สปสช.สนองนโยบายรัฐ เลิกเรียกเก็บสำเนาบัตร ปชช./ทะเบียนบ้าน

สปสช.ยกเลิกเรียกเก็บ “สำเนาบัตรประชาชน/ทะเบียนบ้าน” ตามนโยบายรัฐ ใน 3 ระบบ คือ 1.ขอลงทะเบียนเลือกหรือเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำ 2.ขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 และ 3.ระบบการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือตามมาตรา 50 (5) พร้อมประสานโรงพยาบาลรองรับ เน้นเชื่อมโยงระบบข้อมูล อำนวยความสะดวกประชาชนรับบริการ

18 พ.ย. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้มีหนังสือแจ้งต่อหน่วยงานของรัฐ เรื่องมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน ให้ยกเลิกการเรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชน รวมถึงสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้ และให้เป็นการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ ตามมติ ครม.ที่ได้เห็นชอบ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ สปสช.ได้ทำการสำรวจกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับและประกาศในความรับผิดชอบ พบว่ามี 3 ระบบการดำเนินการที่กำหนดให้ประชาชนต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้มาประกอบการพิจารณาเพื่อดำเนินการ ได้แก่ 1.ระบบการขอลงทะเบียนเลือกหรือเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำตามมาตรา 6 2.ระบบการขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 และ 3.ระบบการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือตามมาตรา 50 (5) ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ สปสช.ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบเพื่อยกเลิกการเรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้ โดยในส่วนของระบบการขอลงทะเบียนเลือกหรือเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำตามมาตรา 6 สปสช.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยบริการและหน่วยรับลงทะเบียนประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง ให้ยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านแล้ว ขณะที่ระบบการขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 แนวทางปฏิบัติเดิมนั้น สปสช.มีแบบฟอร์มขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่กำหนดให้แนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านด้วย สปสช.จึงได้มีการแก้ไขแบบฟอร์มขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว โดยไม่กำหนดให้ผู้บริการที่เสียหายต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านต่อไป

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่าสำหรับระบบการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือตามมาตรา 50 (5) ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เช่น กรณีการประสานหาเตียงเพื่อส่งต่อผู้ป่วย การขอย้ายไปรับบริการ ณ หน่วยบริการอื่น เป็นต้น โดยตามหลักเกณฑ์นี้ทางคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการบริการสาธารณสุข ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ประชาชนหรือผู้ป่วยต้องยื่นสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้าน แต่ในทางปฏิบัติเมื่อมีการประสานไปยังหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลที่รับการส่งต่อผู้ป่วย จะมีการขอสำเนาหลักฐานผู้ป่วยเพื่อยืนยัน โดยในกรณีนี้จะมีการชี้แจงต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลว่า หลังจากนี้ สปสช.ไม่อาจส่งเอกสารของผู้รับบริการได้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ

“สปสช.ได้ดำเนินการตามที่ ก.พ.ร.ได้มีหนังสือแจ้ง ตามมติ ครม.ที่เห็นชอบ โดยได้ทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์และระบบต่างๆ ก่อนวันที่ 5 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้รับบริการยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ไป ประชาชนหรือผู้ป่วยที่รับบริการทั้ง 3 ระบบดังกล่าว ไม่ต้องแนบยื่นสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านแล้ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท