อนหน้านี้ โดยที่นวน เจีย ต้องโทษล่าสุดจากการมีส่วนสังหารทั้งชาวจามละชาวเชื้อสายเวียดนาม ส่วนเขียว สัมพัน ต้องโทษจากการสังหารชาวเชื้อสายเวียดนามเท่านั้น

รายงานของนิวยอร์กไทม์ระบุถึงความโหดร้ายของเขมรแดงในช่วงเวลานั้นว่ามีการบังคับใช้แรงงานหนักผู้คนให้สร้างเขื่อนด้วยการขู่เอาชีวิต มีการทารุณกรรมผู้คนตั้งแต่การใช้ถุงพลาสติกทำให้ขาดอากาศหายใจ ไปจนถึงการดึงเล็บ กลุ่มเขมรแดงยังเคยบังคับให้ชาวมุสลิมกินหมู รวมถึงมีการประหารชีวิตข้าราชการด้วยการทำให้ไฟช็อตที่สายเคเบิลโทรศัพท์

นักวิจัยเคยประเมินว่ามีชาวจามร้อยละ 36 จากประชากร 300,000 คน เสียชีวิตภายใต้เขมรแดง ส่วนชาวเชื้อสายเวียดนามส่วนใหญ่ก็ถูกส่งตัวออกนอกประเทศที่เหลืออยู่ราว 20,000 คน ในประเทศถูกสังหาร

ในศาลที่มีการอ่านคำพิพากษาเต็มไปด้วยผู้คนชาวกัมพูชาที่เผชิญความโหดร้ายภายใต้เขมรแดง โดยที่นวน เจีย นั่งฟังคำพิพากษาขณะซ่อนสายตาไว้ใต้แว่นดำขนาดใหญ่ ในขณะที่มีการอ่านคำตัดสินที่มีความยาว ริมฝีปากของเขาก็หุบเข้าไปในช่องปากที่ไม่มีฟันแล้วขอร้องว่าให้เขารับฟังคำตัดสินใจห้องขังแทนที่จะเป็นห้องพิจารณาคดีที่มีกระจกแก้วกั้นหรือได้หรือไม่

สำหรับกลุ่มเรียกร้องความเป็นธรรมแล้วการตัดสินคดีในครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความโหดร้ายในกัมพูชาอีกทั้งยังมีนัยสำคัญซึ่งอาจจะส่งผลต่อการดำเนินคดีต่อผู้ที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในที่อื่นๆ เช่นในพม่าหรือในซูดาน ถึงม้ว่าความยุติธรรมในครั้งนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีกระบวนการที่ยืดเยื้อยาวนานก็ตาม

ศาลอาชญากรรมพิเศษคดีเขมรแดงก่อตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในศาลนี้พิจารณาคดีจากเอกสารนับแสนหน้า เรียกสืบพยานหลายร้อยคนเพื่อสืบรายละเอียดว่าทุ่งสังหารของเขมรแดงเป็นอย่างไร ความพยายามพิจารณาคดีเหล่านี้ตองใช้งบประมาณไปถึงมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายแล้วศาลก็ทันได้สั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเขมรแดงไป 3 ราย เท่านั้นจากที่มีการจับกุมและดำเนินคดีไป 5 ราย เพราะมี 2 รายที่อายุมากและเสียชีวิตไปก่อน

การตัดสินในครั้งนี้อาจจะดูเหมือนการจบสิ้นพ้นผ่านเกี่ยวกับกรณีความทารุณในประวัติศาสตร์กัมพูชาภายใต้เผด็จการเขมรแดง แต่ก็เกิดข้อถกเถียงใหม่ว่า พวกเขาควรจะหยุดอยู่แค่การลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดเหล่านี้หรือไม่หรือควรขยายผลการลงโทษไปสู่กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในระดับขั้นต่ำกว่าแต่ก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมยุคเขมรแดงด้วย

ซึ่งดูเหมือนว่าหนึ่งในคนที่ต่อต้านการขยายผลการลงโทษต่อไปนั้นคือฮุนเซน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของกัมพูชาผู้ที่เคยเป็นทหารเขมรแดงมาก่อน โดยที่เขาเป็นคนที่เคยต่อต้านการจัดตั้งศาลคดีเขมรแดงมาตั้งแต่แรกแล้ว อีกทั้งเขายังเป็นคนที่เคยบอกว่าผู้คนควรจะต้อนรับคนอย่างนวน เจีย และเขียว สัมพัน ด้วย "ช่อดอกไม้ ไม่ใช่คุกหรือกุญแจมือ" เขาพูดไว้เช่นนี้เมื่อปี 2541 แต่นิวยอร์กไทม์ก็ระบุว่าฮุนเซนมัวแต่ไล่ปิดปากสื่อ ส่งฝ่ายค้านเข้าคุก และคอยบอกให้คนระแวงประชาธิปไตยแบบตะวันตกว่าจะมาทำลายอธิปไตยกัมพูชา จนปล่อยให้เรื่องการเอาผิดอดีตเขมรแดงเป็นเรื่องรองลงไป

อย่างไรก็ตามมีผู้คนบางส่วนที่มองว่าการเอาผิดแค่เฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการระดับสูงก็เพียงพอแล้วและการแบ่งแยกให้ชาวกัมพูชาออกเป็นขาวเป็นดำไปหมดก็เป็นไปไม่ได้ เช่น ปาห์น สัม ออน เป็นคนที่รอดชีวิตจากการปราบปรามของเขมรแดงมาได้เพราะแอบซ่อนไม่บอกใครว่ามีอาชีพครู แต่ต่อมาเขาก็ถูกเกณฑ์เข้าไปทหารเขมรแดงและได้เลื่อนขั้นจากนายทหารเป็นผู้นำระดับท้องถิ่น เขาบอกว่า "พวกเราทั้งหมดล้วนแต่เป็นเหยื่อทั้งนั้น" ถึงแม้ว่าเขาจะเห็นด้วยกับการตั้งศาลให้ความเป็นธรมแต่เหยื่อเขมรแดง แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการไล่ตามเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ในระดับล่างๆ กว่านั้น

ตัวเขียว สัมพัน และนวน เจีย เองเพิ่งถูกจับเมื่อปี 2550 หลังจากที่ใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระมาหลายปี เมื่อถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวตข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในปี 2557 พวกเขาทั้งสองคนพยายามให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนในการกระทำโหดร้ายของเขมรแดงถึงแม้ว่าทั้งคู่จะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง

กลุ่มเขมรแดงใช้กำลังยึดอำนาจประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2518 พวกเขาพยายามจะสร้างสังคมเกษตรกรรมแบบไม่มีชนชั้น แต่ก็ไล่ประหารผู้คนด้วยอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่าง การใส่แว่น การพูดภาษาฝรั่งเศส หรือการชื่นชอบบัลเลต์ มีผู้ยึดอุดมการณ์เขมรแดงจำนวนมากที่เป็นคนที่เรียนมาจากต่างประเทศ แต่รวบรวมการสนับสนุนได้จากกลุ่มคนหนุ่มสาวในชนบทกัมพูชาที่เจ็บปวดมาจากสงครามกลางเมืองหลายปี รวมถึงจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ เมื่อสงครามเวียดนามสามเข้าไปในพื้นที่กัมพูชา

หลังจากฝันร้ายของเขมรแดงผ่านพ้นไปจากการถูกถอนจากอำนาจโดยการกลุ่มผู้รุกรานจากเวียดนามในปี 2522 มีความสูญเสียเกิดขึ้นระหว่างนั้นจำนวนมาก แต่ก็มีการรำลึกย้อนกลับไปในระดับชาติอยู่น้อย

ยุน บิน หนึ่งในคนที่รอดชีวิตจากทุ่งสังหารเล่าว่าเขารอดชีวิตจากการถูกจามด้วยขวานแล้วก็โยนลงบ่อน้ำก่อนที่ทหารจะโยนระเบิดตามลงไป มีเขาคนเดียวที่รอดชีวิตมากได้จากเหตุการณ์นั้น เขาเพิ่มรายชื่อตัวเองเข้าไปในกลุ่มพลเรือนในการดำเนินคดีต่อเขมรแดงเพื่อเป็นการรำลึกถึงคนอื่นที่ไม่ได้รอดชีวิตในวันนั้น เขาบอกว่าเขาไม่ต้องการให้คนลืมว่ามีอะไรเกิดขึ้นในวันนั้น

แม้กระทั่งอันลองเวงเองซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของพวกคอมมิวนิสต์สุดโต่งในตอนนี้ก็กลายเป็นแหล่งที่ทุนนิยมในที่สุด ที่หลุมศพโกโรโกโสของอดีตจอมเผด็จการพอล พต ผู้เสียชีวิตในปี 2541 แทบไม่มีคนมาเยี่ยม อีกทั้งฝั่งตรงกันข้ามของถนนก็เป็นคาสิโนขนาดใหญ่ที่มีน้ำพุและรูปปั้นดึงดูดทั้งลูกค้าชาวไทยและชาวกัมพูชาถึงแม้ว่าการพนันจะผิดกฎหมายในกัมพูชาก็ตาม ส่วนคนที่ไปเคารพหลุมศพพอล พต นั้น ก็มักจะเป็นพนักงานคาสิโนที่ไปเผาธนบัตรกงเต็กเพื่อให้มีโชคดีในกิจการการพนันเท่านั้น

เรียบเรียงจาก

Khmer Rouge leaders found guilty of Cambodia genocide, BBC, 16-11-2018
https://www.bbc.com/news/world-asia-46217896

Khmer Rouge’s Slaughter in Cambodia Is Ruled a Genocide, The New York Times, 15-11-2018
https://www.nytimes.com/2018/11/15/world/asia/khmer-rouge-cambodia-genocide.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท